ความปลอดภัยในอาคารศาล ถึงเวลาคุมเข้ม-อุดช่องโหว่


เพิ่มเพื่อน    

      เหตุอุกฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ยิงกันในห้องพิจารณาคดีที่ 2 ของศาลจังหวัดจันทบุรีเมื่อวันอังคารที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่สร้างความตกตะลึงให้คนในสังคมอย่างมาก เพราะเป็นการก่อเหตุกลางห้องพิจารณาคดีของศาลประจำจังหวัด

      ทำให้หลังจากนี้เชื่อได้ว่า ศาลยุติธรรมจะต้องเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการตรวจตราความเรียบร้อยของบุคคลที่จะเดินทางเข้าห้องพิจารณาคดีของศาลมากขึ้นแน่นอน

      เหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าวพบว่ามีผู้ถูกยิงจำนวน 5 ราย ประกอบไปด้วย 1.นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความชื่อดังและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ก่อนหน้านี้ล่าสุดมีตำแหน่งเป็น อนุกรรมาธิการประจำคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบ วุฒิสภา 2.นายวิจัย สุขรมย์ 3.นางสุภาพร ปรมีศณาภรณ์ (ภริยานายบัญชา) 4.นายวิชัย อุดมธนภัทร 5.พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์  ซึ่งหลังเกิดเหตุได้นำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ก่อเหตุไปรักษาที่โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี ต่อมามีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย

       โดยทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องในทางการฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาลที่จังหวัดจันทบุรี คือ นายบัญชา ที่เป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และทนายความของคนดังๆ เช่น ทนายความของบริษัท คิง เพาเวอร์ รวมทั้งเป็นทนายความของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 2  และในฐานะทนายโจทก์ที่ 2 และ 3, นายวิจัย ที่เป็นทนายฝ่ายโจทก์ และ พล.ต.ต.ธารินทร์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีที่มีการฟ้องร้องกับนายบัญชา และเป็นผู้ก่อเหตุใช้ปืนพกสั้นที่ซุกซ่อนมิดชิดจ่อยิงนายบัญชาและนายวิจัยเสียชีวิต

      ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น สืบเนื่องจากคู่ความทั้งสองฝ่ายพิพาทกันหลายคดีต่อเนื่องมานานหลายปี เริ่มต้นจากคดีแพ่งพิพาทเกี่ยวด้วยที่ดิน และทั้งสองฝ่ายมีการฟ้องคดีอาญากันอีกหลายคดี รวมถึงคดีที่มีนัดพิจารณาในวันเกิดเหตุด้วย โดยคดีนี้เป็นการฟ้องคดีอาญา ข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ อยู่ระหว่างการสืบพยานฝ่ายจำเลย ซึ่งที่ผ่านมามีรายงานว่าในช่วงการพิจารณาคดี ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยมักจะมีการโต้เถียงกันอยู่บ่อยครั้ง

      โดยขณะเกิดเหตุ ศาลจันทบุรีนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก ในคดีที่มีการฟ้องร้องกันระหว่างฝ่ายนายบัญชากับ พล.ต.ต.ธารินทร์ หลังจากสืบพยานโจทก์มาแล้ว 20 นัด ซึ่งขณะเกิดเหตุองค์คณะผู้พิพากษายังไม่ได้ขึ้นนั่งพิจารณาคดี เนื่องจากคู่ความในคดียังเดินทางมาไม่ครบ ในช่วงที่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์เดินออกจากห้องพิจารณาคดี พล.ต.ต.ธารินทร์ จำเลยที่ 3 ได้ก่อเหตุดังกล่าวที่หลายคนไม่คาดคิด แต่ด้วยความที่การพิจารณาคดียังไม่เริ่มต้นขึ้น จึงไม่มีผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

      เหตุการณ์ดังกล่าวตัวแทนฝ่ายศาลยุติธรรม นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ย้ำไว้ว่า สำนักงานศาลยุติธรรมจะดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาลและบุคลากรที่ทำงานอยู่ในอาคารศาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

      และจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ศาลฎีกา สนามหลวง เช่นกัน โดยมีรายงานว่าที่ห้องของประธานศาลฎีกา นายสุรินทร์ ชลพัฒนา เลขาธิการประธานศาลฎีกา ได้เข้าพบนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เพื่อรายงานเหตุอุกฉกรรจ์ที่ศาลจังหวัดจันทบุรี

      และต่อมา นายสุรินทร์ เผยว่าประธานศาลฎีการู้สึกไม่สบายใจและมีความกังวลใจ ทั้งมีความเป็นห่วงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์ขณะนี้ก็ได้สั่งการให้สำนักงานศาลยุติธรรมทบทวนตรวจทานดูแลระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวบุคลากรหรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข

        “เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุร้ายแรงไม่คาดฝัน คนร้ายอาศัยช่องว่างของการตรวจสอบตรวจค้นอาวุธเข้าไปได้ ซึ่งปกติจะเข้าไปได้ยาก ประกอบกับคนที่จ้องจะกระทำกับคนที่ระวัง คนที่จ้องก็อาศัยโอกาสกระทำ ที่เอื้ออำนวยเหมาะสม เป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนว่า ศาลยังเป็นสถานที่ซึ่งมีความปลอดภัยเสมอ” เลขาธิการประธานศาลฎีกากล่าวย้ำ

      ซึ่งหากจำกันได้ ศาลยุติธรรมในยุคปัจจุบันที่มีเลขาธิการศาลยุติธรรมคือ นายสราวุธ เบญจกุล ได้พยายามผลักดันให้สำนักงานศาลยุติธรรมพัฒนาระบบเพื่อทำให้เกิด เจ้าพนักงานตำรวจศาล (COURT  MARSHAL)

      จนพบว่าถึงตอนนี้ มีข้าราชการที่รับโอนมาผ่านการฝึกอบรมพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้วทั้งสิ้น 35 ราย  โดยในปี 2563 ศาลยุติธรรมจะคัดเลือกบุคคลให้ได้อย่างน้อย 300 คน เพื่อที่จะนำอัตรากำลังดังกล่าว ไปจัดสรรกระจายกำลังคนไปประจำการยังศาลภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่มีอยู่ 275 แห่ง โดยสำนักงานศาลยุติธรรมตั้งเป้าว่าจะจัดกำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาลประจำศาลภูมิภาคแต่ละศาล 1-2 นาย ก็จะเป็นหนึ่งวิธีในการแก้ปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยของศาลต่างๆ  ด้วยความเข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น

      ซึ่งหลังมีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงแนวทางการให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาล สำนักงานศาลยุติธรรมก็จะกระจายเจ้าหน้าที่ไปยังศาลภูมิภาคเท่าที่จำเป็นก่อน ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์นี้ไม่เกิน 15 พ.ย.จะได้ผลสรุปว่าจะต้องจัดสรรอัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาลในศาลใดบ้าง จำนวนเท่าใด และจะให้มีการหมุนเวียนประจำการอย่างไรบ้าง

      แม้ฝ่ายตัวแทนศาลยุติธรรมจะยืนกรานว่า ปัจจุบันมีระบบตรวจตราและตรวจสอบที่เข้มงวดรัดกุมในการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่บริเวณอาคารศาลและห้องพิจารณาคดีอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดจันทบุรี ย่อมทำให้สังคมต้องการเห็นความเข้มงวดที่มากขึ้น  เพราะศาลยุติธรรมนอกจากจะเป็นสถานที่ให้ความเป็นธรรมแล้ว ยังต้องให้ความปลอดภัยแก่ผู้เดินทางมายังศาลทั่วประเทศด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"