"ไทย"ชนะ8ชาติ ได้เป็นเจ้าภาพประชุมICfP2021เหตุคุมกำเนิดสำเร็จระดับโลก มีความพร้อมด้านอื่นๆ


เพิ่มเพื่อน    

19 พ.ย.62 -สถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากรและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดประชุมนานาชาติด้านการวางแผนครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกปี 2564 (International Conference on Family Planning) หรือ ICFP 2021 เพื่อเตรียมหารือประเด็นสุขภาพอนามัย และการเจริญพันธุ์เพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1-4 ก.พ. 2564 ณ ศูนย์ประชุมพีช เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
โดยร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ)ในการจัดงาน

มร.โฮเซ่ ออยยิ่ง ริมอน เดอะเซ็กเคิ่ล (Mr. Jose “Oying” G. Rimon II) ผู้อำนวยการสถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากร และสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ และประธานคณะกรรมการจัดงาน ICFP 2021 ฝ่ายต่างประเทศ กล่าวว่า ICFP เป็นงานประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีสถาบันบิลและเมลินดาเกตส์เพื่อประชากรและสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ ตั้งอยู่ที่ Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health สหรัฐอเมริกา เป็นหน่วยงานหลักในการจัดประชุม  ซึ่งงานประชุมดังกล่าวถือว่า เป็นการประชุมด้านการอนามัยและการเจริญพันธุ์เพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรของโลก รวมถึงการวางแผนครอบครัว อนามัยแม่และเด็ก ตลอดจนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์   โดยปีนี้จะมีการพูดคุยเรื่องการวางแผนครอบครัว ส่วนการที่เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน เนื่องจาก เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะการเข้าถึงการคุมกำเนิดที่ทันสมัย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก  ที่สำคัญยังเป็นผู้นำด้านประกันสุขภาพถ้วนหน้า และด้านการวางแผนนโยบายประชากรและการปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจ จึงอยากให้หลายประเทศได้เห็นความสำเร็จของไทย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5,000 คน ทั้งผู้นำประเทศต่างๆ ผู้นำนโยบาย นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์รวมไปถึงเยาวชนด้วย

“ก่อนจะเลือกไทย เราได้มองไปหลายประเทศ แต่พอมาครั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าในอนาคต ผู้คนจะเข้ามาอยู่ในสังคมเมืองมากขึ้น และ 90% ส่วนใหญ่จะเป็นคนเอเชีย ทำให้มีความจำเป็นต้องวางแผนครอบครัวอย่างถูกต้อง และไทยเป็นตัวเลือกที่พร้อมที่สุดและยังหวังว่างานนี้จะเป็นประโยชน์ในหลายด้านทั้งการศึกษา สาธารณสุข การแพทย์ ฯลฯ ของทุกประเทศที่ร่วม และนับตั้งแต่ปี 2020-2030 ผู้หญิงหลายล้านคนทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงการบริการต่างๆ ด้านการวางแผนครอบครัวได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น”

    ด้านนางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนในการดึงงาน ICFP 2021 มาจัดที่ประเทศไทยในครั้งนี้ เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพในการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศไทยในการส่งเสริมให้ไทยเป็น “เมดิคัลฮับของภูมิภาค” จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ดำเนินการประมูลสิทธิ์เสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติด้านการวางแผนครอบครัวปี 2564 ตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีประเทศคู่แข่งทั้งหมด 8 ประเทศ คือ แคนาดา, สหราชอาณาจักร, อินเดีย, เคนย่า,เม็กซิโก, เนเธอแลนด์, ฟิลิปปินส์ และไทยสามารถคว้าชัยชนะได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม ICFP ในปีพ.ศ. 2564 ณ ศูนย์ประชุมพีช (Pattaya Exhibition and Convention Hall - PEACH) เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
         ขณะที่แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในระดับนานานาชาติ อันจะเป็นผลดีสำหรับประเทศไทยในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ในระดับชุมชน การวางแผนครอบครัวด้วยวิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการอย่างเท่าเทียมตามสิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกระบบ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และเป็นการปูทางให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอันยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ในการรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรทุกคนทุกช่วงวัย

    แพทย์หญิงพรรณพิมล เผยอีกว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายประชากรด้านการวางแผนครอบครัวเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2513  โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเป็นเวลาเกือบ 5 ทศวรรษที่มุ่งมั่นวางแผนครอบครัว จนประสบผลสำเร็จใน 2 เรื่องใหญ่ คือ 1. ผลักดันให้มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่างๆ ในอัตราสูงขึ้นจากร้อยละ 14.8 ในปี 2513 เป็นร้อยละ 78.4 ในปี 2562 และ 2. ลดอัตราการเพิ่มของประชากร จากร้อยละ 2.7 ในปี พ.ศ. 2513 เหลือเพียงร้อยละ 0.2 ในปี 2562 และในปี 2562 มีอัตราการเกิดเพียง 10.5 ต่อประชากรพันคน ซึ่งผลสำเร็จดังกล่าวรัฐบาลไทยจึงปรับเปลี่ยนนโยบายโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมคุณภาพของประชากรโดยวางนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (2560-2579) การส่งเสริมการเกิดและเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพของประชากรของประเทศไทย

    “เด็กที่เกิดมาทุกคนจะต้องมีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ได้รับความช่วยเหลือส่งเสริมให้ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี เด็กที่เกิดมาควรได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการที่สมวัย พร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปอย่างมั่นคง เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเรื่องการเกิดที่ด้อยคุณภาพ คือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การไม่เข้าถึงบริการคุมกำเนิดตลอดจนปัญหาสังคมด้านอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดที่ด้อยคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขับเคลื่อนนโยบายการอนามัยเจริญพันธุ์ให้อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนเป็นผลสำเร็จ แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องพัฒนา และตั้งเป้าหมายเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์เพื่อการพัฒนาประชากรที่ยั่งยืน” แพทย์หญิง กล่าว   

    ขณะที่นายมีชัย วีระไวทยอย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องหารือกัน โดยเฉพาะไทยคือ ในอดีตเรามองเรื่องการวางแผนครอบครัวเป็นเรื่องการป้องกันการเกิด แต่ตอนนี้การวางแผนครอบครัวสมัยใหม่มีหลายประการคืออย่างแรก เด็กที่เกิดมาจะต้องมาจากความปราถนาของผู้เป็นพ่อแม่ ต่อมาผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 19 ปีต้องได้รับการสนับสนุน เพราะมีหลายรายที่ต้องสูญเสียโอกาสทางการศึกษา ทั้งๆ ที่กฏหมายไม่ได้บังคับให้ออกจากการศึกษา ซึ่งเป็นการทำลายอนาคตทั้งแม่และเด็ก อีกทั้งประเด็นสำคัญคือตนอยากเสนอให้รัฐบาลมีระเบียบกฏหมายออกมาว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ สามารถลางานได้สามปีเพื่อไปดูแลบุตรแต่ยังคงมีเงินเดือนรองรับ เพราะเด็กช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ เป็นช่วงที่ต้องได้รับดูแลพิเศษมีพัฒนาการสมอง นี่จะเป็นการสร้างพลเมืองที่สมบูรณ์ เพราะรัฐบาลสร้างไม่ได้ ต่อมาคือต้องสอนเด็กว่าต่อไปนี้เราจะดูแลพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเราได้อย่างไร นี่คือการวางแผนครอบครัวสมัยใหม่ที่เราต้องดูแลเอง เพราะฉะนั้นการประชุมประเทศไทย เขาจะได้เห็นว่าไทยเป็นอย่างไร ทำอะไรสำเร็จ แต่ก็ยังมีปัญหาบางเรื่อง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องแลกเปลี่ยนกับนานาชาติเพื่อพัฒนาคน.

    ส่วนพลอากาศโทนายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เสริมว่า ในสิบปีที่ผ่านมาประชากรเด็กเกิดใหม่หายไปหลักล้านคน จากที่มีเด็กเกิดใหม่ปีละ1ล้านคน ตอนนี้เหลือประมาณปีละ 6 แสน ในแง่ประชากรศาสตร์ค่อนข้างวิกฤตเพราะเราจะไม่มีแรงงานในอนาคต เพราะฉะนั้นการวางแผนในครอบครัวส่วนหนึ่งอาจจะหมายถึงการส่งเสริมให้คนมีบุตรมากขึ้น เพราะตอนนี้บางครอบครัวคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีบุตรด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมไม่เอื้ออำนวย
...

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"