13 พ.ย.62 - ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยท้วงติงว่าการบริหารจัดระเบียบวาระการประชุมสภาฯมีปัญหา ทำให้ญัตติเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเลื่อนออกไปว่า ญัตติดังกล่าวไม่ได้ถูกเลื่อน เพราะขณะนี้มีระเบียบวาระการประชุมสภาฯอยู่ตามลำดับ ซึ่งสภาฯสมัยนี้สามารถบริหารระเบียบวาระและญัตติได้ดีที่สุด โดยญัตติที่ค้างการประชุมสภาฯเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นญัตติทั่วไป ไม่ได้มีปัญหาอะไร
"เพียงแต่คนบางคนเอาตามอำเภอใจ แต่บังเอิญมีเรื่องอื่นที่กฎหมายบังคับ เช่น วาระเพื่อทราบที่ต้องใช้เวลา ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ใช้เวลาพิจารณาวาระเพื่อทราบถึงสองวัน โดยวันนี้การประชุมสภาฯมีวาระเพื่อทราบ 7 วาระ หากจะกีดกันไม่ให้สมาชิกได้พูดก็ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ดังนั้น เราจึงเปิดโอกาส อย่างไรก็ตาม วาระที่เข้ามาก็เป็นไปตามปกติไม่ได้ล่าช้าหรือมีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแต่พวกที่อยากให้เข้าวันนั้นวันนี้ก็จะเอาตามอำเภอใจ ซึ่งมันไม่ได้"นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวต่อว่า สภาฯต้องให้ความสำคัญกับทุกญัตติไม่ใช่เฉพาะญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณาต่อจากญัตติของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เพราะฉะนั้น จึงพยายามจะเชิญคนเสนอญัตติมาหารือว่าการพิจารณาแต่ละญัตติจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ถ้าเราทำความเข้าใจและสมาชิกบริหารเวลาได้จะทำให้การพิจารณาไปได้เร็วขึ้น
"บังเอิญว่าสมัยนี้เปิดโอกาสให้พูดทุกคน ต่างจากสมัยก่อนยกมือ 10 คน อาจจะได้อภิปราย 3-5 คน แต่สมัยนี้ได้พูดทุกคน โดยมีการขอร้องกันว่าขอให้พูดย่อความ เพื่อให้เพื่อนสมาชิกคนอื่นๆได้พูดด้วย หากสมมุติเวลา 2 ชั่วโมงได้พูด 4 คน กับ เวลา 2 ชั่วโมง ได้พูด 10 คน อย่างนั้นคนที่พูดจะต้องรู้จักลดเวลาตัวเองลงมาเพื่อให้เพื่อนสมาชิกได้พูด" นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า เบื้องต้นได้มีการหารือกับฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลแล้วหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า เบื้องต้นได้พูดคุยเรื่องการขยายวันและเวลาการประชุมสภาฯ ซึ่งส่วนตัวดีใจที่นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เสนอให้มีการขยายวันประชุมสภาฯเพิ่มขึ้น ในเรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่ส่วนตัวอยากให้ดำเนินการ เพราะกลัวว่าสภาฯจะมีวาระค้างการพิจารณาจำนวนมาก จึงคิดว่าอาจจะมีการประชุมสภาฯเพิ่มในวันศุกร์เดือนละหนึ่งครั้ง ซึ่งอาจจะเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนพ.ย. เพื่อพิจารณาญัตติทั่วไปที่ไม่ใช่เรื่องด่วน เพราะเรื่องด่วนที่เสนอเข้ามาสภาฯอยู่ในระเบียบวาระอยู่แล้ว จึงได้มอบหมายให้นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาไปหารือกับทั้งสองฝ่าย
"ถ้านัดประชุมพิเศษวันศุกร์แล้วก็ควรต้องมาประชุมกัน เพราะถ้าไม่มาอาจจะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ โดยต้องการให้พิจารณาญัตติทั่วไปที่ค้างหลายเรื่อง ซึ่งจะรวมกันพิจารณาเป็นหมวดหมู่ เช่น ญัตติเกี่ยวกับแหล่งน้ำ ดังนั้นอาจทำให้การพิจารณาได้ประมาณ 20 ญัตติต่อหนึ่งวัน โดยตั้งใจว่าจะทำให้เมื่อปิดสมัยประชุมสภาจะเหลือญัตติที่ค้างการพิจารณาให้น้อยที่สุด ส่วนวันนัดประชุมพิเศษจะเป็นช่วงปลายเดือนนี้" นายชวน กล่าว
ประธานสภาฯ กล่าวด้วยว่า หากการประชุมสภาฯวันนี้และพรุ่งนี้สามารถพิจารณาเรื่องรับทราบได้ทั้งหมด คิดว่าสัปดาห์หน้าญัตติด่วนของนายปิยบุตรและญัตติด่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเข้าสู่การพิจารณาได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาวาระต่างๆไม่ได้ล่าช้า
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเข้าใจตรงกันแล้วใช่หรือไม่ญัตติด่วนจะยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯในสัปดาห์นี้ นายชวน กล่าวว่า ไม่ทราบว่าสองฝ่ายเข้าใจตรงกันหรือไม่ แต่จะไม่ได้มีการลัดคิวในการพิจารณา เพราะการพิจารณาของสภาฯเป็นไปตามลำดับ
นายชวน กล่าวต่อว่า สำหรับบางฝ่ายที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าจนถึงขณะนี้สภาฯพิจารณาร่างพระราชบัญญัติน้อยมาก อยากอธิบายว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าพระราชบัญญัติที่จะเสนอเข้าสภาฯจะต้องมีขั้นตอนจำนวนมาก ซึ่งขั้นตอนเช่นว่านั้นทำให้ต้องใช้เวลาไปกับกระบวนการตามรัฐธรรมนูญจำนวนมาก โดยขณะนี้มีญัตติที่รัฐบาลเสนอเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องร่างพระราชบัญญัติที่ค้างมาจากสภาชุดก่อน แต่ส่วนตัวได้ให้ความเห็นว่าไม่ควรจะเสนอเข้ามา เพราะควรกลับไปเสนอใหม่ โดยไม่ควรเอาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาในอดีตไปขั้นตอนหนึ่งแล้วมาพิจารณาต่ออีก ซึ่งทางรัฐบาลเองก็เห็นด้วยและนายกฯได้ทำเรื่องขอถอนไปแล้ว ทำให้ขณะนี้ไม่มีร่างกฎหมายค้างแม้แต่ฉบับเดียว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |