"นิพิฏฐ์" ชำแหละคำถาม 16 ข้อที่ "เสรีพิศุทธ์" ส่งให้ "บิ๊กตู่" ชี้แจง กมธ. พบเป็นการบ่นมากกว่าถาม เพราะหลายข้อไม่อยู่ในข่ายที่นายกฯ ต้องตอบ เตือนอย่าหันกระบอกปืนเข้าหน้าตัวเอง "อดิศร" เล่นของใหญ่ ปลด "เสรีพิศุทธ์" ได้ก็ต้องปลด "ชวน" ได้
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคำถาม 16 ข้อ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน ส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการบ่นหรือการถาม
"อยากจะเล่าเพื่อให้ผู้อ่านที่ติดตามได้เข้าใจ เปรียบเหมือนท่านผู้อ่านดูกีฬา แต่ถ้าท่านไม่รู้กติกาก็ไม่สนุก เผลอๆ ท่านเข้าใจผิดวิ่งไปทุบนักกีฬาเอาดื้อๆ เพราะไม่เข้าใจกติกา"
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า การตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัตินั้น เราต้องสนับสนุน ตามหลักที่ว่า รัฐบาลที่ดีต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง แต่การตรวจสอบนั้นเขามีกติกา กติกานั้นคือรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เวลา ส.ส.เขาตรวจสอบรัฐมนตรี ต่างกับการตรวจสอบบุคคลทั่วไปคือ หลักๆ เขาจะตรวจสอบนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรี เขาจะถามรัฐมนตรีด้วยคำถามอย่างไร ไม่ใช่จะถามได้ทุกเรื่อง
เรื่องนี้ต้องอนุโลมตามการถามกระทู้ โดยต้องไปดูตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 147 เช่น ห้ามถามให้ออกความเห็น,ห้ามถามปัญหาข้อกฎหมาย, ห้ามถามเรื่องส่วนตัว เป็นต้น ไปดูเถอะในคำถามของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีหลายข้อไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน
เช่น ข้อ 2 ถามว่าการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คำถามนี้นายกฯ จะตอบอย่างไร เพราะไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะการเลือกประธานและรองประธานสภาเป็นเรื่องของ ส.ส. อีกทั้งตอนเลือกประธานสภาฯ ก็ยังไม่รู้เลยว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี
หรือการถามให้ออกความเห็น ซึ่งถามไม่ได้ และผู้ถูกถามก็ไม่จำเป็นต้องตอบ เช่น ข้อ 14 ถามว่าประธานวุฒิสภาท่านปัจจุบันเคยดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อครบวาระก็ได้รับการสรรหาเป็นวุฒิสภาและประธานวุฒิสภา อย่างนี้ ไม่ใช่คำถาม แต่เป็นคำบ่นเพ้อรำพันเสียมากกว่า
"ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็จะตอบว่าข้อนี้เป็นคำบ่นของท่านประธาน ไม่ใช่คำถาม ไม่ขอตอบ ถ้าให้ผมแนะนำ ยกเลิกการถามบางข้อที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน หยุดการบ่นเพ้อรำพัน และยิงตรงเป้าเลย แต่ระวังอย่าหันกระบอกปืนเข้าหน้าตัวเอง" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับความเห็นของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ เป็นเรื่องภายในของคณะกรรมาธิการนั้นๆ เพราะการโหวตเลือกตำแหน่งต่างๆ ของคณะกรรมาธิการเป็นการลงมติในที่ประชุมคณะกรรมาธิการทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งใดๆ ก็เป็นเรื่องภายในของกรรมาธิการที่จะพิจารณากันจากข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีการระบุถึงการสิ้นสุดของผู้ดำรงประธานคณะกรรมาธิการต้องพิจารณาว่าสามารถนำข้อบังคับข้อที่ 108 ว่าด้วยการสิ้นสุดของกรรมาธิการมาบังคับใช้โดยอนุโลมได้หรือไม่
ส่วนกรณีที่มีกรรมาธิการ ป.ป.ช.ในสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาการทำหน้าที่ของประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ว่าถูกต้องหรือไม่ และร้องเรียนถึงความขัดแย้งในการทำงานของคณะกรรมาธิการนั้น นายเทพไทเชื่อว่า เมื่อประธานสภาฯ รับหนังสือดังกล่าวแล้ว อาจจะมอบให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาดำเนินการ เหมือนกับข้อขัดแย้งของคณะกรรมาธิการบางคณะ ที่คณะกรรมาธิการกิจการสภาพิจารณาแก้ปัญหาจบแล้ว
"เทพไท"สอน ส.ส.ใหม่
นายเทพไทบอกว่า ต้องยอมรับความจริงว่า สภาชุดนี้มี ส.ส.หน้าใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ในคณะกรรมาธิการบางคณะ มีกรรมาธิการที่เป็น ส.ส.ใหม่เกือบทั้งคณะ และบางคณะมีประธานคณะกรรมาธิการเป็น ส.ส.สมัยแรก ยังขาดประสบการณ์ในการทำหน้าที่ ไม่เคยผ่านงานด้านกรรมาธิการมาก่อน ก็จะทำให้เกิดความขลุกขลักในการทำงานช่วงแรกๆ เชื่อว่าเมื่อผ่านการทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง ทุกอย่างก็คงจะเข้าที่เข้าทาง ดำเนินการไปด้วยดีได้อย่างแน่นอน อยากให้ ส.ส.ทุกคนได้ตระหนักถึงการทำหน้าที่ของตัวเองในคณะกรรมาธิการ ว่าทุกคนเป็นตัวแทนของประชาชน
ส.ส.นครศรีธรรมราชกล่าวว่า ในคณะกรรมาธิการจะไม่มีความเป็นพรรคการเมือง ทุกคนมีสถานะเป็นกรรมาธิการ มีหน้าที่ต้องทำงานร่วมกันตามบทบาทหน้าที่ที่ได้ระบุไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ควรนำเอาความเป็นพรรคการเมือง หรือขั้วการเมือง หรือความมีอคติ ความไม่พอใจส่วนตัวมายุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมาธิการ
"หากไม่มีการลดราวาศอกซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้การทำงานของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะไม่ประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับการประชุมสภา และเจตนารมณ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน" นายเทพไทกล่าว
รศ.พิเศษ ดร.อดิศร เพียงเกษ โฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หากปลดประธานกรรมาธิการได้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็สามารถถูกปลดจากตำแหน่งได้ ตามประเพณีการปฏิบัติที่มีมาในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ใครจะเป็นประธานกรรมาธิการสามัญคณะใด เป็นไปตามข้อตกลงของแต่ละพรรคการเมือง ตามสัดส่วนที่แต่ละพรรคมีจำนวน ส.ส.มากน้อยอย่างไร ก็จัดสรรโควตาให้แก่พรรคการเมืองนั้นๆ ส่งตัวแทนของตนมาดำรงตำแหน่งประธานในคณะกรรมาธิการสามัญนั้นๆ การดำรงตำแหน่งประธานในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ก็เป็นไปตามที่ได้อธิบายมาแล้ว
โฆษกผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า การที่นายสิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาให้ข่าวจะปลดประธาน ป.ป.ช. หากเป็นจริง ก็ถือได้ว่านายสิระไม่เข้าใจระบบประเพณี การเคารพสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมือง ในการเป็นประธานในคณะกรรมาธิการสามัญ
"การเอาชนะคะคานหรือการเอาใจผู้มีอำนาจ ไม่ใช่วิถีทางของนักประชาธิปไตย ถ้าปลดประธานกรรมาธิการได้ เราก็สามารถปลดนายชวนออกจากประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เช่นกัน เป็นนักการเมือง ต้องเข้าใจการเมือง อย่ารับใช้ผู้มีอำนาจจนลืมศักดิ์ศรีของตนเองเลยนะครับ" รศ.พิเศษ ดร.อดิศรกล่าว
นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถือว่า กมธ.ป.ป.ช.ทำหน้าที่ไปตามกรอบหน้าที่ เมื่อมีข้อสงสัยต่อการปฏิบิติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตรก็ควรไปชี้แจงตามที่ กมธ.เรียก ไม่มีเหตุผลที่จะต้องกังวล หากท่านไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีหลายคน รวมไปถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็ยังเข้าชี้แจงด้วยตนเอง
ส่วน กมธ.ป.ป.ช.บางคนที่มีท่าทีที่ทำให้การดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่น่าห่วง ก็อยากให้ทุกฝ่ายละประโยชน์ส่วนตัวทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ส่วนกรณีที่ กมธ.ซีกพรรคพลังประชารัฐเรียกร้องให้เปลี่ยนตัว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ออกจากเป็นประธาน กมธ.ป.ป.ช.นั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้ตำแหน่งนี้มาตามครรลอง โดยถือเป็นโควตาของพรรคฝ่ายค้าน จึงถือว่าไม่เหมาะสม
ลุ้นศึก 2 นายพล
ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย จำเลยคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 164 วรรคท้าย บัญญัติให้รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน โดยก่อนเข้ารับหน้าที่ต้องถวายสัตย์ฯ ต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อมีกรณีสงสัยว่าการถวายสัตย์ฯ ของรัฐมนตรีจะกระทำไปโดยไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญอันจะส่งผลให้กิจการที่ทำต่อจากนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย สภาย่อมมีอำนาจที่จะเรียกนายกรัฐมนตรีมาสอบถามในกรณีดังกล่าวได้
คณะกรรมาธิการเป็นกลไกของสภา มีหน้าที่กระทำกิจการ สอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่แทนสภา พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้โควตาคณะกรรมาธิการและประธานตามสัดส่วนของจำนวน ส.ส. ที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ดังนั้น เสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานได้ เพราะการเป็นประธานขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ของพรรค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนคณะกรรมาธิการในคณะนั้น อันเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 93 วรรคแปด
ส่วนที่มี ส.ส.ทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ขอให้ระงับการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตรมาชี้แจงในเรื่องนี้ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่สภาได้พิจารณาแล้วจึงคลาดเคลื่อน เพราะเรื่องที่สภาได้พิจารณาคือญัตติตามมาตรา 152 ส่วนเรื่องที่กรรมาธิการเรียกบุคคลทั้งสองมาชี้แจงไม่ใช่ญัตติจึงไม่ซ้ำซ้อนกัน และที่ขอให้ประธานสั่งระงับการทำหน้าที่ของประธานกรรมาธิการก็ไม่อาจทำได้ เพราะประธานไม่มีอำนาจ สิ่งที่ควรทำคือไปบอกนายกรัฐมนตรีให้มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการตามหน้าที่ ไม่เช่นนั้นก็ลาออกไปจะอยู่บ้านหรือไปรีดนมวัว ก็จะไม่มีกรรมาธิการไหนไปเชิญมาสอบถาม
"มาดูกันครับว่าพลเอกที่เป็นตำรวจกับทหาร ใครจะมีความกล้าหาญในหน้าที่มากกว่ากัน ยิ่งทั้งคู่ได้รับเครื่องราชฯ ชั้นรามาธิบดีเหมือนกัน แต่ใครคือของจริง รอดูวันพุธที่จะถึงครับ" นายวัฒนากล่าว
ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นภาพกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ซีกรัฐบาล วิ่งพล่านทำทุกอย่างเพื่อปกป้องมิให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมาตอบคำถามคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่สภาผู้แทนราษฎร แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านธรรมดาๆ แล้วบรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายจะออกแรงเพื่อปกป้องกันสุดใจถึงขนาดนี้หรือไม่ ซึ่งหาก ส.ส.เหล่านี้แบ่งพลังสักครึ่งหนึ่งที่ใช้ในการปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ แล้วเอาพลังงานตรงนั้นไปใช้ในการเรียกร้องความถูกต้องให้ประชาชน ประเทศไทยก็คงจะเจริญกว่านี้มาก
ทั้งนี้ เรื่องการเข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ นั้น อันที่จริงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต คณะกรรมาธิการเขาแค่เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตอบคำถามที่สภา ไม่ได้เรียกมาเข้าคุกสักหน่อย ถ้า พล.อ.ประยุทธ์คิดว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร รัฐมนตรีคนอื่นๆ เขาก็เคยเดินทางเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ กันเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ ในห้องประชุมก็มีทั้ง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ และ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คอยปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ต้องกลัวขนาดนี้ จนทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่
"ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ชอบบอกว่าเลือกตั้งช้า แล้วจะเป็นจะตายกันหรือไง ก็ขอถามกลับว่า กะอีแค่เดินมาตอบคำถามที่สภา ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำเหมือนจะเป็นจะตายด้วย ดังนั้นทางออกง่ายๆ ของเรื่องนี้ ก็แค่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งรถมาที่สภาเท่านั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เลิกทำตัวมีปัญหา และยอมรับการตรวจสอบ ผู้ใหญ่ในประเทศหลายๆ ท่านก็จะได้ไม่ต้องวุ่นวายมาช่วยจนเสียหลักการกันไปหมด แถมยังอาจช่วยทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ดูดีขึ้น ว่าขนาดเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ก็ยอมลดทิฐิเพื่อไม่ให้บ้านเมืองวุ่นวายด้วย อย่าทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนในประเทศนี้ต้องควักต้นทุนทางสังคมเพื่อปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง" ร.ท.หญิงสุณิสากล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |