8 พ.ย 62 - ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ครั้งที่ 2/2562 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้นำเหล่าทัพ เข้าร่วมการประชุม โดยไม่เปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการประชุมแต่อย่างใด
ขณะที่การประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง ได้รับทราบผลการปฎิบัติการงานของกอ.รมน. ประจำปี 2562 และแผนการดำเนินงานของกอ.รมน. ประจำปี 2563 โดยนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.รมน.ได้มอบนโยบายและสั่งการเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงาน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.การเสนอแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (กอ.รมน.) ที่มุ่งเน้นให้การปฏิบัติแก้ไขปัญหาบรรเทาสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่ซ้ำซ้อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่น โดยสาระสำคัญ คือ จะมีกอ.รมน.ภาคและกอ.รมน.จังหวัด ทำหน้าที่ในการปฎิบัติบูรณาการ ประสานงาน และเสริมสร้างการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หน่วยงานทหารในพื้นที่และกลุ่มมวลชนในเครือข่ายกอ.รมน. เพื่อเข้าไปเสริมช่องว่างในการจัดการด้านสาธารณภัย ของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.จังหวัด) กับส่วนกลางให้แน่นแฟ้น รวมถึงกรณีจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้เกิดสาธารณภัย
2.แผนปฏิบัติการเพื่อรองรับการประกาศพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ปัจจุบันสถานการณ์การก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลามีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ขณะที่กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับการประกาศพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไว้ 3 แนวทางปฏิบัติ คือ ด้านยุทธการ เน้นการมีส่วนร่วมประชาชน ใช้กำลังประชาชนดูแลพื้นที่ ทดแทนกำลังทหารรัฐ และการบังคับใช้กฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้การสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ด้านการเมือง มุ่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ รณรงค์ให้ผู้เห็นต่างจากรัฐ หันกลับมาต่อสู้ตามแนวทางสันติ ออกมารายงานตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย ด้านการพัฒนา มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และตรงตามความต้องการ
จากนั้นเวลา 11.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังมีกระแสข่าวการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหะสถานในเวลาค่ำคืน หลังเกิดเหตุกลุ่มคนร้ายยิงถล่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า ยังๆ เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา แต่ถ้าประกาศจะกำหนดเวลาให้สั้นที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน สอบสวนทางคดี และเพื่อเป็นการจำกัดพื้นที่ของคนร้ายในช่วงที่มีการไล่ติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุ โดยยืนยันว่าไม่อยากให้มีผลกระทบต่ออย่างอื่น แต่เป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งหากเราปิดพื้นที่ไม่ได้ ก็จะมีปัญหา ส่วนนี้ขอให้เข้าใจกันด้วย
เมื่อถามว่ามีรายงานว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มคนหน้าขาว ภายหลังก่อเหตุเสร็จสิ้น จะกลับไปนอนอยู่บ้าน ส่วนนี้จะมีการติดตามจับกุมอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การสืบสวน สอบสวนวันนี้มีความคืบหน้า แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ต้องใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่จะไปจับใครก็ได้ ต้องเอาหลักฐานในพื้นที่เกิดเหตุมาติดตาม ซึ่งเราก็มีข้อมูลอยู่แล้ว ทั้งอาวุธปืน กระสุนและปลอกกระสุน พร้อมมีข้อมูลอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มใดและมีกลุ่มใดเกี่ยวข้องบ้าง ก็จะต้องมาพิจารณาร่วมกัน คงจะได้รับทราบความคืบหน้าภายในเร็ววันนี้ ขอเวลาอีกหน่อย
เมื่อถามว่า ผู้ก่อเหตุมีการใช้วัตถุระเบิด จะถือเป็นการก่อการร้ายมากกว่าการก่อความไม่สงบได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พวกเขาใช้กลยุทธ์เช่นนี้ เป็นกลยุทธ์การก่อการร้าย คือการสร้างเหตุความรุนแรงเพื่อกดดันต่อรัฐ และการทำงาน แล้วเราจะไปกดดันกันเพื่ออะไร ในเมื่อรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนา และสร้างการมีส่วนร่วม เราแก้ปัญหากันอย่างนี้ ไม่ดีกว่าหรือ ส่วนการก่อการร้ายนั้น มีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การยึดพื้นที่ การใช้ความรุนแรง แต่เหตุการณ์นี้เข้าข่ายแค่ใช้อาวุธสงคราม เพื่อกดดันรัฐ แต่หากเราตีความผิด การแก้ปัญหาก็จะผิดและเหตุการณ์จะรุนแรงขึ้น ท้ายสุดผลกระทบก็จะเกิดกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งวันนี้เราลดระดับผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้มากพอสมควร ประชาชนก็กลับมาให้ความร่วมมือ แม้แต่การบังคับใช้กฎหมายบางตัว ประชาชนก็เห็นด้วย เพราะเขาดูแล้วว่าเกิดประโยชน์กับเขา ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่คนที่มักจะมีปัญหาในเรื่องนี้ คือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะมองในเรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว
“ผมคิดว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหน อยากไปละเมิดสิทธิมนุษยชนใครทั้งสิ้น แต่ไปดูผู้ก่อเหตุว่า สิ่งที่เขาทำ มันละเมิดสิทธิมนุษยนชนประชาชนหรือไม่ ในการทำร้ายประชาชนทัั้งผู้บริสุทธิ์ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ไทยพุทธอย่างเดียว แต่ครั้งนี้เป็นการทำร้ายทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเลิกโน่น เลิกนี้ แล้วทำไปเพื่ออะไร ไม่งั้นก็ลองไปอยู่ในพื้นที่เขาดู ว่าจะทำอย่างไร ลองไปอยู่กับเขานานๆ จะได้รู้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ถามว่าได้รับรายงานการหารือเกี่ยวกับการพูดคุยถึงสันติสุข จากมาเลเซียบ้างหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ได้รับรายงานตลอด ก่อนเขาไปตนก็ได้ให้นโยบายไป เมื่อเขากลับมาก็รายงานตน ก็ให้มีการปรับแผนกันไป ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับกลุ่มที่มีบทบาทอย่างแท้จริง โดยจะเน้นในเรื่องของจะทำอย่างไรให้ในพื้นที่ปลอดภัย และมีสันติสุขอย่างยั่งยืน ต้องคุยกัน และปรับวิธีต่อเนื่อง เพราะมีหลายกลุ่ม หลายฝ่าย หลายระดับทั้งผู้นำระดับการเมือง การทหาร ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นเก่านั้น ค่อนข้างจะพูดคุยในด้านสันติวิธีมากขึ้น แต่คนรุ่นใหม่ก็พยายามสร้างคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาแทน เราต้องหาวิธีการว่าจะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร
นายกฯ กล่าวอีกว่า ดังนั้น จะต้องเจรจากับกลุ่มที่มีบทบาทแท้จริงในการก่อเหตุ แต่ปัญหาคือ เขาจะคุยด้วยหรือไม่ เพราะบางกลุ่มก็ไม่อยากมาเจรจา เพราะคงอยากใช้วิธีเดิมต่อไป พวกนี้คือพวกหัวรุนแรง เราบังคับไม่ได้ ถึงต้องไปพูดคุยที่ต่างประเทศ แต่ไม่ใช่การเจรจา เพราะถ้าเจรจาหมายถึงเรารบกันแล้วจึงต้องเจรจาหยุดยิง แต่อันนี้ไม่ใช่ เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย และทางมาเลเซียก็ตอบสนองด้วยดีตลอดมา แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายอันที่ต้องแก้ควบคู่กันไป เช่น เรื่องบุคคลสองสัญชาติ การข้ามแดน เนื่องจากคนเหล่านี้ปลอมปนอยู่ในกลุ่มประชาชนทั่วไป เข้ามาหาก็ไม่รู้ เพราะหน้าตาก็เหมือนกัน ทั้งนี้ ตนได้สั่งการบริหารเชิงรุกไป แต่ต้องระวังการใช้อาวุธต่างๆ และการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากเกินไป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการใช้กำลังของชรบ. ยังมีความจำเป็นต่อไป ถ้าไม่มีจะทำมาทำไม ซึ่งแต่ก่อนนี้กำลังตำรวจในพื้นที่ และอาสาสมัครรักษาดินแดน มีกำลังไม่เพียงพอ จึงต้องจัดทหารข้างนอกมาช่วย เมื่อเรียบร้อยแล้วก็เอาทหารกลับ ส่วนตำรวจและทหารในพื้นที่ก็ทำงานปกติไป แต่เมื่อเหตุการณ์ไม่ปกติ ก็จะนำกองกำลังทหารเข้าไปเติม ทุกประเทศก็ทำแบบนี้ และระหว่างนี้เราจะต้องเสริมสร้างกำลังในท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะคนเหล่านี้จะรู้จักพื้นที่และสถานการณ์ต่างๆได้ดี แต่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น เพราะทางยุทธวิธียังไม่เข้มแข็งพอ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการฝึกทบทวนมาโดยตลอด
“ผมถามเขาว่าจุดที่เกิด ทำไมไปตั้งฐานปฏิบัติการตรงนั้น เขาบอกมีความจำเป็น เพราะมีหมู่บ้านอยู่กลุ่มหนึ่ง และเขาต้องการไปดูแลประชาชนในหมู่บ้านดังกล่าว เพราะพื้นที่จำกัด เขาจึงไปตั้งกลางสวนยาง ส่วนด้านนอกทัศนวิสัยก็จำกัด มันจึงเปิดโอกาสให้ผู้ก่อเหตุเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งผมได้เตือนไปแล้วว่า ต้องหาวิธีการใหม่และปรับในเชิงกลยุทธ์ ให้มีชุดลาดตระเวนต่างๆให้รัดกุมมากขึ้น รวมถึงการป้องกันชายแดน และการลักลอบเข้าออกประเทศ ส่วนนี้ก็ต้องเพิ่มการกวดขัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |