ประธานาธิบดีเอโบ โมราเลส แห่งโบลิเวีย จำยอมต้องลาออกจากตำแหน่งตามแรงกดดันของกองทัพและตำรวจ เพียง 3 สัปดาห์ภายหลังชนะการเลือกตั้งอย่างน่ากังขา จนเกิดการชุมนุมประท้วงก่อจลาจลรุนแรง ขณะชาติพันธมิตรฝ่ายซ้ายประณามเป็นการก่อรัฐประหาร
ประธานาธิบดีเอโบ โมราเลส ขณะแถลงข่าวที่เมืองเอลอัลโตเมื่อวันอาทิตย์ว่าจะจัดเลือกตั้งใหม่ ก่อนที่จะแถลงลาออกทางโทรทัศน์ในเวลาต่อมา / Bolivian Presidency / AFP
โมราเลส ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโบลิเวียนานร่วม 14 ปี แถลงทางโทรทัศน์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ว่าเขาได้ยื่นจดหมายลาออกต่อสภานิติบัญญัติแล้ว โดยอ้างว่าเป็นหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดีที่เป็นชนพื้นเมือง และประธานาธิบดีของชาวโบลิเวียทุกคน ที่ต้องสร้างสันติภาพและช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพในประเทศ
สิ้นคำประกาศของเขา ประชาชนพากันออกมาเฉลิมฉลองบนท้องถนนในกรุงลาปาซ แต่ก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงและการทำลายทรัพย์สินในคืนวันเดียวกัน ทั้งที่เมืองหลวงและในเมืองเอลอัลโตที่อยู่ติดกัน
แม้ผู้นำฝ่ายซ้ายรายนี้จะประกาศลาออกแล้ว แต่ทว่าสถานการณ์ยังคงตึงเครียดต่อหลังจากนั้น เมื่อโมราเลสทวีตว่า ตำรวจออกหมายจับเขาอย่างผิดกฎหมาย และกลุ่มหัวรุนแรงโจมตีบ้านของเขา แต่วลาดิมีร์ ยูรี กัลเดรอน ผู้บัญชาการตำรวจปฏิเสธว่าไม่มีการออกหมายจับ คำประกาศของตำรวจเมื่อคืนวันอาทิตย์ระบุเพียงว่า ตำรวจได้จับกุมมาเรีย ยูจีเนีย โชเก ประธานศาลเลือกตั้ง ที่ฝ่ายค้านโจมตีว่าลำเอียง
ระหว่างเกิดความสับสน ส.ส.และเจ้าหน้าที่รัฐบาล 20 คนพากันขอหลบภัยภายในที่พักเอกอัครราชทูตเม็กซิโก และรัฐบาลเม็กซิโกประกาศเสนอให้ที่ลี้ภัยแก่โมราเลส
โมราเลสชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 4 อย่างฉิวเฉียดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม แต่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่ามีการทุจริตการนับคะแนน ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านออกมาชุมนุมประท้วงนาน 3 สัปดาห์ มีคนเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันอาทิตย์ โมราเลสยินยอมจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังองค์การรัฐอเมริกา (โอเอเอส) ซึ่งเข้ามาตรวจสอบการเลือกตั้งครั้งนี้ รายงานว่ามีความผิดปกติในเกือบทุกด้านที่ตรวจสอบ ทั้งเทคโนโลยีที่ใช้, การคุ้มครองบัตรเลือกตั้ง, ความซื่อสัตย์ของการนับคะแนน และการคาดคะเนเชิงสถิติ แต่ความพยายามปัดเป่าความขัดแย้งของโมราเลสไม่เป็นผล ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ และตำรวจออกมาเรียกร้องให้เขาลาออก
พันธมิตรฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกาพากันประณามสถานการณ์ในโบลิเวียว่าเป็นการก่อรัฐประหาร ไม่ว่า เวเนซุเอลา, บราซิล, คิวบา หรืออาร์เจนตินา ส่วนโคลอมเบียเรียกร้องให้คณะมนตรีถาวรของโอเอเอสประชุมฉุกเฉินเพื่อหาทางออก
รัฐบาลรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรของโมราเลสเช่นกัน แถลงเมื่อวันจันทร์ ประณามว่าฝ่ายค้านใช้ความรุนแรงเพื่อบีบให้โมราเลสลาออก ส่วนอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |