กสทช.อุทธรณ์ 3ประเด็นหลัก สู้ดิจิทัล'เจ๊ติ๋ม'


เพิ่มเพื่อน    

    "วิษณุ" ยกคดี "เจ๊ติ๋ม" เป็นบรรทัดฐาน  "กสทช." หาหลักปฏิบัติหากถูกขอยกเลิกสัญญาอีก  "บอร์ด กสทช." ฮึดยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด โต้ 3 ประเด็นหลักสู้ บ.ไทยทีวี มั่นใจทำถูกต้อง ย้ำออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการดิจิทัลมาตลอด
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 14 มี.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาการดำเนินการของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำผิดสัญญาบริษัท ไทยทีวี จำกัด ของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาว่า เรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อฝ่ายทีวีดิจิทัลหรือไม่ตนไม่ทราบ เพราะมีทั้งข้อดีข้อเสีย คือมีทั้งกำไรและขาดทุน กับการที่คุณจะทำอย่างนั้น แต่เรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้แก่ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะ กสทช. ว่าถ้ามีคนมาขอยกเลิกสัญญาหรือขอถอนตัวออกไป จะต้องปฏิบัติอย่างไร แบ่งงวดกันอย่างไร
    นายวิษณุกล่าวถึงการยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันของ กสทช. ในขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องจ่ายเงินงวดถัดไปในเดือน พ.ค.ว่า  ถ้าสมมุติเขามีการอุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุด ทุกอย่างเมื่อศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุดก็ต้องรอก่อน ยังไม่จ่าย แต่ส่วนเรื่องการบังคับคดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
    "ส่วนในวันที่ 15 มี.ค.ที่จะเชิญตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมาหารือ เป็นเรื่องแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่เขาเป็นฝ่ายเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ขอความเห็นใจมา เราก็เอาเรื่องที่เขาขอมาดู ซึ่งพบว่าบางอย่างพอจะผ่อนให้ได้ บางอย่างช่วยได้ แต่คนละแนวทางกันกับที่ขอ แต่ก็มีบางอย่างคงจะทำไม่ได้ เพราะต้องให้ได้ประโยชน์กับสาธารณะด้วย ซึ่งทั้งหมดได้มีการพูดคุยมาหลายรอบแล้ว" นายวิษณุกล่าว
    รองนายกฯ กล่าวว่า ในวันที่ 15 มี.ค.ก็จะคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะได้ข้อสรุปเลยหรือไม่นั้น ทุกเรื่องต้องไปคุยกับนายกฯ อยู่แล้ว ไม่มีใครสรุปแล้วจบได้ทันที ต้องนำไปสู่การทำให้ถูกกฎหมายก่อน 
    ขณะที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงภายหลังประชุมบอร์ด กสทช. หารือกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาการดำเนินการของ กสทช. ทำผิดสัญญาบริษัท ไทยทีวี จำกัด จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา
    พ.อ.นทีกล่าวว่า มติที่ประชุมจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 2-3 สัปดาห์นี้   เนื่องจาก กสทช.มีความเห็นแย้งใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่าการให้ใบอนุญาตของ กสทช. เป็นการออกใบอนุญาตเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมการงานกับรัฐ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ การร่วมการงาน หมายถึงระบบสัญญาสัมปทาน ขณะที่ กสทช. ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบสัญญาสัมปทานให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ดังนั้นในส่วนนี้จึงน่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการตั้ง กสทช. ดังนั้นคำวินิจฉัยดังกล่าวจะกลับไปสู่ระบบสัญญาสัมปทานที่ไม่มีประสิทธิภาพ
        ประเด็นที่ 2 คือคำวินิจฉัยที่ระบุว่า กสทช. ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายการให้บริการตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์หรือการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ไม่เป็นไปตามสัญญาตามนั้น คิดว่าศาลปกครองกลางเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ การขยายสัญญาโครงข่าย ได้ออกประกาศให้ครอบคลุมตั้งแต่วันแรกที่ออกอากาศ 50% หลังจากนั้นอีก 1 ปี ครอบคลุม 80% ปีที่ 3 ครอบคลุม 90% ของจำนวนประชากรและปีที่ 4 ครอบคลุม 95% เมื่อเดือน มิ.ย.2560 ถือว่า กสทช.ได้มีการกำกับให้มีการขยายโครงข่ายให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนดทุกประการ
    ประเด็นที่ 3 ในส่วนของการชำระค่าใบอนุญาตนั้น ตามหลักเกณฑ์การประมูล ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตตามกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ระบุว่าต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทั้งหมด แต่กสทช.มีการผ่อนปรนให้ด้วยการให้แบ่งชำระค่าใบอนุญาตได้ และมีการนำหนังสือรับรองมาค้ำประกัน
    "กสทช.ไม่มีความกังวลใดๆ หากช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ จะดำเนินตามช่องไทยทีวี เพราะขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าผลสุดท้ายของคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่เข้าใจว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในครั้งนี้ถึงออกมาเป็นแบบนี้ แต่ก็น้อมรับในคำวินิจฉัยของศาล" พ.อ.นทีกล่าว
    รองประธาน กสทช.ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กสทช.มีมาตรการในการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมีต้นทุนที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมัสต์แคร์รี ที่มีการจ่ายค่านำสัญญาณขึ้นดาวเทียมให้กับทุกช่อง เพราะท้ายสุดแล้ว กสทช.มองว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์คือประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง กสทช.มองถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ในธุรกิจของทีวีต้องยอมรับว่าทำยาก ความสำเร็จและประสิทธิภาพของผู้ประกอบการแต่ละรายไม่เท่ากัน การที่เขาเข้ามาประมูลในช่องข่าว ก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มช่องข่าวจะมีรายได้แบบนี้ การเข้ามาสู่ธุรกิจทีวีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีประสิทธิภาพถึงจะแข่งขันได้
    วันเดียวกัน นายพบชัย ภัทราวิชญ์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส กล่าวว่า หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลปรับเพิ่มขึ้นยกแผง หลังจากศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา กสทช. ทำผิดสัญญาบริษัท ไทยทีวี จำกัด จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ซึ่งกรณีนี้จะช่วยให้ทีวีดิจิทัลบางช่องที่ประสบปัญหาขาดทุน สบโอกาสคืนใบอนุญาตได้ในอนาคต เนื่องจากความผิดพลาดของ กสทช.ในการขยายระยะเวลาที่ล่าช้า รวมถึงการแจกจ่ายกล่องทีวีดิจิทัลที่ไม่เป็นไปตามกำหนด แต่ยังต้องรอดูการยื่นอุทธรณ์ของ กสทช. ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน เพราะหากเกิดการคืนใบอนุญาตได้ จะทำให้รัฐเสียรายได้ไปมาก. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"