(1)
วันจันทร์พรุ่งนี้ (11 พ.ย.) ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ วันพระจันทร์เต็มดวง..ก็ได้จังหวะ เวลาที่จะ ลอยๆ กระทง...ลอยๆ กระทง...ลอยกระทงกันแล้ว...ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง กันอีกรอบ ตามแบบฉบับไทยๆ ที่ไม่ว่าจะจำมาจากไหน จากใครต่อใคร หรือไม่ว่า นางนพมาศ จะมีตัวตนอยู่จริงๆ หรือไม่ แต่ต้องถือเป็นวันที่มีคุณค่า มีราคา พอที่จะจัดให้เป็น วันสำคัญ ไม่ว่าในทางวัฒนธรรม ประเพณี หรือในทางหัวจิต หัวใจ ได้เป็นอย่างดี...
(2)
แม้ว่าอาจต้อง สารภาพ เอาไว้ซุปเปอร์ ลูปบ์ ก่อนล่วงหน้า...ว่าเกือบๆ จะ 30-40 ปีเข้าไปแล้ว ที่ อันตัวข้าพเจ้าเอง แทบไม่ได้มีโอกาสไปลอยกระทงเหมือนใครต่อใครเขา ซึ่งคงไม่ได้เป็นเพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันที่ว่านี้ แต่น่าจะเป็นเพราะไม่รู้ว่าจะไปลอยกัน ณ ที่ไหน จะฝ่าด่าน ฝ่ารถติด ฝ่าฝูงชนที่แน่นขนัด ไปให้ถึง ณ จุดหนึ่ง จุดใด แถวๆ แม่น้ำเจ้าพระยา หรือ คลอง แห่งหนึ่ง แห่งใด ก็ออกจะเป็นอะไรที่ลำบาก ยากเย็น อยู่พอสมควร แต่ครั้นจะหันมาลอยใน สระ หรือใน โอ่ง ก็ออกจะแปลกแยกกับความรู้สึกมิใช่น้อย เลยได้แต่ยกมือวันทา คารวะ พระแม่คงคา เพื่อรำลึกนึกถึงพระคุณของท่านไปตามสภาพ...
(3)
ต่างไปจากช่วงยังเป็นเด็กๆ...ที่เติบโตขึ้นมาในอำเภอเล็กๆ ซึ่งติดอยู่กับปากอ่าว ปากแม่น้ำ คือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จะเป็นเพราะชัยภูมิที่ตั้ง หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ เลยทำให้ วันลอยกระทง กลายเป็นวันที่ออกจะสำคัญเอามากๆ สำหรับอำเภอแห่งนี้ เผลอๆ...อาจคึกคัก ครึกครื้น โครมคราม ซะยิ่งกว่า วันปีใหม่ หรือวันประเพณีอื่นๆ มีการจัดงานเฉลิมฉลองยาวนานเกือบเป็นอาทิตย์ การจัดแสดงแสง-สี-เสียง การประกวดกระทงของโรงเรียนต่างๆ แทบทั่วทั้งจังหวัด การออกร้านขายสินค้าตั้งแต่ลูกชิ้นปิ้ง ไปยัน ไก่ย่างจีระพันธ์ มีโอกาสได้นั่ง ชิงช้าสวรรค์ ได้เล่นเกมม้าหมุน ปาเป้า ยิงปืน ฯลฯ มีโอกาสได้เห็นพวกผู้ใหญ่โดดขึ้นเวทีรำวง หรือแอบๆ ไปแถวๆ เวทีจ้ำบ๊ะ ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรประมาณนั้น...
(4)
ดังนั้น...วันลอยกระทง จึงกลายเป็นวันสำคัญที่ฝังอยู่ในอารมณ์ ความรู้สึก มาตั้งแต่เด็กๆ แม้ว่ายังไม่ถึงกับซาบซึ้ง ซึมซ่าน ต่อคุณูปการของแม่น้ำ สายน้ำ หรือของ พระแม่คงคา มากมายซักเท่าไหร่นัก เท่าที่พอจำได้...ก็คือผู้หลัก-ผู้ใหญ่ ท่านแนะนำให้ตัดเล็บมือ เล็บเท้า หรืออาจถอนผมออกมาซัก 2 เส้น 3 เส้น ใส่ไว้ในกระทง ก่อนที่จะลอยลงน้ำ พร้อมกับจุดธูป เทียน เปล่งคำอธิษฐานขอให้หมดทุกข์ หมดโศก รวมทั้งต้องเอ่ยคำขอบพระคุณ สำนึกในบุญคุณของ พระแม่คงคา ควบคู่ไปด้วย...
(5)
และไม่ว่า พระแม่คงคา ท่านจะมีตัวตนอยู่จริงๆ หรือไม่...แต่เมื่อเริ่มเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ หรือเมื่อแทบไม่มีโอกาสได้ไปลอยกระทงเหมือนอย่างใครต่อใครเขา ด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง ซึมซ่าน ต่อคุณูปการของแม่น้ำ สายน้ำ ไปจนแหล่งน้ำต่างๆ ก็ยิ่งทำให้วันที่ว่านี้ ยิ่งกลายเป็นอะไรที่ สำคัญ ยิ่งขึ้นไปใหญ่ คือไม่ใช่สำคัญแค่เฉพาะการแสดงออกในรูปของวัฒนธรรม ประเพณี ของสังคมหนึ่ง สังคมใด เท่านั้น แต่สำคัญชนิดที่อาจถือเป็นตัวชี้เป็น-ชี้ตาย ของมวลมนุษย์ในระดับแทบทั้งโลกเอาเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้ ที่ สงครามแย่งน้ำ อาจกลายเป็นสงครามหลักของมนุษย์ในแต่ละซีกโลกเอาง่ายๆ...
(6)
ใครก็ไม่รู้...ที่เป็นผู้เอ่ยคำว่า น้ำคือชีวิต ซึ่งก็คงเป็นจริงตามนั้น เพราะไม่ว่าชีวิตไหนต่อชีวิตไหนก็ขาด น้ำ ไม่ได้โดยเด็ดขาด และโดย ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ก็เป็นตัวแสดงหลักฐาน ข้อพิสูจน์ยืนยัน ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อารยธรรม ใดๆ ก็ตาม ย่อมต้องมีแม่น้ำ สายน้ำ แหล่งน้ำ เป็นองค์ประกอบหลักๆ และองค์ประกอบสำคัญ อย่างมิอาจปฏิเสธได้เลย อีกทั้งความล่มสลายของอารยธรรมใดๆ ก็แล้วแต่ มักต้องมีเรื่อง น้ำ เข้าไปเป็นองค์ประกอบเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอๆ การแสดงออกถึงความตระหนัก สำนึก ถึงคุณูปการของ น้ำ ไม่ว่าจะในฐานะ พระแม่คงคา หรือในฐานะใดๆ ก็ตามที จึงถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ราคา ไปด้วยกันทั้งสิ้น...
(7)
ด้วยเหตุนี้...ไม่ว่า วันลอยกระทง ตามแบบฉบับไทยๆ จะเป็นสิ่งที่จำมาจากไหน จากใคร หรือไม่ว่าผู้ที่เชื่อๆ กันว่าเป็นผู้ริเริ่ม วัฒนธรรม ประเพณี ทำนองนี้ อย่าง นางนพมาศ นั้น ท่านจะมีตัวตนอยู่จริงๆ หรือไม่ แต่นั่นก็คงแค่ รูปแบบ ไม่ใช่เนื้อหา สาระที่จะต้องเอามาเถียงกัน จนอาจส่งผลให้ความสำคัญของวันๆ นี้ ต้องมีอันลดลงไปโดยใช่เหตุ ตรงกันข้าม...สำหรับผู้ที่เติบโตขึ้นเป็นผู้หลัก-ผู้ใหญ่ ชนิดที่พอซาบซึ้ง ซาบซ่าน ถึงคุณูปการของ น้ำ ของ พระแม่คงคา ได้อย่างลึกซึ้ง ถึงแก่น มีแต่จะต้องพยายามหาทางขยายความสำคัญ ของสิ่งเหล่านี้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้มากกว่าเพียงแค่วัฒนธรรม ประเพณี หรือให้ครอบคลุมไปถึงขั้นระดับ สากล ก็ยิ่งดีไปใหญ่...
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |