ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานหลายสิบปี โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินทำกินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรไทย แต่ที่ดินส่วนใหญ่ไปกระจุกอยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย ทำให้เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ที่ยากจน ได้รวมตัวกันจัดตั้ง ‘สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ ในเดือนพฤศจิกายน 2517 เพื่อเคลื่อนไหวให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา โดยมีคำขวัญในการรณรงค์ต่อสู้ว่า “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ กฎหมายต้องเป็นธรรม”
แต่จนถึงบัดนี้ เป็นเวลา 45 ปี ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินก็ยังไม่คลี่คลายลงไป ผู้นำชาวนา ชาวไร่ และประชาชนที่ลุกขึ้นมาทวงถามเพื่อความเป็นธรรม ถูกไล่ล่า ฆ่าสังหาร ตายไปไม่ต่ำกว่า 33 ราย และมีคดีความที่คนยากคนจนต้องตกเป็นจำเลยเพราะดิ้นรนหาที่ดินทำกินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและครอบครัวขณะนี้ประมาณ 46,600 คดีทั่วประเทศ !!
ศิรวัฒน์ แดงซอน ผู้จัดการโครงการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร องค์การแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) บอกเล่าสถานการณ์และปัญหาสิทธิด้านที่ดินในประเทศว่า มีคนไทยเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่เป็นเจ้าของที่ดิน โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินซึ่งสำรวจในปี 2557 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 60 มีที่ดินรวมกันเพียงร้อยละ 4.69 ต่อพื้นที่ทั้งหมด (ที่ดินรัฐ 190 ล้านไร่ ที่ดินเอกชน 130 ล้านไร่) นอกจากนี้การสำรวจของกรมพัฒนาที่ดินในปี 2549 ยังพบที่ดินทิ้งร้างในประเทศไทยที่ไม่ทำประโยชน์รวมกันถึง 7.5 ล้านไร่ ซึ่งมากกว่าเนื้อที่ถือครองของคนไทยทั้งหมด
“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาในระดับนโยบายทำให้สิทธิของชุมชนอ่อนแอลง ปล่อยให้ที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ห่าง ไกลมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ มีการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ และการให้สัมปทานเหมืองแร่ที่เพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ส่งผลให้ทิศทางของการพัฒนาไม่แน่นอนและไม่ต่อเนื่อง การผลักดันขององค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงมักหยุดชะงักลงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่” ศิริวัฒน์แจงถึงอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาที่ดินในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
โครงการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากร เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มูลนิธิชุมชนไท และองค์การแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ได้จัดให้มีการประกวดภาพยนตร์สั้นเพื่อนำเสนอและส่งเสริมการสร้างความตระหนักในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินต่อสาธารณชน รวมทั้งเยาวชนและนักศึกษา เปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ ‘ที่ดินคือชีวิต’ แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ 1.เยาวชนไม่เกิน 25 ปี และ 2.บุคคลทั่วไป ความยาว 10-15 นาที โดยมีการประกาศผลรางวัลไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน และนำผลงานมาฉายในงาน ‘มหกรรมที่ดินคือชีวิต ครั้งที่ 2’ จัดขึ้นที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
“โครงการประกวดหนังสั้นเป็นช่องทางหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ต่างๆ ในชุมชน โดยเฉพาะปัญหาที่คนไร้ที่ดินทำกินต้องประสบ เพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินต่อสาธารณชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากรของประเทศไทย โดยจะนำผลงานที่ส่งเข้าประกวดและผลงานที่ได้รับรางวัลไปใช้เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์เรื่องการส่งเสริมสิทธิชุมชนในที่ดินและทรัพยากรของประเทศไทยต่อไป” ศิรวัฒน์กล่าว
คุยกับผู้ผลิตหนังสั้น ‘พ่อกับลูกชาย’
การประกวดหนังสั้นหัวข้อ ‘ที่ดินคือชีวิต’ ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก มีผู้สนใจลงทะเบียนเพื่อประกวดจำนวน 19 ทีม ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 4 ทีม และได้รับรางวัลชมเชยประเภทบุคคลทั่วไปเพียงรางวัลเดียว (เงินรางวัลชมเชยจำนวน 30,000 บาท) ซึ่งอาจเป็นเพราะโจทย์ ‘ที่ดินคือชีวิต’ เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้สนใจปัญหาเรื่องที่ดินที่ทำกินของเกษตรกรที่ยากไร้
แต่สำหรับ ‘เชวง ไชยวรรณ’ ผู้ผลิตสื่ออิสระ เจ้าของรางวัลชมเชยการประกวดหนังสั้น ‘ที่ดินคือชีวิต’ ครั้งแรก ส่งผลงานเรื่อง ‘พ่อกับลูกชาย’ ความยาว 13 นาทีเข้าประกวด เพราะเขาคลุกคลีอยู่กับปัญหาของกลุ่มคนที่ด้อยสิทธิ ด้อยโอกาสมาตลอด โดยใช้ภาพเหตุการณ์จริงกรณีชาวบ้านแพะใต้ ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ที่ไร้ที่ดินทำกิน และเข้าไปบุกเบิกที่ดินรกร้างเพื่อทำกิน แต่โดนเจ้าของที่ดินเอกชนฟ้องร้องจนติดคุกในปี 2559-2560 ที่ผ่านมา มานำเสนอเป็นหนังสั้นส่งเข้าประกวด
เชวง ไชยวรรณ (กลาง)
เชวง ไชยวรรณ ปัจจุบันอายุ 41 ปี พื้นเพเป็นคนอำนาจเจริญ จบการศึกษาด้านอาชีวะที่จังหวัดยโสธร จากนั้นจึงมาทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เรียนรู้การทำสื่อเพื่องานพัฒนาชุมชนที่ NGO แห่งนี้ เช่น การเขียนบท การถ่ายทำ และตัดต่อ VDO. และนำมาผลิตเป็นสื่อ VDO. เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนและชุมชนในการป้องกันยาเสพติด การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ จากนั้นจึงลาออกมาเพื่อเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เมื่อจบแล้วจึงออกมาเป็นผู้ผลิตสื่ออิสระอย่างเต็มตัว เคยมีผลงานทางโทรทัศน์หลายช่อง เช่น ไทยพีบีเอส ช่อง 5 NBT ฯลฯ
“ผมสนใจปัญหาสังคม เรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกรังแกจากกฎหมายหรือจากรัฐ เช่น แรงงานพม่าในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่โดนจำกัดสิทธิต่างๆ ทั้งเรื่องค่าแรง การไม่มีสวัสดิการรักษาดูแลยามเจ็บป่วย เรื่องความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ก็เคยทำ คือผมอยากจะเล่าประเด็นปัญหาทางสังคมที่ผมสนใจผ่านหนังหรือสารคดี เพราะถ้าเราไม่สนใจ ไม่สื่อสารออกมา ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มันก็จะย้อนกลับมาหาเรา” เชวงบอกเล่าความเป็นมาของตัวเอง
ส่วนหนังสั้นเรื่อง ‘พ่อกับลูกชาย’ เชวงบอกว่า เขาพักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ไม่ไกลจากอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน สถานที่เกิดเหตุ จึงได้รับรู้เรื่องราวของชาวบ้านตำบลหนองล่องที่เข้าไปบุกเบิกที่ดินทำกินในที่ดินที่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นที่รกร้างและเคยเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์มาก่อนตั้งแต่ปี 2540 โดยเข้าไปทำกินในที่ดินประมาณคนละ 1 ไร่เศษ และต่อมาได้ถูกนายทุนฉ้อฉลเอาที่ดินสาธารณะไปออกเอกสารสิทธิจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ยากไร้ในข้อหาบุกรุก จำนวน 108 ราย โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ในที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษาในปี 2559 ให้จำคุกชาวบ้าน 10 รายๆ ละ 1 ปี โดยชาวบ้านทั้ง 10 รายได้ทยอยพ้นโทษในช่วงกลางปี 2560
เชวงได้ถ่ายภาพเหตุการณ์จริงที่ ‘พ่อ’ คือ ‘นายโล้ ยาวิละ’ ทำความสะอาดบ้านและเตรียมพิธีรับขวัญ ‘ลูกชาย’ คือ ‘นายวัลลภ ยาวิละ’ ที่กำลังจะพ้นโทษจากเรือนจำจังหวัดลำพูนในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 หลังจากติดคุกในคดีบุกรุกที่ดินนายทุนเป็นเวลา 1 ปี หนังยังถ่ายทอดให้เห็นญาติของผู้ต้องขังรายอื่นๆ ที่เดินทางมารอรับผู้ที่กำลังจะพ้นโทษที่บริเวณหน้าเรือนจำ จากนั้นพ่อจึงนำน้ำมนต์จากพระที่เตรียมมาให้ลูกชายอาบที่หน้าเรือนจำเพื่อล้างเคราะห์ แล้วทั้งหมดจึงพากันไปทำพิธีรับขวัญที่วัดแห่งหนึ่งในตำบล ช่วงท้ายหนังได้ขึ้นตัวหนังสือบรรยายความเป็นมาของปัญหาที่ดินแปลงนี้
ฉากหนึ่งของหนังสั้นเรื่องนี้
“หนังเรื่องนี้ผมใช้เหตุการณ์จริง ใช้เวลาถ่ายทำ 3 วัน แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ได้เสนอทางออกของปัญหา แต่ผมอยากจะสะท้อนหรือบันทึกเหตุการณ์เพื่อกระตุ้นหรือบอกสังคมให้รู้ว่ามันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คือคนตัวเล็กตัวน้อยมักจะถูกเอาเปรียบจากคนมีเงิน คนที่รู้กฎหมาย คนจนจึงต้องติดคุก ส่วนคนรวยหนือนักการเมืองกลับครอบครองที่ดินป่าสงวนฯ ที่สาธารณะได้เป็นพันๆ ไร่ โดยไม่มีใครไปทำอะไร” เชวงกล่าวถึงธีมของหนังสั้นเรื่อง ‘พ่อกับลูกชาย’ (ผู้ที่สนใจชมหนังสั้นเรื่องนี้จะมีการฉายในงานของมูลนิธิหนังสั้นที่หอภาพยนต์แห่งชาติ ศาลายา ช่วงเดือนธันวาคม และจะอัปโหลดขึ้น YouTube เร็วๆ นี้)
45 ปีปัญหาที่ดินไทยและทางออก
หากจะนับเอาการเริ่มต้นของ ‘สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ ในปี 2517 เป็นปีแรกของการเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินของชาวนาชาวไร่ผู้ยากไร้ แต่โดยข้อเท็จจริงปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดินของประเทศไทยมีมายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว แต่จนถึงบัดนี้ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลายลงไป ชาวบ้านยังถูกจับกุมคุมขังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน รวมทั้งการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานฯ ทับที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน ทำให้มีชาวบ้านต้องคดีบุกรุกป่าและทำไม้สูงถึง 46,600 คดี แยกเป็นพื้นที่กรมป่าไม้ ช่วงตุลาคม 2556 - กันยายน 2561 จำนวน 34,804 คดี และพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติ ช่วงตุลาคม 2556 - กันยายน 2562 จำนวน 11,796 คดี
ประกาศเจตนารมณ์ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
อย่างไรก็ตาม ในการจัดงาน ‘มหกรรมที่ดินคือชีวิต ครั้งที่ 2’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในวันสุดท้ายของการจัดงานผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คนได้จัดตั้งขบวนและเดินเท้ามายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน เพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ทำกิน โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า...
“เราจะเคลื่อนไหวผลักดันกลไกรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ในการบังคับใช้และปฏิรูปกฎหมาย บทบัญญัติต่างๆ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน สร้างความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำจนถึงที่สุด ให้นำประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6 กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาบังคับใช้อีกครั้งหนึ่ง ให้แก้ไขกฎหมายป่าอนุรักษ์ และมติคณะรัฐมนตรีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้”
ขณะที่ ‘เชวง ไชยวรรณ’ บอกทิ้งท้ายว่า “เมื่อดูข่าวนักการเมืองครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ในขณะนี้ แล้วย้อนมาดูหนังเรื่อง ‘พ่อกับลูกชาย’ ก็จะสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมที่คนจนได้รับ เพราะชาวบ้านเข้าไปบุกเบิกที่ดินทำกินเพียงคนละ 1 ไร่เศษ แต่กลับถูกศาลจำคุกคนละ 1 ปี ส่วนนักการเมืองก็ยังสุขสบายดี !!”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |