(ไม่เห็นดวงแต่ยังให้แสง จึงยังคงเห็นน้ำโขงเลี้ยวหลบหายเข้าไปในหลืบเขา)
หลวงพระบางเมื่อกลางเดือนตุลาคม อากาศโดยรวมถือว่าดีอย่างที่ใครๆ ใฝ่หา ยกเว้นว่าต้องเดินฝ่าแดดเวลาเที่ยง ผิวเนียนผุดผ่องของท่านก็จะคล้ำหมองเอาได้ง่ายๆ หากไม่ป้องกันด้วยครีมชนิดดี ขนาดตัวผมเองที่ทนได้มาหลายปีแดดก็ยังเกือบไหม้เกรียมยามที่ต้องย้ายที่พักจากแคมคานไปแคมโขงด้วยระยะทางการเดินแค่กิโลเมตรนิดๆ
ที่พักแห่งใหม่ชื่อ Mekong Moon Inn อนุญาตให้เข้าพักได้ก่อน แต่ต้องออกมาเช็กอินจ่ายเงินตอนบ่ายโมงที่เคาน์เตอร์ของ Mekong Moon Boutique ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน พนักงานต้อนรับพูดภาษาอังกฤษ ทำให้แปลกใจว่าเหตุใดถึงไม่เว่าลาว ได้รับคำตอบว่าเป็นคนเวียดนาม ผมสงสัยว่าเจ้าของโรงแรมอาจไม่ใช่คนลาว
พอถึงเวลาจ่ายเงินผมก็ต้องแปลกใจอีก ตอนที่จองกับเว็บไซต์เอเยนซีนั้นคิดเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐ เมื่อจะจ่ายเงินโรงแรมก็จะคูณออกมาเป็นเงินกีบ บนเคาน์เตอร์เช็กอินเขียนระบุไว้ว่า 1 เหรียญ = 9,500 กีบ ตามร้านแลกเงินที่มีทั่วหลวงพระบางนั้น 1 เหรียญจะแลกได้ประมาณ 8,900 กีบ ผมยิ่งสงสัยเข้าไปอีกว่าเจ้าของคงไม่ใช่คนลาว
โชคดีที่ราคาที่พักโดยรวมของหลวงพระบางนั้นถือว่ายังถูกอยู่มากเมื่อเทียบกับเมืองท่องเที่ยวในละแวกเดียวกันนี้ และผมก็เป็นประเภทพวกแบกเป้งบจำกัด จองมาในราคาคืนละ 11 เหรียญฯ จำนวน 2 คืน จึงโดนกินเปล่าส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนไปแค่ประมาณ 50 บาท หากในช่วงไฮซีซั่นที่คาดว่าค่าห้องพักจะสูงขึ้น และสำหรับแขกที่พักหลายวัน ส่วนต่างเหรียญฯ ละ 600 กีบนี้ก็จะเป็นจำนวนเงินไม่น้อย คำนวณออกมาแล้วมากไปกว่าความเป็นจริง 6.7 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับเจ้าของโรงแรมที่มี 2 ตึกในชื่อคล้ายๆ กันก็จะฟันแค่ส่วนต่างตรงนี้ไปเดือนละหลายหมื่นบาทถึงหลักแสน นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงได้ตั้งค่าห้องไว้ต่ำกว่าชาวบ้าน ผมยังไม่เชื่อว่ากลวิธีนี้จะเป็นเล่ห์คนลาว
มื้อเที่ยงวันนี้ผมขี้เกียจเดินหา จึงปลงใจให้กับร้านข้างๆ โรงแรม สั่งผัดเห็ดหูหนูใส่เนื้อหมูกับข้าวเปล่า พนักงานสาวเดินเข้าไปในครัวแล้วกลับออกมาบอกว่าเนื้อหมูหมด เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม ผมจึงเปลี่ยนเป็นเนื้อไก่ มานึกออกทีหลังว่าน่าจะเป็นวิธีเลี่ยงการอธิบายถึงปัญหาไวรัสหมู เรียกเต็มๆ ว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่กำลังระบาดและหวาดกลัวกันอยู่ ร้านอื่นๆ ก็มีลีลาการปฏิเสธคล้ายๆ กัน ยกเว้นแม่ครัวผู้เคร่งธรรมะในเมืองหนองเขียวที่หมายถัดไปของผม แกพูดออกมาตรงๆ ว่า “หมูมีพยาธิ บ่ได้ขายโดนแล้ว”
(แมกไม้และอาคารบ้านเรือนบนถนนแคมโขง เมืองหลวงพระบาง)
กินอิ่มแล้วผมก็กลับไปงีบในที่พักใหม่ แต่อาจจะนอนนานไปหน่อย พอเดินไปยังพิพิธภัณฑ์หลวงพระบางบนถนนศรีสว่างวงศ์ที่อยู่ห่างกันไม่กี่ร้อยเมตรก็ถูกปฏิเสธการจำหน่ายตั๋ว ป้าประจำออฟฟิศหลังประตูทางเข้าบอกว่าพิพิธภัณฑ์ปิด 16.30 น. เวลานี้ 15.45 น. เดินดูยังไงก็ไม่ทัน
ผมมาทราบวันต่อมาว่า เวลาไม่ถึงชั่วโมง ต่อให้เข้าไปดูทันก็ดูไม่ครบ ถึงครบก็ไม่รู้เรื่อง เปลี่ยนแผนเดินยาวไปวัดเชียงทองบนถนนแคมโขง ใกล้ๆ จุดบรรจบของแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง ค่าเข้าเยี่ยมชม 20,000 กีบ หรือประมาณ 80 บาท เด็กฝรั่งพูดภาษาฝรั่งเศส 2 คนนั่งเล่นอยู่ในพระอุโบสถ พ่อแม่ก็อยู่กันคนละมุมเหมือนว่าเป็นที่หลบแดดคลายร้อน วัดเชียงทองนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2102 - พ.ศ.2103 ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เวลานั้นหลวงพระบางยังคงมีชื่อว่าเมืองเชียงทอง สิมหรือพระอุโบสถของวัดเป็นศิลปะล้านช้างที่มีความคล้ายคลึงกับศิลปะล้านนาหลายประการ ส่วนสิมที่รายรอบนั้นคาดว่าสร้างขึ้นภายหลัง มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 23 และหลังจากนั้น
(สิมหรือพระอุโบสถวัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง ถ่ายจากด้านหลังเพราะอีกฝั่งย้อนแสงพระอาทิตย์ยามเย็น)
ไม่มีเอกสารพิมพ์แจกนักท่องเที่ยว ผมจึงขออนุญาตลอกข้อมูลของวัดเชียงทองมาจากเว็บไซต์ “หลวงพระบางดอทเน็ต” เพราะเห็นว่าบรรยายได้ครบถ้วนดี
“...“สิม” แม้ขนาดจะดูไม่ใหญ่โต แต่ก็แสดงถึงสถาปัตยกรรมทางศาสนาแบบหลวงพระบางแท้ๆ ด้วยหลังคาพระอุโบสถที่แอ่นโค้งซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น ลดหลั่นเกือบจรดฐานจนแลดูค่อนข้างเตี้ย ส่วนกลางของหลังคามีเครื่องยอดสีทอง ซึ่งชาวลาวจะเรียกว่า “ช่อฟ้า” ประกอบด้วย 17 ช่อ อันมีความหมายว่าเป็นสิมที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น ส่วนสิมที่คนสามัญสร้างจะมีช่อฟ้าเพียง 1-7 ช่อเท่านั้น
(พระองค์หลวง พระประธานในสิมวัดเชียงทอง)
“เชื่อกันว่าบริเวณช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตรงกลางช่อฟ้าเคยเป็นที่เก็บของมีค่า ปัจจุบันเหลือเพียงช่องว่างเปล่าๆ ถัดมาที่ส่วนของหน้าบันมี “โหง่” รูปร่างคล้ายเศียรนาค เป็นส่วนประดับตามคติธรรมทางพุทธศาสนา เมื่อเดินต่อมาที่ประตูพระอุโบสถจะสะดุดกับลวดลายแกะสลักอันสวยงามเช่นเดียวกับที่หน้าต่าง ผนังภายในก็สวยงามด้วยลวดลายปิดทองฉลุบนพื้นรักสีดำ เล่าเรื่องพุทธประวัติ พระสุธน-มโนราห์ ทศชาติชาดกและภาพนิทานพื้นบ้าน ลึกเข้าไปคือพระประธาน ซึ่งมีชื่อว่า “พระองค์หลวง”
“นอกจากวัดเชียงทองจะมีพระอุโบสถที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างแล้ว การตกแต่งลวดลายตามผนังภายในก็สวยงามไม่แพ้กัน อย่างบริเวณผนังด้านหลังของพระอุโบสถก็มีการตบแต่งด้วยการนำกระจกสีมาตัดต่อกันเป็นรูปต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ด้านข้างก็ติดเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี ยามบ่ายที่แสงแดดส่องสะท้อนลงมาดูงดงาม
“ถัดมาบริเวณด้านข้างและด้านหลังของพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของวิหารเล็กๆ 2 หลัง จุดเด่นของวิหารด้านหน้าคือที่ผนังด้านนอกแต่ละหลังตกแต่งด้วยกระจกสีตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาต่อกันเป็นรูปร่างต่างๆ เล่าเป็นนิทานพื้นบ้านลงบนผนังสีชมพู ดูสวยงามน่ารักตามแบบฉบับชาวหลวงพระบาง วิหารหลังเล็กด้านข้างพระอุโบสถที่มีชื่อว่า “วิหารแดง” ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่งดงามด้วยพระหัตถ์ที่รองรับพระเศียรไว้อย่างสง่างามและอ่อนช้อย พระพุทธรูปนี้เคยนำไปจัดแสดงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2474 และไปประดิษฐานอยู่ที่นครเวียงจันทน์หลายสิบปี ก่อนนำกลับมายังหลวงพระบางในปี พ.ศ.2507
“ส่วนวิหารด้านหลังพระอุโบสถคือ “หอพระม่าน” ภายในประดิษฐาน “พระม่าน” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ "พระบาง" จนหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นองค์เดียวกัน ในช่วงวันบุญขึ้นปีใหม่ของลาว (ช่วงวันสงกรานต์) จะมีการอัญเชิญ “พระม่าน” ลงมาเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบไหว้ เรื่องราวภายในผนังด้านหลังวิหารนี้เป็นภาพประดับกระจกสีเล่าเรื่องวิถีชีวิตของผู้คน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2493 เพื่อเฉลิมฉลองที่โลกก้าวสู่ยุคกึ่งพุทธกาล ด้านหลังหอพระม่านเป็นที่ตั้งของพระธาตุศรีสว่างวงศ์ ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์
(โรงเมี้ยนโกศ ภายในวัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง)
“...ส่วนด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของหอกลองมีลวดลายลงรักปิดทองสวยงามบนเสา นอกจากนั้นในบริเวณวัดเชียงทองเมื่อท่านเดินเข้าไปทางด้านถนนโพธิสารราช ด้านขวามือจะต้องสะดุดตากับอาคารทรงโบราณมีลวดลายแกะสลักทาสีทองอร่ามขนาดใหญ่ ซึ่งคนลาวเรียกว่า “โรงเมี้ยนโกศ” หรือเป็นโรงเก็บพระโกศ, พระราชรถ, ราชยานของเจ้าชีวิตศรีสว่างวัฒนา ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.2502 และได้สร้างโรงเมี้ยนโกศแห่งนี้ขึ้นในปีพ.ศ.2505
“...นอกจากนี้ภายในวัดเชียงทองยังมีเขตสังฆาวาส ประกอบด้วยกุฏิ, สถูปเจดีย์ ดังเช่นวัดทั่วๆ ไปและยังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่”
(สะพานไม้ไผ่ในภาพจำตรงจุดบรรจบแม่น้ำคานและแม่น้ำโขง)
ผมใช้เวลาเพียงชั่วโมงนิดๆ ก็เดินทั่ววัด รวมถึงได้เข้าไปถ่ายรูปในโรงเมี้ยนโกศ ให้ความรู้สึกน่าขนลุกยังไงไม่รู้ ก่อนจะเดินออกจากวัดไปทางถนนสักรินทร์ เลี้ยวซ้ายไปไม่ไกลก็ถึงจุดบรรจบของสองแควเมืองหลวงพระบาง บริเวณทางเดินลงริมน้ำมีสวนสวยจัดแต่งไว้ร่มรื่นน่านั่งพักผ่อน ตรงปากน้ำคานเจ้าสะพานไม้ไผ่สำหรับข้ามฝั่งยังคงอยู่แต่ดูเหมือนว่าทรุดโทรมลงไปกว่าที่เคยเห็นในภาพถ่ายและภาพยนตร์ คงจะยังใช้การได้อยู่ แต่ไม่รู้ว่านอกจากคนท้องถิ่นแล้วจะมีนักท่องเที่ยวกล้าข้ามหรือไม่
มองลุงคนหนึ่งพายเรือมากู้อวนหรืออุปกรณ์อะไรบางอย่างที่ดักปลาไว้ได้ครู่เดียว ผมก็เดินยาวกลับไปยังถนนศักรินทร์จนถึงจุดที่เชื่อมกับถนนศรีสว่างวงศ์ เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกโดยแกล้งไม่หันไปมองร้าน Mini House ตรงหัวมุม เพราะกลัวใจจะต้องหวั่นไหวให้กับชั่วโมงสุขสันต์ เบียร์ลาวขวดละ 10,000 กีบ แต่ก่อนจะถึงทางขึ้นภูสีก็สะดุดตาร้านเยื้องกับ Mini House มีชื่อว่า ICON KLUB ยืนจ้องอยู่แป๊บเดียวสตรีฝรั่งในร้านก็ชักชวนให้เข้าไป เธอเป็นเจ้าของเพิ่งจะเข้ามาเปิดร้าน สนทนากันสั้นๆ ทราบว่าเป็นชาวฮังกาเรียน อาศัยในหลวงพระบางมาได้ 20 ปีแล้ว ผมบอกเธอว่าร้านน่าสนใจมาก ขึ้นไปไหว้พระธาตุก่อนแล้วจะกลับลงมาเสวนาต่อ
ถัดจากร้าน ICON KLUB นี้ไปไม่กี่เมตรก็ถึงทางขึ้นภูสี ผ่านวัดศรีพุทธบาทก่อนแล้วก็จะพบกับทางขึ้นที่ชันขึ้นเรื่อยๆ มีจุดให้พักเหนื่อยตามรายทางหลายจุด นอกจากวิวแม่น้ำคานและเมืองหลวงพระบางทางทิศใต้แล้วก็ยังมีรอยพระพุทธบาทและพระพุทธรูปหลายปางให้ชม ก่อนจะถึงจุดขายตั๋วขึ้นไปสักการะพระธาตุจอมสีคนละ 20,000 กีบ
พระอาทิตย์ตกดินไปแล้วตอนที่ผมขึ้นไปถึงวัดจอมสีบนยอดภูสีที่ประดิษฐานของพระธาตุจอมสี ชื่อนี้มีที่มาเล่ากันว่าในสมัยก่อนชื่อ “ภูสรวง” แต่เมื่อมีฤๅษีขึ้นไปพำนักก็เลยเรียกกันใหม่ว่า “ภูฤๅษี” และกลายเป็น “ภูสี” ในที่สุด สำหรับวัดพระธาตุจอมสีนี้ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2337 สมัยพระเจ้าอนุรุท บนความสูงจากพื้นราบราวๆ 100 เมตร
(พระธาตุเจดีย์ วัดจอมสี บนยอดภูสี เมืองหลวงพระบาง)
นักท่องเที่ยวรวมตัวกันบนลานพระธาตุเจดีย์ฝั่งทิศตะวันตก มองไปทางภูเขาที่พระอาทิตย์เพิ่งลาหลบลงด้านหลัง สายน้ำโขงที่ไหลผ่านตัวเมืองหลวงพระบางไปแล้วก็เลี้ยวโค้งไปตามรูปทรงของภูเขาอยู่ตรงทิศนั้นเช่นกัน ประกายสุริยาส่องสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นแสงสุดท้ายของวัน แสงนั้นคล้ายจะเป็นสีทองเช่นเดียวกับสีของพระธาตุเจดีย์
จุดที่มีก้อนหินใหญ่ยื่นออกไปนอกเขตล้อมรั้วทางทิศตะวันตกเป็นจุดถ่ายภาพยอดนิยมของคนพร้อมกับวิว ใครไม่มีเพื่อนมาด้วยหากไม่อยากถ่ายแบบเซลฟี่ก็ขอให้คนแปลกหน้าช่วยถ่ายให้แล้วเสนอถ่ายคืนแลกเปลี่ยนกัน มีคนรอคิวถ่ายรูปตรงจุดนี้จำนวนมาก และที่มากกว่าใครก็คือคนไทย
(จุดถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกยอดนิยมประจำเมืองหลวงพระบาง แต่ส่วนมากจะได้ภาพคนมากกว่าพระอาทิตย์)
พวกเด็กวัยรุ่นน่าจะเป็นนักศึกษาถือสมุดคอยหาฝรั่งคุย คงเป็นการบ้านวิชาภาษาอังกฤษ เพราะในสมุดจดนั้นเหมือนจะมีคำถามที่ได้เตรียมไว้แล้ว ฝรั่งบางคนไม่ค่อยไว้ใจ คุยแบบขอไปทีด้วยเห็นว่าเป็นเด็กเจ้าถิ่น แต่พอคุยๆ ไปสักพักก็เห็นว่าเด็กเหล่านี้ไร้พิษภัย ไม่ได้เล่าเรื่องราวชีวิตอันแสนรันทดเหมือนเด็กเขมรหรือเด็กอินเดียเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการไถตังค์ฝรั่งอั้งม้อ บรรดาฝรั่งก็สบายใจในการพูดคุยด้วย มีเรื่องน่าสังเกตที่น่าสงสัยอยู่บ้างก็แค่เด็กพวกนี้มีแต่ผู้ชาย และพวกเขาก็เลือกคุยกับฝรั่งสาวๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่มาคิดดูอีกที มันแปลกตรงไหนกันเล่า?
ผมเข้าไปกราบพระในวิหารใกล้ๆ พระธาตุเจดีย์แล้วก็เดินลงทางทิศเหนือ บันไดฝั่งนี้ดีกว่าฝั่งวัดศรีพุทธบาท (ทางทิศตะวันออก) อยู่มาก แต่ไม่มีหลอดไฟให้แสงสว่าง ใครลงมาช้าหลังฟ้ามืดก็มีโอกาสสะดุดหัวทิ่มกลิ้งลงไปกองถึงตีนเขาก่อนเพื่อนฝูงเอาได้ง่ายๆ ฝั่งทางขึ้นบันไดชั้นดีแต่ไม่มีไฟนี้เรียกว่าทางขึ้นภูสีฝั่งวัดป่ารวก ลงมาถึงก็จะเจอกับตลาดมืดหรือตลาดถนนคนเดินกลางคืนบนถนนศรีสว่างวงศ์
เท้าที่ระบมจากการเดินหลายกิโลเมตรในช่วงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ต้องผิดสัญญากับเจ๊ฮังกาเรียนไปก่อน อย่างน้อยก็คืนนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |