มติศาล รธน. 20 พ.ย. มั่นใจมาก-พร้อมสู้ทุกหยด
วันพุธที่ 20 พ.ย.นี้จะได้รู้กันว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติออกมาอย่างไร ในคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส.ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีครอบครองถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการถูกศาล รธน.สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่ปัจจุบันก็เดินทางไปที่รัฐสภาเพื่อไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ตลอดทุกวันในฐานะ กมธ.ชุดดังกล่าว โดย ธนาธร ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาล รธน.ดังกล่าว รวมถึงเส้นทางการเมืองต่อจากนี้ ซึ่งเขายืนยันว่ามีความมั่นใจมากเพราะที่ผ่านมาได้ต่อสู้คดีด้วยการใช้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเต็มที่ และย้ำว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะได้เห็นตัวเองทำงานการเมืองต่อไป
เริ่มต้นการสัมภาษณ์เราถามถึงความมั่นใจต่อผลการลงมติของศาล รธน.ในวันที่ 20 พ.ย.ที่จะถึงนี้ ธนาธร ตอบว่า ก็มั่นใจ เพราะอย่างที่พูดหลายครั้ง คำร้องเรื่องถือหุ้นสื่อเขาไม่สามารถหาแรงจูงใจที่มันผิดได้ และไม่มีเอกสารไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะมาโต้แย้งคำชี้แจงในเรื่องนี้ ที่ผมได้ชี้แจงไปด้วยความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของเรา ดังนั้นจนถึงวันนี้คนที่ออกมาบอกออกมาพูดอะไรทั้งหมด ไม่มีใครมีหลักฐานอะไรมีแต่พูดไปเรื่อย
เรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 (3) บัญญัติว่าหากบุคคลใดเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้ เมื่อนำมาตรานี้มาเป็นตัวตั้ง แล้วย้อนไปดูเคสกรณีมาตราดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกที่สกลนคร คือผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จังหวัดสกลนคร นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ที่มีห้างหุ้นส่วนจำกัดหนึ่งแห่ง โดยที่ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวก็เหมือนกับบุคคลทั่วไป เวลาไปยื่นเรื่องขอจดทะเบียนจัดตั้งกิจการที่เรียกว่าแบบฟอร์ม ที่เป็นมาตรฐานในการจดทะเบียนทำธุรกิจที่จะครอบคลุมหลายกรณี เช่น ทำโรงเลื่อย ค้าขาย ทำสื่อ จดไว้เยอะแยะเต็มไปหมดในหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท
...ซึ่งทาง กกต.เขตเลือกตั้งของนายภูเบศวร์ก็ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งว่า กิจการของนายภูเบศวร์มีวัตถุประสงค์หนึ่งข้อคือทำหนังสือพิมพ์ แต่บริษัทของนายภูเบศวร์จริงๆ เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ต่อเติมอาคาร ทำห้องน้ำ เป็นกิจการที่ไม่ได้ใหญ่ เป็นกิจการเล็กๆ แต่ในหนังสือบริคณห์สนธิเขียนไว้ว่าทำหนังสือพิมพ์ คุณนึกออกไหม เหมือนกับเวลาคุณไปจดทะเบียนตั้งบริษัทก็จะมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง เพื่อที่ว่าต่อไปหากคุณจะไปทำอะไรต่อไปจะได้ไม่ต้องไปยื่นเรื่องแก้ไข ดังนั้น การไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของคนทั่วไป ที่ไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทก็จะทำให้มันยาวๆ เยอะๆ ไว้ มันจะได้ทำให้ครอบคลุมทุกอย่าง ไม่ต้องไปแก้ไปเปลี่ยนแปลงไปเปลี่ยนแปลงมา
ทุกบริษัทก็เป็นแบบนี้ ทุกคนก็ทำแบบนี้หมด แต่ศาลฎีกาบอกว่าไม่ได้ เพราะแค่มีการแจ้งวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิก็ถือว่าผิดแล้ว อันนี้คือการพิจารณาของศาลฎีกา
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีของผมหากจำกันได้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. พรรคอนาคตใหม่ ก็มีการไปตรวจสอบ ส.ส.ของพรรคการเมืองอื่นว่ามีกรณีแบบนี้เหมือนผมมั้ย ซึ่งตกลงว่าก็มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว. รวมกันแล้วหนึ่งร้อยกว่าคนที่มีคดีแบบเดียวกัน ก็คือมีวัตถุประสงค์แบบนี้ เพราะศาลฎีกาบอกว่าทำจริงหรือไม่ทำจริงไม่ต้องสน แค่มีวัตถุประสงค์อยู่ในหนังสือบริคณห์สนธิก็ผิดแล้ว จนมีการตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งนายภูเบศวร์ทันที ดังนั้นก็เลยเกิดการยื่นคำร้องด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดย ส.ส.รัฐบาลก็ยื่นคำร้องว่า ส.ส.ฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อ แล้ว ส.ส.ฝ่ายค้านก็ยื่นคำร้องว่า ส.ส.รัฐบาลถือหุ้นสื่อ แล้วก็มีประชาชนไปยื่นคำร้องด้วยว่าก็มีสมาชิกวุฒิสภาถือครองหุ้นสื่อ (ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.) ด้วยเหมือนกัน จนประธานสภาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย
ต่อมาพอศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง การรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดมาตรฐานใหม่แตกต่างจากศาลฎีกา ทางศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า “ดูแต่หนังสือบริคณห์สนธิไม่ได้ ดูแต่วัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิไม่ได้ ดูสำเนาบัญชีรายชื่อไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยว่าถือครองหุ้นสื่อหรือไม่ ต้องดูเอกสารอื่นประกอบด้วย เช่นต้องดูว่างบการเงิน หรือห้างหุ้นส่วนในบริษัทนั้นมีรายได้จากการประกอบกิจการอื่นใด" คือจะดูว่าถือครองหุ้นสื่อหรือไม่ต้องดูรายได้ถึงจะบอกว่าประกอบกิจการอะไร เช่นหากรายได้มาจากการก่อสร้างก็คือไม่ใช่กิจการที่ประกอบการสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องดูงบการเงินดูรายได้ด้วย
ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้สั่งให้ ส.ส.คนอื่นๆ หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ ต้องดูเป็นรายๆ ไปว่าบริษัทของคนที่ถูกยื่นคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ คนไหนทำจริงคนไหนไม่ทำจริง แต่ของศาลฎีกาใช้มาตรฐานเจอปุ๊บตัดเลยแบบกรณีของนายภูเบศวร์
หัวหน้าพรรค อนค. กล่าวถึงคำร้องคดีดังกล่าวต่อไปว่า ดังนั้นหากใช้มาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อย้อนกลับมาดูกรณีของผม บริษัท วี-ลัค มีเดียฯ ทำนิตยสารอยู่สามฉบับ คือ นิตยสาร Who, นิตยสาร JibJib ที่เป็นนิตยสารในเครื่องบินของสายการบิน NokAir แล้วก็นิตยสาร SCB ของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยนิตยสาร Who ปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่นิตยสารที่ทำให้ไทยพาณิชย์กับ NokAir เป็นการรับจ้างผลิต เหมือนมีคนมาจ้างให้ไทยโพสต์ทำหนังสือ แต่เป็นหนังสือหัวของเขา โดยเขาก็จะบอกว่าเดือนนี้อยากได้เรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวน้ำตก หรือเดือนนี้อยากได้เรื่องเกี่ยวกับการเที่ยวมาเลเซีย เขาก็จะกำหนดมาให้ เราก็ไปสัมภาษณ์บุคคล ไปถ่ายรูป ไปจัดทำ artwork ไปเขียนเรื่องราวต่างๆ แต่หนังสือไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของวีลัค มีแค่นิตยสาร Who ที่เป็นของเรา แต่ปิดไปตั้งแต่ปี 2559
นิตยสาร JibJib เล่มสุดท้ายที่ทำคือเดือนธันวาคมปี 2561 ส่วนนิตยสารที่ทำให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ที่ทำแบบไตรมาส โดยเล่มสุดท้ายที่ทำคือเล่มของไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ดังนั้นจากสามเล่ม แต่สองเล่มปิดไปแล้ว แต่ JibJib ปิดไม่ได้เพราะมีการทำสัญญากันไว้สองปี แล้วสัญญาหมดธันวาคม 2561 ทำให้เมื่อหมดสัญญาเราก็ปิดบริษัท
...สำหรับเหตุผลที่บริษัทปิดตัวลงก็เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็ว ผู้บริหารไม่อยากจะสู้ต่อ เพราะหากจะให้มูฟไปออนไลน์ก็ต้องสู้ต่อ ต้องลงทุน ต้องเปลี่ยนแปลงสกิลพนักงานอีกเยอะ ก็เลยเลิกดีกว่า เลิกไป เพราะธุรกิจเทียบกันแล้วสำหรับที่บ้านอันนี้ไม่ใช่ธุรกิจที่ใหญ่โต เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นสำหรับที่บ้าน สุดท้ายก็เลยเลิกไปตอนปี 2561
...ดังนั้นตอนที่ผมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. วันที่ผมไปยื่นสมัครลงรับเลือกตั้งเมื่อ 4 ก.พ.62 บริษัทนี้ไม่มีพนักงานแล้ว เลิกจ้างพนักงานแล้วจ่ายเงินค่าจ้างตามกฎหมายทั้งหมด จบสิ้นไปตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. หลังจากที่ปิดต้นฉบับของ JibJib เดือนธันวาคม วันที่เราเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดคือวันที่ 25 พ.ย.61 ที่พอปิดต้นฉบับนิตยสาร JibJib เดือนธันวาคม 2561 เสร็จ เราก็เลิกจ้างพนักงานทั้งหมดแล้วเราก็จะปิดบริษัท 25 พ.ย.61 ไม่มีพนักงานเหลือแล้ว จนถึงเดือนธันวาคมนิตยสารฉบับสุดท้ายออกมาแล้ว จึงทำให้ไม่มีผลิตภัณฑ์ไม่มีสินค้าอะไรออกมาอีกแล้ว ไม่มีรายได้ อันนี้ตามสำนวนของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีรายได้จากการทำสื่ออีกแล้ว บริษัทที่ไม่มีพนักงาน ไม่มีสินค้า ไม่มีรายได้ คุณจะเรียกว่าบริษัทที่ผลิตสื่อไหม
...ที่สำคัญทำก่อน ปิดไปก่อนที่จะมีใครรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด เพราะพระราชกฤษฎีการเลือกตั้ง ส.ส.ออกมาเมื่อ 23 ม.ค.62 โดยกระบวนการทั้งหมดทำก่อนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด ปลายปีที่แล้วเดือน ธ.ค.ปี 2561 ตอนปิดบริษัท ยกเลิกสินค้า เลิกจ้างพนักงาน ไม่มีใครรู้ว่าตกลงการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่และจะเลือกตั้งวันที่เท่าใด พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งเพิ่งประกาศใช้เมื่อ 23 ม.ค.62 เมื่อบริษัทไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า กฎหมายทุกกฎหมายจะมีเจตจำนงของกฎหมายอยู่ มีเจตนารมณ์ของกฎหมายอยู่ว่าเพราะเหตุใดต้องตรากฎหมายออกมา กฎหมายมาตราต่างๆ เจตนารมณ์คืออะไร ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 (3) เจตนารมณ์คือไม่ต้องการให้นักการเมืองใช้สื่อที่ตัวเองเป็นเจ้าของ เอามาให้คุณตัวเองและให้โทษคู่แข่ง ซึ่งหากคุณไปเปิดนิตยสารทั้งสามฉบับที่บริษัท วี-ลัคฯ เคยผลิตทั้ง Who, JibJib และ SCB ลองไปดูว่าเคยให้คุณกับนายธนาธรสักครั้งหรือไม่ในฐานะนักการเมือง เคยให้โทษกับคู่แข่งของผมสักครั้งไหมในฐานะนักการเมือง-ก็ไม่มี ดังนั้นเจตนารมณ์กับกฎหมายก็ไม่ได้ผิด ไม่ได้ผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย
...บริษัทไม่มีสินค้า ไม่มีบริการ ไม่มีพนักงาน ตั้งแต่ก่อนจะมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่มีเจตนารมณ์เพราะตอนที่นิตยสารทั้งสามฉบับยังอยู่ ก็ไม่เคยให้คุณให้โทษ ไม่เคยนำเสนอเรื่องการเมือง อย่าง JibJib ก็นำเสนอไม่ได้อยู่แล้ว ส่วน SCB เป็นนิตยสารเรื่องการเงินการทอง ส่วนนิตยสาร Who เป็นนิตยสารที่เป็นเรื่องของคนดัง ดารา คนมีชื่อเสียงในสังคม ก็ไปสัมภาษณ์เขา ไม่เคยพูดถึงเรื่องการเมืองเลยสักครั้ง
“เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่กล่าวมา ผมขอถามว่าผมผิดอะไร พิจารณาจากตรงนี้แล้วผมผิดอะไร ยังไม่เรื่องที่ผมขายหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ไปแล้ว เสร็จสมบูรณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ตอนที่ กกต.ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ มีการอ้างถึง บอจ.5 ที่ทุกคนบอกกันว่าผมไปยื่นสมัครลงเลือกตั้ง 4 ก.พ. แต่ บอจ.5 ยังมีชื่อของผมเป็นผู้ถือหุ้นอยู่”
ธนาธร ชี้ประเด็นตรงนี้ในทัศนะของเขาว่า การขายหุ้นกับการเปลี่ยนบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นกับกระทรวงพาณิชย์ มันเป็นคนละเรื่องกันในทางกฎหมาย ประมวลแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเรื่องนี้เมื่อไปบังคับใช้กับกรณีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ทุกกรณี คนที่ทำธุรกิจจะรู้เหมือนกันหมด ว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บอกถึงเรื่องการทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นจะแล้วเสร็จเมื่อใด ก็คือเมื่อคุณกับผมทำธุรกรรมด้วยกัน แล้วคุณให้ใบหุ้นผม ผมก็ให้เงินคุณ แล้วเซ็นสัญญากันเรียบร้อย มีการแจ้งกับตัวบริษัท ไม่ใช่แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ ทำเท่านี้ก็ถือว่าธุรกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ตัวบริษัทจะไปแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อใด ไม่เกี่ยวไม่ต้องแจ้งทันที ให้แจ้งแค่ปีละครั้งก็พอ นี้คือตามกฎหมาย ที่หมายถึงเช่นคุณมีรายชื่อทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทอยู่ ทางบริษัทก็มีหน้าที่ต้องทำทะเบียนรายชื่อไปแจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ปีละครั้ง เมื่อใดก็ได้ แต่ธุรกรรมมันเสร็จไปตั้งแต่วันที่คุณให้ใบหุ้นผม ผมให้เงินค่าหุ้นต่อคุณ ธุรกรรมมันเสร็จไปตั้งแต่วันนั้นแล้ว เสร็จไปตั้งแต่ 8 ม.ค.แล้ว
...ดังนั้นที่ไปอ้างบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่กระทรวงพาณิชย์ที่เป็นวันที่ 21 มีนาคม แต่ผมยื่นสมัครต่อ กกต.วันที่ 4 ก.พ. แล้วบอกว่าแสดงว่าผมยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ อันนี้มันไม่มีใครใช้ กรณีของนายดอน รมว.ต่างประเทศ ก็ไม่เคยอ้างถึง บอจ.5 สำเนาบัญชีรายชื่อที่ยื่นกระทรวงพาณิชย์
ในทางธุรกิจไม่เคยมีใครอ้างตัวนี้ เพราะธุรกรรมคุณกับผมซื้อขายหุ้นกัน มันจบตั้งแต่เราทำธุรกรรมกันเสร็จ นี้คือบรรทัดฐานทางบัญชีและกฎหมายที่บังคับใช้กันทั่วประเทศ ไปถามนักกฎหมายคนไหนก็ได้ ไปถามนักธุรกิจคนไหนก็ได้ เขาทำอย่างนี้กันหมด การจดบัญชีรายชื่ออัปเดตรายชื่อผู้ถือหุ้นให้กับกระทรวงพาณิชย์ทำกันแค่ปีละครั้ง
มันเป็นแค่ความบังเอิญ เนื่องจากผมเป็นผู้บริหาร ผมถือหุ้นบริษัทต่างๆ 30-40 บริษัท ในชีวิต ทุกบริษัทบางทีปีนี้ก็ขายหุ้นตัวโน้น ซื้อตัวนี้เพิ่ม หรือจดทะเบียนบริษัทใหม่ มีการทำธุรกรรมแบบนี้เยอะแยะ คุณคิดว่าผมไปกระทรวงพาณิชย์เองหรือไม่-ไม่ได้ไป ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยไปขอเปลี่ยนทะเบียนรายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์ด้วยตัวเองสักครั้ง พนักงานบริษัท พนักงานบัญชี เขาจะว่างเมื่อใด เขาจะไปเมื่อใดก็เป็นเรื่องของเขา เขาแค่บังเอิญไปเปลี่ยนแปลงรายชื่อเมื่อ 23 มีนาคมเท่านั้นเอง ซึ่งเขาจะไปวันไหนผมก็ไม่รู้ใครไป จนถึงทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนถือเอกสารไปที่กระทรวงพาณิชย์
“เรื่องวันที่ 20 พ.ย.ที่จะถึง ผมก็มั่นใจว่าถ้าดูจากเอกสารแวดล้อม อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวไว้แล้ว ถ้าไม่ได้ใช้มาตรฐานจากศาลฎีกา ถ้าใช้มาตรฐานศาลรัฐธรรมนูญแล้วดูจากเอกสารแวดล้อม บริษัทที่ไม่มีสินค้า ไม่มีผลิตภัณฑ์ ไม่มีพนักงาน ไม่ใช่บริษัททำสื่อแน่ เพราะบริษัทปิดตัว ผมจึงไม่มีเจตนารมณ์ เพราะเลิกทำก่อนจะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีการเลือกตั้ง ส.ส.เสียอีก”
...และตอนที่นิตยสารทั้งสามฉบับยังทำอยู่ก็ไม่เคยให้คุณกับผม ให้โทษกับคู่แข่ง ตอนนั้นผมยังไม่มีคู่แข่งทางการเมืองเลยด้วยซ้ำไป ตอนที่ยังทำอยู่ และเรื่องสุดท้ายก็คือธุรกรรมมันจบไปตั้งแต่ 8 มกราคมเรียบร้อยแล้ว และไม่มีใครมีหลักฐานเป็นอื่นนอกจากคำพูดว่าหุ้นสื่อ เป็นผู้ถือหุ้นสื่อ แต่ไม่มีใครมีหลักฐานอย่างอื่นที่จะมาทำลายหลักฐานของเราเลย
“ดังนั้นจาก 3-4 เหตุผลดังกล่าว ผมเชื่อว่า ผมไม่รู้ว่าจะใช้อะไรมาตัดสินว่าผมผิดตามมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญ ว่าผมเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ ซึ่งสำหรับเราไม่เคยเครียดกับเรื่องนี้ เพราะมั่นใจมาก" หัวหน้าพรรค อนค.กล่าวอย่างมั่นใจ
โดย ธนาธร กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาเรื่องเดียวสำหรับเรื่องนี้และกรณีอื่นๆ ก็คือเรื่องเวลาและทรัพยากร เวลานี้แกนนำพรรคอนาคตใหม่มีข้อร้องเรียนและคดีอยู่ในชั้นตำรวจ อัยการ ศาล และ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งหมดยี่สิบกว่ากรณี ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าในทุกกรณีเรามีแต่ความบริสุทธิ์ใจ เรามีแต่ความเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเราทำ แต่ปัญหาอยู่ที่เวลา ทีมกฎหมายของพรรค แทนที่เขาจะได้นำเวลาไปนั่งทำกฎหมายเข้าสู่สภาเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่พวกเขาต้องนำเวลามานั่งเขียนคำชี้แจง คำสืบพยาน เตรียมเรื่องต่างๆ เพื่อปกป้องตัวเอง เวลาของผมมีตั้งแต่ไปสถานีตำรวจ ไปพบอัยการ ไปศาลรัฐธรรมนูญ ไปแต่ละครั้งก็ต้องเตรียมตัว มันเสียเวลาเยอะแยะไปหมดกับการจัดการสิ่งต่างๆ เหล่านี้
...ผมคิดว่านี้คือหนึ่งในสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการ ทั้งขู่เข็ญ ทำให้เราหวาดกลัว ทำให้เราไม่มีเวลาทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน ต้องว่อกแว่ก ต้องเสียเวลากับการจัดการคดีความต่างๆ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องหนัก เสียเวลาเยอะจริงๆ เสียทรัพยากร นักกฎหมายของพรรค มือดีๆ ทั้งนั้น หลายคนตั้งใจจะมาทำกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ผลักดันกฎหมายเข้าสภา กฎหมายของเราจะได้ทันสมัย แก้ปัญหาตอบโจทย์ให้กับประชาชนได้ ก็ต้องมานั่งทำเรื่องพวกนี้ อย่างคดีหนึ่งๆ รู้ไหมมีเอกสารกี่หน้า เป็นร้อยๆ หน้า ต้องมานั่งชี้แจง
“ถามผมว่ากังวลใจเรื่องวันที่ 20 พ.ย.นี้หรือไม่ ก็ไม่กังวลใจ แต่เห็นปัญหาคือเรื่องเวลาและทรัพยากรที่เราต้องเสียไปกับการตอบโต้เรื่องต่างๆ ที่เราถูกฟ้องร้อง ถูกอะไรต่างๆ"
-จากที่ศาล รธน.รับคำร้องเมื่อ 23 พ.ค. และนัดอ่านคำวินิจฉัย 20 พ.ย. รวมเวลาร่วม 6 เดือน แล้วยังเปิดห้องไต่สวนโดยเรียกพยานมาไต่สวนถึง 10 ปาก มองว่าศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นธรรมหรือไม่?
ก็ดูคำวินิจฉัย ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไร คือเรื่องกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญจะแตกต่างจากกระบวนการของ กกต. คุณลองคิดดูในวันไต่สวนคำร้อง (18 ตุลาคม) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บอกเองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยสืบพยานเยอะขนาดนี้มาก่อน คุณคิดว่าเพราะอะไร เพราะชั้น กกต.มันไม่ทำงาน ถ้าชั้น กกต.ทำงานก็ไม่ต้องมาสืบพยานในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ
เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญมากในกระบวนการยุติธรรม พวกเราในฐานะพลเมืองต้องมีสิทธิ์ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคกัน สิ่งนี้คือสิทธิในฐานะพลเมืองที่เราพึงจะมีและรัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ ทุกคนต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการปฏิบัติโดยเสมอภาค
ในกรณีของ กกต. ทาง กกต.ชุดใหญ่ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งคณะมาไต่สวนคดีของผม แต่ปรากฏว่าอนุกรรมการยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ แต่ กกต.ใหญ่แทงเรื่องของผมส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ตกลงความเป็นธรรมของผมอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ปล่อยให้อนุกรรมการที่ตั้งขึ้นทำจนเสร็จ ทำไมต้องมาเรียกสิบคนที่ชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เหตุใดไม่เรียก 10 คนในชั้นอนุกรรมการของ กกต. แล้วเอกสารที่เรียกผมไปชี้แจง บางทีส่งมาวันนี้แต่ให้ไปเมื่อสองวันที่แล้ว มันคืออะไรแบบนี้ เรียกวันนี้แต่ให้ผมไปเมื่อสองวันที่แล้ว
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า กระบวนการในชั้นของ กกต.เห็นชัดเลยว่ามันเร่งรัดผิดปกติ เป็นปกติทั่วไป กกต.ชุดใหญ่จะทำแบบนี้ ต้องรอผลสรุปจากอนุกรรมการ กกต. คำถามคือ กกต.ชุดใหญ่ไม่รอผลจากอนุกรรมการ แล้วคุณเอาข้อเท็จจริงจากที่ไหน เพราะข้อเท็จจริงอยู่ที่อนุกรรมการ แต่อนุกรรมการเขายังทำไม่เสร็จเลยว่าความเห็นของเขาเป็นอย่างไร และอย่าลืมในกรณีนี้มีคนจากอนุกรรมการต้องลาออกไปด้วย เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับกระบวนการนี้ คำถามคือ กกต.ชุดใหญ่นำหลักฐานจากที่ไหน ถ้าเป็นกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งหากมีกระบวนการยุติธรรมที่ทำผิดกระบวนการ ทำผิดวิธี โมฆะทั้งเรื่อง ไม่สนปลายทางว่าคุณเป็นผู้ร้ายจริงหรือไม่ เพราะหากกระบวนผิดถือว่ากรณีนั้นยกเลย หากจะเอาเรื่องใหม่ต้องฟ้องใหม่ ต้องตั้งเรื่องใหม่ เพราะกระบวนการมันผิดไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม สิ่งนี้คือหลักยุติธรรมทั่วไป แล้วกรณีแบบนี้ผมถามว่าใครให้ความยุติธรรมกับผม ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องพูดกันต่อไป กรรมการการเลือกตั้ง สักวันหนึ่งผมฟ้องแน่ คดีนี้อายุความ 20 ปี รอ คสช.หมดอำนาจเมื่อใด ก็เจอกัน
-วันที่ไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 18 ต.ค. คิดว่าตัวเองตอบเคลียร์ทุกประเด็นหรือไม่?
ผมคิดว่าผมชี้แจงได้เคลียร์ ผมอยากถามว่าที่ผมโดนโจมตีจากสื่อฝ่ายตรงข้ามว่าผมจำไม่ได้ ผมถามว่าเมื่อหกเดือนที่แล้ว คุณมีสองนัดในวันเดียวกัน นัดไหน นัดก่อนหรือหลัง คุณจำได้หรือไม่
สมมติคุณมีนัดสัมภาษณ์นาย ก. กับนัดสัมภาษณ์นาย ข. สองคน คุณจำได้หรือไม่ว่าคุณนัดสัมภาษณ์ใครก่อน เช้าสัมภาษณ์นาย ก. บ่ายสัมภาษณ์นาย ข. คุณจะจำได้ไหม วันนี้เมื่อหกเดือนที่แล้วคุณนัดใครก่อน ถ้าผมตอบว่าผมจำได้ ผมก็ผิดปกติ นึกออกไหม หากผมตอบว่าผมจำได้ก็ผิดปกติแน่ๆ เพราะคุณไม่ควรจะจำได้
ดังนั้นเห็นได้ชัดเลย ถ้าคุณดูคุณจะเห็นได้ชัดเลย ตกลงนี้คือศาลรัฐธรรมนูญหรือ คุณเอาศาลรัฐธรรมนูญบ้านเรามาสืบสวนสอบสวนเรื่องพวกนี้หรือ ศาลรัฐธรรมนูญคืออะไร คือดูว่าผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แค่นี้เอง ใช่หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญในเมืองนอกไม่มีใครเขามาไต่สวนแบบนี้ แต่ดูว่าสิ่งที่ส่งมาแล้วกระทำแบบนี้ มันถูกหรือผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แค่นี้เอง นี้คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องฟันธงให้กับสังคม ว่าหลักการเรื่องไหนถูกหรือผิดรัฐธรรมนูญ
...ผมตกใจมาก ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญประเทศไหนมานั่งทำแบบนี้ ไม่มีครับ ผมนึกว่านี้เป็นกองสอบสวน นึกออกไหม เรื่องนี้ควรจบตั้งแต่ชั้น กกต. การที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องมาสืบพยานเยอะอย่างนี้ แสดงให้เห็นเลยว่ากระบวนการชั้นต้นผิดปกติ
-คิดว่าบางประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซักหยุมหยิมเกินไปหรือไม่?
ก็ใช่ไง ผมก็ถามว่าตกลงคุณถามเรื่องพวกนี้ทำไม ผมก็ตอบตัวเองไม่ได้ว่าถามเรื่องพวกนี้ทำไม เรื่องพวกนี้ไม่ควรเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญควรบอกว่าอะไรถูกรัฐธรรมนูญ อะไรผิดรัฐธรรมนูญ เป็นเสาหลักของสังคม
พร้อมยอมรับมติศาล รธน.ลั่นสู้ต่อไปแม้หากเกิดอะไรขึ้น
-ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร พร้อมยอมรับผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 พ.ย.หรือไม่?
ก็สู้ต่อ ผมจะไปมีอำนาจอะไรไม่ยอมรับเขา จะให้ทำอะไร หากเขาไม่ให้ผมเป็น ส.ส. แล้วคุณจะให้ผมเดินเข้าห้องประชุมสภาแล้วไปนั่งหรือ ผมก็โดนลากตัวออกไปสิ มันเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องยอมรับอยู่แล้ว ผมจะไปมีอำนาจอะไร ผมจะมีกองทัพไปสู้กับเขาหรือ ถ้าบอกไม่ยอมรับแล้วเอากองทัพไปยึดอำนาจเขา ได้หรือ ไม่มี เขาไม่ให้ผมเข้าสภา ผมจะเดินเข้าไปนั่งในสภาได้ไหม ก็ไม่ได้ ต่อให้ไม่ยอมรับ คุณจะให้ผมทำอะไร มันก็ต้องยอมรับ
...ตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา เคยมีกรณีไหนที่เราไม่ยอมรับกฎหมายหรือไม่ แพ้ก็แพ้ กกต.ตัด ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ไปด้วยสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ 7-8 คน เราไม่เห็นด้วย แล้วทำอะไรได้ไหม ก็ไม่ได้ หรือที่โดน ส.ว.โหวตสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ไป เราไม่เห็นด้วย เราทำอะไรได้ไหม ก็ไม่ได้ เราก็ทำงานต่อไปในระบบรัฐสภา เพราะเราคือพรรคการเมือง ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อต่อสู้ในระบบ ถ้าตั้งใจไม่ต่อสู้ในระบบก็ไม่ตั้งพรรค
-หากผลวันที่ 20 พ.ย.ออกมาในทางไม่เป็นคุณ แล้วมีการขยายผลจากคำตัดสินเพื่อยื่นเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพื่อให้ตัดสิทธิ์การเมือง 20 ปี และนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่?
ยุบพรรคไม่ได้ เวลาคนพูดเรื่องยุบพรรค คนก็พูดกันไปเรื่อย เพราะคำร้องเรื่องนี้เป็นแค่เรื่องสิทธิการเป็น ส.ส.ของนายธนาธร แค่นี้เองจบ เวลาคนพูดเรื่องการยุบพรรค 20 กว่าคดีที่บอกไปตอนต้น ไม่มีคดีไหนนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ได้เลย ยกเว้นคำร้องเรียนคดีเดียว ก็คือคำร้องที่เกี่ยวกับเรื่อง Illuminati คดีอื่นคำร้องอื่นไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่เลย ดังนั้นคนที่บอกว่ายุบพรรค คือกลุ่มคนที่ต้องการดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือ คือกลุ่มคนที่ต้องการทำให้ประชาชนเดินออกจากพรรคเรา ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในอนาคตของพรรคแล้วเดินออก โดยไม่เคยเอาข้อเท็จจริงมาวางเลยว่าตกลงคดีไหนนำไปสู่การยุบพรรคได้ ก็มีแค่คดีเดียวคือคดี Illuminati ซึ่งอ่อนมาก อ่อนมาก ผมก็นั่งอ่านสำนวนคดีนี้ด้วยตัวเอง ผมก็รู้สึกเลยว่ามันอ่อนมาก
“หากจะล้มล้างการปกครอง แล้วจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาทำไม ปืนสักกระบอกในชีวิตนี้ผมยังไม่เคยมีเลยปืนสักกระบอก ผมจะเอาอะไรไปล้มล้าง เลือกตั้งสู้กับประยุทธ์ ผมยังสู้ไม่ได้เลย จะเอาอะไรไปล้มล้างเขา”
...เลือกตั้งแพ้ ผมก็เล่นในระบบ เราก็อภิปรายในสภาอย่างสร้างสรรค์ ทำงานอย่างเต็มที่ อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็รณรงค์ อยากยกเลิกเกณฑ์ทหารเราก็รณรงค์ แล้วก็เอาเรื่องผ่านสภา เล่นในเกม เล่นในระบบ คุณเคยเห็นพรรคอนาคตใหม่ไม่ทำตามกฎหมายหรือไม่ ตัด ส.ส.พรรคออกไปด้วยสูตรคำนวณพิสดาร อยากตัดไปก็เอา เราก็เดินต่อ เราก็สู้ต่อ เราอยากรณรงค์ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เราก็รณรงค์ต่อ เราอยากรณรงค์เลิกประกาศ คสช. เราก็รณรงค์ยกเลิก แล้วก็ส่งเรื่องไปสภา ผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ไปสู้กันตรงนั้น ว่ากระแสสังคมเอาหรือไม่เอา นี้คือพรรคการเมือง เราต่อสู้กันในสภา ดังนั้นคนที่พูดเรื่องยุบพรรคต่างๆ ต้องกลับไปอ่านคดีใหม่ทั้งหมด ว่าจะมีคดีไหนบ้างของพรรคอนาคตใหม่จะนำไปสู่การยุบพรรคได้
-แต่ผู้มีอำนาจอาจไม่ได้เล่นในเกม อาจเล่นนอกเกม?
ถ้าเกินจากตรงนี้ก็ต้องปล่อยให้ประชาชนตัดสิน ให้ประชาชนที่เอาใจใส่ทางการเมือง ประชาชนที่ติตตามทางการเมือง ก็คงจะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้ามันเป็นแบบนั้น แต่อย่างที่ผมบอกไม่มีกรณีไหนที่จะนำไปสู่การยุบพรรคได้เลย นอกจากกรณีนั้นกรณีเดียวคือเรื่อง Illuminati ที่ยื่นไปแต่น้ำหนักก็เบามาก
แผนสำรองหาก 20 พ.ย.ไม่รอด?
-สมมุติถ้าผลในวันที่ 20 พ.ย. ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทางไม่เป็นคุณ เตรียมแผนสำรองทางการเมืองไว้อย่างไรบ้าง?
ก็ไม่มีอะไร ทุกคนเข้าใจผิดหมด เรื่องนี้แค่คุณสมบัติการเป็น ส.ส. จะได้เป็น ส.ส.หรือไม่เท่านั้นเอง แล้วอย่างตอนนี้ถามจริงๆ คุณคิดว่าผมเป็น ส.ส.ไหม เพราะที่ผ่านมาผมก็ไม่ได้เข้าไปทำงานในสภา หากไม่ได้เป็น ส.ส.แล้วผมจะทำยังไง ก็ทำแบบนี้ ผมก็ยังคงเป็นกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภา ส่วนงานในสภาของพรรค ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ยังรับผิดชอบอยู่ มันเป็นแค่เรื่องจะเป็น ส.ส.หรือไม่เป็น ส.ส.ของธนาธร มันไม่ได้มีอะไร ทุกคนพูดกันจน โอ้โห เพราะคำร้องของ กกต.ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแค่ให้ตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส.ของผม ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะทำเกินกว่านี้ไม่ได้ เขายื่นคำร้องมาแค่นี้ก็สั่งแค่นี้ คือจะตัดสิทธิ์หรือไม่ตัดสิทธิ์แค่นี้เอง
“ต่อให้ตัดสิทธิ์ผมก็ทำต่อไป ผมก็รณรงค์ในเรื่องกฎหมายที่เราอยากผลักดัน รณรงค์ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ของเรา ให้กับประชาชนต่อ ผมก็ยังจะรณรงค์ สำหรับจังหวัดหรือท้องถิ่นที่พรรคส่งคนลงไปแข่งขัน เพราะก็จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีหน้า ผมก็จะไปช่วยรณรงค์ในจังหวัดต่างๆ ที่เราส่ง เช่น อบจ. และยังมีอะไรต่างๆ ที่ต้องทำอีกเยอะที่ต้องทำในนามของหัวหน้าพรรค”
เมื่อถามว่าใกล้ถึงวันที่ศาล รธน.นัดอ่านคำวินิจฉัย ก็เริ่มมีกระแสข่าวออกมาเรื่อยๆ ทำนองธนาธร อาจไม่รอด และต่อไปพรรคอาจถูกยุบ จนมีกระแสข่าวมีพรรคสำรอง เช่นพรรคพลังอนาคต ที่เชื่อมโยงไปถึงพาที สารสิน อดีตผู้บริหารนกแอร์ ธนาธร พูดถึงเรื่องนี้ว่า มองกันไกลไป เรื่องนี้ต้องพูดให้ชัดเจน ผมไม่เคยพูดคุยใดๆ กับคุณพาที สารสิน เกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมืองเลย ไม่รู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัวด้วยซ้ำไป อาจจะเจอกันบ้างในการเสวนาอะไรกันบ้าง แต่โดยส่วนตัวไม่รู้จักและไม่เคยคุยด้วยซ้ำไป ดังนั้นเรื่องนี้ที่มีการเสนอข่าวผมคุยกับคุณพาทีเพื่อตั้งพรรคสำรองไม่เป็นความจริง
-มีแผนสำรองอะไรไหม หากสุดท้ายมีความพยายามเล่นงานตัวคุณและหาทางยุบพรรคอนาคตใหม่ให้ได้?
ก็สู้ครับ ก็สู้ทุกหยด ทำให้เต็มที่ เพราะพรรคอนาคตใหม่เป็น Political Project เป็นโครงการทางการเมือง เป็นมากกว่าพรรคการเมือง เป็นความฝันของคนที่มารวมตัวกัน พวกเรามีความฝันมีความเชื่อ พวกเรามีวิสัยทัศน์ชัดเจน เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ดังนั้นมันเป็นมากกว่าพรรค แต่มันเป็นความฝันของผู้คนที่อยากจะสร้างสังคมที่เราฝันเห็น
เพราะท้าทายโครงสร้างอำนาจ
พรรค อนค.ถึงโดนกระทำ
-มองว่าทำไมตั้งพรรคมาแค่ปีกว่า แต่ถูกจับตาทุกฝีก้าวจากคนบางกลุ่ม?
อยู่ไม่เป็นไงครับ (ตอบทันที) ต้องพูดตรงๆ เรารู้สึกสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ดีสำหรับลูกเราไหม คุณคิดว่าสังคมไทยที่เป็นอยู่มีความเสมอภาคในด้านสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ คุณรับได้หรือไม่ การมีรัฐประหารทุกๆ สิบปี คุณรับได้หรือไม่ ผมเกิดปี 2521 ชีวิตผมผ่านรัฐประหารมาแล้วสี่ครั้ง เรายังอยากจะพาสังคมไทยแบบนี้ต่อไปข้างหน้าต่อไปหรือไม่ เราเชื่อว่าสังคมไทยไปไกลกว่านี้ได้ไหม เราเชื่อในศักยภาพของคนไหม ว่าเราไม่ใช่มดแน่ๆ ประเทศไทยไม่ใช่มดแน่ๆ คุณเชื่อไหม ซึ่งผมเชื่อ ผมเชื่อว่าประเทศไทยภายใต้การนำของผมไม่ใช่มดแน่ๆ
“ดังนั้นเราจึงต้องท้าทายกับโครงสร้างอำนาจปัจจุบัน ที่ฉุดรั้งที่เหนี่ยวรั้งประเทศไทยไว้ไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า และการที่เราท้าทายโครงสร้างอำนาจอย่างนั้น นั่นก็คือเหตุผลที่เราโดนกระทำ”
...อย่างเช่นตอนนี้ ถ้าเราไม่ท้าทาย ถ้าเราตั้งพรรคขึ้นมา ไม่ท้าทายผู้มีอำนาจ ไม่ท้าทายกองทัพ ไม่ท้าทาย คสช. วันนี้อาจอยู่ฝ่ายรัฐบาลไปแล้วก็ได้ เป็นรัฐมนตรีไปแล้วก็ได้ แต่ถามว่านั่นนำมาซึ่งความฝันของเราได้ไหม เปลี่ยนแปลงประเทศได้ไหม ทำให้ประเทศดีขึ้นกว่านี้ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ทุกคนมีความเสมอภาคกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กำจัดทุนผูกขาด ตั้งพรรคขึ้นมาแล้วแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ไหม ถ้าไม่ได้แล้วตั้งพรรคขึ้นมาทำไม
ดังนั้นเรารู้ตั้งแต่วันแรก ผมย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเรารู้ตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองอยู่แล้ว ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะมาถึงไม่ช้าก็เร็ว ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายของเราเลยว่าวันนี้จะมาถึง
-คิดว่าเป็นกลุ่มไหนที่ต้องการให้คุณกับพรรคอนาคตใหม่ออกไปจากเส้นทางการเมือง?
ก็เป็นผู้ที่ครองอำนาจ ผู้ที่ไม่อยากเห็นประชาชนมีอำนาจ ผู้ที่ไม่อยากเห็นวันพรุ่งนี้ของประเทศไทย คนที่อยากเห็นประเทศไทยทุกวันเป็นเมื่อวาน คนที่ไม่อยากเสียอำนาจ คนที่ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง แบบนี้ นี้คือคนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง คนที่ฉุดรั้งประเทศไว้ให้ล้าหลัง
-การที่จะให้ตัวเองอยู่เป็นอยู่รอดในสังคม ต้องอยู่อย่างไร?
ถ้าคิดอย่างนั้นก็ไม่ต้องตั้งพรรค เราไม่ได้ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่ออยู่เป็น ไม่ได้ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเป็นรัฐมนตรี เป็นนายกฯ แต่เราตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลง ย้ำอีกครั้งหนึ่งเราตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลง เราฝันเห็นวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าสำหรับลูกหลานของเรา เราฝันเห็นวันพรุ่งนี้ที่เท่าเทียมเป็นธรรม เราฝันเห็นวันพรุ่งนี้ที่เป็นประชาธิปไตย เราจึงไม่ได้ตั้งเป้าขึ้นมาเพื่อจะมาเป็นรัฐบาล มาเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้ตั้งเป้าขึ้นมาเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว
“ดังนั้นถ้าอยู่เป็นเพื่อจะได้เป็นรัฐมนตรี ถ้าอยู่เป็นเพื่อจะได้มีอำนาจกับเขาบ้าง ถ้าอยู่เป็นเพื่อจะได้มีตำแหน่ง แล้วคุณจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาทำไม"
ถามย้ำว่าหลังวันที่ 20 พ.ย. ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็จะไม่มีผลกระทบใดๆ กับพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร ยืนยันว่าก็อย่างที่บอก คือวันที่ 20 พ.ย.หลายคนก็โหอะไรกันไปเยอะแยะ มันแค่เป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง สิทธิการเป็น ส.ส. ยังไงก็ทำงานต่ออยู่แล้ว เพราะพรรคอนาคตใหม่คือการเดินทาง นี้คือการเดินทางไกล การเดินทางที่ต้องฝ่าขวากและหนาม การเดินทางขึ้นเขาสูงชัน เพราะเป้าหมายที่เราตั้งไว้ มันสูง มันทะเยอทะยาน แต่มันมีค่ามากพอที่เราจะสู้ ที่เราจะเดินไปให้ถึงมัน
-คำร้องคดียุบพรรคที่บอกว่าคำร้องอ่อนมาก แต่สุดท้ายหากถูกยุบพรรคขึ้นมาจริงๆ คิดว่า มวลชน สมาชิกพรรคจะเป็นอย่างไร?
ก็ต้องแล้วแต่ประชาชน แล้วแต่ประชาชน
-จะบอกประชาชนที่ลงคะแนนเลือกพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาอย่างไร กับเหตุการณ์วันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติในวันที่ 20 พ.ย.?
โอ้โห พูดยากจัง…ผมคิดว่าคงเดินไปด้วยกัน ก็เดินต่อไปด้วยกัน ถ้าคุณมีความเชื่อ มีความฝันเหมือนผม ก็เดินต่อไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 20 พ.ย.เราก็เดินต่อไปด้วยกัน นี้คือการต่อสู้ นี้คือการเดินทางเพื่อสร้างประเทศไทยให้ดีกว่านี้ ที่พร้อมรับมือกับโลกาภิวัตน์ให้มากกว่านี้ ซึ่งถ้าคุณเชื่อเหมือนผม ถ้าคุณมีความฝันเหมือนผม ก็เดินต่อไปด้วยกัน
..................................
ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ
จะนำไปสู่ความขัดแย้ง
ธนาธร-หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงทิศทางการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลังจากสภาผู้แทนราษฎรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอันใกล้นี้ โดยบอกว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ต้องรอดูการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภาผู้แทนราษฎรจะตั้งขึ้น ซึ่งการทำงานในชั้นกรรมาธิการเป็นส่วนสำคัญแต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยไม่ว่าใครจะมาเป็นประธาน กมธ.ชุดดังกล่าว เราก็จะผลักดันความคิดที่เราเชื่อว่าดีที่สุดสำหรับสังคมไปในชั้น กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าว แน่นอนว่า กมธ.ชุดดังกล่าวสำคัญแต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเส้นทางเดียว การรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงต้องมีต่อไป พรรคอนาคตใหม่ก็จะทำต่อ
…ซึ่งหลังจบจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผมเป็นกรรมาธิการวิสามัญอยู่ด้วยก่อน ก็จะได้มีเวลากลับไปทำการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขัน เหมือนกับที่เคยทำในช่วง หนึ่งถึงสองเดือนก่อนหน้านี้ ที่เคยออกไปรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้าก็จะกลับมารณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขันต่อไป
-จะทำอย่างไรให้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉันทามติที่ทุกฝ่ายสนับสนุนเอาด้วย?
ไม่มีทางอื่นนอกจากการรณรงค์ ผมไม่รู้ว่ามีทางอื่น หากมีช่วยบอกผมด้วย ผมรู้อย่างเดียวคือรณรงค์ ลงไปพบปะผู้คนให้เยอะที่สุด เข้าไปหาทุกช่องทาง สมาคมวิชาชีพต่างๆ ทำความเข้าใจกับเพื่อนนักการเมืองด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น สมาคมวิชาชีพต่างๆ ต้องเดินเข้าหาให้หมด ต้องเดินเข้าหาประชาชน ก็มีทางเดียวที่ผมเข้าใจ เราก็อยากรณรงค์ให้แข็งขันและหนักแน่นกว่านี้
-คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จในรัฐบาลยุคนี้หรือไม่?
ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเปลี่ยน สำเร็จอยู่แล้ว แต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง จะสามปี ห้าปี หรือสิบปี อยู่ไม่ได้หรอกครับ ไม่มีทางอยู่ได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีแต่จะสร้างความขัดแย้ง
-แต่คนในฝ่ายรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐบอกว่าตอนนี้ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ผ่านประชามติมา 16 ล้านเสียง?
คนที่พูดเรื่องแบบนี้คือคนที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกคน ที่พูดเรื่องแก้ปัญหาปากท้อง และที่สำคัญก็ไม่ใช่เรื่องจริง อย่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ก็อยู่ที่ฝ่ายบริหาร รัฐบาล ซึ่งหากเขาจะแก้ปัญหาปากท้องก็ใช้งบ 3.2 ล้านล้านบาทไปแก้ปัญหา เรื่องงานรัฐธรรมนูญเป็นงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร
…เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของงานกฎหมาย อยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร สิ่งนี้คือการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งอำนาจในการแก้ปัญหา ภาระหน้าที่ซึ่งได้รับมาตามกฎหมาย งบประมาณที่ได้รับมาตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี อยู่ที่รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะนำงบ 3.2 ล้านล้านบาทไปใช้ทำอะไร ก็เขียนไว้หมดแล้วในร่าง พ.ร.บ.งบ รวมถึงที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ก็เขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบแล้ว ก็นำงบไปทำ ไปแก้ปัญหา ก็ไปทำ ผมไม่ได้ไปยุ่งอะไรด้วยเลย แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ทำคู่กันไปได้ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกันเลย คุณกำลังจะบอกว่าต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน โดยฝ่ายนิติบัญญัติไม่ต้องทำงานหรือ มันไม่ใช่ เขากำลังทำให้สังคมเข้าใจผิด
...ส่วนที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมา ก็ต้องถามว่าอย่างรังสิมันต์ โรม สมัยที่ยังไม่ได้เข้ามาอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ เขารณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตอนช่วงลงประชามติ อย่าลืมว่าคนที่รณรงค์ไม่โดนจับก็โดนคุกคาม โดนเรียกเข้าค่ายทหาร ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ หรือไม่ก็ถูกดำเนินคดี โดนฟ้องว่าชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน เป็นประชามติในสังคมที่ไม่ให้คนที่เห็นแตกต่างรณรงค์ ใครรณรงค์ไม่รับโดนจับหมด โดนคุกคามข่มขู่
-เชื่อว่าการเคลื่อนไหวเรื่องนี้จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างที่บางฝ่ายมอง?
กลับกันต่างหาก การไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาอยู่ที่การเห็นด้วยของประชาชนในสังคม หน้าที่ของเราก็คือ การทำให้ประชาชนเข้าใจถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าทำไมเราต้องแก้ไข เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
การที่คนไปคิดว่าการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำสังคมไปสู่ทางตัน ไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ผมต้องบอกว่าความขัดแย้งมีการดำรงอยู่อยู่แล้ว มันมีอยู่แล้วในสังคม ต่อให้คุณจะรณรงค์หรือไม่รณรงค์ก็ตาม ผมต้องบอกว่านี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่ใจร้อนบุ่มบ่าม แต่นี่เป็นวิธีการเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ระหว่างการสัมภาษณ์ ธนาธร ได้เปิดกระเป๋าเอกสารของเขาให้ดู ซึ่งในกระเป๋าอัดแน่นไปด้วย หนังสือและเอกสาร ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ของแต่ละกระทรวงที่เขาเป็นกรรมาธิการ รวมถึงหนังสือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเขาบอกว่าต้องพกติดตัวไว้อ่านเป็นประจำ เพื่อศึกษาข้อมูลงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่มาชี้แจงต่อ กมธ.
เห็นหนังสือเห็นเอกสารมากมายขนาดนี้ เลยถามแบบสบายๆ ก่อนจบการสัมภาษณ์ว่ามาทำงานการเมืองแบบนี้เหนื่อยกว่าสมัยทำธุรกิจหรือไม่ ธนาธร-หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อดีตผู้บริหารกลุ่มเครือไทยซัมมิทบอกว่า เหนื่อยคนละแบบ และขยายความให้ฟังว่า สมัยทำงานในภาคธุรกิจเป็นคนที่ทำงานเยอะอยู่แล้ว แต่ตอนอยู่ภาคธุรกิจข้อแตกต่างกับการทำงานการเมืองที่สำคัญก็คือ จะควบคุมปัจจัยได้เยอะกว่า ยกตัวอย่างเรื่องเวลา คุณจะควบคุมเวลาได้ คุณนัดลูกค้าวันไหน นัดพนักงานประชุมวันใด จะไปตรวจโรงงานวันไหน นัดแล้วก็จะเป็นไปตามนั้น อย่างช่วงไหนจะไปเที่ยวกับครอบครัวสี่วัน เราก็กำหนดเวลาไว้ว่าสองวันทำงานจะหยุด เราจะสามารถออกแบบและควบคุมปัจจัยต่างๆ ในชีวิตได้เยอะกว่านี้ แต่พอมาเป็นการเมืองควบคุมไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่นจะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันไหนยังไม่รู้เลย จะไปเที่ยวกับครอบครัวเดือนธันวาคมไม่รู้วันไหน ไม่กล้าไป เพราะหากไปแล้วเกิดฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ต้องยกเลิกการเดินทาง คือจะควบคุมปัจจัยไม่ได้ อย่างเพื่อน ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ที่แม้จะเป็นสมาชิกพรรคแต่ทุกคนมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นนึกออกไหม จะไปสั่งซ้ายหันขวาหันก็ทำไม่ได้ ทุกคนก็ต้องลงดูแลพื้นที่ของตัวเอง มีข้อจำกัดของตัวเอง แล้วสมาชิกพรรคก็ไม่ใช่ลูกน้อง แต่เป็นคนที่ควักเงินของเขามาจ่ายเงินเป็นสมาชิกพรรค จะไปสั่งซ้ายหันขวาหันก็ไม่ได้ ก็ต้องให้เกียรติ ต้องฟังเสียงทุกคน ดังนั้น การควบคุมปัจจัยองค์กรจึงแตกต่างกันเยอะ เพราะตอนที่เราทำธุรกิจอย่างน้อยเราควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้เยอะ.
โดย..วรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |