เล็งจับ70คน แชร์ฟอเร็กซ์


เพิ่มเพื่อน    


    เหยื่อแชร์แม่มณียื่นหนังสือถึงกรรมาธิการวุฒิสภา พิจารณาร่างกฎหมายปราบแชร์ลูกโซ่ ตั้งหน่วยงานรับผิดชอบพร้อมมีกองทุนเยียวยา ดีเอสไอสรุปคดีแชร์แม่มณี ยึดทรัพย์แล้ว 133 ล้าน เตรียมออกหมายเรียกตัวการระดับแม่ข่ายไม่ต่ำกว่า 50 คนมาให้ปากคำ ส่วนแชร์ฟอเร็กซ์จะออกหมายจับไม่ต่ำกว่า 70 คน
    เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ กลุ่มผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่แม่มณี แชร์โอดี แคปปิตอล และกลุ่มแชร์อื่นๆ รวมกว่า 50 คน นำโดยนายสามารถ เจนจิตรชัยวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เข้ายื่นเรื่องต่อพลเรือเอกศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างธรรมาภิบาล สมาชิกวุฒิสภา เพื่อเสนอร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะแชร์ลูกโซ่ มีสาระสำคัญ คือกำหนดให้ตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่ เป็นหน่วยงานของรัฐ เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. เพื่อคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแชร์ลูกโซ่ และแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนที่ปัจจุบันมีอยู่หลายคดี แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และผู้ต้องหายังคงลอยนวลอยู่ในสังคม พร้อมให้มีกองทุนเยียวยาเหยื่อแชร์ลูกโซ่ เพื่อให้หน่วยงานสำรองการเยียวยาในช่วงที่รอการบังคับคดี หรือยึดทรัพย์จากผู้ต้องหามาชดใช้ ซึ่งหน่วยงานนี้จะเป็น วัน สต็อป เซอร์วิส ในการแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินคดีที่ล่าช้า และลดการหาทางออกของผู้เสียหายด้วยการฆ่าตัวตาย หรือทำความผิดซ้ำอีก จึงจำเป็นที่หน่วยงานของรัฐจะต้องเข้ามาดูแล นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด จากจำคุก 3-5 ปี เป็น 7-14 ปีด้วย
    ด้านพลเรือเอกศิษฐวัชรกล่าวว่า จะรับเรื่องนี้ไปศึกษาควบคู่กับการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการกฎหมายของวุฒิสภาร่วมศึกษาพิจารณา เพื่อให้เกิดความรวดเร็วด้วย พร้อมยืนยันวุฒิสภาให้ความสำคัญ เพราะคดีลักษณะนี้สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท จำเป็นต้องเร่งแก้ไข
    ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีการแถลงความคืบหน้าการติดตามอายัดทรัพย์สินเครือข่ายเเชร์ลูกโซ่แม่มณี ของนางสาววันทนีย์ ทิพย์ประเวช หรือเดียร์ ที่หลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่ มีผู้เสียหาย 4,282 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 979 ล้านบาท และแชร์ฟอเร็กซ์ ทรีดี ที่มีผู้เสียหาย 6,047 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,236 ล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษไปแล้วทั้งสองคดี 
    ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ให้เข้าพบหารือกับ ปปง. ว่าจะขอสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบเส้นทางการเงินจาก ปปง. มาเป็นที่ปรึกษาคดีให้ดีเอสไอ และขอให้ ปปง.แต่งตั้งคณะกรรมการธุรกรรมทางการเงิน เพื่อพิจารณาทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด รวมถึงให้ ปปง.ติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้นำทรัพย์สินที่ยึดไว้จากเครือข่ายแชร์แม่มณีนำส่งให้ ปปง. ตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยกระทรวงยุติธรรม และ ปปง.จะบูรณาการร่วมกันเพื่อเข้ายึดอายัดทรัพย์บุคคลที่เกี่ยวข้อง และขยายผลหาตัวผู้ร่วมขบวนการต่อไป
    พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า หลังจากนี้ ปปง.จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ส่วนคือ 1.ติดตามข้อมูลเส้นทางการเงินของเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ทั้งสองคดี 2.ยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดที่ถูกยักย้ายถ่ายเทไปในรูปแบบอื่นๆ ทั้งนี้ อยากฝากไปถึงผู้รับโอนทรัพย์สินว่าอาจมีความผิดฐานเป็นผู้ร่วมสนับสนุน และจะถูกดำเนินคดีข้อหาฟอกเงิน มีโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท 3.การคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหาย โดยขอให้ผู้เสียหายมาแจ้งสิทธิ์ที่ ปปง. หรือในเว็บไซต์ ปปง. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ยึดได้จากการกระทำผิด 4.การแจ้งเบาะแส หากใครมีเบาะแสที่เกี่ยวข้องกับคดีให้แจ้งมายัง ปปง. ที่สายด่วน 1760 เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตามทรัพย์สินมาคืนผู้เสียหาย 
    ด้านนายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ดีเอสไอ กล่าวว่า สำหรับคดีแม่มณีขณะนี้ยึดทรัพย์สินมาได้ 133 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการยึดอายัดทรัพย์เพิ่มอีกจากตัวการระดับแม่ข่ายประมาณ 10 ราย โดยภายใน 2 สัปดานี้จะมีการออกหมายเรียกตัวการระดับแม่ข่ายอีกไม่ต่ำกว่า 50 รายมาให้ปากคำ ส่วนคดีแชร์ฟอเร็กซ์ ทรีดี พบว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนมาร่วมลงทุน เนื่องจากไม่มีการลงทุนในตลาดหุ้นจริง โดยมีตัวการใหญ่ระดับหัวประมาณ 15 ราย ส่วนเส้นทางการเงินพบว่า มีการโอนเงินหลักล้านบาทไปยังต่างประเทศ แต่ยังไม่พบข้อมูลว่านำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทใดบ้าง ทั้งนี้ จะมีการออกหมายจับบุคคลไม่ต่ำกว่า 70 รายในเร็วๆ นี้
    ส่วนที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 จ.ขอนแก่น พล.ต.ท.เจริญวิทย์ ศรีวนิชย์ ผบช.ภ.4 พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนชุดคลี่คลายคดีแชร์แม่มณี แถลงว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 4 ในคดีแชร์แม่มณีนั้น ได้มีการสรุปสำนวนเรียบร้อยแล้วรวมกว่าหมื่นแผ่น ทำให้วันนี้ตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีได้ส่งมอบสำนวนให้กับ บช.ภ.4 ตามขั้นตอน ซึ่ง บช.ภ.4 จะทำการตรวจสอบสำนวนรอบสุดท้ายและส่งสำนวนคดีต่อให้กับดีเอสไอดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป 
    ผบช.ภ.4 กล่าวว่า คดีแชร์แม่มณี บช.ภ.4 ได้ออกหมายจับ และจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการทั้งหมด 8 คน ทุกคนถูกคุมขังและฝากขังที่เรือนจำจังหวัดอุดรธานี และเมื่อครบกำหนด พนักงานสอบสวนก็จะทำการยื่นฝากขังเป็นผลัดที่สองต่อไป โดยในชั้นพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว นอกจากนี้ยังยึดเงินสดรวม 17,517,000 บาท อายัดเงินในบัญชีรวม 15,843,244 บาท ยึดรถยนต์ 12 คัน รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ 1คัน และยังได้อายัดทรัพย์สินอื่นๆ ทั้งอาคารพาณิชย์ พร้อมที่ดิน และทองรูปพรรณ รวม 89 รายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ทำการตรวจยึดได้ทั้งหมด 130,790,843 บาท
    พล.ต.ท.เจริญวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์ในคดีแชร์แม่มณีแล้วจำนวน 349 คน ซึ่งพนักงานสอบสวน บช.ภ.4 ได้ทำสำนวนคดีเรียบร้อยแล้ว และจะส่งมอบให้ดีเอสไอในวันจันทร์นี้ ดังนั้นับจากวันนี้เป็นต้นไป หากมีผู้เสียหายที่เพิ่งรู้ตัวและจะแจ้งความร้องทุกข์ ให้เข้าร้องทุกข์ที่ศูนย์สอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภาค 4 ตั้งอยู่ที่ จ.ขอนแก่น โดยจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 พ.ย.นี้ เพราะหากล่าช้าจนขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้เสียหายจะไม่ได้รับการชดใช้ตามกระบวนการและหมดสิทธิ์เรียกร้อง จึงฝากถึงผู้เสียหายให้รีบความแจ้งความโดยเร็ว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"