พปชร.ขอคอนโทรลจังหวะ


เพิ่มเพื่อน    

      ความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างบันไดนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ออกตัวแรงๆ อย่าง "ประชาธิปัตย์” ในรอบสัปดาห์นี้ มองไปที่สามประเด็นที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงถึงกัน

      ประเด็นแรก เป็นที่ชัดเจนระดับหนึ่งแล้วว่า ญัตติที่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนุญ ที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมดร่วมกันลงชื่อเป็นญัตติเดียวกันทั้งหมด รวมถึงญัตติของพรรคประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐและชาติไทยพัฒนา รวม 4 ญัตติ มีแนวโน้มสูงที่จะยังไม่มีการพิจารณาในที่ประชุมสภาสัปดาห์นี้ 13-14 พ.ย. โดยเร็วสุดก็อาจเป็นสัปดาห์ถัดไปหรือไม่ก็สัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ย.นี้ไปเลย เว้นเสียแต่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะปรับแท็กติก เช่น ร่วมกันผลักดันญัตติดังกล่าวให้ถูกนำมาพิจารณาในวันพฤหัสบดีที่ 14 พ.ย.นี้ก่อน ญัตติของปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในเรื่องที่ให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาประกาศ-คำสั่งของ คสช. แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณถึงการขยับดังกล่าวจากฝ่ายค้านออกมาแต่อย่างใด

      เรื่องที่สอง คือต้องติดตามการพูดคุยประสานกันภายในของพรรคแกนนำรัฐบาล เพื่อหารือเรื่องทิศทางการเกิดขึ้นของ กมธ.ศึกษาการแก้ไข รธน.ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

      โดยมีข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อาจมีการหารือนอกรอบกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล-แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็น รมต.ในรัฐบาล หลังการประชุม ครม.สัญจรในสัปดาห์นี้ ที่วงหารือก็จะประกอบด้วย อาทิ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป.-อนุทิน ชาญวีรกูล หน.ภูมิใจไทย-เทวัญ ลิปตพัลลภ หน.ชาติพัฒนา-วราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น

      หลังช่วงที่ผ่านมาปรากฏร่องรอยความเห็นไม่ตรงกันของคนในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการปีนเกลียวกันระหว่าง พปชร.กับ ปชป. เช่น การฟาดงวงฟาดงาใส่กันระหว่าง เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.ปชป. เจ้าของญัตติของ ปชป.ที่เสนอให้ตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน. กับ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พปชร. ในเรื่องการแก้ไข รธน. แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ มากกว่าก็คือ การที่พรรค ปชป.มีมติสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับเข้าสภา ด้วยการหนุนให้นั่งเป็นประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน. โดยไม่มีการส่งสัญญาณให้แกนนำพรรค พปชร.รู้ล่วงหน้า ทำให้ พปชร.ที่มองว่า อภิสิทธิ์ มีธง-แนวคิดจะเข้ามาแก้ไข รธน.อยู่แล้ว เลยต้องพยายามหาวิธีการ "บล็อกการเมือง” ไม่ให้ อภิสิทธิ์ กลับมาคุมหางเสือแก้ไข รธน. ด้วยการอ้างเหตุต่างๆ เช่น ประธาน กมธ.ฯ ควรเป็นโควตาของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พปชร. เป็นต้น 

      ขณะเดียวกัน ท่าทีของแกนนำพรรค พปชร.ก็ชัดว่าไม่เห็นด้วยกับความพยายามเปิดเกมแรง-เร็ว เพื่อนำไปสู่การแก้ไข รธน. โดยอ้างเหตุผลเรื่องรัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และ รธน.ฉบับปัจจุบัน ประชาชาชนก็ลงประชามติให้ประกาศใช้ด้วยเสียง 16 ล้านเสียง จึงไม่ควรต้องรีบแก้ไข

      เช่นท่าทีของ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ-รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ย้ำไว้ชัดๆ

        “ถามว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ปัจจุบันเป็นปัญหาหลักของประเทศหรือไม่ ผมคิดว่า ณ ขณะนี้ปัญหาหลักของประเทศน่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า อยากให้สภาขับเคลื่อนในเรื่องที่แก้ไขปัญหาของประชาชน เพราะสภาคือตัวแทนของประชาชน เรื่องเศรษฐกิจน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าเรื่องของประชาชน ถามว่าประชาชนมีข้อกังวลที่รัฐธรรมนูญเป็นแบบปัจจุบัน เขาก็ลงประชามติมาแล้ว ผมยังไม่เห็นประชาชนเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเว้นพรรคการเมือง เรายังไม่คิดถึงความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ"

      อย่างไรก็ตาม เมื่อ พปชร.ต้องไหลไปตามจังหวะ เพราะ พปชร.มีข้อตกลงกับพรรค ปชป.ในเรื่องการแก้ไข รธน. ตลอดจนในนโยบายรัฐบาลก็เขียนเรื่องรัฐธรรมนูญเอาไว้กว้างๆ ให้เป็นนโยบายเร่งด่วน จึงทำให้ พปชร.ต้องลงมาในสนามแก้ไข รธน.อย่างเลี่ยงไม่ได้

      เพียงแต่การขยับก็ต้องอยู่ในแผนการเมือง คือต้อง “คอนโทรล” ให้ได้ เพื่อไม่ให้ผลการศึกษาของ กมธ.ฯ ที่จะออกมายิ่งเป็นข้อผูกมัดให้ พปชร.ต้องเร่งแก้ไข รธน.ตามที่ฝ่ายค้าน-ปชป.ต้องการ

      ด้วยเหตุนี้ พปชร.และรัฐบาลจึงต้องเน้นเป็นพิเศษในการส่งคนไปเป็น กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน.ที่จะตั้งขึ้น โดยล่าสุด แม้ สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา เริ่มออกตัวไม่อยากนั่งเป็นประธาน กมธ.ฯ ตามที่แกนนำพรรค พปชร.ต้องการ แต่ก็มีข่าวว่าคีย์แมน พปชร.ก็ยังยืนยันต้องการให้ สุชาติ ลงมาคุมเกมเรื่องนี้ ส่วนคนอื่นๆ ที่ พปชร.ส่งมาแท็กทีมให้แน่น ก็มีเช่น วิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรค-อดีตปลัดมหาดไทย, สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มือกฎหมายประจำตระกูล “คุณปลื้ม”-ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่มีประสบการณ์เคยเป็น อดีตกรรมการยกร่าง รธน. ชุด ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่โดน สปช.โหวตคว่ำ รวมถึงพวกสายบู๊-ดุดัน อย่าง สิระ เจนจาคะ-สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

      จุดสุดท้ายที่ต้องติดตามก็คือ รายชื่อตามโควตากรรมาธิการฯ ที่มี 49 คน ซึ่งเคาะออกมาได้สูตร คณะรัฐมนตรีส่งมา 12 คน ที่เหลือ 37 ชื่อ เป็นไปตามสัดส่วนพรรคการเมือง โดยฝ่ายค้านจะได้ 19 คน พรรคปีกรัฐบาลได้ 18 คน

      ก็พบว่าเนื่องจากสภามีการเลื่อนการพิจารณาญัตตินี้ออกไปอีกร่วมสองสัปดาห์ จึงทำให้แต่ละส่วนยังไม่เคาะชื่อออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีข่าวว่าบางชื่อที่แต่ละฝ่ายไปทาบทามก็ได้รับการปฏิเสธ เช่น ที่รัฐบาลจะทาบทามพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. ที่เป็นอดีต ปธ.กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ใช้ในปัจจุบัน ก็ย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของสภา ไม่เกี่ยวกับ ส.ว. จึงไม่ขอเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

      เช่นเดียวกับที่บางพรรคก็มีข่าวว่า มีการไปทาบทามนักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางคนจะส่งชื่อเข้าไปเป็น กมธ.ฯ ชุดดังกล่าว แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะประเมินว่ามีโอกาสที่การแก้ไข รธน.จะถูกยื้อออกไป และรายงานของ กมธ.ฯ ที่จะทำออกมาน่าจะประสบปัญหาพอสมควรในการหาข้อสรุป จึงอาจเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

      เป็นอันว่า เรื่องแก้ไข รธน.ยังเป็นซีรีส์การเมืองที่ต้องดูกันยาวๆ เพียงแค่ยังไม่ทันเปิดฉาก chapter แรกออกมาก็เจอปัญหาชุลมุนพอสมควร เลยคาดการณ์ได้ไม่ยาก พอ กมธ.ฯ ตั้งขึ้นมาจะยิ่งเห็นความวุ่นวายในการทำงานของ กมธ.ฯ ตลอดเวลาแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"