'กสทช.' สู้ไม่คืนเงิน 'เจ๊ติ๋ม' 3 ปมใหญ่อุทธรณ์ถึงที่สุด!


เพิ่มเพื่อน    

 

      กรณีบริษัท ไทยทีวี จำกัด ของ พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ยังคงต้องรอดูต่อไปตามคาดกับการลุ้นให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คืนแบงก์การันตีมูลค่าราว 1,500 ล้านบาทที่วางค้ำประกันไว้ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

      เพราะตามข่าวที่รับรู้กันกับมติที่ประชุม กสทช.เมื่อ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เรียกถกด่วนเรื่องคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง กรณี เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่บริษัทไทยทีวีฯ ซึ่งศาลปกครองกลางก็ได้ตัดสินว่า ผู้ฟ้องคดีคือบริษัทไทยทีวีฯ มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้ เนื่องจาก กสทช.ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ประกาศเชิญชวนไว้ตอนประมูลทีวีดิจิทัล ดังนั้นเมื่อคู่กรณีบอกเลิกสัญญาแล้ว จึงให้ กสทช.คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพแก่บริษัทไทยทีวีฯ ด้วย ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด

      ซึ่งมติที่ประชุม กสทช.ตามคำแถลงของ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ก็คือ กสทช.จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยหยิบยกข้อต่อสู้ใน 3 ประเด็น

      1.กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่าการให้ใบอนุญาตของ กสทช.เป็นการออกใบอนุญาตให้เอกชน "เข้าร่วมการงาน" กับรัฐ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ การร่วมการงาน หมายถึงระบบสัญญาสัมปทาน ขณะที่ กสทช.ตั้งขึ้นเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบสัญญาสัมปทานให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ดังนั้นในส่วนนี้จึงน่าจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการตั้ง กสทช.

      2.กรณีที่มีคำสั่งว่า กสทช.ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายการให้บริการ ประเด็นนี้มีข้อเท็จจริงที่มีการกำหนดว่าการขยายโครงข่ายในแต่ละช่วงเวลาจะดำเนินการให้มีความครอบคลุมอย่างไร การขยายโครงข่ายได้เป็นไปตามกำหนด ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการทุกรายคงล้มเหลวในการให้บริการหมดแล้ว

      3.กสทช.เห็นว่า กรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ให้บริการโครงข่ายแก่ผู้ประกอบการรายใดเลย และเมื่อติดตั้งล่าช้าก็ได้มีการลงโทษทางปกครองไปแล้ว สำหรับการแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัลก็ได้มีการดำเนินการจนครบทั้งหมดแล้ว

        “เราไม่ได้มีความกังวลอะไร ถ้าช่องอื่นจะดำเนินการอะไร กสทช.ตัดสินใจอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าสุดท้ายผลคดีจะเป็นอย่างไร เราแค่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิน”

      คาดว่ากว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งใดๆ ออกมาคงใช้เวลาอีกพอสมควร ในการชี้ชะตาว่า "ยกสุดท้าย" ของปมปัญหาทีวีดิจิทัลที่ยืดเยื้อมาหลายปี ที่สุดแล้วใครจะคือผู้ชนะในยกสุดท้าย

      โดยผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จะเป็นบรรทัดฐานทางข้อกฎหมายต่อไป และจะมีผลต่อธุรกิจทีวีดิจิทัลทั้งระบบที่กำลังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจอย่างหนักจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย  โดยเฉพาะ พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนแปลงไปตามภูมิทัศน์สื่อที่มีการพัฒนารูปแบบ เมื่อปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียคือกระแสหลักในธุรกิจสื่อและการเสพสื่อของประชาชน ไม่ใช่ทีวีดิจิทัลที่มีเงินลงทุนมหาศาลอีกต่อไป จนทำให้หลายค่ายต้องแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดด้วยวิธีการสารพัด เช่น การขายช่องผ่านการขายหุ้นในบริษัทเจ้าของช่องเพื่อเปิดทางกลุ่มทุนใหม่-ทุนใหญ่เข้ามาเป็นเจ้าของแทน  หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อลดต้นทุน เช่น การปลดพนักงาน, การเปิดโครงการเออร์ลีรีไทร์ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของช่องเพื่อความอยู่รอด

      หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาข้างต้น ปฏิกิริยาเชิงบวกกับธุรกิจทีวีทั้งระบบก็ตามมาทันที ดูได้ง่ายๆ จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา

      มีรายงานว่าหุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลปรับขึ้นยกแผงอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นการปรับขึ้นในโทนรับข่าว ติ๋ม ทีวีพูล ชนะคดีเลิกสัญญา กสทช.

      ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC), บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK), บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO), บมจ.อาร์เอส (RS), บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY)

      โดยสาเหตุที่หุ้นทีวีบางช่องปรับตัวสูงขึ้นแม้จะเป็นช่องที่มีกำไร เช่น ช่องเวิร์คพอยท์, ช่องโมโน หรือช่อง 8 ของอาร์เอส เพราะวงการธุรกิจมองว่าหากกฎหมายเปิดช่องให้คืนช่องได้ จะทำให้ทีวีดิจิทัลเหลือไม่กี่ช่อง เม็ดเงินโฆษณาก็จะไม่ถูกแบ่งเค้กไปมากเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ช่องที่อยู่ได้จะยิ่งมีรายได้มากขึ้น

      จริงอยู่ว่าคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ให้ ติ๋ม ทีวีพูล ชนะคดี กสทช. แม้จะไม่ทำให้คดีถึงที่สุด  แต่ก็ทำให้วงการทีวีดิจิทัลและวงการสื่อเกิดความคึกคักขึ้นทั้งที เพราะที่ผ่านมามีหลายค่ายเคยมีข่าวว่า นายทุนถอดใจ ต้องการขายช่องหรือคืนใบอนุญาตมานานแล้ว เพราะแบกรับภาระไม่ไหว หาคนมาซื้อไม่ได้ เพราะใครก็มองออกว่าธุรกิจทีวีต้นทุนสูง สายป่านต้องยาว และที่สำคัญเป็นธุรกิจสื่อที่ความนิยมแม้ยังคงสูงและมีอิทธิพลอยู่แต่ก็ไม่มากเหมือนเดิม ส่วนการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ก็ทำไม่ได้เพราะติดขัดปัญหาข้อกฎหมาย

        ทว่าเมื่อมีคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายช่องเริ่มมองเห็นทางรอดไม่มากก็น้อย เพียงแต่จะใช้วิธีการไหนเท่านั้น แม้ยังต้องลุ้นศาลปกครองสูงสุดอีกยกก็ตาม.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"