ดีไซน์คอลเลคชั่นพิเศษ "ดอยตุงแอนด์เฟรนด์ส" เชื่อมวิถีคนบนดอย-คนเมือง


เพิ่มเพื่อน    

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เดินหน้าโครงการเชื่อมวิถีคนบนดอยกับคนเมือง

 

     คนบนดอยตุงกับคนกรุงเทพฯ ใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านโครงการ “ดอยตุงแอนด์เฟรนด์ส” (DoiTung & Friends 2019) ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพจากงานมือที่ประณีตและเพิ่มดีไซน์ที่ทันสมัยตรงใจ และตอบโจทย์ความต้องการของคนเมือง เป็นผลจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างช่างฝีมือและดีไซเนอร์ชั้นนำ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 นอกจากเพื่อนเก่าที่เชี่ยวชาญเรื่องแฟชั่นอย่าง ตือ-สมบัษร ถิระสาโรช และฟอร์ด-กุลวิทย์ เลาสุขศรีแล้ว ยังชวน แพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ดีไซเนอร์ชื่อดังของเมืองไทย ร่วมแชร์ไอเดียใหม่ในการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับคนเมืองเป็นครั้งแรก รวมถึงดึงคิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัส นางเอกสาวแสนสวยเป็นเพื่อนใหม่พัฒนาโปรเจ็กต์พิเศษนี้กับดอยตุงแอนด์เฟรนด์สด้วย

      คอลเลคชั่นพิเศษแห่งปีนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานเปิดตัวผลงานทั้งหมอนอิงผ้าทอมือ โคมไฟเซรามิก กระเป๋าสะพายดีไซน์เก๋ และเสื้อคลุมตัวยาว มาคู่กับรองเท้าสลิปเปอร์ให้ได้ชม โดยมีเหล่าเซเลบริตี้ที่ชื่นชอบแฟชั่นและงานออกแบบในสไตล์เฉพาะตัวมาร่วมชมและช้อปกันอย่างคึกคัก เมื่อวันก่อน ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

 

กุลวิทย์ เลาสุขศรี ร่วมออกแบบกระเป๋าสะพาย แรงบันดาลใจจากชุดชนเผ่าอาข่า

 

      ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า ดอยตุงแอนด์เฟรนด์ส 2019 เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่อง นอกจากเพื่อสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จย่า เรายังต้องการสะท้อนให้เห็นถึงผลของการทำงานร่วมกันในระยะยาวระหว่างคนในชุมชนดอยตุงกับคนเมือง ทุกปีเราร่วมมือกับดีไซเนอร์ระดับประเทศ ออกแบบสินค้าคอลเลคชั่นพิเศษเพื่อเป็นตัวแทนเชื่อมคน 2 กลุ่ม ปีนี้ชวน วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้าของแบรนด์ดัง VATANIKA มาทำงานร่วมกับช่างฝีมือชาวดอยตุง เป็นความท้าทายมาก นำผ้าทอมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคนเมือง แต่ยังคงภาพลักษณ์ความเป็นวทานิกาไว้ คอลเลคชั่นปีนี้เป็นโฮมแวร์และแอคเซสเซอรี่ ไม่ใช่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ต่างจากปีก่อนๆ ทำให้เข้าถึงคนเมืองมากกว่า หยิบใช้ง่ายเหมาะกับหลายโอกาส ก็พัฒนาโครงการจากผลตอบรับแต่ละปี อย่างไรก็ตามโครงการนี้ช่วยยกระดับงานสร้างสรรค์และทำให้คนเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่รู้จักแบรนด์ดอยตุงแอนด์เฟรนส์เพิ่มขึ้น

      “ ผลิตภัณฑ์ดอยตุงแอนด์เฟรนด์สเชื่อมคน 2 กลุ่ม ทั้งคนเมืองที่ใช้ชีวิตในโลกยุคดิจิทัล มีแต่ความสะดวกสบาย สั่งสินค้า ซื้ออาหารทางออนไลน์ และรู้สึกว่านี่คือโลกที่เราอยู่ แต่จริงๆ แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โครงการนี้นำอินฟลูเอนเซอร์ ดีไซเนอร์คนดัง นักแสดง กลับไปสู่ธรรมชาติ ไปพบกับโครงการพัฒนาดอยตุง พบกับวิถีชนเผ่า จนเกิดแรงบันดาลใจสร้างผลงานขึ้นมา คนเหล่านี้เชื่อมโลกธรรมชาติกลับมาสู่โลกศิวิไลซ์ เพื่อจะบอกให้ผู้บริโภคเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นอีกวิธีสื่อสารกับคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จย่า ทั้งหลักการพัฒนาคนตามพระราชปณิธาน “ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง” สะท้อนออกมาจากผลิตภัณฑ์” ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าว

 

กระเป๋าสะพายรักษ์โลกสุดอินเทรนด์ ผลงานที่คิมเบอร์ลี่ร่วมออกแบบ   

  

    วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ดีไซเนอร์ที่มีสไตล์โดดเด่นไม่เหมือนใคร เธอนำผ้าทอจากช่างฝีมือดอยตุงมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคนเมือง ซึ่งยังคงความเป็นวทานิกาเอาไว้ ทั้งเสื้อคลุมซิกเนเจอร์ลุคส์ที่เลือกใช้ผ้าสองสีที่ต่างกันสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย ใส่คู่กับรองเท้าสวมเดินในบ้านที่เข้าเซตเสื้อคลุมตัวยาว (Rope) ทำจากผ้าเรยอน ให้สัมผัสนุ่มและมันเงา คู่กับรองเท้าสลิปเปอร์เข้าเซตสีกรมท่าสลับสีขาว

      “ มาดอยตุงครั้งแรกประทับใจทุกอย่าง ไม่เคยเห็นกับตาว่าสมเด็จย่าทรงทำอะไรให้กับประเทศมากมายขนาดนี้ ตอนนี้กำลังทำงานสร้างอาชีพให้กับผู้หญิง ยิ่งได้เห็นการทำงานตรงนี้ ตรงกับสิ่งที่ทำอยู่ เป็นแรงบันดาลใจและมีคุณค่าทางจิตใจมาก” แพร วทานิกา กล่าว

      ส่วนแรงบันดาลใจในการทำคอลเลคชั่นนี้ เจ้าของแบรนด์ VATANIKA บอกมาจากการขึ้นดอยไปเรียนรู้วิถีของชาวบ้าน และเห็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถหาได้ใกล้ตัวมามิกซ์แอนด์แมตช์ให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เห็นเมื่อไหร่ก็ยังร่วมสมัยอยู่เสมอ

 

แพร วทานิกา ขึ้นดอยตุงครั้งแรกเรียนรู้การผลิตกระดาษสา งานฝีมือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

      สมบัษร ถิระสาโรช ศิลปินเมืองที่ร่วมออกแบบหมอนอิงทอมือจากผ้าฝ้ายผสมผ้าเรยอน เนื้อมันวาวผสานกับกัญชงที่มีความทนทานสูง และโคมไฟเซรามิกปั้นมือโดยช่างฝีมือดอยตุง กล่าวว่า ทุกครั้งที่ขึ้นไปดอยตุงจะได้ความประทับใจและความรู้ใหม่กลับมาเสมอ ปีนี้ก็ได้แรงบันดาลใจจากลวดลายผ้าทอแบบดั้งเดิม และงานฝีมือของชนเผ่าบนดอยตุงที่ทำด้วยสองมือจากฝ้ายเส้นเล็กๆ ที่มีขนาดแตกต่างกัน นำมาถักทอด้วยเทคนิคพิเศษ เกิดลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว นี่คือคุณค่างานหัตถกรรมที่ต้องชื่นชม

 

หมอนอิงทอมือจากผ้าฝ้ายผสมผ้าเรยอน เข้ากับไลฟ์สไตล์คนเมือง

 

      กุลวิทย์ เลาสุขศรี ศิลปินมากไอเดียร่วมออกแบบกระเป๋าสะพาย (Leather Bag) พร้อมกับกระเป๋าใบเล็กด้านในและสายยาว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองกล่าวว่า ผลงานนี้ทำจากผ้าฝ้ายและกัญชงให้สัมผัสนุ่มและด้านในเวลาเดียวกันเติมสีสันลวดลายและคู่สีลงบนผ้าทอมืออันประณีตจากช่างชาวดอยตุง เพิ่มความพิเศษด้วยหนังวัวแท้บริเวณสายและด้านข้างของกระเป๋า มีแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากเครื่องแต่งกายชนเผ่าชาวอาข่า จะช่วยเติมสีสันในการใช้ชีวิตประจำวันให้สนุกยิ่งขึ้น  ผ้าทุกชิ้นจะเห็นจิตวิญญาณของคนทอ เพราะทอด้วยความรัก

 

คิมเบอร์ลี่เยี่ยมชมโรงงานเซรามิก ร่วมปั้นดินหาแรงบันดาลใจบนดอยตุง

 

      ส่วนสาวสวย คิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัส นักแสดงที่ร่วมออกแบบกระเป๋าสะพายสุดอินเทรนด์ เผยว่า ไม่ลังเลเมื่อมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ชักชวน อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ช่วยพัฒนาชุมชนบนดอยตุง แม้จะเคยไปถ่ายละครที่ดอยตุง แต่การไปทำงานครั้งนี้แตกต่างมาก เพราะได้เจาะลึกเรื่องราวการทรงงานของสมเด็จย่า ได้ทดลองทำงานฝีมือประทับใจมาก ได้แรงบันดาลใจออกแบบกระเป๋า โดยมาจากกระเป๋าเก็บชา ทำจากผ้าฝ้ายและกัญชง ทนทานทุกการใช้งาน เพิ่มความน่ารักด้วยสีสันคล้ายสีธงชาติไทยบริเวณสายกระเป๋าและตกแต่งด้วยปอมปอม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า ที่สำคัญกระเป๋าใบนี้ยังเป็นคอลเลคชั่น ‘รักษ์โลก’ เพราะทำจากวัสดุธรรมชาติทั้งใบ ออกแบบให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้หญิง มีช่องใส่ของที่หลากหลาย ใช้งานง่ายและเหมาะกับเสื้อผ้าทุกสี

      จากวัฒนธรรมชนเผ่าสู่คอลเลคชั่นพิเศษ ฐิติพงศ์ กันแก้ว ช่างปั้นเซรามิกชาวไทยใหญ่ ที่ร่วมทำงานกับสมบัษร ถิระสาโรช เผยถึงโคมไฟเซรามิกในคอลเลคชั่นนี้ว่า เป็นผลงานออกแบบของศิลปิน จากนั้นตนนำมาขึ้นรูปและปั้นมือ ฐานเป็นทรงเรขาคณิต ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาสวยมาก ใช้ขี้เถ้าแมคคาเดเมียพืชเศรษฐกิจในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ นำไปผสมกับน้ำยาเคลือบเซรามิกจนได้ลายเผาไหม้ที่มีเอกลักษณ์ ให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติ คิดว่าผลิตภัณฑ์นี้คนเมืองจะถูกใจและร่วมสนับสนุนช่วยคนในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

      “ ผมทำไร่บนดอยตุง ก่อนจะเข้ามาทำงานดูแลสวนดอกไม้ในสวนแม่ฟ้าหลวง และมีโอกาสได้ทำงานที่โรงเซรามิก โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ให้อบรมการผลิตเซรามิกกับครูชาวญี่ปุ่น ได้วิชาติดตัว รวมถึงส่งผมไปเรียนรู้การผลิตเซรามิกแบบครบวงจร ทั้งการปั้น เคลือบเผา ที่เมืองคาซามะ ก็นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาปรับใช้ในงานเซรามิกของมูลนิธิฯ เดิมดินหนึ่งก้อนทำงานได้ชิ้นเดียว หลังอบรมทำเพิ่มได้ 20-30 ชิ้น ขึ้นกับรูปทรง ช่วยเพิ่มทั้งคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นและมูลค่าเซรามิกดอยตุงสู่ระดับสากล ปัจจุบันนำความรู้มาถ่ายทอดสอนคนรุ่นหลังที่สนใจเพื่อสร้างอาชีพให้ช่วยเหลือตัวเองได้” ช่างปั้นชาวไทยใหญ่ กล่าวด้วยรอยยิ้มสุดภาคภูมิใจ

ฐิติพงศ์ กันแก้ว ช่างปั้นเซรามิกชาวไทยใหญ่ ร่วมทำงานกับศิลปินเมือง

 

      ผลิตภัณฑ์จากดอยสูงไม่ซื้อไม่ได้แล้ว คนดังแท็กทีมดีไซน์คอลเลคชั่นพิเศษแห่งปีให้โครงการดอยตุงแอนด์เฟรนด์ส สนใจสามารถไปชื่นชมและจับจองเป็นเจ้าของได้ที่ดอยตุงแอนด์เฟรนด์ส ป๊อปอัพสโตร์ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ณ สตาร์โดมบี ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน หรือช้อปผ่านช่องทางออนไลน์ อินสตาแกรมดอยตุงไลฟ์สไตล์ ไลน์แอดดอยตุงไลฟ์สไตล์ และเฟซบุ๊กดอยตุงคลับ หรือหน้าร้านดอยตุงไลฟ์สไตล์ทุกสาขา

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"