ทางออกของศาลไทย กับการแก้ไข 2 มาตรฐาน


เพิ่มเพื่อน    

       ความขัดแย้งทางการเมืองยาวนานกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เราต่างเห็นได้ชัดว่ากระทบกับทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย อันรวมถึงอำนาจตุลาการโดย “ศาล” ที่พึ่งสุดท้ายในการตัดสินข้อพิพาทให้ยุติลงด้วยความยุติธรรม ก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วเลือกข้าง ฝ่ายที่สูญเสียมากกว่าได้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรม นำไปสู่ข้อกล่าวหาทำนอง “2 มาตรฐาน” ฝ่ายตนเองผิดตลอด แต่อีกฝ่ายรอดเสมอ

        เรื่องนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่สะท้อนผ่านการแสดงความคิดเห็น เพื่อจัดทำนโยบายของ “ไสลเกษ วัฒนพันธุ์” ประธานศาลฎีกา ที่มีดำริให้เปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนนำมาสรุปจัดทำนโยบายแถลงต่อสาธารณชนแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยประธานศาลฎีกาได้กล่าวถึงความคิดเห็นที่มีการเสนอเข้ามา ก่อนจะเข้าสู่การอธิบายนโยบาย ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่มีการเสนอความคิดเห็นเข้ามาคือ การสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อศาลยุติธรรมของประชาชน

        “ไสลเกษ” กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปให้ความเห็นเพิ่มเติมมาว่า ศาลควรให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระหรือความเป็นกลางของผู้พิพากษา โดยเฉพาะความรู้สึกของประชาชนส่วนมากเห็นว่า ศาลใช้กฎหมายตอบสนองความต้องการทางการเมือง

        ตรงนี้เราไม่แน่ใจว่าการสื่อสารนี้หมายถึงอะไร เราตัดสินคดีเสื้อเหลือง เสื้อแดง พรรคการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือศาลไหนกันแน่ที่ตัดสิน เนื่องจากยุคปัจจุบันนี้มีถึง 3 ศาล ไม่นับศาลทหารบทค่อนข้างน้อย ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรม ศาลไหนประชาชนอาจเกิดความสับสนได้ ว่าคดีที่ตัดสินเกี่ยวกับการเมือง แล้วก็ใช้ตอบสนองความต้องการทางการเมือง ตอบสนองใคร ตอบสนองผู้มีอำนาจรัฐทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา จะมีประเด็นข้อนี้เสมอ เราจะแก้ปัญหาอันนี้อย่างไร

       “ในเบื้องต้นงานของเราแทบจะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง จะมีก็คดีอาญาที่เกี่ยวพันกับการที่ละเมิดกฎหมายอาญาโดยตรง เช่น บุกรุก เผา ทำลาย อะไรทำนองนี้ ทำให้เสียทรัพย์ อะไรพวกนี้ เกี่ยวข้อง จริงๆ ในเนื้อหาของมันตรงไปตรงมาไม่ได้มีอะไรยาก แต่ประชาชนแยกไม่ออกว่ากลุ่มนี้โดน กลุ่มนี้ทำไมไม่โดน แล้วโดนด้วยศาลอะไร จุดนี้ก็เป็นจุดอ่อนที่เราอาจจะต้องใช้งานประชาสัมพันธ์ในการดูแลความเข้าใจว่าศาลเราถูกแทรกแซงทางการเมือง”

        จากที่ระบุมาดังนี้ สะท้อนได้ถึงความกังวลใจทั้งจากประชาชนที่แสดงความคิดเห็น และจากประธานศาลฎีกาเอง ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของศาลยุติธรรม อันประกอบด้วย 3 ชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้น (ศาลอาญา, ศาลแพ่ง, ศาลแขวง, ศาลจังหวัด) ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

        ที่ผ่านมาคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งเข้าสู่ศาลยุติธรรมทุกฝ่าย ทั้งคดีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือเสื้อเหลือง เช่น ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน, คดีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือเสื้อแดง เช่น ข้อหาก่อการร้าย เผาอาคาร, คดีของ กปปส. เช่น ข้อหากบฏ และคดีของคนอยากเลือกตั้ง เช่น ข้อหายุยงปลุกปั่น

        นอกจากนี้ยังมีคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เกี่ยวกับการทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จฯ ของนักการเมือง ซึ่งหากติดตามโดยละเอียดและพิจารณาโดยตลอดจะพบว่า ไม่ได้มีฝ่ายใดที่กระทำผิดเสมอ หรือรอดเสมอแต่อย่างใด ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง มีคดีที่โดนลงโทษและยกฟ้องคละกันไปทั้งสิ้น แม้แต่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ยังถูกยกฟ้องในคดี “ทีพีไอ” มาแล้ว กาลเวลาของคดีที่เดินหน้า ได้พิสูจน์ศาลยุติธรรมไม่ได้เป็นไปตามข้อครหาว่า 2 มาตรฐาน

        ส่วนอีก 2 ศาลอย่าง “ศาลปกครอง” และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีระบบที่แยกออกไปแตกต่างจากศาลยุติธรรม ทั้งการบริหารและการพิจารณาคดี ศาลปกครองไม่ค่อยมีคดีที่เกี่ยวโยงการเมืองมากนัก แต่ศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยการบังคับใช้กฎหมายสูงสุดของประเทศ ย่อมเกี่ยวโยงกับการพิจารณาคดีทางการเมืองโดยตรง ทั้งการยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิ์นักการเมือง ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลนี้

        โดยที่ผ่านมาคดีใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีฝ่ายหนึ่งที่สูญเสียแพ้คดีเป็นประจำ เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกไม่ดีต่อศาลใดศาลหนึ่ง จึงเชื่อมโยงเหมารวมไปเพียงเพราะคำว่า “ศาล” เหมือนกัน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าศาลมีหลายประเภท และข้อเท็จจริงในแต่ละคดีก็มีความแตกต่างกัน

        ดังนั้นการที่ศาลจะขจัดข้อครหาทางการเมืองได้ ไม่ใช่แค่ต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพราะจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้มีการเรียนการสอนให้ความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมน้อยมาก เมื่อความรู้ของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมมีน้อย ก็ย่อมทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปตามกระแสการเมืองได้โดยง่าย และศาลใดที่ถูกกล่าวหามาก ก็จำเป็นที่จะต้องหาหนทางแก้ปัญหาเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นที่มีต่อทุกศาลในประเทศไทยต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"