คุมเข้มกมธ.-เสรีฯลักไก่ตั้งงกุนซือ


เพิ่มเพื่อน    

 "ชวน" เข้มออกระเบียบหลักเกณฑ์ตรวจงาน กมธ. ชี้ทำตามข้อบังคับการประชุม ยันไม่มีวาระซ่อนเร้น บอกยังเชิญใครมาชี้แจงได้ตามอำนาจ แต่ต้องให้เกียรติเพราะเขาไม่ใช่จำเลย "จิรายุ" โวยเตรียมหารือวิปฝ่ายค้านเอาผิดประธานสภาผู้แทนฯ แทรกแซง กมธ. "วัฒนา" โพสต์โชว์ "เสรีพิศุทธ์" ตั้งเป็นที่ปรึกษา แต่อึ้ง! คำสั่งลงวันที่ 20 พ.ย.ล่วงหน้า 2 วัน แถมอ้างเป็นมติ กมธ.ป.ป.ช. "เทวัญ" เผยส่งชื่อ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญโควตา ครม.แล้ว 6 คน ระบุเป็นคนนอกทั้งหมด สะพัด "สมเจตน์-เอนก" มีชื่อก่อนขอถอนตัว

    เมื่อวันที่ 18 พ.ย.มีรายงานว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกประกาศระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา 
    โดยเนื้อหาระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และข้อ 90 วรรคหก แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
    ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ.2562 ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นตันไป  ข้อ 3 ในระเบียบนี้ "ประธานสภา" หมายความว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร "คณะกรรมาธิการ" หมายความว่า คณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร "ที่ประชุม" หมายความว่า ที่ประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะ
    ข้อ 4 เมื่อคณะกรรมาธิการจะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ให้ประธานคณะกรรมาธิการทุกคณะรายงานต่อประธานสภาทราบภายในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ว่าจะมีการพิจารณาเรื่องใด ประเด็นใด และเชิญผู้ใด หรือหน่วยงานใดเข้าร่วมการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป ข้อ 5 ให้ประธานสภาตรวจสอบรายงานตามข้อ 9 หากพบว่ามีคณะกรรมาธิการมากกว่าหนึ่งคณะจะกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกัน ให้ประธานสภาแจ้งให้ประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทราบโดยไม่ชักช้า และจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะ เพื่อร่วมกันดำเนินการ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องนั้นไว้เป็นการชั่วคราว ในกรณีที่ไม่อาจยุติการดำเนินการดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจไปพลางก่อนได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ประธานสภาแจ้งให้ทราบ
    ข้อ 6 การร่วมกันดำเนินการตามข้อ 5 อาจพิจารณาดำเนินการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะร่วมกันกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องนั้น โดยตกลงร่วมกันให้ประธานคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องคณะใดคณะหนึ่งเป็นประธานในการดำเนินการดังกล่าว หากไม่อาจตกลงกันได้ ให้ประธานสภาเป็นผู้กำหนด (2) ให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะร่วมกันกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องนั้น โดยให้คณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งเป็นหลักในการดำเนินการ และให้คณะกรรมาธิการคณะอื่นที่เกี่ยวข้องส่งกรรมาธิการตามจำนวนที่ที่ประชุมกำหนดเข้าร่วมการดำเนินการนั้นด้วย (3) แนวทางอื่นที่ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ เมื่อที่ประชุมเห็นชอบให้ร่วมกันดำเนินการตาม (1) (2) หรือ (3) แล้ว ให้ประธานสภาแจ้งคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกคณะทราบเพื่อดำเนินการต่อไป ข้อ 7 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ประธานสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของประธานสภาให้ถือเป็นเด็ดขาด ข้อ 8 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
ชวนปัดแทรกแซง 'กมธ.'
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระเบียบดังกล่าวออกมาภายหลังเกิดปัญหากรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ออกหนังสือเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถึง 3 ครั้ง ให้มาชี้แจงกรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 โดยไม่ถูกต้อง เนื่องจากยังถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ล่าสุดมีการอ้างถึงการใช้อำนาจออกคำสั่งเรียกตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาด้วย ซึ่งในขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 5  มาตรา 8 และมาตรา 13 เกี่ยวกับการใช้อำนาจออกคำสั่งเรียก รวมถึงบทลงโทษทางอาญาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 129 หรือไม่ตามคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
    ต่อมานายชวนให้สัมภาษณ์ว่า ระเบียบดังกล่าวเป็นข้อบังคับการประชุมสภาที่กำหนดไว้เช่นนั้น  เลขาธิการสภาจึงเสนอระเบียบนี้เข้ามา เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภา ก่อนหน้านี้ก็เคยมี แต่ครั้งนี้เป็นระเบียบใหม่ตามข้อบังคับการประชุมสภาที่เพิ่งออกมาว่า การดำเนินการของคณะ กมธ.ต้องรายงานให้ประธานสภาทราบ
    นายชวนปฏิเสธว่า การออกระเบียบครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับ กมธ.บางชุดที่มีปัญหา ต้องไปอ่านข้อบังคับที่ 90 กำหนดให้ กมธ.ต้องรายงานการปฏิบัติภารกิจให้ประธานสภารับทราบ ยืนยันว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภารกิจของคณะ กมธ. เพียงแต่สมมติมีปัญหาก็สามารถแจ้งมายังประธานสภาได้ เพราะไม่ต้องการให้ กมธ.แต่ละชุดมีปัญหากัน อยากให้ร่วมกันทำงานในภารกิจที่ต้องทำตามข้อบังคับ ส่วนภารกิจใดที่ซ้ำซ้อน กมธ.แต่ละชุดจะต้องศึกษาให้ถ่องแท้ว่าภารกิจของเขาคืออะไร ต้องพยายามหลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระของเจ้าหน้าที่และบุคคลที่ถูกเชิญมา ซึ่งเรื่องนี้สมัยก่อนก็มีปัญหาจึงได้มีการกำชับเป็นพิเศษ ว่าแต่ละฝ่ายให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ตามอำนาจหน้าที่ที่สมบูรณ์
    "หลายเรื่องอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ระเบียบข้อบังคับไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก แต่ผู้ปฏิบัติมีส่วนสำคัญที่ต้องดูว่าภารกิจของ กมธ.ชุดนั้นมีอะไรบ้าง แล้วทำไปตามภารกิจนั้นโดยเคร่งครัด" นายชวนกล่าว
    ถามถึงระเบียบที่ระบุว่า ประธานสภาสามารถตรวจสอบภารกิจของ กมธ.ในการเชิญบุคคลได้ โดยนายชวนกล่าวว่า การตรวจสอบและการที่จะเชิญใครมานั้นเป็นอำนาจของ กมธ. อย่างที่เคยบอกแล้วว่า กมธ.ต้องให้เกียรติผู้ชี้แจงเพราะเขาไม่ได้เป็นจำเลย ดังนั้นจึงไม่ควรทำอะไรให้เขาเสียเกียรติเสียศักดิ์ศรี และที่จริงทั้งหมดคือความร่วมมือเชิญมาเพื่อให้ข้อมูล เพราะทั้งหมดเป็นประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของ กมธ.คนใดคนหนึ่ง ยืนยัน กมธ.ต้องทำตามหน้าที่ที่ระเบียบให้ไว้
    "ที่จริงผมทราบว่าทั่วๆ ไปไม่ค่อยมีปัญหา มีโด่งดัง 1-2 คณะที่มีปัญหาขัดแย้งภายใน ซึ่งในกรณีเช่นนี้เป็นเรื่องภายใน กมธ.ทั้ง 15 คน และที่ปรึกษาต้องช่วยกันพยายามให้การทำงานเป็นไปโดยราบรื่น โดยมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และถือว่าผู้ที่ได้รับเชิญให้มาชี้แจงต้องให้ความร่วมมือ ถ้าสมมติว่าผู้เชิญผิดกฎหมายผู้นั้นก็มีโทษเหมือนกัน เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกเชิญหากไม่ร่วมมือตามกฎหมายที่บังคับไว้ก็มีโทษเช่นกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็มีกฎหมายกำหนดภารกิจและโทษเอาไว้ ทางที่ดีที่สุดคือให้เคารพกติกา แต่ระบบนี้ต้องถือว่าสภามีอำนาจตรวจสอบ แต่สภาตรวจสอบได้ภายใต้ข้อจำกัดในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง" ประธานสภากล่าว
    ซักว่าที่ กมธ.ป.ป.ช.เชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาชี้แจงถึง 4 รอบ ทั้งที่เรื่องที่จะสอบถามผู้ถูกเชิญได้ทำหนังสือชี้แจงมาแล้ว กมธ.ยังสามารถเชิญได้อีกหรือไม่ นายชวนกล่าวว่าเรื่องนี้ต้องดูรายละเอียดของคณะ กมธ.ว่ามีประเด็นอะไรที่ขัดแย้งกัน เช่นการเชิญหรือประเด็นที่เชิญนั้นเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ชุดนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องภายในของ กมธ.แต่ละชุดจะพิจารณาเอง และขอให้พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
    "ขอยืนยันประธานสภาไม่ไปแทรกแซงการทำงานของ กมธ. เพราะประธานสภาไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่งให้กมธ.ทำอะไรที่ขัดต่อภารกิจของเขา นอกจาก กมธ.ทำล่วงล้ำจากภารกิจ ประธานสภาก็มีสิทธิ์ทำความเข้าใจเพื่อให้การทำงานอยู่ในกรอบภารกิจ แต่ขณะนี้ยังไม่มีถึงขั้นนั้นและยังไม่มีใครร้องให้ประธานสภาเข้าไปช่วย" นายชวนกล่าว
เสรีฯ ตั้งที่ปรึกษาล่วงหน้า
    ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับประกาศระเบียบฯ ดังกล่าวทันที โดยระบุว่าประธานสภาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ย่อมรู้ว่าข้อบังคับจะมาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ คณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลของสถาบันนิติบัญญัติ ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ  กฎหมายและข้อบังคับการประชุม ตลอดจนภารกิจที่สภาผู้แทนราษฎรมอบให้ไปปฏิบัติ ดังนั้นคณะกรรมาธิการทั้งสามัญและวิสามัญมีความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ได้รับผิดชอบที่จะต้องไปรายงานต่อประธานสภา
    "การที่ประธานสภาออกคำสั่งเช่นนี้ ถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงภารกิจตามกฎหมายของคณะกรรมาธิการ และอาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกด้วย ผมจะปรึกษาวิปฝ่ายค้านและประธานกรรมาธิการซีกฝ่ายค้านเพื่อดำเนินทางกฎหมายต่อประธานสภาต่อไป หากยังดันทุรังประกาศใช้ข้อบังคับที่เป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่กรรมาธิการเช่นนี้ และอยากถามไปยังประธานสภาว่าตั้งแต่มีสภามาตั้งแต่ปี 2475 เคยมีประกาศแบบนี้ด้วยหรือ" นายจิรายุกล่าว
    วันเดียวกัน นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นกรณีประธานสภาออกประกาศระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ.2562 
    นอกจากนี้ ในโพสต์ดังกล่าวนายวัฒนาได้นำประกาศคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ที่ 9/2562 เรื่องตั้งที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการ พร้อมทั้งระบุข้อความช่วงท้ายว่า "อนึ่ง ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบได้แต่งตั้งให้ผมเป็นที่ปรึกษาตามคำสั่งที่โพสต์มาให้ดู ท่านประธานขอให้ผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายเพราะในสายตาพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ผมเป็นได้เพียงแค่ฝ่ายบุ๋น วันพุธนี้ผมจะไปประชุมคณะกรรมาธิการกับท่านเสรีพิศุทธ์ครับ"
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศเรื่องตั้งที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการดังกล่าวตามที่นายวัฒนานำมาโพสต์นั้น ในประกาศระบุ "ด้วยในคราวประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 11 เมื่อวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมได้มีมติตั้งที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการเป็นจำนวน 8 คน ประกอบด้วย 1.พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ 2.นายวัฒนา เมืองสุข 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ 5.นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส 6.นายบุญเชิด คิดเห็น 7.นายก้องกิดาการ ประพันธ์บัณฑิต 8.นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ ให้ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ 1.ให้คำปรึกษาการกระทำกิจการ หรือศึกษาเรื่องใด ที่เกี่ยวกับกระบวนการ และมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ 2.ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากประธานคณะกรรมาธิการ เว้นแต่หน้าที่และอำนาจในการสอบสวนหาข้อเท็จจริง จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ประกาศวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ"
    เป็นที่น่าสังเกตว่า คำสั่งดังกล่าวได้ลงวันที่ 20 พ.ย.62 และอ้างว่าที่ประชุม กมธ.ป.ป.ช.มีมติตั้งที่ปรึกษาประธานดังกล่าว แต่คำสั่งนี้นายวัฒนานำมาโพสต์เมื่อวันที่ 18 พ.ย.62
ถอนตัว กมธ.แก้ รธน.อื้อ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้มีบุคคลนอกที่ไม่ใช่คนหน้าเดิมเข้ามาเป็นประธาน กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่มีความเห็นเรื่องนี้ อย่าไปเห็นอะไรที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง เรื่องนี้ควรให้คนที่อยู่ในวงการมาช่วยกันให้ความเห็นดีกว่า อย่าง ส.ส.หรือพรรคการเมืองต่างๆ ควรไปถามเขา ซึ่งตำแหน่งประธาน กมธ.จะเกิดขึ้นทีหลัง โดย กมธ.จะเป็นคนเลือกจากคนที่มาเป็น กมธ.เพื่อให้มาเป็น ปธ.กมธ.
    "ในส่วนการส่งรายชื่อ กมธ.ในสัดส่วนของรัฐบาลไปยังวิปรัฐบาล รัฐบาลส่งไปนานแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะผมได้ยินว่ามีการทาบทามแล้วบางคนไม่รับ เพราะไปเอ่ยถึงโดยที่เขาไม่รู้มาก่อน ซึ่งเมื่อได้รายชื่อในส่วนรัฐบาลทั้งหมดแล้วไม่จำเป็นต้องส่งมาให้ผมและไม่ควรทำ โดยก่อนหน้านั้นมีการมาหารือกับผมตามประสาเพื่อนฝูง เพื่อขอคำแนะนำในฐานะที่เป็นบุคคลกว้างขวางว่าควรจะเป็นใครบ้างเท่านั้น" นายวิษณุกล่าว
    นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ตนได้ส่งรายชื่อในสัดส่วนของ ครม.ให้วิปรัฐบาลไปแล้ว 6 คน ซึ่งเป็นคนนอกทั้งหมด ไม่มีคนใน ครม.เลย แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากบางรายชื่อที่เสนอไปนั้นมีการปฏิเสธไม่ตอบรับ และต้องดูความเหมาะสมอีกที ซึ่งตนจะหารือกับนายวิษณุในการประชุม ครม.วันที่  19 พ.ย.เพราะยังมีเวลาอยู่ เนื่องจากญัตติยังไม่เข้าสภา คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า
    "อีก 6 รายชื่อที่เหลือนั้น เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องไปหารือกับวิปรัฐบาลอีกครั้งว่าจะเป็นท่านใดที่มีความเหมาะสม มีความรู้ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ยังต้องเป็นคนนอกอีกทั้งหมด เพราะสัดส่วนของพรรคการเมืองมีอยู่ในส่วน 18 คนอยู่แล้ว โดยสัดส่วนของ กมธ. 49 คน แบ่งเป็น ครม.12 คน ฝ่ายค้าน 19  คน ฝ่ายรัฐบาล 18 คน ทั้งนี้คาดว่าในวันพุธที่ 20 พ.ย.นี้ หลังการประชุมวิปรัฐบาลจะทราบรายชื่อที่ชัดเจน" นายเทวัญกล่าว
    คณะกรรมการประสานงานวิปรัฐบาลกล่าวว่า ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้แจ้งมาว่าอาจต้องหารือกันเพราะมี ส.ว.บางท่านที่ไม่เห็นด้วยในการเข้ามาเป็น กมธ. แต่ก็ต้องแล้วแต่ประธานวุฒิสภา และวิป ส.ว.ที่ต้องคุยกันอีกครั้ง และสัปดาห์หน้าตนก็จะไปร่วมประชุมด้วย 
    มีรายงานว่ารายชื่อ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาลที่ ครม.จะเสนอจำนวน 6 คน เป็นรายชื่อที่คัดเลือกไว้ก่อนหน้านี้เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ ได้แก่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว., นายสมชาย แสวงการ ส.ว., นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสมัยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน, นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ สมัยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ  กกต.
    ทั้งนี้ ต่อมา พล.อ.สมเจตน์ออกมาปฏิเสธว่าไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องต้องทบทวนบางรายชื่อ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ขอพิจารณารายชื่อ ส.ว.มาแทน ก่อนจะส่งให้นายเทวัญภายในสัปดาห์นี้ เช่นเดียวกับนายสมชาย แสวงการ ก็ไม่ขอรับเป็น กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีชื่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองมาแทน แต่ล่าสุดนายนายเอนกได้ปฏิเสธแล้วเช่นกัน.
    
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"