30 ปีก่อนวันนี้ : เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกพังทลาย


เพิ่มเพื่อน    

    วันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 หรือวันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน กำแพงเบอร์ลินถูกพังลงมาพร้อมประวัติศาสตร์ฉากใหม่ของโลกที่ยังเป็นประเด็นวิเคราะห์จนถึงวันนี้
    ผมยังจำได้ว่าวันที่เกิดเหตุผมอยู่ต่างประเทศ เปิดซีเอ็นเอ็นเห็นภาพที่สร้างความประหลาดใจให้ผมอย่างยิ่ง
    ผมนั่งลงตรงหน้าทีวีที่กำลังถ่ายทอดสด เห็นคนเยอรมันตะวันออกปีนขึ้นบนกำแพงเบอร์ลิน คนหนุ่มสาวเอาค้อนทุบทำลายกำแพงและกระโดดข้ามมาทางเบอร์ลินตะวันตกอย่างความยินดีปรีดาว่า
    "เราพังกำแพงเบอร์ลินแล้ว เราได้เสรีภาพแล้ว"!
    การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินเกิดขึ้นท่ามกลางคลื่นแห่งการปฏิวัติในหลายๆ ประเทศที่เป็นบริวารของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ที่ต้องการแยกตัวออกจากการปกครองของมอสโก
    ห้าวันก่อนหน้านั้น คนเบอร์ลินตะวันออกประมาณห้าแสนคนออกมาชุมนุมต่อต้านความแร้นแค้นและบรรยากาศการเมืองที่อึมครึม เป็นปัญหาผสมผสานระหว่างปัญหาเศรษฐกิจและความเหนื่อยหน่ายต่อชีวิต "หลังม่านเหล็ก" ที่ทุกความเคลื่อนไหวถูกติดตามโดยตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐ
    ผู้นำเยอรมนีตะวันออกขณะนั้นพยายามจะลดความตึงเครียด ด้วยการยอมผ่อนปรนให้คนเยอรมันตะวันออกสามารถขออนุญาตเดินทางไปมาได้คล่องตัวขึ้น
    แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออกไม่ได้คาดคิดว่าคำสั่งให้ผ่อนคลายนั้น เมื่อลงไปถึงระดับปฏิบัติงานกลับกลายเป็นการ "เปิดประตูให้ทุกคนออกนอกกำแพงได้"
    ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากโฆษกรัฐบาลเบอร์ลินตะวันออกที่ได้รับข้อความให้อ่านในการแถลงข่าว
    แต่เพราะเขาไม่ได้อ่านเนื้อหาที่ทางการส่งมาให้ล่วงหน้า จึงอ่านสดๆ โดยมีสาระบอกว่า "การเดินทางของประชาชนออกนอกประเทศสามารถขอได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขล่วงหน้าใดๆ..."
    นักข่าวตื่นตะลึงกับคำสั่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้
    นักข่าวถามโฆษกว่ากฎใหม่นี้มีรายละเอียดอย่างไร...จะเริ่มมีผลเมื่อใด
    โฆษกคนนั้น (บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ถึงวันนี้ว่าชื่อ Guner Schabowski) รีบคว้ากระดาษแผ่นนั้นเพื่อจะหารายละเอียด
    แต่ก็ประกาศออกไปก่อนที่จะได้อ่านเอกสารทางการว่า "ผมเข้าใจว่ามีผลทันทีนะครับ"
    ทั้งๆ ที่คำสั่งนั้นระบุว่าให้มีผลวันรุ่งขึ้น และมีรายละเอียดว่าการขอวีซ่าออกนอกประเทศนั้นมีขั้นตอนอะไรบ้าง
    แต่แม้จะแก้ข่าวก็ไม่ทัน เพราะคำประกาศนั้นออกเป็นข่าวไปทางโทรทัศน์ทุกช่องแล้ว
    ว่าแล้วคนเยอรมันตะวันออกเป็นพันเป็นหมื่นก็วิ่งกรูกันไปที่ชายแดนทันที
    ยามที่ชายแดนคนหนึ่ง (ชื่อที่ปรากฏคือ Harald Jager) ให้สัมภาษณ์สื่อภายหลังว่าเขาได้ดูการแถลงข่าวนั้นด้วยความสับสนงุนงง และไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้นฝูงชนก็แห่กันมาที่กำแพงตรงชายแดนที่ติดกับเบอร์ลินตะวันตกทันที
    ยามคนนั้นบอกว่าพอเห็นภาพชุลมุนอย่างนั้นเขาก็โทรศัพท์หาหัวหน้าทันที
    "แต่หัวหน้าผมก็คงจะงงอยู่เหมือนกัน ไม่ได้สั่งให้ผมเปิดประตูกำแพงหรือให้ยิงใส่ฝูงชนเพื่อหยุดยั้งคลื่นมนุษย์...คนที่วิ่งมาอย่างเกรี้ยวกราดกรูกันเข้ามาเป็นร้อยและยามมีอยู่ไม่กี่คน...แม้เราจะพยายามระงับการเคลื่อนไหวนั้นก็คงไม่มีประโยชน์อะไร..." ยามคนนี้บอก
    เขาบอกด้วยว่าแม้จะไม่มีการยิงใส่ฝูงชน ก็คงจะมีคนบาดเจ็บหรือล้มตายเพราะผู้คนแออัดยัดเยียดกันอย่างวุ่นวาย
    ว่าแล้วเขาก็สั่งให้ลูกน้องเปิดประตูและเคลียร์รั้วลวดหนามที่ขวางกั้นระหว่างโลกคอมมิวนิสต์กับโลกเสรี
    ภาพของคนเบอร์ลินตะวันออกยื้อแย่งกันปีนขึ้นกำแพงและใช้ไม้กับค้อนทุบกำแพงให้พังลงมาถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก
    ผมนั่งดูภาพนั้นจากจอทีวีพลางก็ขนลุกพลาง...เพราะนั่นคือฉากประวัติศาสตร์ที่คาดไม่ถึงจริงๆ
    ตรงประตูชัย Brandenburg ของเบอร์ลิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นระหว่างคอมมิวนิสต์กับโลกเสรีนั้น กลายเป็นภาพที่ไม่มีใครในรุ่นเดียวกับผมสามารถลบออกจากความทรงจำได้
    นั่นเป็นปีที่ซีเอ็นเอ็นสร้างปรากฏการณ์สื่อของโลกด้วยการถ่ายทอดสดรายการข่าวที่น่าสนใจให้คนดูได้เห็นภาพสดๆ 
    นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผมสนใจติดตามข่าวระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดและทุ่มเทมาถึงทุกวันนี้!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"