บันทึกการเข้าเฝ้าฯ 'พระปกเกล้า' ของคณะราษฎร


เพิ่มเพื่อน    

               
    วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เมื่อคณะราษฎรซึ่งเป็นคณะบุคคลประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ  และพลเรือน โดยสายทหารบกมีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า สายทหารเรือมีนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้า และสายพลเรือนมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า ได้ยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่ช่วงรุ่งเช้า โดยมีการประกาศ (แถลงการณ์) เปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย
    จากนั้นคณะราษฎรจึงส่งนาวาตรีหลวงศุภชลาศัย (ผู้บัญชาการเรือรบหลวงสุโขทัย) เป็นตัวแทนคณะราษฎรให้เดินทางไปยังพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในขณะนั้น เพื่อถวาย "หนังสือกราบบังคมทูล" และ "ประกาศคณะราษฎร" ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นทั้ง "คำขาด" และ "คำขู่" สิ่งที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงคือคณะราษฎรได้ยึดอำนาจในพระนครได้แล้ว และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ถูกควบคุมตัวหลายพระองค์ และที่ปรากฏใน "คำขาด" คือ
    ๑) "ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้ายด้วยประการใดๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้ เป็นการตอบแทน"
    ๒) แสดงความประสงค์ของคณะราษฎรคือ "เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" ดังนั้นจึงเชิญพระองค์ "เสด็จฯ กลับคืนสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน  ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น"
    ๓) ถ้าพระองค์ทรงตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในเวลาที่กำหนด "คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์"
    สำหรับข้อ ๓ นี้สิ่งที่ปรากฏใน "คำขู่" ไปไกลและรุนแรงกว่า กล่าวคือ "ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา" ซึ่งหมายถึงระบบรัฐบาลแบบประธานาธิบดีหรือระบบสาธารณรัฐ และสิ่งที่ตามมาที่น่าหวาดกลัวไม่แพ้กัน คือวิธีการที่จะบำรุงประเทศ โดยขู่ว่าจะใช้วิธี "ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศ" 
    แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธที่จะเสด็จฯ กลับพระนครโดยเรือรบหลวงสุโขทัยด้วยเหตุผล "เพราะจะทำให้ดูเหมือนว่าถูกเขาจับไป" ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ต้องรักษาไว้ให้ "เป็นการสมพระเกียรติยศ" ในฐานะพระมหากษัตริย์ 
    วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับถึงพระนครโดยรถไฟขบวนพิเศษ ซึ่งในเช้านั้นเวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎร ประกอบด้วย พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, นายประยูร ภมรมนตรี, นายสงวน ตุลารักษ์, พันตรีหลวงวีรโยธา (ถวิล ศิริศัพท์), นายจรูญ ณ บางช้าง และพลเรือตรีพระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน) เข้าเฝ้าฯ ณ วังศุโขทัย โดยคณะราษฎรได้นำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย  ๒ ฉบับ คือ


    ๑.พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งมีสาระสำคัญว่าในการกระทำทั้งหลายของบุคคลใดๆ ในคณะราษฎร หากจะเป็นการละเมิดกฎหมายใดๆ ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย
    ๒.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕
    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระนามเพียงฉบับเดียว คือ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน  ๒๔๗๕ โดยไม่ต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการเพราะในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มที่
    การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระนามพระราชกำหนดนี้แสดงถึงการประนีประนอม โดยทรงให้ใส่ข้อความในคำปรารภของพระราชกำหนดด้วยว่า "อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้เราก็ได้ดำริอยู่แล้ว ที่คณะราษฎรนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ด้วย" 
    ส่วนพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอศึกษาก่อน ๑ คืน จนรุ่งขึ้นพระองค์จึงทรงขอต่อรองให้เติมคำว่า "ชั่วคราว" จึงเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฉบับวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นกัน
    การที่คณะราษฎรยอมให้ใส่คำว่าชั่วคราวในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม  พุทธศักราช ๒๔๗๕ ถือได้ว่า "ฝ่ายคณะราษฎรเองก็ยอมรับการประนีประนอมทางการเมืองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" 
    วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎร ประกอบด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาศรีวิสาร, พระยาปรีชาชลยุทธ,  พระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เข้าเฝ้าฯ ที่วังศุโขทัยเพื่อ "สอบถามความบางข้อและบอกความจริงใจ" โดยมีพระราชดำรัสคือ


    -ได้ทรงพยายามใช้หนี้และได้แก้ไขฐานะการเงินของประเทศให้ดีขึ้นมาโดยตลอด
    -ทรงเห็นว่าควรมีรัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ แล้ว และเมื่อได้ครองราชย์ก็ยังคงมีความคิดนี้อยู่
    -เรื่องสืบสันตติวงศ์
    -กรณีมีข่าวว่าจะยึดทรัพย์สินพวกเชื้อพระวงศ์ หากจะทำจริงก็ทรงขอสละราชสมบัติก่อน
    -กรณีมีข่าวว่าจะถอดเจ้านั้น ทำไม่ได้เป็นอันขาด
    ในการนี้พระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้กระทำล่วงเกินเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยมีการกระทำเป็นพิธีโดยนำดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าฯ ถวายตามประเพณีด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอภัยโทษให้
    การขอขมาของคณะราษฎรดังกล่าว กล่าวได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามทำ Pacte (หมายถึงข้อตกลงหรือสัญญา) เพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
    หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ อีกหลายครั้งระหว่างช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เพื่อทรงเสนอปัญหาให้แก้ไขในรัฐธรรมนูญและทรงประสบความสำเร็จในประเด็น
    -ให้ใช้คำว่า "พระมหากษัตริย์" แทนที่จะใช้คำว่ากษัตริย์ซึ่งใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
    -ไม่ต้องระบุในรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะตามประเพณีแล้วพระมหากษัตริย์ทรงสัตยาธิษฐานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่แล้ว.
--------------------
ข้อมูล: สถาบันพระปกเกล้า, ภิญญา สันติพลวุฒิ    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"