มรดกร้อยปีจากสหรัฐ แด่ สปป.ลาว


เพิ่มเพื่อน    

 

            หลวงพระบางได้รับการบรรจุเป็นเมืองมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ.1995 ด้วยความโดดเด่นในการอนุรักษ์อาคารลักษณะโคโลเนียลที่กลมกลืนกันเป็นอย่างดีกับบ้านไม้โบราณ การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งปัจจุบันวิถีปฏิบัติทางศาสนาอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อและมากเสน่ห์คือการตักบาตรข้าวเหนียว นอกจากชาวบ้านที่ตื่นเช้าตักบาตรกันเป็นกิจวัตรแล้ว นักท่องเที่ยวที่มาเยือนหลวงพระบางก็มักจะถือโอกาสร่วมปฏิบัติเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองด้วย


วิถีแห่งหลวงพระบาง ตักบาตรข้าวเหนียวและนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก

                วันนี้ผมตื่นเช้ากว่าปกติด้วยเสียงนาฬิกาปลุก ไม่ได้ตั้งใจจะใส่บาตรอย่างคนอื่นเขา ขอแค่เห็นภาพประทับใจดังว่าด้วยตาสักครั้ง ริมถนนใกล้ๆ โรงแรม เยื้องๆ กับวัดโพนไซ ชาวหลวงพระบางกลุ่มหนึ่งและคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยร่วมอยู่ด้วยนั่งรอพระสงฆ์กันอยู่ ผมออกเดินผ่านพวกเขาไปตั้งใจจะไปดูตรงหน้าที่ทำการไปรษณีย์ใกล้ๆ สี่แยกใหญ่ ปรากฏว่าพระสงฆ์กำลังย่ำเท้าเรียงแถวมาจากทิศทางนั้น คงรับบาตรมาก่อนแล้ว และกำลังจะรับบาตรชาวบ้านที่นั่งรอกันอยู่ มีกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินมาด้วย ทั้งนำหน้าและตามหลัง ผมวิ่งกลับไปตั้งหลักหน้าวัดโพนไซ ใกล้ๆ ปากทางเข้าตลาดสดยามเช้า เพื่อถ่ายรูปจากมุมที่ไม่รบกวนใคร

                ทันทีที่พระผ่อนความเร็ว เปิดฝาบาตรรับข้าวเหนียวร้อนๆ จากชาวพุทธผู้เลื่อมใส นักท่องเที่ยวกลุ่มนั้นก็ผ่อนความเร็วลงด้วย ฝรั่งบางคนใช้กล้องชนิดดีถ่ายพระและชาวบ้าน นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกสามสี่คนเข้าไปยืนหลังแนวพระสงฆ์ในระยะประชิดเพื่อให้เพื่อนฝูงที่มาด้วยกันถ่ายรูปพวกตนกับพระ แต่ไม่ทันที่จะสลับกันจนครบคน หมู่สงฆ์ก็เดินข้ามถนนเข้าวัดโพนไซไปเสียก่อน

                พระบิณฑบาตรรับข้าวเหนียวไปมาก แต่ใช่ว่าจะฉันแต่ข้าวเหนียว โดยวางเฉยต่อกับข้าว ชาวบ้านจะนำสำรับไปถวายถึงวัดเมื่อพวกเขาได้ยินเสียงกลองส่งสัญญาณออกมา


ตลาดเช้าหน้าวัดโพนไซ

                ไม่นานมานี้มีการออกกฎห้ามตักบาตรด้วยขนมต่างประเทศ ก่อนหน้านี้คงมีนักท่องเที่ยวหวังดี อยากให้พระได้ฉันของอร่อยก็เลยนำอาหารพวกเบเกอรี่ถวายพระเป็นมื้อเช้า นึกภาพดูก็คงจะวุ่นวายและขัดเขินกันอยู่ไม่น้อย

                ผมเดินออกไปบริเวณสี่แยกอีกครั้งก็ไม่เห็นวี่แววว่าจะมีพระบิณฑบาตรอีก จะเดินไปวัดเชียงทองใกล้จุดบรรจบแม่น้ำคานและแม่น้ำโขงก็คงไม่ทันการณ์ ยังไม่ถึง 6 โมงเช้าด้วยซ้ำ การตักบาตรแห่งวันก็จบลงแล้ว ผมกลับไปนอนต่อจนเกือบ 8 โมง ตื่นมากินอาหารเช้าของโรงแรมแล้วก็เรียกจัมโบ้ไป UXO LAO Visitor Centre

                โชเฟอร์เรียกราคาซาวพันกีบตามสูตร ผมต่อเหลือสิบพันกีบ หรือประมาณ 40 บาท เพราะระยะทางแค่ 1 กิโลเมตรเท่านั้น คนขับบอกให้ขึ้นรถก่อนผมพูดจบด้วยซ้ำ

                UXO ย่อมาจาก Unexploded Ordnance หมายถึงระเบิดที่ยังไม่ระเบิด หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุด แผ่นดินลาวอุดมไปด้วยสิ่งนี้ จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้ลดน้อยลงไปมากนัก

                สถานที่แห่งนี้ไม่ได้ถูกเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ แต่ใช้คำว่า “ศูนย์เยี่ยมชม” แทน คงเพราะขนาดไม่ใหญ่โตนัก ส่วนจัดแสดงมีเพียงห้องกว้างๆ ห้องเดียว มีลักษณะเป็นนิทรรศการมากกว่าการจัดแสดงของสะสมในพิพิธภัณฑ์ และมีห้องฉายภาพยนตร์อีก 1 ห้อง แต่เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่นำเสนอแล้วกลับรู้สึกหนักอึ้งในจิตใจมากกว่าพิพิธภัณฑ์สงครามทั่วๆ ไปเสียอีก


ศูนย์จัดแสดงและการเรียนรู้ UXO ระเบิดที่ยังไม่ระเบิด

                ศูนย์แห่งนี้พิเศษกว่าสถานที่เยี่ยมชมอื่นๆ ในหลวงพระบางตรงที่ไม่มีการปิดพักเที่ยงและไม่มีการเก็บค่าเข้าชม แต่ให้ผู้มาเยือนบริจาคลงกล่องตามกำลังศรัทธา ซึ่งผมเชื่อว่าจะได้รับเงินสนับสนุนมากกว่าการตั้งราคาค่าตั๋วที่พิพิธภัณฑ์และวัดดังบางแห่งในหลวงพระบางเก็บอยู่ที่ 30,000 กีบ ผมถามเจ้าหน้าที่สาวหน้าประตูว่ารับบริจาคเป็นเงินไทยหรือไม่  เธอบอกว่าไม่มีปัญหา คงเพราะค่าเงินไทยของเราตอนนี้แข็งดีเหลือเกิน ใครๆ ก็อยากถือครอง

                ศูนย์ UXO LAO แห่งนี้เปิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2009 ทว่าภารกิจเก็บกู้ระเบิดนั้นเริ่มมาก่อนหลายปีแล้ว พวกเขาเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ ได้จัดหาเครื่องไม้เครื่องมือ ออกเก็บกู้ระเบิด ให้ความรู้และฝึกให้ชาวบ้านปลดชนวน รวมถึงทำลายระเบิดด้วยตัวเอง อีกทั้งคอยให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคและสนับสนุนด้านต่างๆ แก่รัฐบาล สปป.ลาว เพื่อเป็นผู้นำในการรณรงค์ให้โลกนี้ปราศจากการใช้ระเบิดแบบที่เรียกว่า Cluster Munitions หรือระเบิดดาวกระจาย

                ลาวเป็นรัฐในอารักขาหรืออาณานิคมของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ.1893-1949 เมื่อฝรั่งเศสถอนออกไป ลาวได้วางตัวเป็นกลางในสงครามฝรั่งเศสอินโดจีน ซึ่งจบลงในปี ค.ศ.1954 คราวนี้ฝรั่งเศสถอนออกไปจากทั้งภูมิภาค สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่ในสงครามครั้งใหม่อุดมการณ์ประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ ในชื่อสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 หรือสงครามเวียดนาม ระหว่างปี ค.ศ.1964-1973 ลาวมีส่วนในสงครามครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงได้มีสงครามภายในระหว่างกลุ่มนิยมระบอบกษัตริย์ พวกสายกลาง และ “ปะเทดลาว” ซึ่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์


ส่วนหนึ่งของที่ระลึกจากอเมริกาฝากไว้แด่ลาว

                สหรัฐนั้นช่วยทิ้งระเบิดและสนับสนุนอาวุธให้กับฝ่ายอำนาจเก่าในสงครามที่เรียกกันว่า “สงครามลับ” ส่วนฝ่ายเวียดนามเหนือช่วยเหลือฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาว นอกจากนี้ลาวอยู่ในเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัยของเวียดนามเหนือไปยังกองกำลังเวียดกงในเวียดนามใต้ที่เรียกว่า “เส้นทางโฮจิมินห์” (Ho Chi Minh Trail) จึงทำให้กองทัพสหรัฐทิ้งระเบิดใส่ไม่ขาดสาย และแม้ว่าในที่สุดฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวมีชัย ปกครองประเทศในชื่อใหม่ว่า สปป.ลาว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1975  ฝ่ายสหรัฐถอนออกไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 แต่รอยแผลจากสงคราม โดยเฉพาะระเบิดปูพรมที่มากมายเหลือคณานับ ยังส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้

                ระหว่างปี ค.ศ.1964-1973 สหรัฐได้ทิ้งระเบิดลงบนแผ่นดินลาวมากกว่า 2 ล้านตัน จากเที่ยวบินประมาณ 580,000 เที่ยว หาค่าออกมาได้ว่าในระหว่าง 9 ปีดังกล่าว พวกเขาทิ้งระเบิดทุกๆ 8 นาที ไม่หยุดหย่อนตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ลาวกลายเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเมื่อเทียบต่อจำนวนประชากร และเป็นจำนวนที่มากกว่าการทิ้งระเบิดทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่ 2 

                ราวๆ 1 ใน 3 ของระเบิดที่ทิ้งลงสู่แผ่นดินลาวไม่มีการระเบิดในขณะนั้น ทำให้เมื่อสงครามจบลงไปแล้วระเบิดที่ไม่ระเบิดเหล่านี้ได้เกิดการทำงานขึ้นเมื่อมีผู้ไปเหยียบหรือใช้อุปกรณ์การเกษตรขุดไปโดนเข้า ทำให้ผู้คนมากกว่า 2 หมื่นรายเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ


ภายในศูนย์ UXO LAO VISITOR CENTRE

                มีตัวเลขข้อมูลที่อ่านแล้วรู้สึกเจ็บและจุกไปตามๆ กัน ได้แก่ ระเบิดดาวกระจายถูกทิ้งลงแผ่นดินลาวมากกว่า 270 ล้านลูกในระหว่างสงครามเวียดนาม มากกว่าที่ใช้ในอิรักเมื่อปี ค.ศ.1991, 1998 และ 2006 รวมกันถึง 210 ล้านลูก และในจำนวน 270 ล้านลูก มีประมาณ 80 ล้านลูกไม่ระเบิด ผ่านไปกว่า 40 ปี ระเบิดเหล่านั้นถูกเก็บกู้ทำลายไปเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และมากกว่าครึ่งหนึ่งของเหยื่อระเบิดดาวกระจายของทั้งโลกเกิดขึ้นที่ลาว

                ตัวเลขนี้ยิ่งต้องสะดุ้ง นั่นคือสหรัฐได้สนับสนุนเงินทุน 4.9 ล้านเหรียญฯ ต่อปีในภารกิจเก็บกู้ระเบิดในลาวระหว่างปี ค.ศ.1993-2016 ขณะที่ตอนพวกเขาทิ้งระเบิดนั้นได้ใช้งบประมาณไปถึง 13.3 ล้านเหรียญฯ ต่อวัน ตลอด 9 ปีในการทิ้งระเบิด เท่ากับว่าพวกเขาใช้เงินสนับสนุนการเก็บกู้ตลอด 24 รวมกัน เท่ากับการทิ้งระเบิดใส่ลาวแค่ 10 วัน

                ระหว่างปี ค.ศ.2008-2017 มีชาวลาวเสียชีวิตจากระเบิดที่ตกค้างจากสงครามเวียดนาม 1 คนทุกๆ 2 สัปดาห์ ส่วนมากมาจากระเบิดดาวกระจาย ซึ่งระเบิดดาวกระจายก็คือระเบิดลูกเล็กๆ ที่อยู่ในตัวบรรจุขนาดใหญ่ เมื่อถูกทิ้งลงสู่พื้นหรือยิงจากปืนใหญ่ก็จะแตกออกกลางอากาศ ลูกระเบิดเหล่านี้ในลาวเรียกว่า “บอมบี้” คงมาจากคำว่า “บอมบ์” ผสมกับ “เบบี้”


รูปลักษณ์ของ Cluster Munitions หรือระเบิดดาวกระจาย

                ในการทิ้งครั้งหนึ่งสามารถกินพื้นที่หวังผลได้เท่ากับสนามฟุตบอล 2-3 สนาม ผู้ที่อยู่ในรัศมีก็จะโดนระเบิด อาจตายหรือบาดเจ็บ โดยตัวลูกบอมบี้เองแต่ละลูกมีรัศมีทำลายได้ถึง 30 เมตร ระเบิดดาวกระจายที่สหรัฐใช้ในลาวส่วนใหญ่คือ BLU-26 มีตัวบอมบี้อยู่ 680 ลูก นอกจากนี้ยังมีตัวอื่นๆ อีก โดยสามารถใส่ตัวบอมบี้ได้ระหว่าง 30-4,800 ลูก


รอยแผลสงคราม ทุกๆ 2 สัปดาห์จะมีคนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากระเบิดใน สปป.ลาว

                จากข้อมูลที่มีอยู่ ต้องใช้เวลาอีกราว 100 ปีในการกำจัดบอมบี้ให้หมดไป นี่ยังไม่นับรวมระเบิดประเภทอื่นด้วย ทั้งนี้ สปป.ลาว เป็นหัวหอกในการผลักดันให้ทั่วโลกแบนการใช้ระเบิดดาวกระจาย ซึ่งยังคงไม่สำเร็จตามเป้าหมาย

                ในการสำรวจทั่วประเทศระหว่างปี ค.ศ.1996-1997 พบว่ามีถึง 15 จาก 17 จังหวัดใน สปป.ลาวที่ได้รับผลกระทบจาก UXO และหมู่บ้านทั่วประเทศมีการรายงานว่าพบระเบิดตกค้างที่ยังไม่ระเบิดเหล่านี้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด

                นอกจากระเบิดที่ได้กล่าวถึงไป ลาวยังโดนอาวุธอื่นๆ  อีกมากมาย รวมถึงยาปราบวัชพืช ยาทำให้ใบ้ไม้ร่วง ฝนเหลือง ทุกวันนี้หลายพื้นที่ของ สปป.ลาวไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ หรือมีสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งที่มาของอาหารและน้ำ เด็กๆ เกิดมาพร้อมภาวะไม่สมบูรณ์ของร่างกาย


นิทรรศการแสดงวิธีการเก็บกู้ระเบิดตกค้างจากสงครามเวีดยนาม

                สงครามและสิ่งที่หลงเหลือหลังสงครามครั้งนั้นมีส่วนสำคัญทำให้ความยากจนในลาวยังคงอยู่ เรื่องที่น่าเศร้ามากก็คือเพื่อหลีกหนีจากภาวะยากจนข้นแค้น หลายครอบครัวต้องหาเลี้ยงชีพด้วยระเบิดที่ตกค้างเหล่านี้ด้วยการหาซื้อเครื่องตรวจหาโลหะอย่างง่าย ราคาตัวละประมาณ 12 เหรียญฯ มาตรวจหาเศษซากระเบิด เมื่อได้มาแล้วก็นำไปทำอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ช้อน ซ่อม มีด ของประดับ แล้วนำไปขายให้นักท่องเที่ยว หรือนำโลหะจากระเบิดที่พบไปขายต่อให้กับพ่อค้าที่รับซื้อ เพราะระเบิดเหล่านี้จำนวนมากทำด้วยเหล็กกล้าคุณภาพสูงและทองแดง

                ผมเดินดูส่วนที่เป็นนิทรรศการเสร็จก็เข้าห้องไปดูภาพยนตร์ซึ่งฉายวนอยู่ทั้งวัน เป็นสารคดีเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดแบบสุ่มๆ ปูพรมของสหรัฐ เรื่องต่อมาเป็นเรื่องของเหยื่อระเบิดที่ยังมีชีวิตอยู่ เล่าเรื่องโดยย้อนเวลาไปตอนเกิดเหตุซึ่งต้องใช้นักแสดงแทน มีคนที่สูญเสียแขน ตาบอด และสตรีที่โตขึ้นมาโดยไม่มีผู้ชายมาจีบเพราะแขนคดงอ จากนั้นเป็นเรื่องของการเก็บกู้ การให้ความรู้ในการปฏิบัติตนเมื่อเจอระเบิด

                ออกจากศูนย์ UXO ในเวลาเที่ยง อากาศร้อนด้วยแสงแดดจ้าไร้เมฆบัง ผมนึกถึงข้อมูลที่ว่าต้องใช้เวลาอีกถึงราว 100 ปีกว่าจะเก็บกู้ทำลายระเบิดตกค้างในแผ่นดินลาวได้หมด จากนั้นก็นึกถึงภาพการใส่บาตรพระเมื่อเช้าตรู่ที่ผ่านมา.

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"