19พ.ย.62-นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่างภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่ ครม.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ..ไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้นั้น ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะดำเนินการให้สอดคล้องไปกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีการกฎหมายเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ดังนั้น ครม.จึงกำชับให้ทุกกระทรวงไปสำรวจกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นต่างๆ โดยในส่วนของศธ.ได้มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้แต่ละองค์กรหลักของ ศธ.ไปดำเนินการ
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ก่อนการประชุม ครม.ตนได้มีการหารือกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (รมว.อว.) ในการผลิตครูให้ตรงกับความต้องการ รวมถึงได้มีการหารือถึงการพัฒนาคุณภาพครูในระบบให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความรู้ด้านดิจิทัล ดังนั้นทั้งสองกระทรวงจึงมีข้อตกลงร่วมกันให้มีการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู ร่วมระหว่าง 2 กระทรวงขึ้น โดยมีปลัด ศธ. และปลัดอว.เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยอาจให้มีนายษณุ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หรือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นประธานและมี รมว.อว.และ รมว.ศธ. ร่วมใน คณะกรรมการ. เพื่อดูรายละเอียดการผลิตและพัฒนาครูเป็นเขตพื้นที่การศึกษา ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับในที่ประชุมครม. ถึงการผลิตและการพัฒนาครูให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในโลกศตวรรษที่ 21 และครูจะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้นด้วย
ด้านนายสุวิทย์ กล่าวว่า ปัญหาของครูในขณะนี้ พบว่า ครูขาดคุณภาพ ครูที่ผลิตไม่ตรงสาขา และครูมีจำนวนเกินตำแหน่งที่รองรับ ดังนั้นการแก้ปัญหาครูต้องแก้ทั้งตัวของครูและสภาพแวดล้อม และควรเตรียมพร้อมรับมือกับครูจบใหม่ในปี 2565 ที่หลักสูตร 4 ปี และ 5 ปี จะจบออกมาพร้อมกัน ทั้งนี้ ในส่วนของ อว. ได้มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาโดยให้มีการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู โดยต้องมีคนจากทั้งฝั่งผลิตครู และฝั่งใช้ครูมาร่วมกัน เพื่อดูแลเรื่องการทำนโยบาย กำหนดทิศทาง วางมาตรฐานครู ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลการวิจัยเชิงระบบ และศูนย์กลางของความเป็นเลิศ ด้านการศึกษา พร้อมตั้ง สถาบันวิจัยระบบครุศึกษาและการศึกษา เพื่อทำการวิจัยเชิงระบบทั้งด้านการศึกษาและคุรุศาสตร์ เพื่อทำหลักฐานองค์ความรู้เชิงประจักษ์ในการเตรียมกำลังคน และเนื้อหารายวิชา จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ให้มีการตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านครุศึกษา เป็นการรวมกลุ่มของสถาบันผลิตครูหลักๆ ในรูปแบบสภาความร่วมมือ เน้นการผลิตครูของครู ปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก และอาจจะกระจายเป็นกลุ่มตามแต่พื้นที่ รวมทั้งมีการทำการวิจัยเชิงระบบ และพัฒนาครูของครู ให้มีการปรับทักษะครู (reskill) โดยเฉพาะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษ โดย อว.ช่วยพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูเก่าร่วมด้วย อาจจะเป็นในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้นและปรับหลักสูตรของ ศธ.ที่ใช้ในโรงเรียน จะต้องสอดคล้องกับที่นักศึกษาครูเรียนในมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นจะต้องมีการรวมครูอาชีวะเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาครู เนื่องจากมีครูสายนี้น้อยและเป็นสายที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมประเทศ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |