จับตา'จริยธรรม'สภาสูง โทษหนักส่งป.ป.ช.เชือด!


เพิ่มเพื่อน    


    จับตาสภาสูงพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ส.ว.และกรรมาธิการ เปิดสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อการปฏิบัติและรักษาตามกฎหมาย, รัฐธรรมนูญ รวมถึงเคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาและมติโดยเคร่งครัด ห้ามแทรกแซง กมธ.อื่น โทษหนักสุดส่ง ป.ป.ช.เชือด
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) มีคำสั่งนัดประชุมวุฒิสภา วันที่ 11 พฤศจิกายน ทั้งนี้ มีระเบียบวาระพิจารณาที่สำคัญ​คือ พิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ ส.ว. และกรรมาธิการ พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญยกร่างข้อบังคับฯ ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. เป็นประธาน กมธ.พิจารณาแล้วเสร็จ
    โดยเหตุผลของการจัดทำร่างข้อบังคับดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยธุรการในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวกำหนดให้มีผลใช้บังคับกับสมาชิกรัฐสภาด้วย 
    มีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อการปฏิบัติและรักษาตามกฎหมาย, รัฐธรรมนูญ รวมถึงเคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาและมติโดยเคร่งครัด ขณะที่การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต้องพิจารณาตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ 
    ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ต้องระวังการปฏิบัติที่ก้าวก่ายการทำหน้าที่ของสมาชิกและกรรมาธิการอื่น รวมถึงต้องไม่กระทำการที่นอกเหนือจากหน้าที่และอำนาจ 
    ทั้งนี้ หากพบการกระทำที่เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการเป็นส.ว. หรือกรรมาธิการ หรือก่อให้เกิดความสงสัยว่าจะขัดกับข้อบังคับให้ยุติการกระทำ และแจ้งไปยังคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยเพื่อให้วินิจฉัย
    สาระของร่างข้อบังคับฯ ​ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ว.และฝ่ายสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นกรรมการ โดยมีประธานหรือรองประธานวุฒิสภาที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ประกอบกับกรรมการที่มาจากการเลือกของกรรมาธิการสามัญ 
    ส่วนหน้าที่และอำนาจ อาทิ พิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรม ตามที่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีการกล่าวหาว่า ส.ว.หรือกรรมาธิการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ รวมถึงวินิจฉัยชี้ขาด ขณะที่หลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้น กำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากที่ได้รับคำร้องจากเลขาธิการวุฒิสภา หรือหากดำเนินการพิจารณาไม่แล้วเสร็จสามารถขอขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ส่วนการพิจารณารายงานการตรวจสอบข้อกล่าวหา ต้องแจ้งต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยต้องเป็นการประชุมลับ
    สำหรับบทลงโทษ มี 2 ระดับ คือ 1.ตักเตือนหรือตำหนิ หากพบหลักฐานและข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า ส.ว. หรือกรรมาธิการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับฯ โดยต้องใช้เสียงของที่ประชุมตัดสิน คือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ว.เท่าที่มีอยู่ 2.ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากพบการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับฯ อย่างร้ายแรง โดยต้องใช้เสียงของ ส.ว.ลงมติ ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ ส.ว.ที่มีอยู่
    ทั้งนี้ ลักษณะของการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อาทิ ไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, ไม่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิของประเทศชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน, ไม่ยึดถือประโยชน์ชาติเหนือประโยชน์ส่วนตน, ปฏิบัติหน้าที่โดยแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ, การใช้หน้าที่เรียกรับ รับ ยอมรับ ประโยชน์, รับของกำนัล ทรัพย์สิน ประโยน์อื่นใด ยกเว้นได้รับโดยธรรมจรรยา 
    อย่างไรก็ดี การพิจารณาว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม ยังมีเงื่อนไขว่าเข้าข่ายหรือไม่ ให้พิจารณาจากพฤติกรรม เจตนา ตำแหน่ง ความสำคัญของตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ อายุ ประวัติความประพฤติของผู้นั้น รวมถึงมูลเหตุจูงใจ สภาพแวดล้อมแห่งกรณี ผลร้ายแรงหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น
    พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา เชื่อว่าไม่ว่าสภาใด แม้มีประมวลจริยธรรม ไม่สามารถจัดการปัญหาของนักการเมืองที่ไม่มีจริยธรรมใด ซึ่งการตรวจสอบและการทำงานที่ผ่านมาแม้มีกรรมการตรวจสอบ ไม่สามารถจัดการผู้ที่ไม่มีจริยธรรมได้ เพราะมีการช่วยเหลือเกื้อกูล แต่การมีประมวลจริยธรรมของนักการเมือง ถือเป็นเรื่องดี ที่จะปราบการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และเป็นประเด็นสำคัญที่จะบอกสู่สังคมและให้สังคมจับตานักการเมืองที่มีมลทิน และหากพบการกระทำที่สังคมมองว่าเป็นความผิด และสภาไม่ดำเนินการ เชื่อว่าจะเป็นผลที่ทำให้สภาขาดความไว้วางใจจากสังคมด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"