ทุนนิยมกับความเหลื่อมล้ำ


เพิ่มเพื่อน    

ทุนนิยมกับความเหลื่อมล้ำ

    ระบบทุนนิยมกับปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นความท้าทายของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมาตลอด เพราะสามารถส่งผลกระทบกว้างขวาง ทั้งต่อคนในสังคมและความยั่งยืนของระบบทุนนิยม ปัญหาคือระบบทุนนิยมสามารถสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดี แต่เรื่องการกระจายผลที่เกิดจากการเติบโต ในแง่ของรายได้ที่เกิดขึ้นให้กับกลุ่มคนต่างๆ ในเศรษฐกิจนั้นทำได้ไม่ดี คือ คนส่วนน้อยได้ประโยชน์มากจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ควร เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คนจำนวนน้อยร่ำรวยมาก แต่คนส่วนใหญ่มีแค่พออยู่พอกินหรือไม่ก็ยากจน และยิ่งเศรษฐกิจเติบโต ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยิ่งมีมากขึ้น หมายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น กรณีของประเทศไทย ซึ่งระบบเศรษฐกิจทำงานอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม ประเทศเราก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นปัญหาสำคัญของสังคม ซึ่งถ้าไม่พยายามแก้ไข ความรุนแรงของปัญหาอาจเป็นความเสี่ยงต่อความสมานฉันท์ เสถียรภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจได้

บทความ "เขียนให้คิด" วันนี้จะเขียนเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจว่าเรามีช่องทางอย่างไรหรือไม่ ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเติบโต พร้อมลดแรงกดดันของปัญหาความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจให้มีน้อยลง มองจากวิวัฒนาการของปัญหาที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก ผ่านความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถมีอิทธิพลต่อการกระจายรายได้ที่เกิดจากการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่กลุ่มคน หรือผู้เล่นต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เราเข้าใจถึงความเป็นไปได้และข้อจำกัดของความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา

ผู้เล่นในระบบทุนนิยม

ระบบทุนนิยม คือ ระบบเศรษฐกิจที่ทำงานตามกลไกตลาด ซึ่งผู้เล่นหลักจะมีอยู่สี่กลุ่ม กลุ่มแรก คือ นายทุน หรือเจ้าของทุนที่เป็นเจ้าของกิจการ รวมถึงนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้ และผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับส่วนแบ่งจากกำไรที่เกิดขึ้น กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มลูกจ้างและพนักงาน ที่ทำงานให้บริษัท หรือกิจการ ได้รับค่าจ้างและเงินสวัสดิการต่างๆ  เป็นการตอบแทน กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าของบริษัท ประกอบด้วยบุคคลต่างๆ อาชีพต่างๆ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐที่ไม่ได้ทำงานให้บริษัท แต่มีรายได้จากทางอื่นที่ซื้อสินค้าและเป็นลูกค้าของบริษัท กลุ่มที่สี่ คือ รัฐบาลที่มีรายได้จากภาษีของประชาชน และนำเงินภาษีเหล่านี้มาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ

นี่คือผู้เล่นสี่กลุ่มในระบบเศรษฐกิจ ที่ผลที่เกิดจากการเติบโตของเศรษฐกิจจะกระจายระหว่างคนสี่กลุ่มนี้ตาม "กฎเกณฑ์" ที่มีในสังคม เช่น ลูกจ้างและพนักงานจะได้รับส่วนแบ่งในรูปของเงินเดือนและสวัสดิการตามสัญญาได้ตกลงไว้กับบริษัท รัฐบาลได้ภาษีจากบริษัท และผู้ใช้แรงงานตามเกณฑ์ภาษีที่รัฐบาลกำหนดไว้ กลุ่มนายทุนได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาขาย ต้นทุน ค่าจ้าง และภาษี ส่วนกลุ่มผู้บริโภคคือกลุ่มคนที่จ่ายเงินซื้อสินค้าและสร้างรายได้ให้กับบริษัท ก็ได้สินค้าที่ซื้อไปบริโภคและได้ส่วนต่างระหว่างราคาที่ผู้ขายสินค้าได้ไปในการขายสินค้านั้นกับราคาของสินค้าที่ผู้บริโภคจริงๆ แล้วพร้อมจะจ่าย ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ส่วนเกินของผู้บริโภค (consumer surplus) ซึ่งถ้ามีค่าเป็นบวกก็หมายถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้เพิ่มเติมจากการบริโภคสินค้านั้น นี่คือกลุ่มคนสี่กลุ่มที่ได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ตามบทบาทหน้าที่และตามกฎเกณฑ์ของสังคมที่ได้กำหนดไว้

จุดสำคัญที่ต้องตระหนักก็คือ การแบ่งปันผลของการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่กลุ่มคนต่างๆ นั้น จะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่สังคมมี ซึ่งผู้ที่ควบคุมว่ากฎเกณฑ์ควรเป็นอย่างไร ก็คือ รัฐบาลที่มีหน้าที่ในการเขียนกฎหมายและออกกฎเกณฑ์ต่างๆ  ทำให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจที่มีเขียนกฎเกณฑ์หรือออกระเบียบต่างๆ เช่น ภาษี เปลี่ยนแปลงการกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มคนต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎระเบียบที่จะกระทบการกระจายรายได้ในสังคม หมายความว่าผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ตกไปแก่คนแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง นายทุน หรือผู้บริโภค สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยการใช้อำนาจของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงมีบทบาทอย่างสำคัญที่จะแก้ไข หรือลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจมี

ทุนนิยมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา การเติบโตของระบบทุนนิยมเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศในเศรษฐกิจโลก นำโดยสหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตร ส่วนหนึ่งเพื่อหยุดยั้งการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ และระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม ที่มีสหภาพโซเวียตและจีนเป็นผู้สนับสนุน ในช่วงนั้นบทบาทของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญต่อการกระจายผลที่เกิดขึ้นจากการเติบโตไปสู่กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ให้เป็นธรรมและเหมาะสม เพื่อลดการเอาเปรียบที่จะเป็นเงื่อนไขให้แนวคิดสังคมนิยมเติบโต ในช่วงนี้เราจึงเห็นการออกกฎหมายที่คล้ายๆ กันทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน เช่น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ การจัดตั้งสหภาพแรงงาน การคุ้มครองการจ้างงานเพื่อไม่ให้ลูกจ้างถูกปลดออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม ระบบประกันสังคม รวมถึงแนวคิดของการปรับอัตราค่าจ้างขึ้นตามการเพิ่มของผลิตภาพการผลิต (productivity) ทำให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง 

แนวทางเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี พร้อมกับฐานะความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและพนักงานที่ดีขึ้น นำมาสู่การเติบโตของ "ชนชั้นกลาง" ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย แต่พอมาในช่วงต้นของทศวรรษ 1970 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการลงทุนของธุรกิจได้ทำให้ผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะที่อัตราค่าจ้างปรับขึ้นได้ช้ากว่า  ความแตกต่างนี้ทำให้ส่วนของผลผลิตหรือรายได้ที่ถูกแบ่งปันเป็นกำไรของเจ้าของทุนเริ่มขยายตัวมากกว่าสัดส่วนของค่าจ้างแรงงานในรายได้รวม ความแตกต่างระหว่างรายได้ของกลุ่มเจ้าของทุนและพนักงานลูกจ้างจึงเริ่มมีมากขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากปัญหาราคาน้ำมันแพง (oil shock) พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ทำให้ผู้บริโภคและกลุ่มเจ้าของกิจการถูกกระทบมาก การกระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจจึงไม่ได้โน้มไปทางที่จะขยายสัดส่วนรายได้ของกลุ่มเจ้าของกิจการในรายได้รวมให้เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่รัฐบาลสูญเสียความน่าเชื่อถือในบทบาทการดูแลเศรษฐกิจจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ยุคโลกาภิวัตน์และตลาดเสรี

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและระบบสังคมนิยม ในช่วงปี 1989-90 ปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมและตลาดเสรีได้กลับมามีอิทธิพลในการทำนโยบายเศรษฐกิจทั่วโลก ภายใต้แนวคิดนี้ เศรษฐกิจที่มีบทบาทของภาครัฐน้อยลง และทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด จะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพกว่า แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่ยุคทองของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุน เปิดเสรีของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ลดข้อจำกัดและบทบาทของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจโลกเติบโตมาก สัดส่วนการกระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจยิ่งเอื้อหรือให้ประโยชน์ต่อกลุ่มเจ้าของทุนและนักลงทุน ทำให้การกระจายรายได้แย่ลง และยิ่งเศรษฐกิจมีการเติบโต ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจก็ยิ่งมีมากขึ้น ทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ในช่วงนี้ชัดเจนว่าบทบาทภาครัฐและนโยบายเศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากการดูแลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานมาเป็นการให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่จะมีต่อนักลงทุน เจ้าของกิจการ และกลุ่มนายทุน เช่น นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการปรับลดอัตราภาษีก้าวหน้า

ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับกำไรของภาคธุรกิจและความเหลื่อมล้ำที่ได้เพิ่มสูงขึ้น เกิดเป็นประเด็นว่าบริษัทธุรกิจควรมีบทบาทอย่างไรหรือไม่ในสังคม นอกเหนือจากการทำกำไร รวมถึงภาคธุริจควรทำอะไรหรือไม่ที่จะลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ โดยใช้ความรู้ความสามารถ และทรัพยากรที่ภาคธุรกิจมีมาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและคืนกำไรให้กับสังคม จากข้อสังเกตุนี้เราจึงเห็นความพยายามของบริษัทธุรกิจที่จะปรับตัว เพื่อลดแรงต่อต้านของสังคม โดยการมีโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ในระดับบริษัทและการจัดตั้งมูลนิธิและองค์กรทางสังคมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้หรือขาดโอกาสในสังคม โดยนักธุรกิจระดับอภิมหาเศรษฐีในรูปของ Philanthropy หรือการช่วยเหลือสังคม กลายเป็นรูปแบบใหม่ของระบบทุนนิยม ที่พยายามสร้างความเข้าใจว่าคนที่ร่ำรวยสามารถร่วมแก้ปัญหาของประเทศและช่วยเหลือสังคมได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้ดีขึ้น แต่กลับแย่ลง คือ ความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะที่ความพยายามของกลุ่มเจ้าของทุนที่จะปรับตัวผ่านโครงการช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ ก็ถูกมองว่า ไม่จริงจังและมักจะมีวาระทางการเมืองหรือธุรกิจซ่อนเร้นอยู่ เพราะนักธุรกิจก็คือ นักธุรกิจ มนต์ขลังของระบบตลาดเสรีมาถึงจุดสูงสุดในปี 2008 เมื่อเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่มีต้นตอมาจากความเป็นเสรีของตลาด และการลงทุนและทำธุรกิจที่เสี่ยงและไม่ระมัดระวังของกลุ่มเจ้าของทุนและนักลงทุน

จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกถึงปัจจุบัน

สิบปีหลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 ภาวะเศรษฐกิจของโลกก็ยังไม่กลับเป็นปรกติ ระบบการเงินก็ยังไม่สามารถทำงานได้ดีเหมือนเดิม แม้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะใช้ทรัพยากรมหาศาลในแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มีการประมาณว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 ได้สร้างความเสียหายมากกว่า 22 ล้าน ๆ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ก็คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มผู้บริโภค ขณะที่กลุ่มเจ้าของทุนโดยรวมกลับได้ประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ที่ใกล้ชิดกับการช่วยเหลือของภาครัฐ ทำให้ในช่วงสิบปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2008 ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจโลกจึงไม่ดีขึ้น แต่กลับแย่ลง คือ ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย

ผลกระทบต่อประชาชนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนในหลายประเทศเริ่มหมดศรัทธาต่อระบบทุนนิยม ผู้ทำนโยบาย และการเมืองในระบบเลือกตั้ง ว่าไม่สามารถป้องกันและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ นำไปสู่การมองหาผู้นำที่เข้มแข็งเพื่อแก้ไขปัญหา และการเมืองแบบประชานิยม ที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์และความสัมพันธ์เดิม ๆ ที่เคยเป็นพื้นฐานความสำเร็จของระบบทุนนิยมในอดีต ที่สำคัญคนรุ่นใหม่เริ่มมองหาทางเลือกใหม่ที่จะให้ความหวังและให้คำตอบต่อความยากลำบากที่กำลังเกิดขึ้นเพื่ออนาคตของพวกเขา ล่าสุด คือ ผลสำรวจความเห็นของคนรุ่นหนุ่มสาวในสหรัฐอเมริกา คือ Gen Z และ Millennial ที่ 70% ของประชากรในวัย Millennial คือ อายุระหว่าง 18-34 ปี พร้อมที่จะลงคะแนนเลือกนักการเมืองที่มีแนวคิดสังคมนิยมเป็นผู้แทน ท่าทีดังกล่าวจะมีผลอย่างสำคัญต่อการเมืองสหรัฐในช่วงต่อไป และการเมืองของประเทศไทยเองก็คงจะถูกกระทบในลักษณะเดียวกันจากปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมี

แล้วระบบทุนนิยมจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร

คำตอบ คือ ภาครัฐในการทำหน้าที่จะต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่สาม คือผู้บริโภคมากขึ้น และใช้พลังของกลุ่มผู้บริโภคมาเป็นตัวถ่วงดุลที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ให้แย่ลงหรือเลวร้ายไปกว่านี้ เพราะกลุ่มผู้ใช้แรงงานกำลังอ่อนแรงลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การว่างงาน และผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อการมีงานทำ ทำให้กลุ่มผู้บริโภคในแง่จำนวนจะยิ่งเติบโต ที่สำคัญการติดต่อสื่อสารโดยอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์มือถือ ยิ่งจะทำให้พลังของผู้บริโภคมีมากขึ้น เพราะสามารถที่จะรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว เพื่อประท้วงหรือเรียกร้องในประเด็นที่ทุกคนถูกกระทบหรือมีความรู้สึกร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ในปีนี้การประท้วงที่เกิดขึ้นใน 24 ประเทศทั่วโลก ล้วนมาจากการรวมตัวของผู้บริโภคผ่านเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ทั้งสิ้น และต้นตอหรือความห่วงใยที่นำมาสู่การประท้วงส่วนใหญ่ก็คือ เรื่องเศรษฐกิจ ที่สำคัญการประท้วงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถมีผลโดยตรงต่อการทำนโยบายของภาครัฐ และทรงพลังกว่าการประท้วงของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในอดีต

นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ที่ทั้งภาครัฐและกลุ่มนายทุนหรือเจ้าของธุรกิจจะต้องตระหนักและต้องปรับตัว เพื่อใช้พลังและความเดือดร้อนของผู้บริโภคให้เป็นประโยชน์ต่อการลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนที่สังคมต้องพยายามใช้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา ที่ผ่านมาชัดเจนว่า การดูแลผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานอย่างที่ได้เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะที่การเอื้อต่อประโยชน์ของกลุ่มเจ้าของทุน และธุรกิจภายใต้กลไกตลาดเสรีก็ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงขึ้น ช่องทางที่เหลืออยู่ จึงมีทางเดียว คือ กลุ่มผู้บริโภค ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในสังคม ทั้งในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ผลักดันโดยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ เป็นความท้าทายของการหาทางออกให้กับปัญหาที่มีอยู่ในสังคมแต่เนิ่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีความเสี่ยงที่ปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้นตามมา

คอลัมน์เขียนให้คิด
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"