สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดผลการศึกษาเบื้องต้นโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง หรือ Transit Oriented Development (TOD) “TOD คมนาคม สร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” ใน 3 จังหวัดเมืองต้นแบบ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ขอนแก่น และเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งได้เปิดเวทีทดสอบความสนใจของภาคเอกชนครั้งที่ 1 จากทั้งสิ้น 2 ครั้ง ครบทั้ง 3 จังหวัดเมื่อเร็วๆ นี้
นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สนข. เปิดเผยว่า สนข.ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเปิดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ในพื้นที่เมืองต้นแบบทั้ง 3 จังหวัด เพราะมีภาคเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งตรงกับเป้าประสงค์ของโครงการในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยผลการศึกษาเบื้องต้นการพัฒนา TOD เมืองต้นแบบ
เปิดโมเดลอยุธยา
พระนครศรีอยุธยา มีศักยภาพหลายด้าน เช่นมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ในปี 2560 สูงถึง 403,000 ล้านบาท หรืออันดับที่ 5 ของประเทศ เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำ เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญรถไฟฟ้าสายเหนือและอีสาน ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ TOD เป็น 4 โซนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 206 ไร่ มุ่งเน้นสนับสนุนธุรกิจการค้า การลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาที่เน้นรักษาทัศนียภาพที่งดงามของเมือง
โซนที่ 1 ย่านธุรกิจและพาณิชยกรรมแบบผสมผสาน พื้นที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ เหมาะสมเป็นย่านพาณิชยกรรมแห่งใหม่ ธุรกิจการค้า แหล่งสร้างงาน โซนที่ 2 ย่านชุมชนการค้าแบบผสมผสานเชิงพาณิชย์และอยู่อาศัย เน้นการเข้าถึงพื้นที่ด้วยระบบขนส่งมวลชนหลักและระบบขนส่งมวลชนรองและครอบคลุมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ เช่น การเดิน จักรยาน โซนที่ 3 ย่านชุมชนที่อยู่อาศัยคุณภาพ เน้นที่อยู่อาศัย แหล่งให้ผู้คนได้พบปะ และทำกิจกรรมร่วมกันบนพื้นที่แหล่งใหม่ของเมือง และโซนที่ 4 ย่านที่อยู่อาศัยและรองรับการขยายตัวของเมือง
ศูนย์กลางอนุภาคลุ่มน้ำโขง
ขอนแก่น มีศักยภาพหลายด้าน เช่น การเป็นศูนย์กลางหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแผนการพัฒนาต่างๆ ในระดับนานาชาติ มีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภาคอีสาน อยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (NSEC) มีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายขอนแก่น (บ้านไผ่) -มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น
ผลการศึกษาเบื้องต้นสามารถแบ่งการพัฒนา TOD ได้ 7 โซน เพื่อยกระดับและเสริมสร้างศัยกภาพอย่างแบบครบวงจร โดยโซนที่ 1 ย่านสำนักงานกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเบาสนับสนุนการเป็นเมืองเป้าหมายโครงการ Smart City การพัฒนาเป็นสำนักงาน ร้านค้าปลีก จุดจอดแล้วจรเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โซนที่ 2 ศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ครบวงจร รองรับนโยบายรัฐบาลซึ่งเลือกให้เป็นศูนย์กลางด้านการประชุม จัดแสดง และสัมมนาของภูมิภาค หรือ MICE CITY แห่งที่ 5 ของไทย และรองรับกับการเพิ่มขึ้นนักท่องเที่ยวจากการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ
โซนที่ 3 ศูนย์กลางธุรกิจและพาณิชยกรรมแห่งใหม่ ตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสถานี เหมาะสำหรับพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคเพื่อก้าวสู่เมืองศูนย์กลางการค้าการลงทุนระดับภูมิภาค และโรงแรมระดับบน โซนที่ 4 จุดเปลี่ยนถ่ายและศูนย์กลางเชื่อมต่อเดินทาง พื้นที่ตั้งติดกับสถานีรถไฟ เหมาะสำหรับการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางเชื่อมระหว่างขนส่งมวลชนหลักและขนส่งมวลชนรอง รวมทั้งพัฒนาเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานแนวราบเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่
โซนที่ 5 ย่านชุมชนเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัยที่มีคุณภาพมาตรฐาน สะดวกสบาย ปลอดภัย โซนที่ 6 ชุมชนเมืองใหม่ภายใต้การพัฒนาแบบผสมผสาน เช่น ที่พักอาศัยราคาประหยัด คอนโดมิเนียม และสวนสาธารณะใจกลางชุมชน และโซนที่ 7 ชุมชนที่อยู่อาศัยคุณภาพดีผสมผสานศูนย์กลางเมืองเก่า เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นที่พักอาศัยราคาประหยัด เพื่อเพิ่มทางเลือกให้คนเมืองได้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย
มหานครไมซ์-แหล่งช็อปปิ้งโลก
เมืองพัทยา จ.ชลบุรี กลุ่มเมืองต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ TOD ด้านตะวันออก ด้วยศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ ทำเลที่ดีที่สุดในการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นประตูสู่อาเซียน โดยเฉพาะจีนและอินเดีย มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงการขยายสนามบินอู่ตะเภา และเต็มไปด้วยศักยภาพด้านธุรกิจบริการมาตรฐานสากลและแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกอันดับ 18 เมืองจุดหมายปลายทางของโลกในปี 2561และพื้นที่นำร่องการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ
การพัฒนา TOD เมืองพัทยา จะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การกระจายความเจริญ การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่และจังหวัดในภูมิภาคตะวันออกที่สำคัญ เป็นกลไกสำคัญสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ
ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นสามารถพัฒนาได้ 4 โซนหลัก คือโซนที่ 1 ย่านอาคารสำนักงานที่พร้อมรองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตอย่างลงตัว เพราะพื้นที่ตั้งติดสถานีรถไฟจึงเหมาะพัฒนาแบบผสมผสานทั้งอาคารสำนักงานระดับภูมิภาค ที่ทำการหน่วยงาน สถานศึกษา ร้านค้าปลีก รองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประชาชน โซนที่ 2 ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การพาณิชย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคล่องตัว เหมาะที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงโรงแรมธุรกิจ
โซนที่ 3 มหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ครบวงจร เติมเต็มศักยภาพและความพร้อมเมืองท่องเที่ยวระดับโลก และโซนที่ 4ชุมชนที่อยู่อาศัย อยู่สบาย เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพพัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัยที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งอาคารแนวราบ และอาคารแนวสูงราคาถูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี นายเริงศักดิ์ มองว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบ TOD ภาครัฐต้องกำหนดกรอบนโยบายการลงทุน รูปแบบการสนับสนุน และข้อกฎหมายที่สนับสนุนให้มีความชัดเจน การมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบ มีช่องทางในการสร้างรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนทุกภาคส่วนมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของโครงการ และมีรูปแบบการลงทุนที่มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับลักษณะการพัฒนา TOD ในพื้นที่ และที่สำคัญคือต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ตาม สนข.จะมีการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชนครั้งที่ 2 ใน 3 เมืองต้นแบบเพื่อรวบรวมความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลมาประกอบผลการศึกษาก่อนการสัมมนาใหญ่สรุปผลการศึกษา เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีรถไฟ และใช้เป็นแนวทางให้เมืองอื่นๆ นำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเดินทางที่มีศักยภาพ รากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |