ชงคนนอกประธานกมธ.


เพิ่มเพื่อน    


      "สุชาติ" หนุนคนนอกนั่งประธาน กมธ.ศึกษาแก้ รธน. สะพัด! พปชร.ส่ง "สุชาติ-สุรสิทธิ์-วิเชียร" นั่ง กมธ.พ่วงขาบู๊ "สิระ-ไพบูลย์-แรมโบ้-ธนกร" ขณะที่ "สิระ-เทพไท" ยังสาดน้ำลายใส่กันต่อ  ปชป.ยึดแนวทาง "ชวน" ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า สิ่งใดดีกว่าเนื้อหาปี 60 ก็ให้เสนอมา "สุเทพ" ยังไม่เห็นข้อบกพร่อง รธน. แนะคนเป็นกลางนั่งประธาน กมธ.ไม่ใช่คนต่อต้าน รธน. "จตุพร" ฟันธงการตั้ง กมธ.ศึกษามักเหลวเป๋ว ย้ำแก้ ม.256 ผุด ส.ส.ร.
      เมื่อวันอาทิตย์ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกระแสที่ระบุว่าตนได้ตอบรับการเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วว่า ยังไม่ได้มีการตอบรับหรือปฏิเสธใดๆ คาดว่าข่าวที่ออกมาคงเป็นการหารือของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นทางการ และมีการพูดถึงชื่อของตนตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้เท่านั้น ต้องยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้สนใจที่จะเข้ามาเป็นประธาน กมธ.ชุดนี้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าเหมือนลดศักดิ์ศรีจากรองประธานสภามาเป็นประธาน กมธ. แต่ด้วยภาระหน้าที่ในฐานะรองประธานสภาก็มีค่อนข้างมากอยู่แล้ว ทั้งในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาที่ต้องควบคุมและศึกษาวาระประชุมโดยตลอด แล้วยังมีภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ที่ให้ตนกำกับดูแลในเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอที) ของสภา ที่ต้องเร่งรัดดำเนินการส่วนต่างๆ ของสัปปายะสภาสถาน หรืออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ให้มีความพร้อมสมบูรณ์โดยเร็ว และยังมีในส่วนของห้องประชุมสุริยันที่เป็นที่ประชุมสภาที่ต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ 
    "ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีการทาบทามจากทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่ก็ได้แจ้งกลับไปถึงภาระหน้าที่ของรองประธานสภาที่ค่อนข้างหนักอยู่แล้วในขณะนี้ หากจะไปทำหน้าที่ประธาน กมธ.ที่เป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดมากอาจทำได้ไม่เต็มที่ จึงเห็นว่ายังมีบุคคลอื่นที่เหมาะสมอีกมาก" นายสุชาติระบุ 
    ส่วนกรณีพรรค พปชร.เตรียมเสนอบุคคลชื่อย่อ "ส." เข้ามาเป็นประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ นั้น นายสุชาติกล่าวว่าคงไม่ได้หมายถึงตน เพราะชื่อของตนเป็นที่เปิดเผยอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่าผู้ที่จะเข้ามาประธาน กมธ.ชุดนี้ควรจะเป็นคนนอก เพื่อหลีกเลี่ยงในเรื่องของข้อครหาการมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือใบสั่งทางการเมือง ส่วนรายชื่อที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอขึ้นมาอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ก็ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับ หรือนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่ล่าสุดออกมาร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับการตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ก็มีความเหมาะสมเช่นกัน
ดันขาใหญ่-ขาบู๊นั่ง กมธ.
    รายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ แจ้งความคืบหน้าการพิจารณาบุคคลเพื่อไปทำหน้าที่ใน กมธ. ศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ได้รายชื่อในเบื้องต้นแล้ว อาทิ นายสุชาติ ตันเจริญ  รองประธานสภา เป็นประธาน กมธ., นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายวิเชียร ชวลิต  ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายและทันเกม, นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกพรรคพปชร., นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.ซึ่งถูกวางตัวเป็นโฆษก กมธ.ชุดดังกล่าว หรือไม่ก็อาจเป็นนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.การคลัง ในฐานะโฆษกพรรค พปชร.ที่มีชื่อร่วมเป็น กมธ.พร้อมรับหน้าที่โฆษกฯ รวมถึงนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อเป็นโฆษก กมธ.ด้วย 
    อย่างไรก็ตามสัดส่วนที่เหลือซึ่งเป็นคนนอกนั้น ผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณา และผู้ที่ได้รับการทาบทามซึ่งมีทั้งนักวิชาการและบุคคลในแวดวงต่างๆ กำลังตัดสินใจ นอกจากนี้ในโควตาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 6 คน จะเป็นตัวแทนรัฐบาล องค์กรอิสระ และ ส.ว.
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร.กล่าวตอบโต้นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช  พรรคประชาธิปัตย์ ว่าเรื่องที่ตนพูดคือประเด็นการเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดนี้ ว่าเป็นหน้าที่ของ กมธ.เขาจะไปเลือกกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับนายเทพไท  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายเทพไทที่เป็น ส.ส.มาหลายสมัยทำไมถึงไม่เข้าใจประเด็นง่ายๆ เช่นนี้ หรือต้องการจงใจเบี่ยงประเด็น ตนเป็น ส.ส.สมัยแรก หากจะนำตัวเลขทางการเมืองมาเปรียบเทียบกันคงสู้นายเทพไทไม่ได้อยู่แล้ว แต่สำหรับการทำหน้าที่ ส.ส.คือการเข้ามาสร้างประโยชน์ให้ประชาชน 4-5 เดือนที่ผ่านมาตนเชื่อว่าสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนมากกว่านายเทพไท เพราะฉะนั้นการโอ้อวดถึงจำนวนสมัยของการเป็น ส.ส.ที่ตนเองเคยเป็นมา คือพฤติกรรมของพวกบ้าตำแหน่ง นิยมหัวโขน สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณเข้ามาเป็น ส.ส.เป็นสิบปี คุณทำอะไรให้เป็นประโยชน์บ้าง เท่าที่ตนพยายามค้นหายังไม่เจอ 
    "การที่นายเทพไทพูดจาดูแคลน ส.ส.สมัยแรก ที่ไม่ได้มีผมเพียงคนเดียวในสภานั้น นายเทพไทต้องย้อนกลับไปมองดูตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใจให้กว้าง ดูการทำงานของ ส.ส.สมัยแรก หลายๆ ท่าน ที่เขาสามารถทำผลงานช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่าคนเก่าแก่แต่ไม่ได้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแบบนายเทพไท ส.ส.หลายสมัย มีพฤติกรรมพูดจาดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น จนต้องคลานเข้าไปกราบขอโทษผู้หญิงเพื่อให้ตัวเองพ้นคุก พฤติกรรมแบบนี้จะมากล่าวอ้างดีกว่า ส.ส.ท่านอื่นได้อย่างไร" นายสิระกล่าว 
    ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ได้ facebook live ที่สภากาแฟกลางตลาดนัดหนองหม้อ ต.สวนหลวง  อ.เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงกรณีนายสิระพาดพิงว่าตนเป็น ส.ส.มาหลายสมัยจริง ทำงานด้านนิติบัญญัติไม่เคยบกพร่อง มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น และได้ออกกฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้มีโอกาสเป็นกรรมาธิการทุกครั้ง ถ้าจะไปตรวจสอบผลงานที่ผ่านมาสามารถตรวจสอบได้จากบันทึกการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาตนยังไม่เคยทำงานฝ่ายบริหารมาก่อน จึงอยากถามว่าจะเอาผลงานของตนในด้านไหน 
ปชป.ยึดแนวทาง 'ชวน'
    "ผลงานในพื้นที่ผมก็เป็น ส.ส.ที่ไม่เคยสอบตกเลย แต่นายสิระสมัครเลือกตั้งมาหลายครั้งสอบตกทุกครั้ง เพิ่งโชคดีอาศัยบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็น ส.ส.ครั้งนี้เป็นครั้งแรก การอ้างว่าตัวเองทำงาน 5 เดือนมีผลงานมากมาย อยากถามว่าผลงานด้านไหน ถ้าจะเอาผลงานด้านการโชว์ความกร่าง ก็น่าจะเป็นแชมป์จากสื่อโซเชียลมีเดีย ที่โด่งดังมากที่สุดโดยเฉพาะกรณีกร่างใส่ตำรวจที่ภูเก็ต หากเปรียบเป็นนักมวย นายสิระก็เป็นนักมวยรุ่นฟลายเวต จะข้ามรุ่นมาเทียบชั้นกับรุ่นเฮฟวีเวตได้อย่างไร ผมจะไม่ขอตอบโต้กับนายสิระอีกต่อไป หลายคนเตือนว่าอย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ ผมก็เชื่อฟัง เพราะผมถือคติของคนโบราณที่สอนไว้ว่า ถ้าเล่นกับหมา หมาจะเลียปาก ผมจึงไม่ยอมเล่นกับหมาอีกต่อไป" นายเทพไทกล่าว
    นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป.กล่าวถึงกรณีที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า พวกที่อยากแก้รัฐธรรมนูญคือพวกที่ดัดจริต เพราะอยากแก้มือเนื่องจากแพ้การเลือกตั้ง และเป็นพวกที่กระสันอยากมีอำนาจว่า นายวันชัยเข้าใจในรัฐธรรมนูญในส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้น จึงได้ให้สัมภาษณ์ในลักษณะโจมตีคนอื่นแบบนี้ ถ้านายวันชัยจะตั้งสติสักหน่อย ลองมองดูเนื้อหาในมาตราอื่นๆ ก็จะพบว่ามีข้อบกพร่องอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่เนื้อหามีความด้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตั้งแต่ช่วงการทำประชามติเมื่อปี 2559 ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 
    "ผมเข้าใจนายวันชัย เพราะที่ผ่านมานั้นนายวันชัยเป็นเนติบริกร ที่ทำงานเพื่อให้ตัวเองเข้าสู่การดำรงตำแหน่งมาโดยตลอด เลยไม่ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร มีผลกระทบอะไรต่อประชาชนบ้าง ในการศึกษาเพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อยากจะให้ยึดถือสิ่งที่นายชวนได้ให้ข้อแนะนำว่า อย่าเพิ่งไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า หรือตั้งเป้าว่าล้มให้หมดพังให้หมด โดยที่ไม่สร้างอะไรขึ้นมาใหม่ เพราะจะไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และถ้าสิ่งใดที่คิดว่าดีกว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ขอให้เสนอมา" นายชัยชนะกล่าว  
    นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเป็นประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะตนไม่มีหน้าที่เลือก เรื่องนี้เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา สิ่งสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวม มีประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ ส่วนตัวมีจุดยืนที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นหนึ่งในประชาชน 16 ล้านคนที่เห็นชอบให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมองว่าเป็นหนทางในการที่จะสามารถปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงประเทศได้
    "ผมยังไม่เห็นข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เห็นข้อบกพร่องของตัวบุคคลมากกว่า ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสามารถบอกได้ว่า มาตราไหนที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาประเทศหรือการดูแลประชาชน แต่บางประเด็นที่ไปพูดกันในภาคใต้ก็ไม่เห็นด้วย เช่น ประเทศไทยสามารถแบ่งแยกเป็นมลรัฐได้"
หนุนคนกลางนั่งประธาน
    นายสุเทพกล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติของการเป็นประธาน กมธ.ควรจะเป็นบุคคลที่เป็นกลาง ไม่ใช่คนที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น หรือเป็นคนที่สนับสนุนมาตั้งแต่แรกเหมือนอย่างตน และเชื่อมั่นว่าไม่น่ากลายเป็นประเด็นความขัดแย้ง เพราะประเทศไทยเดินหน้าและก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งมาแล้ว ส่วนตัวเป็นคนมองโลกในแง่ดี เชื่อว่าประเทศไทยจะร่วมกันผนึกกำลังทำให้ประเทศพัฒนาก้าวต่อไปได้ หมดเวลามาทะเลาะกันแล้ว
    นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  สนับสนุนแก้ไข รธน.2560 บางมาตรา ตามที่ได้ทดสอบการใช้ รธน.2560 ตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นมา ก็พอทราบและรู้สึกว่า รธน.2560 มีปัญหาต้องแก้ไขบางส่วน อาทิ มาตรา 98 (3) พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ในส่วนการจัดตั้งพรรคการเมือง, พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  2561 การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ควรจะมี 2 ใบ และมาตราอื่นๆ ส่วนมาตรา 1, 2 อย่าไปแตะต้อง เพราะเป็นเรื่องหลักสำคัญของชาติ
     นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไข รธน.จึงมีความท้าทายอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ทำอย่างไรจะมีการเสียสละความได้เปรียบทางการเมืองของตน เพื่อทำให้ประเทศไทยได้เปรียบและมีกติกาที่เอื้อให้เกิดการเมืองสุจริตและมีประสิทธิภาพ การเลือกตั้งที่เป็นธรรมและมีความหมาย ทำให้การเข้าสู่อำนาจบริหารและนิติบัญญัติยึดโยงกับประชาชน 2.ทำอย่างไรจะมีกระบวนการรับฟังความต้องการของประชาชนว่าต้องการเห็นการแก้ไขในเรื่องใดบ้าง 3.ทำอย่างไรจะไม่กล่าวหาใส่ร้ายกันในเรื่องการแก้  รธน. เนื่องจากมนุษย์สามารถใช้เหตุผลและแลกเปลี่ยนความเห็นโดยใช้ปัญญาและลดการกล่าวหาได้  เพราะท้ายที่สุดการแก้จะสำเร็จหรือไม่ต้องใช้เสียงจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ในรัฐสภาอันทรงเกียรติ
      "ความจริงใจและความพร้อมที่จะร่วมทำกติกาให้เป็นธรรม และบรรลุเป้าประสงค์ข้างต้นสำคัญกว่าตัวผู้ที่จะมานั่งเป็นประธาน กมธ. ประชาชนคงจะติดตามท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองต่อไปว่า การแก้ รธน.นั้นที่บรรจุในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเป็นเพียงวาทกรรม หรือเป็นวาระที่จะทำ และจะเปลี่ยนวาระในกระดาษเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่" นายนพดลกล่าว
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวตอบคำถามที่ว่าสนใจในตำแหน่ง กมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ภายในพรรคกำลังศึกษากันอยู่ พรรคจะวางตัวนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคเป็นตัวหลักแน่นอน แต่สำหรับตนขณะนี้มีภารกิจใน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ดังนั้นการทำงานจากตอนนี้ถึงสิ้นปีคงจะมีเวลาออกไปทำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญน้อยลง เพราะเวลาส่วนใหญ่จะอยู่ใน กมธ.งบประมาณ
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวในหัวข้อ "ปาหี่แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ว่า จากประสบการณ์การทำงานในฐานะ ส.ส. การตั้ง กมธ.ศึกษาในเรื่องใดมักเหลวเป๋วไม่ประสบความสำเร็จเสมอ ศึกษามาแล้วได้เอกสารมาเล่มหนึ่งนำเสนอต่อสภาบ้าง ได้ผลมาแล้วก็ไม่กล้านำเสนอต่อสภาบ้าง แล้วก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา เสมือนมวยล้มต้มคนดูหรือเหมือนละครลวงโลก ในส่วนที่เห็นตรงกันอยู่แล้วในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้เกิดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากนั้นให้ ส.ส.ร.ตั้ง กมธ.ฟังความเห็นจากประชาชนเพื่อยกร่างส่งกลับให้ ส.ส.ร.ทำประชามติ 
โพลหนุนซักฟอกรัฐบาล
    "ต้องตัดอำนาจในการแก้ไขร่างโดยสภาออก ให้เป็นเรื่องของประชาชนเท่านั้น ขีดเส้นใต้หมวด 1  และ 2 ที่จะไม่มีการแตะ ทำเช่นนี้เท่านั้นจึงจะเป็นการสะเดาะกุญแจ เปิดประตูในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง จะเสียเวลาตั้ง กมธ.ศึกษาให้เสียงบประมาณแผ่นดินไปทำไม ยิ่งตั้งยิ่งทำไม่สำเร็จ เป็นการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก จะสะสมปัญหานำพาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ที่ควรทำคือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งประกาศนโยบายเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนเป็นเหตุผลให้ตระบัดสัตย์กับประชาชนเข้าร่วมรัฐบาล ควรเป็นผู้นำเจรจากับซีกฝั่งรัฐบาล วุฒิสภา ให้ร่วมมือกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้" นายจตุพรกล่าว  
     นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า "...จนป่านนี้แล้วยังมีข่าวชื่อมีชัย  บวรศักดิ์ เป็นประธาน กมธ.ศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าคิดอะไรไม่ออกจริงๆ ไม่ต้องแก้ก็ได้ครับ"
     นพ.เหวง โตจิราการ แนวร่วม นปช.โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "รัฐธรรมนูญ 60 เป็นรัฐธรรมนูญ คสช.  จึงต้องแก้ให้เป็นรัฐธรรมนูญประชาชน รัฐธรรมนูญ 60 ยกร่างโดยคณะร่างที่ตั้งโดย คสช. เพื่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำประชามติภายใต้ปากกระบอกปืนของ คสช. จึงเป็นประชามติกำมะลอ ผู้ที่เห็นต่างถูกทหาร คสช.คุกคาม ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจำนวนไม่น้อยถูกนำไปดำเนินคดีภายใต้ศาลทหาร (แม้ภายหลังจะหลุดพ้นแล้วก็ตาม) จึงเป็นรัฐธรรมนูญโดย คสช. ของ คสช. และเพื่อ คสช.อย่างชัดเจน"
    วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง "ถึงเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้วหรือยัง" สำรวจระหว่างวันที่ 6-7 พ.ย.62 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ 1,271 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีที่ฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ทั้งคณะ ในเดือนธันวาคม 2562 พบว่าร้อยละ 51.61 ระบุว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการบริหารที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้น ควรจะได้รับการตรวจสอบการทำงาน จะได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทำ ร้อยละ 20.22  ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลยังไม่สามารถทำได้ดี จึงควรมีการตรวจสอบความถูกต้องของรัฐบาล ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะทำการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 9.44 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มทำงานควรเปิดโอกาสให้ทำงานสร้างผลงานก่อน อย่างน้อยควรจะให้เวลาสัก 2 ปี ร้อยละ 18.02 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะ การทำงานของรัฐบาลภาพรวมยังดีอยู่ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลยังน้อยอยู่  เร็วเกินไปที่ฝ่ายค้านจะทำการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 
    ด้านความคิดเห็นต่อกรณีที่ฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรายบุคคล พบว่าร้อยละ  49.41 ระบุว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะรัฐมนตรีบางท่านเข้ามาทำงานไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่โปร่งใส  ขณะที่บางส่วนระบุว่าอยากให้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีชุดใหม่ ร้อยละ 25.26 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ รัฐมนตรีบางท่านยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง การบริหารงานยังไม่มีผลงาน ร้อยละ 8.81 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะรัฐมนตรีแต่ละท่านเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ควรเปิดโอกาสให้ทำงานสร้างผลงานก่อน ขณะที่บางส่วนระบุว่าฝ่ายค้านคอยจะโจมตีคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว ร้อยละ 14.32 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย  เพราะระยะเวลาการทำงานยังน้อยไป อยากให้ทำงานเต็มที่ไปก่อน ขณะที่บางส่วนระบุว่าฝ่ายค้านพยายามจะล้มรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"