เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออก หวังช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาทของไทย รวมทั้งช่วยให้การดำเนินธุรกรรมการเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้นด้วย สืบเนื่องมาจากความไม่สมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับการปรับปรุงกฎเกณฑ์ดังกล่าว ประกอบด้วย 1.อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน ฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา, หากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่านี้ก็สามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ 2.เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เอง ในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์ต่อปี จากเดิมต้องผ่านตัวกลางในประเทศ และเพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ภายใต้กำกับของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์
3.เปิดเสรีโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้น negative list พร้อมอนุญาตให้โอนเงินให้ญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ สำหรับซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยซื้อในชื่อบุคคลในครอบครัวได้ ส่วนประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ต่อครั้ง ไม่ต้องยื่นหลักฐาน 4.อนุญาตให้คนไทยที่ลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ ลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD ไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนครั้งต่อไป
“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ธปท.จะประเมินผลมาตรการเป็นระยะ และพร้อมพิจารณามาตรการเพิ่มเติมตามสถานการณ์ ซึ่งเชื่อว่าจากมาตรการนี้จะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ และหวังว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนจะมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าและไหลออก
ขณะที่ภาคเอกชนมองว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อตลาดมากนัก เพราะการผ่อนปรนให้เงินทุนไหลออกไม่ใช่เรื่องใหม่ โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า การประกาศปรับปรุงเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท พร้อมกับมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% นั้น จะมีผลต่อจังหวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่เริ่มขยับอ่อนค่าเล็กน้อย โดยมองว่าอาจต้องใช้เวลาอีกระยะ ในการติดตามผลของเกณฑ์ด้านเงินทุนไหลออกที่เปิดมากขึ้นในครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังขึ้นอยู่กับการปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งผูกโยงกับบทสรุปของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และปัจจัยเชิงโครงสร้างจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
นอกจากนี้ ยังมองว่าการผ่อนเกณฑ์เงินทุนขาออกให้มีความเสรีมากขึ้นในครั้งนี้ อาจช่วยสร้างสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ในบางส่วน ผ่านการชะลอแรงซื้อเงินบาท (ชะลอแรงขายเงินดอลลาร์) ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศกลับมาเป็นเงินบาทของผู้ส่งออกและผู้ค้าทองคำ และการกระตุ้นแรงซื้อเงินดอลลาร์ (ขายเงินบาท) ตามธุรกรรมการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย หรือการโอนเงินออกนอกประเทศของคนไทย
ส่วนผลต่อค่าเงินบาทนั้น ประเมินว่าอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงเพียงในระดับหนึ่งในจังหวะที่ตอบรับต่อการปรับเกณฑ์ดังกล่าว ขณะที่ผลต่อการลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะข้างหน้านั้น น่าจะยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งผูกโยงกับพัฒนาการในเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่จะมีผลต่อเนื่องต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีหน้า.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |