กองทัพภาคที่ 1- กทม.-พอช. จับมือชุมชน เปิดพื้นที่สร้างเขื่อนระบายน้ำ-พัฒนาคลองเปรมฯ ประเดิมรื้อย้าย-สร้างบ้านใหม่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร จำนวน 197 หลัง


เพิ่มเพื่อน    

พลโทธรรมนูญ  วิถี  แม่ทัพภาค 1   และนายไมตรี  อินทุสุต  ประธานบอร์ด พอช.ร่วมมอบงบสนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่ชุมชนริมคลองเปรมประชากร

 

คลองเปรมประชากร / พอช.-กองทัพภาคที่ 1- กทม.จับมือชาวคลองเปรมประชากร  จัดกิจกรรม “รื้อบ้านเดิม  สร้างบ้านใหม่  คืนน้ำใสให้คลองเปรมฯ” เพื่อเปิดพื้นที่สร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมและพัฒนาพื้นที่ชุมชนริมคลองเปรมฯ  ประเดิมรื้อย้ายชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร รวม 197 หลัง  โดยจะเริ่มสร้างบ้านใหม่ภายในปีนี้ เผยเป้าหมายพัฒนาทั้งคลองเปรมฯ ในกรุงเทพฯ 32 ชุมชน  และ 6 หมู่บ้านใน จ.ปทุมธานี  รวม 6,386 ครัวเรือน

 

คลองเปรมประชากรเป็นอีกลำคลองหนึ่งที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ  หลังจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วในคลองลาดพร้าว ตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 โดยรัฐบาลมอบหมายให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลของน้ำในคลองเปรมประชากร 

สภาพชุมชนที่รุกล้ำลำคลองเปรมประชากร

 

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จะดำเนินการเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง โดยประชาชนที่สร้างบ้านเรือนรุกล้ำคลองจะต้องรื้อย้ายบ้านออกจากคลองและแนวเขื่อนซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ รองรับชาวบ้าน 32 ชุมชนในเขตจตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง และอีก 6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน  ทั้งนี้ตลอดช่วงปี 2562  หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้จัดเวทีประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนริมคลองเปรมฯ ครบแล้วทุกชุมชน  โดยชาวชุมชนส่วนใหญ่พร้อมเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาคลองเปรมประชากร 

ล่าสุดวันนี้ (15 พ.ย.) ตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น. ที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ริมคลองเปรมประชากร  เขตจตุจักร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับกองทัพภาคที่ 1 กรุงเทพมหานคร  สำนักงานเขตจตุจักร  จัดกิจกรรม “รื้อบ้านเดิม  สร้างบ้านใหม่  คืนน้ำใสให้คลองเปรมฯ”  โดยมีพลโทธรรมนูญ วิถี แม่ทัพภาคที่ 1 นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  นายอาฤทธิ์ ศรีทอง ผู้อำนวยการเขตจตุจักร  ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และชาวชุมชนริมคลองเข้าร่วมงานประมาณ 200 คน  เพื่อเปิดพื้นที่พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เป็นชุมชนแรก จำนวน  197 หลัง   โดยเริ่มรื้อย้ายบ้านชุดแรกจำนวน  17 หลังในวันนี้   หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างบ้านเฟสแรกจำนวน 20 หลัง  และทะยอยรื้อย้ายและก่อสร้างเฟสต่อไป

พลโทธรรมนูญ  วิถี

 

พลโทธรรมนูญ วิถี แม่ทัพภาคที่ 1  กล่าวว่า  การพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรให้มีความสุข  มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัยจะสำเร็จได้นอกจากการสนับสนุนของรัฐแล้ว  ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องเป็นประการสำคัญ  และความเข้มแข็งของชุมชนจะเป็นกำลังหลักในขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จ  โดยชุมชนประชาร่วมใจ 2 เป็นชุมชนแรกที่เริ่มรื้อบ้านเพื่อเตรียมการก่อสร้างบ้านใหม่  ซึ่งแสดงถึงความสามัคคีของพี่น้อง

 

“กองทัพยังคงเฝ้ารอที่จะดีใจกับชาวชุมชนทุกท่านอีกครั้ง   ที่พี่น้องจะได้มีบ้านหลังใหม่ที่สวยงาม  และที่สำคัญ คือ สามารถเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้อย่างถูกต้อง  และสามารถถือกรรมสิทธิ์ในตัวบ้านได้  โดยทางกองทัพได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน  กองพลทหารม้าที่ 2  รักษาพระองค์  ประสานงานและช่วยเหลือพี่น้องอย่างใกล้ชิด  จนกว่าทุกท่านจะย้ายเข้าสู่บ้านหลังใหม่” พลโทธรรมนูญกล่าว

 

นายไมตรี  อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า เขตจตุจักรมีชุมชนริมคลองเปรมประชากร จำนวน 5 ชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งหมด โดยจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ 3 สหกรณ์  ซึ่ง พอช.ได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่ รวม 91.23 ล้านบาท โดยจะเริ่มรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป  เริ่มจากชุมชนประชาร่วมใจ 2  เขตจตุจักร  มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการทั้งหมด  197 ครัวเรือน อยู่อาศัยในที่ดินราชพัสดุเนื้อที่  10 ไร่ 3 งานเศษ   โดยกรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินระยะเวลา 30 ปี (เมื่อหมดสัญญาสามารถต่อได้อีกครั้งละ 30 ปี)   โดยเริ่มรื้อย้ายบ้าน 17 หลังในวันนี้ คาดว่าจะใช้เวลารื้อย้าย 1 เดือน  และจะเริ่มสร้างบ้านใหม่ 20 หลังได้ก่อนสิ้นปี 2562   เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4x7 ตารางเมตร และ 5x6 ตารางเมตร  ผ่อนชำระกับสหกรณ์  2,579 บาทต่อเดือน  ระยะเวลา 20 ปี

นายไมตรี  อินทุสุต  ร่วมรื้อบ้านชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจุตจักร

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ 3 ประการของพี่น้อง  ได้แก่  1.ชาวชุมชนมีความร่วมมือร่วมใจตามชื่อของชุมชน  คือ ประชาร่วมใจ ถ้าผู้นำและชาวบ้านไม่ร่วมมือเข้มแข็งเช่นนี้ ความสำเร็จคงเกิดขึ้นยาก 2.ส่วนราชการให้ความร่วมมือ ทั้งทหาร กองทัพบก  กทม. พอช. ธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ประปา ไฟฟ้านครหลวง รวม 12 หน่วยงาน  3. รัฐบาลเร่งรัดติดตาม เพราะเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ที่ได้ทุ่มเท ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยของพี่น้องชุมชนคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าวอย่างต่อเนื่อง”  นายไมตรีกล่าว

นายอาฤทธิ์  ศรีทอง  ผู้อำนวยการเขตจตุจักร  กล่าวว่า  สำนักงานเขตจตุจักรมีความพร้อมในการสนับสนุนการทำงานในทุก ๆ ด้านให้กับชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทฯ  โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน  มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้นำชุมชนและสมาชิก  เริ่มตั้งแต่กระบวนการประชุมจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน  คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์  นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกและให้บริการกับชุมชนในด้านต่าง ๆ  เช่น  การร่วมสร้างความเข้าใจกับชุมชน การอนุญาตก่อสร้างบ้านและดำเนินการเรื่องทะเบียนบ้านให้กับบ้านที่ก่อสร้างใหม่ 

“นอกจากนี้เมื่อชุมชนก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว  สำนักงานเขตจะสนับสนุนให้เกิดระบบสาธารณูปโภคที่มีมาตรฐาน  ส่งเสริมการฝึกอาชีพ  การพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกด้าน  รวมถึงดูแลผู้ด้อยโอกาส  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ ในทุกๆ ชุมชน  เพื่อให้ได้รับโอกาสและได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กับทุกคนในชุมชนด้วย”  ผอ.เขตจตุจักรกล่าว

นางสมร จันทร์ฉุน  ประธานสหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 2 จำกัด  กล่าวว่า  ชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2 อยู่กันมานานกว่า 80 ปี  ดำเนินชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป   บ้านเรือนปลูกสร้างแบบพออยู่พอกินตามฐานะของแต่ละครอบครัว  ส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรมไม่แข็งแรง  เมื่อมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเข้ามา  ชาวบ้านจึงดีใจที่จะได้เข้าร่วมโครงการและพัฒนาชุมชน  เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณและช่วยเรื่องการรื้อย้าย  ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากรของ พอช.   โดยรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์และจัดตั้งเป็นสหกรณ์แล้ว  ใช้ชื่อ ‘สหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 2 จำกัด’  มีสมาชิก 197 ครัวเรือน   ตามแผนงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งชุมชนในปี 2563

“ชาวบ้านเห็นว่าโครงการนี้จะทำให้ชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น  เพราะเห็นตัวอย่างมาจากการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว  ที่มีบ้านใหม่ที่สวยงามมั่นคง  มีสภาพแวดล้อมที่ดี   ทำให้ชีวิตของชาวชุมชนดีขึ้น  และพวกเรามั่นใจว่าโครงการนี้จะสามารถพัฒนาได้สำเร็จ  จนเป็นที่ยอมรับของชุมชนข้างเคียง และเป็นชุมชนแรกของคลองเปรมประชากรในการพัฒนา  และเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับชุมชนอื่น ๆ ริมคลองเปรมประชากรต่อไป”  ประธานสหกรณ์กล่าว

ตัวอย่างโมเดลบ้านริมคลองเปรมประชากร

 

นายธนัช  นฤพรพงศ์  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวถึงการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรว่า  แต่เดิมชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเปรมประชากรเกือบทั้งหมดปลูกสร้างบ้านบนที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแลโดยไม่ได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้อง  และบางส่วนปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลงไปในคลองเปรมประชากรทำให้กีดขวางทางเดินน้ำ  สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรม  ไม่มั่นคงแข็งแรง 

รัฐบาลจึงมีนโยบายการพัฒนาตาม ‘แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร  ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่คลองเปรมประชากร (ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน) ทำหน้าที่ขับเคลื่อน  โดยมีหลายหน่วยงานร่วมดำเนินงาน  เช่น  กรมธนารักษ์ให้ชุมชนเช่าที่ดินอย่างถูกต้องระยะยาวในอัตราผ่อนปรน  กรุงเทพมหานครรับผิดชอบก่อสร้างเขื่อนและพัฒนาพื้นที่ริมคลอง  กรมส่งเสริมสหกรณ์  กรมตรวจบัญชีสหกรณ์  การไฟฟ้านครหลวง  การประปานครหลวง  จังหวัดปทุมธานี  และสำนักงานของกรุงเทพมหานครที่ดูแลพื้นที่  โดยมีกองทัพภาคที่ 1 ร่วมสนับสนุนในเรื่องการสร้างความเข้าใจและการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องกับชุมชน

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์เคหสถานเพื่อเช่าที่ดินและบริหารงานก่อสร้าง โดย พอช. สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือครัวเรือนละ 147,000  บาท  (สาธารณูปโภคส่วนกลาง  50,000 บาท  งบอุดหนุน  25,000 บาท  ลดภาระสร้างบ้าน 72,000 บาท/ครัวเรือน)  และสินเชื่อก่อสร้างบ้านไม่เกิน 360,000 บาท/ครัวเรือน  ชำระคืนภายใน 20 ปี  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาท/ปี  โดยขณะนี้ พอช.ได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือแล้ว 4 สหกรณ์ (7 ชุมชน) รวม  927 ครัวเรือน  วงเงิน 145.27 ล้านบาท                 

ส่วนการออกแบบที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรเบื้องต้นมี 3 แบบ  เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการรับภาระของแต่ละครัวเรือน  คือ 1.บ้านแถว 1 ชั้น  ขนาด  4x7 ตารางเมตร  ราคาประมาณ  290,000 บาท  ผ่อนชำระ 1,500  บาท/เดือน   2.บ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4x7 ตารางเมตร  ราคาประมาณ  450,000 บาท  ผ่อนชำระ 2,600 บาท/เดือน   และ 3.บ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 5x6 ตารางเมตร  ราคาประมาณ  450,000 บาท  ผ่อนชำระ 2,600 บาท/เดือน  ระยะเวลา 20 ปี  ทั้งนี้ ในกรณีที่บางชุมชนมีครัวเรือนเป็นผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ยากไร้  รัฐบาลก็จะพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเป็นกรณี ๆ ไป

 

นายธนัชกล่าวด้วยว่า แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร
มีกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1
. ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมของเมือง  เช่น การสร้างเขื่อนริมคลองเปรมฯ  อุโมงค์ระบายน้ำ  ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย  2.ด้านการพัฒนาชุมชนริมคลอง ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัยของทุกครัวเรือนที่อยู่ริมคลอง 3. ด้านการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และ 4. ด้านกฏหมายและการขับเคลื่อนงาน มีระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2570 ซึ่งหลังจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยดำเนินการได้แล้วเสร็จ ในระยะต่อไปแผนนี้จะมีการดำเนินการอีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับชุมชนและส่วนรวม อาทิ การขุดลอกคลองเพื่อให้ระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ การเชื่อมต่อระบบขนส่ง ล้อ-ราง-เรือ ในอนาคต รวมถึงการสนับสนุนชุมชนให้มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องอาชีพ รายได้ และมีโอกาสที่จะเห็นตลาดน้ำเกิดขึ้นในคลองเปรมประชากรในเวลาไม่นานนี้

ตัวอย่างบ้านที่สร้างเสร็จแล้วในคลองลาดพร้าว

 

“พอช. กำหนดแผนดำเนินการ 4 ปี คือตั้งแต่ปี 2562 – 2565  โดยใช้รูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง  เช่นเดียวกันกับการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว   โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการ เริ่มจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ มีการออกแบบและวางผังร่วมกันทั้งชุมชนเพื่อขออนุญาตปลูกสร้างบ้านใหม่จากกรมธนารักษ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกเป็นผู้อยู่อาศัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้จะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน  ขณะที่ชาวชุมชนก็จะช่วยกันดูแลคลองให้ใสสะอาด และร่วมกันพัฒนาพื้นที่ริมคลองให้สวยงาม  สามารถใช้เป็นเส้นทางขี่จักรยานเลียบคลองหรือวิ่งออกกำลังกายได้ด้วย”  นายธนัชกล่าว

การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมประชากรตามแผนงานจะมีความยาวทั้งหมดประมาณ 27 กิโลเมตร เริ่มจากพื้นที่ริมคลองเปรมฯ ในเขตจตุจักร-หลักสี่-ดอนเมืองถึงปทุมธานี ขนาดความกว้างของสันเขื่อนคือ 3 เมตร ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปี 2562-2565  โดยสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร  รับผิดชอบในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ  กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย  รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ขณะนี้เริ่มสร้างเขื่อนฯ นำร่องจากคลองบ้านใหม่ถึงสะพานข้ามคลองบริเวณหมู่บ้านแกรนด์คาแนล  เขตดอนเมือง ระยะทางตามแนวเขื่อนทั้งสองฝั่งรวม 460 เมตร ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้

นอกจากนี้ ตามแผนแม่บทฯ ยังมีโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2562-2566 เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตจตุจักร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 109 ตารางกิโลเมตร  เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ รวมถึงยังช่วยรับน้ำฝนที่ระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ข้างเคียง  คือ จ.นนทบุรีและ จ.ปทุมธานี และสามารถสูบน้ำกลับเพื่อเจือจางน้ำเสียในคลองเปรมประชากร

เขื่อนฯ ในคลองเปรมประชากรเริ่มสร้างบริเวณคลองบ้านใหม่ถึงสะพานข้ามคลองหมู่บ้านแกรนด์คาแนล  เขตดอนเมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"