กลางสัปดาห์หน้านี้ คือวันพุธที่ 20 พ.ย. จะได้รู้กันแล้วว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะได้กลับมาทำหน้าที่เป็น ส.ส.อย่างเต็มตัวอีกครั้งหลังหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่มาร่วมหกเดือน หรือสุดท้ายจะไม่รอดถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิการเป็น ส.ส. ในคดีถือหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้ง จนทำให้ธนาธรกลายเป็นอดีต ส.ส.ที่เคยเข้าประชุมสภาแค่นัดเดียว ไม่กี่นาทีตอนโหวตเลือกประธานสภาฯ แล้วหลังจากนั้นก็ไม่เคยได้กลับเข้าห้องประชุมสภาอีกเลย เพราะถูกศาล รธน.ตัดสิทธิการเป็น ส.ส. จะทำได้ก็แค่การเป็นกรรมาธิการวิสามัญชุดต่างๆ เช่น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ 2563 ที่ธนาธรเป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน
เส้นทางการเมืองของธนาธรดังกล่าวก็จะได้รู้กันเสียที กับการลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 เสียง ที่จะลงมติชี้ขาดคำร้องดังกล่าว ในวันพุธนี้ 20 พ.ย.
อันพบว่า ถึงขณะนี้ ธนาธร ยังเชื่อมั่นว่าคำร้องคดีนี้ เขาและทีมกฎหมายพรรคอนาคตใหม่แจงได้ทุกประเด็น เคลียร์ได้ทุกข้อสงสัย ทั้งข้อสงสัยจากสื่อ-สังคม รวมถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการเปิดฉากไต่สวนคำร้อง เรียกธนาธรกับคนในครอบครัว ทั้งมารดาและภรรยา มาเบิกความเมื่อ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่าฝ่ายธนาธรยังเชื่อมั่นระดับหนึ่ง มีโอกาสรอด แม้ต่อให้ยามนี้ผู้คนที่สนใจข่าวแวดวงการเมืองส่วนใหญ่จะมองว่า ธนาธร-รอดยาก ก็ตามที
ทั้งนี้ คำร้องคดีธนาธรดังกล่าวคือคำร้องคดีถือหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้ง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ กรณีถือครองหุ้นสื่อมวลชน บริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งพอ กกต.ส่งคำร้องมา ก็พบว่าคดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณาคำร้องนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด เพราะนับจากวันที่ศาล รธน.รับคำร้อง คือ เมื่อ 23 พ.ค. และนัดอ่านคำวินิจฉัย วันที่ 20 พ.ย. เท่ากับใช้เวลาร่วม 6 เดือน อีกทั้งยังมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคำร้อง โดยเรียกพยานบุคคลที่ส่วนใหญ่ก็คือพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง (ธนาธร) มาไต่สวนถึง 10 ปาก
ทั้งที่ก่อนหน้านี้บางฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะพิจารณาตัดสินคำร้องคดีธนาธรได้เร็ว เพราะมองว่าคดีดังกล่าวมีการกลั่นกรอง-ทำสรุปสำนวนเบื้องต้นมาแล้วจาก กกต.ที่มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน กลั่นกรองสำนวน พิจารณาข้อกฎหมายชงมาให้ กกต.ใหญ่แล้ว จน กกต.ใหญ่ที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย ลงมติให้ส่งคำร้องคดีดังกล่าวมายังศาล รธน.
ผนวกกับมองว่า จากหนังสือ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่บริษัท วี-ลัคฯ ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังปรากฏชื่อธนาธรเป็นผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งก็คือถือไว้จนถึงก่อนหน้าการเลือกตั้ง 24มีนาคม เพียงแค่ 3 วัน แต่ธนาธรไปยื่นสมัครลงรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ต่อ กกต.เมื่อ 4 ก.พ. กกต.จึงมองว่าธนาธรมีคุณสมบัติต้องห้าม การลงสมัคร ส.ส.เพราะถือหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้ง จึงส่งคำร้องไปยังศาล รธน.ดังกล่าว
ด้วยมุมมองว่า หนังสือ บอจ.5 ดังกล่าว ที่เป็นหนังสืออย่างเป็นทางการ เป็นพยานลายลักษณ์อักษรอย่างดี ทำให้ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายจึงมองว่าคดีธนาธรน่าจะจบเร็ว แต่สุดท้ายก็อย่างที่เห็น ศาล รธน.ใช้เวลาในการพิจารณาคำร้องคดีธนาธรกินเวลาเกือบหกเดือน และยังเปิดโอกาสให้ธนาธรขึ้นเบิกความ เมื่อ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับเรียกพยานบุคคลที่อยู่ในฝั่งธนาธรมาเบิกความ เช่น นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธร-นางรวิพรรณ ภรรยาธนาธร และชัยสิทธิ กล้าหาญ คนขับรถของนายธนาธร เป็นต้น
ที่ส่วนใหญ่ก็เบิกความไปในทางเดียวกันคือ ธนาธร ได้มีการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ รวมถึงบริษัทอื่นๆ อีกร่วม 14 บริษัท ให้กับนางสมพร มารดา และน้องชาย เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่เป็นวันก่อนยื่นลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ใช่ 21มี.ค. แต่อย่างใด
การที่ศาล รธน.ให้โอกาสการสู้คดีต่อธนาธรมากถึงเพียงนี้ ซึ่งถ้าศาล รธน.ยกคำร้อง ธนาธรชนะคดี เรื่องก็คงจบเร็ว ไม่เกิดการสร้างกระแสไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล รธน.ตามมา แต่หากตรงกันข้าม ธนาธรไม่รอด ก็มีการมองกันว่า อาจมีการสร้างกระแส ธนาธร-อนาคตใหม่ อยู่-ไม่เป็น จึงโดนสกัด
โดยในช่วงนับถอยหลังก่อนถึงวันชี้ชะตา 20 พ.ย. หากถอดรหัสความคิด ความเชื่อมั่นของธนาธร พบว่าเขาก็ยังแสดงออกว่าตัวเองจะรอดในคดีดังกล่าว เพราะเชื่อว่า แนวทางการต่อสู้คดี ของตนเองในชั้น กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ เคลียร์ทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบริษัท วี-ลัคฯ ที่เลิกกิจการ เลิกจ้างพนักงาน เลิกผลิตนิตยสารในเครือบริษัท วี-ลัคฯ ก่อนวันยื่นลงสมัคร ส.ส. คือทุกอย่างจบสิ้นในช่วงเดือน พ.ย.–ธ.ค.2561 ดังนั้น เมื่อบริษัท วี-ลัคฯ เลิกกิจการ ไม่มีรายได้เข้าบริษัท ความเป็นนิติบุคคล จึงสิ้นสุดสภาพไปแล้ว จึงย่อมไม่ถือว่าครอบครองหุ้นสื่อก่อนเลือกตั้ง
แต่ประเด็นสำคัญในข้อต่อสู้ของ ธนาธร ในคดีนี้ก็คือ เรื่อง วัน-เวลา-สถานที่ในการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ ให้กับมารดาและน้องชาย ที่ธนาธรเบิกความต่อศาล รธน.และแจงหลายครั้งว่า ได้ทำธุรกรรมโอนหุ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่บ้านพักส่วนตัว หลังเดินทางกลับจากการไปหาเสียงที่บุรีรัมย์ และเป็นธุรกรรมซึ่งเกิดขึ้นก่อนยื่นลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ 4 ก.พ. ไม่ใช่ 21 มี.ค.หลังยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้งแต่อย่างใด
“เรื่องวันที่ 20 พ.ย.ที่จะถึง ผมก็มั่นใจว่า ถ้าดูจากเอกสารแวดล้อม บริษัทที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ ไม่มีพนักงาน ไม่ใช่บริษัททำสื่อแน่ เพราะบริษัทปิดตัว
ผมจึงไม่มีเจตนา เพราะบริษัทเลิกทำก่อนจะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส.เสียอีก ซึ่งสำหรับผม ไม่เคยเครียดกับเรื่องนี้ เพราะมั่นใจมาก” (ธนาธร-17 พ.ย.)
ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวของ กกต. เป็นแค่เรื่องการให้ตัดสิทธิการเป็น ส.ส.ของธนาธรเท่านั้น นั่นหมายถึงหากศาล รธน.ยกคำร้อง ธนาธรก็กลับมาเป็น ส.ส.เต็มตัว และอาจได้เห็นเขาปล่อยของ หลังอัดอั้นมานาน ด้วยการเป็นหนึ่งในแกนนำฝ่ายค้านที่จะลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้
แต่หากผลของคำวินิจฉัยของศาล รธน.ออกมาในทางไม่เป็นคุณกับธนาธร คือโดนศาล รธน.ตัดสิทธิการเป็นส.ส. นั่นหมายถึง เขาก็จะพ้นสภาพการเป็น ส.ส.อย่างเป็นทางการทันทีหลังการอ่านคำวินิจฉัยกลางเสร็จสิ้นลง ส่วนผลต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องดูรายละเอียดทั้งหมดในคำวินิจฉัยกลางที่จะเขียนออกมาตาม มติเสียงข้างมากของที่ประชุมตุลาการศาล รธน. ที่จะลงมติในช่วงเช้าวันพุธที่ 20 พ.ย.
โดยหากคำวินิจฉัยของศาล รธน. มีการระบุในลักษณะว่า ศาล รธน.เชื่อหรือเห็นว่าธนาธรมีเจตนาหรือจงใจ ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่รู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ เพราะถือหุ้นสื่อก่อนเลือกตั้ง อันเท่ากับเป็นการทำผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.
ก็ต้องดูว่า กกต.จะขยายผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าวหรือไม่ เพราะพบว่า ใน พ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 151 มีการบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี”
ขณะที่เรื่องการยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ได้หรือไม่ ก็พบว่า ในมาตรา 132 (3) ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ก็มีบทบัญญัติที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่า หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรครู้เห็น ปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทํานั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมให้ กกต.เสนอคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย”
แต่ทว่ากว่าจะไปถึงขั้นตอนตัดสิทธิการเมืองธนาธร ยาวร่วมยี่สิบปี หรือถึงขั้นยื่นคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ฝ่ายธนาธรพยายามโต้แย้งตลอดว่า คนที่พูดเรื่องนี้เข้าใจผิด ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ลำดับแรก ไม่ต้องอะไรมาก รอดูคำวินิจฉัยของศาล รธน.วันที่ 20 พ.ย.กันก่อนว่าจะบานปลายไปถึงขั้นนั้นได้หรือไม่
เส้นทางการเมืองของธนาธร-การเป็น ส.ส.ของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะดวงดับ อับแสง หรือจะถูกปลดปล่อย ได้กลับมาเป็น ส.ส.เต็มตัวเสียที รอติดตามมติที่ประชุมตุลาการศาล รธน. 20 พ.ย.นี้.
.............................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |