การลอบสังหารแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 


เพิ่มเพื่อน    

บริเวณทางม้าลาย จุดที่ถนน “ฟรานซ์โจเซฟ” ตัดกับถนน “แอพเพลคี” คือจุดที่มกุฎราชกุมารแห่งออสเตรียและพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ โดยเด็กหนุ่มบอสเนียน-เซิร์บ “กัฟริโล ปรินซิป”

วันที่ 28 มิถุนายน ตรงกับวัน St. Vitus ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาวเซอร์เบียนออร์โธดอกซ์ และยังตรงกับวันที่ทหารเซิร์บชื่อ “มิลอส โอบิลิช” ลอบเข้าไปเชือดคอสุลต่านของออตโตมันถึงในเต๊นท์ประทับ แม้ว่าเซอร์เบียจะแพ้อย่างราบคาบในสงครามที่โคโซโวเมื่อ ค.ศ. 1389   

หนึ่งวันก่อนการเสด็จกรุงซาราเยโวของ “อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี” พระองค์ยังได้ตรัสถาม “พระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ ที่ 1” ผู้เป็นลุง ว่า “จำเป็นหรือที่จะต้องไป?” ก่อนได้รับคำยืนยันว่าหมายกำหนดการชมการซ้อมรบในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 ยังเป็นวันครบรอบ 14 ปีการอภิเษกสมรสนอกกฎมณเฑียรบาลของอาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ และ “ดัชเชสโซฟี” เนื่องจากพระชายาเป็นเพียงธิดาของขุนนางจากแคว้นโบฮีเมีย ไม่ได้มาจากสมาชิกราชวงศ์ใด ทั้งสองจึงถือโอกาสที่จะได้อยู่เคียงกันต่อสายตาสาธารณชน ซึ่งไม่สามารถทำได้ในกรุงเวียนนา

ชาวเซิร์บและโครแอต คือชนกลุ่มหลักที่อาศัยอยู่ในดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาก่อนการเข้ามายึดครองของจักรวรรดิออตโตมันที่กินเวลายาวนานกว่า 500 ปี ชาวเมืองส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามตามชาวเติร์กที่ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ชาวเซิร์บส่วนที่เหลือยังนับถือเซอร์เบียนออร์โธดอกซ์ ชาวโครแอตอีกมากก็ยังเป็นโรมันคาธอลิก

เมื่อเซอร์เบียขับไล่กองทัพเติร์กออกไปได้จากดินแดนบอลข่านในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ในบอสเนียฯ กลับต้องลงเอยด้วยการเข้ามาแทนที่ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ขณะที่ชาวเซิร์บในบอสเนียฯ และเซอร์เบีย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นชาตินิยมซึ่งต้องการเรียกคืนจักรวรรดิเซอร์เบียโดยการผนวกดินแดนที่ชาวเซิร์บอยู่อาศัยในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ก่อนการเข้ามายึดครองของจักรวรรดิออตโตมัน และยังมีกลุ่มที่ต้องการรวมเป็นอาณาจักรชาวสลาฟใต้ (ยูโกสลาเวีย) ต้องการขับไล่ออสเตรีย-ฮังการีออกไป เกิดเป็นองค์กรลับต่างๆ เพื่อทำแผนการให้สำเร็จ ที่กระทำในนามส่วนตัวก็มีไม่น้อย วิธีการส่วนมากที่ใช้คือการลอบสังหารบุคคลสำคัญของออสเตรีย-ฮังการี ในดินแดนอาณานิคม นั่นคือในโครเอเชียและบอสเนียฯ

วีรกรรมหนึ่งที่สร้างแรงสะเทือนได้อย่างมากคือเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1910 “นายพลมาริยาน วาเรซานิน” ข้าหลวงออสเตรียแห่งบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาซึ่งเป็นชาวโครแอต ได้เดินทางมาเปิดสภานิติบัญญัติออสเตรีย-ฮังการีประจำบอสเนียฯในกรุงซาราเยโว “บ็อกดาน เซรายิช” ชายหนุ่มวัย 22 ปีจากเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาวิชากฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยซาเกร็บ มองว่าออสเตรียไร้ความชอบธรรมและเป็นสิ่งชั่วร้ายยิ่ง จึงยิงปืนเข้าใส่ “นายพลวาเรซานิน” จำนวน 5 นัด กระสุนพลาดเป้าทั้งหมด นัดที่ 6 เขาจึงเป่าสมองตัวเอง

ก่อนสิ้นใจตายเขาเปล่งวาจา “ชาวเซิร์บผู้รักชาติจะล้างแค้นให้ข้า”

เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มชาวเซิร์บในบอสเนียฯ หลายคน รวมถึง “กัฟริโล ปรินซิป” ที่ขณะนั้นมีอายุเพียง 15 ปี

ปรินซิปเกิดในหมู่บ้านชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของบอสเนีย ครอบครัวของเขาเป็นชาวเซิร์บที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณนั้นมาหลายศตวรรษ ข้อมูลจาก Wikipedia ระบุว่าพ่อแม่ของเขามีฐานะยากจน ทำมาหากินในที่ดินผืนเล็กๆ ต้องแบ่งรายได้ 1 ใน 3 ให้กับเจ้าของที่ดินชาวมุสลิม เมื่ออายุได้ 13 ปีเขาได้ย้ายไปยังกรุงซาราเยโว ซึ่งพี่ชายของเขาเป็นผู้ทำงานหามรุ่งหามค่ำส่งเสียให้เรียนหนังสือ กระทั่งมีความคิดเรื่องการปลดปล่อยบอสเนียฯ จากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เข้าเป็นสมาชิกองค์กรลับ “คนหนุ่มบอสเนีย” (Mlada Bosnia) จนในที่สุดเขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนเมื่ออายุได้ 17 ปี เพราะไปข่มขู่เพื่อนๆ ที่ไม่ยอมเดินขบวนประท้วงผู้กดขี่ จากนั้นเขาก็เดินเท้า 280 กิโลเมตรไปยังกรุงเบลเกรด เมืองหลวงของเซอร์เบีย เพื่อทำฝันให้เป็นจริง

หลังจากพลาดหวังการเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มแบล็คแฮนด์ (แปลจากภาษาเซอร์เบียนได้ว่า Union or Death – หากไม่รวมกันก็ดับสูญ) องค์กรลับเพื่อการรวมชาติสลาฟใต้ เพราะสมาชิกคนสำคัญขององค์กรคือ “พันตรีโวยิสลาฟ ทันโคซิช” มองว่าเขาตัวเล็กเกินไป ปรินซิปอับอายกลับไปยังซาราเยโว แต่ยังไม่ย้อท้อหมั่นเดินทางไปเบลเกรด จนได้พบกับหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม “เซอร์เบียนเชตนิค” และถูกส่งไปฝึกการใช้อาวุธในค่ายทางตอนใต้ของเซอร์เบียแล้วกลับมายังเบลเกรด เตรียมแผนการทำงานใหญ่กับกลุ่มแบล็คแฮนด์  

ราชอาณาจักรเซอร์เบียขณะนั้นมีกษัตริย์นาม “ปีเตอร์ ที่ 1” ผู้มีแนวคิดชาตินิยมซึ่งได้รับการอัญเชิญขึ้นสู่บัลลังก์โดยคณะรัฐประหารที่นำโดย “พันเอกดรากูติน ดิมิตริเยวิช” หรือ “อาปิซ” (Apis) ที่มองว่า “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ที่ 1” ประนีประนอมกับออสเตรีย-ฮังการีมากเกินไป จึงส่งกองกำลังบุกโจมตีราชวังกลางดึกคืนหนึ่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1903 หลังการต่อสู้อย่างดุเดือด กษัตริย์เซอร์เบียและราชินีถูกปลงพระชนม์อย่างโหดเหี้ยม

“อาปิซ” มีอำนาจอยู่อย่างเต็มที่แม้ล่วงมาถึงปี ค.ศ. 1914 ได้สนับสนุนกลุ่มแบล็คแฮนด์ที่มีการคัดเลือกคนหนุ่มขึ้นจำนวนหนึ่งเมื่อพวกเขาทราบถึงหมายกำหนดการเยือนซาราเยโวของมกุฎราชกุมารแห่งออสเตรีย

นายกรัฐมนตรี “นิกาลา ปาซิช ของเซอร์เบีย รับรู้ถึงแผนดังกล่าว กลัวว่าหากการลอบสังหารทำได้สำเร็จและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีสืบทราบว่ารัฐบาลเซอร์เบียมีส่วนรู้เห็นคงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้ยาก จึงมอบภารกิจการบอกกล่าวถึงข่าวสารไม่ค่อยดีนี้ให้กับ “โยวาน โยวาโนวิช” ทูตเซอร์เบียประจำกรุงเวียนนา

โยวาโนวิชไม่ค่อยกินเส้นกับรัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรีย จึงเลือกที่จะแจ้งข่าวกับ “ดร.เลออน ฟอน บิลินสกี” รัฐมนตรีเศรษฐกิจแทน ในวันที่ 5 มิถุนายน โยวาโนวิชบอก ดร.บิลินสกี ว่าคงจะดีและมีเหตุผลอยู่หากอาร์คดยุคจะยกเลิกการเยือนซาราเยโว “พวกเด็กหนุ่มเซิร์บอาจจะบรรจุกระสุนในลูกโม่มากกว่าที่จะปล่อยให้ลูกโม่ว่างเปล่า”

ดร.ลินสกี ไม่เข้าใจภาษาทูตแบบนี้ และเฉไฉไปว่า “หวังว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น” โยวาโนวิชเองตอนนั้นก็สงสัยอยู่ว่า ดร.บิลินสกี คงไม่เข้าใจความหมายที่เขาต้องการสื่อ แต่ก็ไม่ได้พยายามที่จะอธิบายให้กระจ่างแจ้ง   

ปรินซิปและเพื่อนร่วมภารกิจอีก 2 คนออกเดินทางออกจากเบลเกรดก่อนวันเสด็จของอาร์คดยุค 1 เดือน โดยเส้นทางลับและการช่วยเหลือจากขบวนการ Narodna Obrana (อีกกลุ่มชาวเซิร์บชาตินิยม) ส่วนอาวุธก็แยกไปกับคนในเวลาไล่เลี่ยกัน

ที่ซาราเยโว นอกจากมือลอบสังหารทั้งสามแล้ว “ดานิโล อิลิช” หัวหน้ากลุ่มแบล็คแฮนด์ประจำกรุงซาราเยโวได้เตรียมผู้กล้าไว้อีก 3 คน หนึ่งในนั้นคือ “มูฮาเหม็ด เมเหม็ดบาซิช” ชาวมุสลิมวัย 27 ปี จากเฮอร์เซโกวีนา

ในวันที่ 27 มิถุนายน อิลิชที่เป็นผู้เก็บอาวุธไว้ก็เริ่มแจกจ่ายทูตมรณะให้กับมือสังหาร ซึ่งมีปืนพก 4 กระบอก และระเบิดมือ 6 ลูก ในเช้าวันที่ 28 มิถุนายน อิลิชก็วางตำแหน่งมือสังหารทั้งหกด้วยตัวเอง  

ก่อน 10.00 น. ไม่นาน อาร์คดยุคเสด็จพร้อมพระชายาหลังชมการซ้อมรบนอกเมืองโดยรถไฟมาถึงสถานีซาราเยโว “พลเอกออสการ์ โปติโอเร็ค” ผู้ว่าการกรุงซาราเยโวเตรียมรถยนต์ไว้ 6 คัน อาร์คดยุคและดัชเชสเสด็จในคันที่ 3 ซึ่งเป็นรถสปอร์ต Graf & Stift แบบเปิดประทุน พร้อมด้วยพลเอกโปติโอเร็คและพันโทฟรานซ์ ฟอน ฮาร์ราช  

ในวันนั้นไม่มีกองทหารอารักขาตามถนนแอพเพลคี (Appel Quay) ที่จะนำไปสู่ศาลาว่าการกรุงซาราเยโว จุดหมายแรกของขบวนเสด็จ เพราะได้รับการคัดค้านว่าชาวเมืองผู้จงรักภักดีจะไม่พอใจ ทำให้การดูแลความปลอดภัยตกเป็นหน้าที่ของตำรวจท้องถิ่นที่มีประมาณ 60 นาย ขณะที่บางรายงานระบุว่ามี 120 นาย

ขบวนรถผ่านหน้า “มูฮาเหม็ด เมเหม็ดบาซิช” ซึ่งมีระเบิดมือเป็นอาวุธแต่เขาไม่สามารถปฏิบัติงานได้ อ้างภายหลังว่ามีตำรวจยืนอยู่ด้านหลังซึ่งอาจจะแย่งระเบิดไปก่อนที่เขาจะเงื้อขว้าง มือสังหารคนที่ 2 คือ “วาโซ เมเหม็ดบาซิช” ที่มีทั้งปืนพกและระเบิดมือก็ไม่สบโอกาสกระทำภารกิจ

คนที่ 3 ชื่อ “เนเดลโก คาบริโนวิช” ขว้างระเบิดออกไปได้สำเร็จ แต่ระเบิดไปตกบนประทุนผ้าใบที่ม้วนไว้อยู่ด้านหลังรถแล้วเด้งลงพื้นถนนไประเบิดใต้รถคันถัดไป เจ้าหน้าที่ในรถคันนั้นบาดเจ็บ 2 นายและเศษระเบิดทำให้ฝูงชนบาดเจ็บอีกหลายคน มือระเบิดกินยาเม็ดไซยาไนด์หวังฆ่าตัวตายแล้วกระโดดลงแม่น้ำมิลยัสคา แต่ปรากฏว่าไซยาไนด์หมดอายุทำให้เขาแค่อาเจียนออกมาเท่านั้น ส่วนแม่น้ำในหน้าร้อนก็ตื้นเพียง 13 เซนติเมตร เขาจึงถูกจับอย่างง่ายดาย

พลขับเร่งความเร็วของรถยนต์จนมือสังหารอีก 3 คน ที่ประจำการอยู่ในจุดถัดไป ได้แก่ ซเวียตโก โปโปวิช, กัฟริโล ปรินซิป และตริฟุน กราเบซ ไม่สามารถทำงานได้  

ขบวนถึงศาลาว่าการกรุงซาราเยโวด้วยความเดือดดาลของอาร์คดยุค เมื่อพระองค์ได้กล่าวสุนทรพจน์เสร็จ เจ้าหน้าที่ระดับสูงเสนอให้ทั้งสองพระองค์ประทับในศาลาว่าการต่อไปเพื่อเรียกกำลังทหารมาอารักขาตามเส้นทางเสด็จให้เรียบร้อยก่อน แต่พลเอกโปติโอเร็คค้านว่า “พวกคุณคิดว่าซาราเยโวจะเต็มไปด้วยมือลอบสังหารหรือไง” และยังว่าทหารที่ต้องเดินทางมาจากการซ้อมรบอย่างกะทันหันจะแต่งกายไม่เหมาะสมกับหน้าที่

สองพระองค์เปลี่ยนหมายกำหนดการที่จะไปเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งบอสเนียฯ เป็นไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลซาราเยโวแทน พลเอกโปติโอเร็ควางแผนไม่ให้รถยนต์ของอาร์คดยุคต้องผ่านเขตเมืองซึ่งเป็นเส้นทางที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยให้คันหน้าขับเลี้ยวขวาตรงข้ามกับสะพานละตินที่อยู่ทางซ้าย ไปยังถนน “ฟรานซ์ โจเซฟ” เหมือนเดิมแต่รถยนต์ของอาร์คดยุคให้ขับตรงไปบนถนนแอพเพลคี แต่หัวหน้ากรมตำรวจซาราเยโวที่รับหน้าที่บอกเส้นทางใหม่กับโชเฟอร์กลับลืม เมื่อถึงแยกดังกล่าวพลขับ “เลโอโพล ลอยกา” ก็เลี้ยวขวาตามรถคันหน้าไป พลเอกโปติโอเร็คที่นั่งไปด้วยจึงตะโกนบอกว่าผิดทาง

ที่หัวมุมดังกล่าวมีร้านอาหารสำเร็จรูปชื่อ Schiller’s ตั้งอยู่ ปรินซิปยืนอยู่หน้าร้าน (มีรายงานว่าเขาเข้าไปซื้อแซนวิชกินก่อนหน้านั้น) ขณะที่พลขับแตะเบรคและกำลังจะถอยหลัง เครื่องยนต์สะดุดและเกียร์ค้างทำให้เป็นเป้านิ่ง ปรินซิปชักปืนพกกึ่งอัตโนมัติ Browning รุ่น 1910 ออกมา ผลักคนที่ยืนอยู่ด้านหน้าแล้วก้าวออกไปลั่นไกในระยะ 1.5 เมตรใส่คนในรถ 2 นัด เมื่อหันปืนใส่ศีรษะตัวเองฝูงชนก็กรูเข้าแย่ง รุมสกรัม และตำรวจก็มาจับตัวเขา พอกลืนไซยาไนด์ลงคอก็พบว่าเป็นยาหมดอายุอีกเช่นกัน สันนิษฐานว่าเป็นยาที่โดนหลอกขาย

กระสุนนัดแรกเข้าเส้นเลือดลำคอของอาร์คดยุค นัดที่ 2 โดนที่ท้องของดัชเชส (ปรินซิปให้การภายหลังว่าต้องการยิงพลเอกโปติโอเร็ค) อาร์คดยุคกล่าวกับพระชายาว่า “โซฟีที่รัก อย่าตายนะ เธอต้องอยู่เพื่อลูกๆ ของเรา” พลเอกโปติโอเร็คสั่งให้โชเฟอร์ขับไปยังจวนผู้ว่าฯ เพื่อทำการรักษาบาดแผลที่นั่น แต่ดัชเชสสิ้นพระชนม์ก่อนถึงจวนผู้ว่าฯ ขณะที่อาร์คดยุคสิ้นพระชนม์ตามไปในอีกไม่กี่นาทีต่อมา ก่อนเวลา 11.00 น. ไม่นาน

เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวเมืองที่เป็นบอสนีแอกและโครแอตจำนวนมากโกรธแค้น ตอบโต้ด้วยการสังหารชาวเซิร์บ เผาอาคารร้านค้าและทรัพย์สินของชาวเซิร์บ ส่วนจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็ประกาศสงครามกับเซอร์เบียในอีก 1 เดือนต่อมา เรียกกันภายหลังว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าจะลงเอยด้วยความปราชัยและล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี

ผมและโกรันยืนอยู่หน้าร้าน Schiller’s ในอดีต จุดที่ปรินซิปยืนเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 เคยเป็นพิพิธภัณฑ์ในชื่อของเขา แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “พิพิธภัณฑ์ซาราเยโว 1878 – 1918” ส่วนสะพานละติน ซึ่งช่วงหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปี ค.ศ. 1993 ก็ใช้ชื่อว่า “สะพานปรินซิป” ขณะที่ถนน “แอพเพลคี” ถูกเปลี่ยนเป็น “โอบาลาคูลินาบานา” โกรันเดินเข้าไปในถนน “เซเลนิ เบเรตกิ” ซึ่งเมื่อกว่า 100 ปีก่อนเรียกว่า “ฟรานซ์โจเซฟ”  

ผมเดินตามไปพร้อมเกิดความรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงมีขึ้นได้ทุกเมื่อในซาราเยโว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"