พูดถึงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นใครก็ร้องว้าวในความวิจิตรงดงามตระการตาของสุดยอดงานช่างศิลป์ไทย แต่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไม่ได้มีเพียงเรือพระที่นั่งล้ำค่าลำนี้ เพราะขบวนเรือใหญ่เต็มรูปแบบ ประกอบด้วยขบวนเรือ 5 ขบวน รวม 52 ลำ โดยขบวนเรือที่สำคัญที่สุดเป็นขบวนเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์
ก่อนที่คนไทยและคนทั่วโลกจะได้ชื่นชมริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอันเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เสด็จฯ เลียบพระนครไปตามแม่น้ำเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ตั้งแต่ท่าวาสุกรีสิ้นสุดที่ท่าราชวรดิฐ วันที่ 12 ธันวาคมนี้ โดยเปิดพื้นที่ให้พสกนิกรได้เฝ้าฯ รับเสด็จชื่นชมพระบารมีในหลวงอย่างใกล้ชิด สองฝั่งแม่น้ำและประทับใจกับขบวนเรือพระราชพิธีแสนงดงามฝีพาย 2,200 นายจะร้องเห่เรือพร้อมกันไปตามจังหวะ ตลอดเส้นทาง3.4 กิโลเมตร
วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับขบวนเรือพยุหยาตราที่ท้องสนามหลวงผ่านการแสดงเรือพระราชพิธีจำลอง “ศรีศุภยาตราปวงประชารวมใจถวายพระพร” อีกไฮไลต์ของนิทรรศการองค์ความรู้เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)
เรือพระราชพิธีจำลอง 4 ลำ ขนาดเท่าครึ่งของจริงจัดสร้างโดยกรมศิลปากรตั้งตระหง่านกลางสนามหลวง หน้าหนาวนี้ฟ้าสวยใสไร้เมฆ เรือลงรักปิดทองประดับกระจกลวดลายไทยงดงามเมื่อต้องแสงอาทิตย์เพิ่มประกายแวววาวจับใจผู้พบเห็น หากมาเข้าชมยามค่ำคืนหมู่เรือพระที่นั่งเป็นสีทองอร่ามดุจทองคำแท้จากการจัดไฟกลางคืนที่ลงตัว ดูแล้วก็สุดว้าวไม่แพ้ช่วงเวลาไหนๆ แถมมีการแสดงเห่เรือจากกองทัพเรือให้ชมกันสด ๆหาโอกาสดีๆ แบบนี้ที่ไหนไม่มีอีกแล้ว
ชี้พิกัด 4 เรือพระที่นั่ง มรดกของชาติด้านศิลปกรรมและประณีตศิลป์ ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ใช้เป็นพระเอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีอะไรบ้าง
1.เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชกาลที่5 แล้วเสร็จในรัชสมัยรัชกาลที่6 โดยตั้งชื่อเรือตามพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์หรือเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ คำว่า”สุพรรณหงส์” แปลว่า หงษ์ทอง ถือเป็นพาหนะของเทพเจ้าตามความเชื่อของไทย กษัตริย์ถือเป็นสมมติเทพ ปัจจุบันเรือสุพรรณหงส์มีอายุมากที่สุดถึง 108 ปี มาร่วมซึมซับประวัติศาสตร์ด้วยกันและถ่ายรูปสวยๆ เหมาะกับการเก็บไว้เป็นที่ระลึก
2. เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่9 สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 นารายณ์ทรงสุบรรณ หมายถึงพระนารายณ์ทรงครุฑ คำว่า”สุบรรณ” หมายถึง ครุฑพาหนะของพระนารายณ์ส่วนสร้อยนามว่า “รัชกาลที่9” แสดงว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่9 ปัจจุบันเรือพระที่นั่งลำนี้มีอายุ 25 ปี โขนเรือและตัวเรือลงรักปิดทองประดับกระจกสวยงาม
3.เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นลำแรกใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่สมัยรัชกาลที่ 6 แล้วเสร็จปี2457 มีอายุเก่าแก่ 87 ปี ใครได้ชมเหมือนต้องมนต์ด้วยโขนเรือพระที่นั่งจำหลักเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียร “อนันตะ” หมายถึง งูทิพย์ มีพลังยิ่งใหญ่ สะท้อนถึงพญานาคที่ลอยอยู่บนแม่น้ำเป็นที่ประทับของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่
และ 4.เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่5 คำว่า“เอนกชาติภุชงค์” หมายถึง งูหลากหลายชนิดสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองแบบโบราณมีลวดลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมากเห็นได้ชัดเจนถึงชั้นเชิงช่างศิลป์ คำว่า“ภุชงค์” มีความหมายเดียวกับนาค ถือเป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจความรอบรู้ และความอุดมสมบูรณ์ปัจจุบันมีอายุ 53 ปี ถือเป็น 4 เรือพระที่นั่งสำคัญที่ไม่ควรพลาด เปิดให้ประชาชนเข้าชมและถ่ายรูปได้ฟรีตามประสาคนชิคๆ
แม้จะมาชมนิทรรศการองค์ความรู้ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งที่6 แล้ว แต่มากี่ครั้งก็สนุกสนานเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ เพ็ญพิสุทธิ์ สมบัติมหาศาล นักศึกษาชั้นปีที่2 คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร คนรุ่นใหม่หลงไหลเรือพระราชพิธี บอกว่า มาเยี่ยมชม 6 ครั้งชอบนิทรรศการนี้มาก ได้ศึกษาข้อมูลความรู้มากมายเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประทับใจเจ้าหน้าที่ประจำนิทรรศการคอยแนะนำ และบอกเล่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้านการศึกษา ที่สำคัญได้เห็นเรือพระที่นั่งจำลอง 4 ลำแบบใกล้ชิดแม้จะเคยเห็นตอนไปเที่ยวงานอุ่นไอรักคลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ที่พระลานพระราชวังดุสิตมาแล้ว แต่ยังอยากมาชมอีก เพราะนี่คือมรดกทางศิลปกรรมของชาติ
“ นิทรรศการองค์ความรู้ฯ การแสดงเรือพระที่นั่ง ช่วยเติมเต็มความเข้าใจขบวนเรือพยุหยาตราที่ถูกต้องให้เรา ทั้งประวัติการสร้าง รูปแบบริ้วขบวน จำนวนเรือพระราชพิธีที่มีถึง 52 ลำ ฝีพายอีก2,200 คนที่จะร่วมในวันจริง ทุกครั้งที่กลับไปก็ชักชวนเพื่อนๆ และคนรู้จักให้มาเที่ยวชมงาน รวมถึงนำแผ่นพับที่แจกให้ผู้เข้าชมในนิทรรศการเปิดให้น้องๆดู ช่วยเพิ่มความสนใจและร่วมเป็นคนรุ่นใหม่ที่สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามร่วมกัน” เพ็ญพิสุทธิ์ เผยความประทับใจ แน่นอนก่อนนิทรรศการจะปิดฉากลง เธอบอกจะหาโอกาสมาอีกสักครั้ง
นอกจากนี้ ภายในลานการแสดงเรือพระที่นั่งจำลอง“ศรีศุภยาตราปวงประชารวมใจถวายพระพร” ยังเป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมจาก4 ภูมิภาคที่หลอมรวมดวงใจมาแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ละวันจัดรายการแสดงไม่ซ้ำจำเจ
วันที่ 9 พ.ย. มาชมการแสดงชุด รำโทนโคราชเฉลิมพระเกียรติและการแสดงละครนอแบบดั้งเดิมเรื่อง “สุวรรณหงส์ลมถ้ำเพชรพลอย” วันที่ 10 พ.ย.เตรียมประทับใจการแสดงชุด “โคราชถวายพระพร” และการแสดงละครพันทางเรื่อง “ราชาธิราชตอนสมิงพระรามเกี้ยวพระราชธิดา” ส่วนวันสุดท้าย 11 พ.ย. จัดการแสดงชุด “โคราชรวมใจเทิดไท้มหาวชิราลงกรณ” และการแสดงโขนเรื่อง“รามเกียรติ์ตอนพระรามข้ามสมุทร”
พากันมาเที่ยวชมนิทรรศการองค์ความรู้ขบวนพยุหยาตราชลมารคเดินเล่นในบรรยากาศสบายๆ เต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลายมากมาย
ไฮไลต์ยังไม่หมดเท่านี้ ทุกค่ำคืนจัดแสดงม่านน้ำประกอบแสงเสียงสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติฯชุด “ม่านธาราลือขจรเฉลิมราชย์องค์ราชัน” ซึ่ง วธ.มอบหมายให้บริษัทซีเอ็มโอ จำกัด(มหาชน) มีส่วนร่วมสร้างสรรค์โชว์สุดตระการตาจัดแสดงบนพื้นที่กลางแจ้งบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงท่ามกลางทัศนียภาพอันงดงามของวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้เป็นที่ประทับใจผู้คนที่เดินทางมาสัมผัสความงดงามม่านน้ำ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมพระเกียรติ
การแสดงผ่านเทคนิคม่านน้ำและน้ำพุแบ่งเป็น 3 องก์ ประกอบด้วย
องก์ 1 สายธารแห่งพระบารมีวิถีชีวิตคู่สายน้ำถ่ายทอดวิถีชีวิตคนไทยกับสายน้ำที่ผูกพันครั้งโบราณกาล ก่อเกิดขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสายน้ำ และที่สำคัญเป็นที่มาของพระราชประเพณีการเสด็จทางน้ำ“ขบวนพยุหยาตราชลมารค”
องก์2 งามล้ำขบวนเรือพระราชพิธี ตื่นตาตื่นใจกับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคบนม่านน้ำเห็นความวิจิตรตระการตาของโขนเรือขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจนไม่อาจละสายตา
และองก์3 เฉลิมราชย์องค์นฤบดีปฐพีเป็นสุข แสดงถึงพระราชกรณียกิจต่างๆทั้งด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตพวกนิกรทั่วหล้า เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมีดนตรีบรรเลงประกอบอย่างลงตัว ทุกวันจัดแสดงในเวลา 19.30 -22.00 น. ณ ท้องสนามหลวง
เดินครบทุกส่วนจัดแสดงแล้ว แวะไปส่วนที่4 วิถีไทยและสุดยอดอาหารไทยเลิศรสชูคอนเซ็ปเก๋ๆ“เอมอิ่มสุขสันต์ครบครันสำรับไทย” มีร้านเก่าแก่ของอร่อยประจำกรุงเทพฯ มาออกร้านให้ชิมช้อปจนพุงกาง แถมยังส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารของประเทศไทย ไม่ใช่รู้จักแต่พิซซ่าแฮมเบอร์เกอร์ ชาบูชาบู ต๊อกโบกี ข้าวยำบิบิมบับ อาหารไทยถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญไม่ด้อยไปกว่างานช่างศิลป์
เรียกว่า ได้ใช้เวลาทั้งวันเก็บเกี่ยวความรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดไปจนการแสดงศิลปวัฒนธรรมให้ความบันเทิง เสาร์-อาทิตย์-จันทร์นี้พากันมาเที่ยวชมนิทรรศการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ใครอยากรู้เรื่องเรือพระราชพิธี ที่นี่ให้ทุกอย่างครบจบในที่เดียว ส่วนใครยังไม่ไปเช็คอิน ถือว่าพลาดนิทรรศการองค์ความรู้ฯ จัดแสดงถึงวันจันทร์ที่11 พฤศจิกายนนี้เท่านั้น