'โรดริโก ดูเตร์เต' นำฟิลิปปินส์ถอนตัวจากศาลอาญาระหว่างประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ประกาศจะนำฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ อ้างไอซีซีถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านฟิลิปปินส์ หลังจากโดนตรวจสอบสงครามยาเสพติดที่มีผู้ต้องสงสัยโดนวิสามัญฆาตกรรมตายเป็นเบือ

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ทดสอบยิงปืนไรเฟิล ระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันภายในหน่วยสวาทของฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 (PPD / AFP)

มะนิลา / เอเอฟพีรายงานว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า ไอซีซีกำลังเริ่มการศึกษาเกี่ยวกับการสังหารผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด ในสงครามยาเสพติดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ซึ่งตำรวจฟิลิปปินส์ระบุตัวเลขว่ามีผู้ต้องสงสัยโดนวิสามัญฆาตกรรมราว 4,000 คน แต่กลุ่มสิทธิกล่าวกันว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงมากกว่านั้น 3 เท่า

    อย่างไรก็ดี ผู้นำฝีปากกล้ารายนี้ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากล่าววาจายั่วยุกระพือให้เกิดการสังหาร ได้ผ่อนคลายความดุดันของสงครามยาเสพติดลงนับแต่ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาติแรก ที่ถูกอัยการของไอซีซีเปิดการ "ตรวจสอบเบื้องต้น"

    เมื่อวันพุธ ดูเตร์เตออกแถลงการณ์โจมตีการทำงานของไอซีซีว่า องค์กรนี้กำลังถูกใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อต้านฟิลิปปินส์ และการตรวจสอบของไอซีซีนั้น เกิดกว่าเหตุและประสงค์ร้าย "ด้วยเหตุนี้ ผมขอประกาศและแจ้งโดยทันใดว่า ฟิลิปปินส์กำลังถอนตัวจากการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมโดยมีผลทันที" เขากล่าว

    การถอนตัวจากศาลนี้อย่างเป็นทางการต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า แม้จะถอนตัวแล้ว แต่การสอบสวนการเสียชีวิตยังดำเนินต่อไป เนื่องจากศาลนี้สามารถสอบสวนพฤติการณ์ใดๆ ที่กระทำในช่วงเวลาที่ฟิลิปปินส์เป็นสมาชิกของไอซีซี จนถึงเวลา 1 ปีภายหลังฟิลิปปินส์แจ้งถอนตัว

    ไอซีซีเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2545 และปัจจุบันเป็นศาลอาชญากรรมสงครามแบบถาวรเพียงศาลเดียวในโลก มีเป้าหมายดำเนินคดีกับการละเมิดสิทธิขั้นเลวร้ายเมื่อศาลของประเทศนั้นไม่สามารถหรือไม่เต็มใจดำเนินการ

    รัฐบาลฟิลิปปินส์ในสมัยของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโน ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมเมื่อปี 2554 ให้อำนาจศาลนี้สอบสวนอาชญากรรมที่เกิดในดินแดนของฟิลิปปินส์

    ดูเตร์เต ซึ่งยังได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากมายจากชาวฟิลิปปินส์ ปกป้องสงครามยาเสพติดของเขาอย่างแข็งขัน โดยอ้างว่าเป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชากร 100 คนของฟิลิปปินส์ เมื่อวันพุธเขากล่าวหาไอซีซีด้วยว่า ระรานตัวเขาและรัฐบาลของเขาอย่างไร้เหตุผลแบบไม่เคยพบเห็นมาก่อน

    "พฤติการณ์ที่ผมถูกกล่าวหาว่ากระทำนั้น ไม่ใช่ทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรืออาชญากรรมสงคราม การตายเหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติการที่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจ โดยหาได้มีเจตนาฆ่าไม่" เขากล่าว

    ไอซีซี โดยอัยการฟาตู เบนซูดา เคยออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 หรือภายหลังดูเตร์เตรับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่ถึง 4 เดือน ว่าเธอ "ห่วงกังวลอย่างยิ่ง" ต่อรายงานการวิสามัญฆาตกรรมผู้เสพหรือผู้ค้ายาเสพติดกว่า 3,000 คนในฟิลิปปินส์

    ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลของดูเตร์เต โดยได้แสดงความวิตกต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ พร้อมกับมีเสียงเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ยอมให้ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นเข้าประเทศ

    ฟิลิปปินส์ไม่ใช่ประเทศแรกที่จะถอนตัวจากศาลนี้อย่างสมบูรณ์ ก่อนหน้านี้บุรุนดีเป็นประเทศแรกที่ถอนตัวจากไอซีซีเมื่อเดือนตุลาคม 2560 และปลุกให้ประเทศเพื่อนบ้านในทวีปแอฟริกาอีกหลายชาติ ได้แก่ แซมเบีย, แอฟริกาใต้, เคนยา และแกมเบีย ดำเนินรอยตาม ไม่ว่าด้วยการถอนตัว หรือแสดงความสนใจจะถอนตัว โดยกล่าวหาศาลระหว่างประเทศแห่งนี้ว่ามีอคติต่อต้านแอฟริกา

    รัสเซียเป็นประเทศมหาอำนาจชาติแรกที่ทำให้ไอซีซีสั่นสะเทือนด้วยการถอนการลงนามในธรรมนูญกรุงโรมเมื่อปี 2559.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"