ผลโพลตบหน้าฝ่ายค้าน! ชี้ควรแก้นิสัย ส.ส.ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ส.ยังมีภาพลักษณ์แย่ๆ เหมือนเดิม หวั่นเคลื่อนไหวแก้ รธน.นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย มองว่านักการเมืองแก้ รธน.เพื่อเปิดช่องคดโกงได้มากกว่าแก้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ แกนนำสภาสูงทุบโต๊ะสำเร็จยาก
ความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ก่อนที่ทางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก ส่วนกรณีพิจารณาหาบุคคลมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรนั้น ขอไม่ออกความเห็น และที่ปรากฏว่ามีชื่อตนจะไปร่วมเป็น กมธ.ในสัดส่วนของ ส.ว.นั้น ก็จะไม่เข้าร่วมเป็น กมธ.ด้วย เพราะต้องปล่อยให้ ส.ส.เขาทำไป
"เชื่อว่าสำเร็จยาก เว้นมีเหตุผลที่ดีว่าจะแก้มาตราไหน โดยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไร ถ้าแก้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายการเมืองเท่านั้น คงจะไม่สำเร็จ" พล.อ.สมเจตน์ระบุ
เมื่อถามว่า แม้ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หลายพรรคมองว่าจะแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับที่มา หน้าที่และอำนาจของ ส.ว.เป็นอันดับต้นๆ พล.อ.สมเจตน์ตอบว่า อย่าลืมว่าการจะผ่านความเห็นชอบในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องเสนอในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา และต้องได้เสียงสนับสนุนของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง เมื่อไปตั้งเป้าหมายจะแก้ไขเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ ส.ว.แล้ว จะมีเสียง ส.ว.ที่ไหนมาสนับสนุน
วันเดียวกันนี้ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,257 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2562
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า เมื่อถามถึงที่มาของประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.11 ระบุว่าควรมาจากคนนอกที่ไม่ใช่ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 16.63 ระบุว่า ควรมาจากตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน, ร้อยละ 12.89 ระบุว่าควรมาจากตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิด/พฤติกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ที่ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญพึงมี พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.07 ระบุว่าเป็นคนที่ไม่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างชัดเจนจากรัฐธรรมนูญ 2560 รองลงมา ร้อยละ 21.32 ระบุว่าเป็นคนที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างชัดเจน, ร้อยละ 15.19 ระบุว่าเป็นคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน
และเมื่อถามถึงระยะเวลาในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 46.22 ระบุว่าไม่เกิน 6 เดือน รองลงมา ร้อยละ 32.06 ระบุว่าไม่เกิน 1 ปี, ร้อยละ 11.14 ระบุว่าไม่ควรมีกำหนดระยะเวลา, ร้อยละ 6.29 ระบุว่าไม่เกิน 2 ปี, ร้อยละ 2.94 ระบุว่า ไม่เกิน 3 ปี, ร้อยละ 0.32 ระบุว่าไม่เกิน 5 ปี และร้อยละ 1.03 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ขณะที่นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง แก้รัฐธรรมนูญ กับแก้นิสัย ส.ส. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ
โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 4,551 ตัวอย่าง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,189 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.5 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ในขณะที่เพียงร้อยละ 7.5 เคยอ่าน และเมื่อถามความเห็นว่านักการเมืองแก้รัฐธรรมนูญเพื่ออะไรระหว่างแก้เพื่อเปิดช่องคดโกงได้ กับแก้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.8 คิดว่านักการเมืองจะแก้เพื่อเปิดช่องคดโกงได้ ในขณะที่ร้อยละ 15.2 คิดว่าจะแก้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.5 คิดว่าควรแก้นิสัย ส.ส.ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ส.ยังมีภาพลักษณ์แย่ๆ เหมือนเดิม ชอบขู่ วางอำนาจ ท้าตีท้าต่อย ก่อความขัดแย้งในสังคม ทำตัวอดอยากหิวโหยมาหลายปี วิ่งเต้นเบื้องหลัง เป็นอีแอบ ล็อบบี้ ส่อคดโกง หาผลประโยชน์ มุ่งมาเอาทุนคืน ในขณะที่ร้อยละ 13.5 คิดว่าควรแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพราะอยากได้รัฐธรรมนูญแบบปี 40 และต้องการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นต้น
"ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.7 คิดว่าปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในสังคมได้ โดยพบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.9 เชื่อว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย, ร้อยละ 42.8 ระบุอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ในขณะที่ร้อยละ 2.3 ไม่เชื่อ" ผลสำรวจระบุ
นายนพดลกล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll พบว่า ปมแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเข้าถึงคนทั้งหมดประมาณ 7,811,252 คน หรือกว่า 7 ล้านคน แต่เป็นจำนวนที่น้อยกว่าประมาณสามเท่าของจำนวนคนที่มาตรการชิมช้อปใช้เข้าถึง คือ 21,898,746 หรือกว่า 20 ล้านคนในโลกโซเชียล และเสียงตอบรับต่อการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเสียงตอบรับเชิงลบร้อยละ 55.9 ในขณะที่เสียงตอบรับเชิงบวกมีร้อยละ 44.1
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่ากระแสการแก้รัฐธรรมนูญถูกจุดขึ้นจากฝ่ายการเมืองมากกว่าฝ่ายประชาสังคม และยังไม่ตอบโจทย์ ไม่ตรงเป้าความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่กำลังตอบรับมาตรการชิมช้อปใช้มากกว่าและประชาชนยังกังวลว่าปมแก้รัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในสังคมจนอาจเกิดเหตุจลาจลขึ้นเหมือนบางประเทศในเวลานี้ ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนยังเคลือบแคลงสงสัยด้วยว่า ส.ส.จะทำเพื่อเปิดช่องโกงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องมากกว่าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |