รัฐบาลเดินหน้าลดค่ารถไฟฟ้าเป็นของขวัญปีใหม่คนกรุง "ของแพง" ยังครองอันดับ 1 ปัญหารุมเร้าประชาชนมากที่สุด บี้ "บิ๊กตู่" ช่วยด่วน นักวิชาการห่วงตกงานพุ่ง คาดสูงสุดในไตรมาสสามปีหน้า "ชิมช้อปใช้ เฟส 3" รอบผู้สูงอายุหงอย! ลงทะเบียนไม่ถึงแสน
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยไม่มีผลกระทบต่อสัญญา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง บรรเทาความเดือดร้อนของผู้โดยสาร ลดภาระค่าครองชีพที่ใช้จ่ายประจำวัน ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยวันที่ 19 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด รฟม. พิจารณาลดภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพื่อประชาชน
ทั้งนี้ บอร์ด รฟม.จะพิจารณาใน 2 มาตรการ 1.เปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง คิดอัตราค่าโดยสารต่อเที่ยวถูกลง 2.ลดอัตราค่าโดยสารในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ระหว่าง 09.00-15.30 น. และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยปัจจุบันเก็บอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 14-42 บาทต่อเที่ยว ส่วนมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบนั้น ขณะนี้กรมการขนส่งทางราง กำลังเร่งหาแนวทางอยู่ โดยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ได้กระทบต่อสัญญา และให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
“การลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าลง จะทำให้ประชาชนหันมาเดินทางโดยรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดหวังจะให้นโยบายนี้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทย และคาดหวังว่าจะเป็นที่น่าพอใจต่อประชาชน สามารถช่วยเหลือประชาชนในการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางได้เป็นอย่างดี” น.ส.ไตรศุลีระบุ
“สวนดุสิตโพล” โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,207 คน ระหว่างวันที่ 12-16 พ.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2563 ถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล และคาดการณ์ถึงสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นไปในทิศทางใด แบ่งหัวข้อการสำรวจความคิดเห็น ดังนี้
1.“5 อันดับ ปัญหาเศรษฐกิจ” ที่รุมเร้าประชาชน ณ วันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 65.54 ระบุข้าวของแพง ค่าครองชีพสูง สาเหตุจากสินค้ามีต้นทุนสูง ทุกอย่างปรับขึ้นราคา รัฐขึ้นภาษีสินค้าต่างๆ ทำให้มีราคาแพงขึ้น นายทุนเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ วิธีแก้ไขคือ ควบคุมราคาสินค้า มีส่วนลดสำหรับประชาชน ลดราคาน้ำมัน ของกินของใช้ ดำเนินการกับผู้ที่เอารัดเอาเปรียบอย่างจริงจัง ฯลฯ
อันดับ 2 ร้อยละ 39.19 ภาวะเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ สาเหตุจากรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ค่อยได้ผล เงินบาทแข็ง ท่องเที่ยวซบเซา เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ฯลฯ วิธีแก้ไขคือ รัฐบาลแก้ปัญหาให้ตรงจุด มีนโยบายช่วยเหลือประชาชน ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ
อันดับ 3 ร้อยละ 31.76 การว่างงาน ตกงาน สาเหตุจากเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีงานทำ สถานประกอบการขาดทุนต้องปิดตัวลง ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง คนงานถูกเลิกจ้าง ฯลฯ วิธีแก้ไขคือ ไม่เลือกงาน ลดรายจ่าย หางานพิเศษทำ รัฐบาลมีนโยบายเร่งช่วยเหลือคนตกงาน ชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ
อันดับ 4 ร้อยละ 25.68 รายได้ลดลง เงินไม่พอใช้ สาเหตุจากองค์กร สถานประกอบการ มีกำไรลดลง ต้องลดรายจ่าย ให้ค่าตอบแทนลดลง ข้าวของแพง รายจ่ายสูง ฯลฯ วิธีแก้ไขคือ ขึ้นเงินเดือน เพิ่มค่าแรง ลดความเหลื่อมล้ำ ลดภาษี ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ ช่วยเหลือคนยากจน ฯลฯ
อันดับ 5 ร้อยละ 17.48 การส่งออก การค้าและการลงทุน สาเหตุจากเศรษฐกิจโลกซบเซา ต่างชาติ ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน ส่งออก-นำเข้ามีปัญหา ค่าเงินบาทแข็งทำให้ได้กำไรลดลง ฯลฯ วิธีแก้ไขคือรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติและนักลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม ฯลฯ
2.เรื่องที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือมากที่สุดคือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.34 อยากเห็นการควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ ไม่ขึ้นภาษี รองลงมา ร้อยละ 38.41 อยากเห็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน สร้างงานสร้างรายได้ ขึ้นเงินเดือน และร้อยละ 31.15 อยากให้พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
3.ใคร หรือหน่วยงานใด ที่ประชาชนคาดหวังให้เข้ามาช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.90 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 32.84 คือกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง พาณิชย์ แรงงาน อุตสาหกรรม เกษตรฯ และสุดท้าย 24.94% คือฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 17 พ.ย.นี้ เป็นวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนชิมช้อปใช้ เฟส 3 สำหรับผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป ผ่าน w ww.ชิมช้อปใช้.com และรับจำกัด 500,000 คน พบว่า ณ เวลา 18.00 น. มียอดลงทะเบียนเพียง 90,175 ราย หากเทียบกับ 2 เฟสก่อนหน้านี้ พบว่ายอดลงทะเบียนใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็เต็มตามที่กำหนด ทั้งนี้ธนาคารกรุงไทยจะเปิดให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนเรื่อยๆ จนกว่าครบโควตา 5 แสนคน
ทางด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานมีโอกาสปรับตัวสูงสุดในรอบสิบปีสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตล่าสุดที่อยู่ในระดับต่ำ 64.7% ต่ำที่สุดในรอบ 94 เดือน แต่ตัวเลขการว่างงานอาจต่ำกว่าความเป็นจริง จากผู้ไม่มีงานทำจำนวนหนึ่งสมัครใจออกจากงานก่อนเกษียณ รวมถึงคำนิยามของการว่างงานของไทย เช่น ทำงานสัปดาห์ละไม่กี่ชั่วโมงก็ถือว่าไม่ว่างงานแล้ว โดยที่ไม่ได้มีงานทำอย่างจริงจัง เป็นงานชั่วคราว ไม่มีความมั่นคง มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการจ้างงานตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน พ.ย. พบว่า มีการจ้างงานในกิจการใหม่และขยายกิจการอยู่ที่ 168,737 ตำแหน่งงาน มีการเลิกจ้างงานแล้ว 35,533 ตำแหน่งงาน จากข้อมูลส่วนนี้คาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์การจ้างงานหลังไตรมาสสามปีหน้าอาจปรับตัวในทิศทางดีขึ้น หากยังมีแนวโน้มของการขยายตัวการจ้างงานใหม่อยู่
ส่วนข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงาน สำรวจภาวะการมีงานทำในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่พบว่า มีผู้ว่างงาน 3.85 แสนคน เทียบกับปีที่แล้ว มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นคน ในช่วงเดือน เม.ย.และเดือน พ.ค.2563 จะมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานอีก 5.24 แสนล้านคน บัณฑิตจบใหม่เหล่านี้จะหางานทำไม่ได้ประมาณร้อยละ 50-60 เนื่องจากตลาดแรงงานต้องการแรงงานที่จบสายช่าง สายวิชาชีพ สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากกว่าสายสังคมศาสตร์ หลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตที่ผ่านมาก็ไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตและภาคบริการ ส่งผลต่อปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นจนอาจแตะระดับสูงสุดในช่วงไตรมาสสามปีหน้า และน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากนั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |