4ประเด็นต้องแก้ฟื้นศก.


เพิ่มเพื่อน    

              

                ในปัจจุบัน คนในสังคมมีการพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน นักวิชาการบางคน นักการเมืองบางท่าน แม้กระทั่งหมอดู โหรพยาการณ์ ต่างก็พูดตอกย้ำกันตลอดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง

                เรียกได้ว่าทยอยกับข่มขู่ สร้างความขวัญผวาไม่เว้นแต่ละวัน แต่หากวิเคราะห์จากข้อมูลของสถาบันวิจัยต่างๆ ก็ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ อย่าง  สศค.ก็ประเมินว่า ปี 63 จีดีพีจะขยายตัว 3.3% ขณะที่ไอเอ็มเอฟหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ยังเชื่อว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3%

                เห็นได้ชัดว่าในภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจตามมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ที่อ้างอิงจากหลักวิชาการจริงๆ นั้นมองในทิศทางเดียวกันว่าปี 63 มันดีขึ้น ไม่ใช่เลวร้ายลง แน่นอนถ้ามองในตัวเลขมหภาคสิ่งที่เห็นมันไม่ได้เลวร้ายจนทำให้กลัวว่าจะเกิดวิกฤติ แต่ต้องยอมรับว่ามุมมองของชาวบ้านและประชาชนทำงานไม่ได้มองเห็นภาพที่สวยหรูเหมือนนักวิชาการในหอคอยงาช้าง เพราะทุกวันนี้สิ่งที่ประชาชนเจอ คือภาวะค้าขายไม่คล่องตัว คนชะลอการใช้จ่าย และมีตัวเลขการว่างงานหรือตกงานเพิ่มมากขึ้น

                ดังนั้น ด้วยสภาพแวดล้อมของสิ่งใกล้ตัวที่มันทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเศรษฐกิจมันเลวร้ายมาก

                ประเด็นนี้ รัฐบาลต้องยอมรับความจริง เพราะมันคือ เรื่องจริงที่ประชาชนเจอจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรม หรือราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมถึงมีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนต้องใช้วิธีแก้ปัญหาที่ต่างกัน

                เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบแต่ละเรื่องนั้นล้วนแตกต่างกัน แต่ก็มีความคาบเกี่ยวกันในประเด็นใหญ่ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย จากอนาล็อกสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว ซึ่งทุกวันนี้คนที่อยู่ในสังคมล้วนถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่กำลังเข้าสู่ระบบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว ซึ่งแน่นอนอะไหล่ในรถจะหายไปกว่า 70% โรงงานที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ใหม่ล้วนไปไม่รอด หรือในแง่ของโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ปรับตัวใช้หุ่นยนต์ทำงานแทน ก็ลดการจ้างงานไปอีกมาก อย่างในประเทศจีน โรงงานในปัจจุบันก็เริ่มให้หุ่นยนต์ทำงานเกือบทั้งหมด และลดการใช้แรงงานคนไปเกินครึ่ง ซึ่งประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน

                ประเด็นต่อมาเรื่องตลาดงาน สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีนักศึกษาวิจัยฝุ่นมากขึ้น เพราะการเรียนในสายที่ไม่ตรงกับตลาดงาน ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีตำแหน่งงานอีกมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสายวิชาชีพ และสายเทคโนโลยีซึ่งไม่ตรงกับการผลิตนักศึกษา สายสังคม และมนุษย์ศาสตร์ ที่มีมากเกินไปของประเทศไทย ซึ่งตรงนี้มันเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาที่จะต้องรู้จักความต้องการของเอกชน และทิศทางของงานในอนาคต เพื่อที่จะผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของตลาด 

                และประเด็นเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งปัจจุบันมันมีสาเหตุมาจากค่าเงินบาทแข็งค่า และการผลิตที่ชัพพลายล้นตลาด ระบายสินค้าไม่ได้ จนเป็นเหตุที่ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ซึ่งถ้าแก้เรื่องค่าเงินบาท ซึ่งตอนนี้ภาครัฐทั้ง ธปท.ก็แก้ไขกฎระเบียบมากมาย รวมถึงลดดอกเบี้ย เพื่อลดค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไปจนส่งออกสู้ไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว ส่วนเรื่องการลดต้นทุนก็จะต้องดูเรื่องดอกเบี้ยกู้ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต และเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงที่กำลังทำอยู่ คือ การประกันราคาสินค้าเกษตร ถ้าทำได้จะช่วยยกระดับกำลังซื้อฐานรากได้

                สุดท้ายสิ่งที่รัฐต้องทำ คือ การกระตุ้นให้มีการจับจ่ายช่วงปลายปี โดย 'ชิมช้อปใช้' เฟสใหม่ นอกจากจะได้คืนเงิน แล้วอาจจะต้องมองหาอะไรเสริม เพราะดูเหมือนมาตรการที่ออกมา ยังไม่ค่อยจูงใจให้คนใช้เงินในส่วนนี้มากนัก ถ้าเป็นไปได้ ถ้าสามารถนำไปใช้ร่วมกับมาตรการช้อปช่วยชาติ ลดภาษี เหมือนเมื่อ 2-3 ปีก่อน น่าจะเกิดผลให้คนชั้นกลางใช้จ่ายเงินผ่านระบบนี้มากขึ้น ซึ่งถ้าทำได้เชื่อว่าจะมียอดใช้จ่ายปลายปีคึกคักแน่ๆ. 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"