หนุนแยกคุมผู้ต้องขังตามโทษ ตรวจสุขภาพจิตท่านเปาทุก5ปี


เพิ่มเพื่อน    

 ประธานศาลฎีกาแถลงนโยบาย เสนอแยกห้องควบคุมตามโทษหนัก-เบา ย้ำใช้แบบประเมินความเสี่ยงช่วยประกันตัว จัดตรวจสุขภาพกาย-จิตใจผู้พิพากษาทุก 5 ปี ตั้งสถาบันอบรมที่สีคิ้วส่งเสริม "ศาลสีเขียว-GREEN COURT" หนุนตั้งศาลสิ่งแวดล้อมหลังเผชิญวิกฤติบ้านป่าแหว่ง เผยรอผลสอบ "คณากร" ยิงตัวเอง ยันคำพิพากษากว่าจะออกมาได้สมควรต้องถูกตรวจสอบ แต่ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาก็ต้องรักษาไว้

ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ วันที่้ 7 พฤศจิกายน นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา คนที่ 45 เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารศาลยุติธรรม พร้อมแถลงนโยบายการบริหารศาลยุติธรรมของประธานศาลฎีกา ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม ซึ่งจะกำหนดมาตรการในการขอปล่อยชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสะดวกรวดเร็ว และการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว ซึ่งจะกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ต้องหา, จำเลย, เหยื่ออาชญากรรม, ผู้เสียหาย ตลอดจนกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมทุกขั้นตอนของกระบวนการทางศาล พร้อมทั้งเพิ่มบทบาทเชิงรุกในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีในศาล และให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิทธิของตนตามกฎหมาย
2.ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่อให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ โดยพัฒนาระบบการประชุมปรึกษาคดีขององค์คณะให้เข้มแข็งในทุกชั้นศาล เพื่อยกระดับคุณภาพของคำพิพากษาบนพื้นฐานความเป็นอิสระโดยปราศจากการแทรกแซง และกำหนดกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งจะให้การจัดพิมพ์คำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อให้ความยุติธรรมได้ปรากฏในเวลาอันควร นอกจากนี้จะสร้างแบบประเมินที่เป็นมาตรฐานสากลให้ศาลใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในพันธกิจของศาลและการสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพด้วย
3.นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมการพิจารณาพิพากษาคดี และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวกและประหยัดสำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ เพื่อให้คู่ความเข้าถึงข้อมูลทางคดีได้โดยสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และนำมาใช้ในการเสริมสร้างความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 
4.เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานบุคคลด้วยการสร้างสมดุล ระหว่างจริยธรรมระบบอาวุโสและความรู้ความสามารถ โดยจะส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ความชำนาญตลอดจนแนวปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง ที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของสังคม พร้อมกับจัดกรอบอัตรากำลังให้เหมาะสมกับลักษณะงานประเภทและปริมาณคดีโดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม และสร้างเสริมจริยธรรมความภาคภูมิใจและความสุขของบุคลากรในการให้บริการแก่ประชาชนด้วยอัธยาศัยไมตรี
5.การสนับสนุนบทบาทของศาลในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อมและที่ไม่ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม โดยจะสนับสนุนบทบาทของศาลในการส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม, การประเมินและยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม, การใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกบนพื้นฐานความสมัครใจของคู่ความ
นายไสลเกษกล่าวว่า สำหรับมาตรการปล่อยชั่วคราวนั้น ตนจะให้คณะทำงานทำรายละเอียดเป็นข้อเสนอแนะว่า หากให้มีการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น จะมีมาตรการทางเลือกอะไรบ้างที่จะใช้เพื่อยกระดับความมั่นใจว่าเราจะได้ตัวผู้ที่ได้ปล่อยชั่วคราวมาพิจารณาคดี หลังจากที่ปัจจุบันคดีทุจริตทั้งหลาย (ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ) ในกฎหมายใหม่อายุความจะสะดุดลง หากเขาหลบหนีต้องหลบหนีตลอดชีวิต หลังจากนี้เราจะนำมาถอดเป็นแผนปฏิบัติการ โดยมีหลายเรื่องที่สามารถทำได้เลย เรื่องการประกันตัวใกล้เคลียร์จะทำได้แล้ว เรามีการปฏิบัติมาอยู่แล้ว แต่จะมีทางทำอย่างไรให้ผู้พิพากษามีความมั่นใจในการให้ประกันว่าไม่ได้ปล่อยคนร้าย
ประธานศาลฎีกากล่าวต่อว่า เรื่องการกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับผู้ต้องหา, จำเลย, เหยื่ออาชญากรรม, ผู้เสียหายที่เปราะบางในสังคม ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เราว่าเราควบคุมผู้ต้องหาและจำเลยคดีต่างๆ โดยไม่แยกแยะประเภทคดี ถึงเวลาแล้วที่ต้องจำแนกประเภทของคดี คดีที่มีโทษหนักอุกฉกรรจ์กับคดีที่โทษเบาเล็กน้อย ซึ่งในวันที่ศาลต้องเบิกตัวมาในนัดคดี ไม่ควรที่จะเอารวมไปในห้องคุมขังเดียวกัน ดังนั้นหากเราแยกประเภทได้ จัดกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่สุด กับกลุ่มโทษเบาเสี่ยงน้อยที่สุด แล้วเราจะปฏิบัติต่อเขาได้อย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมาการออกแบบอาคารสถานที่ของศาลไม่ได้คิดถึงจุดนี้ ที่ผ่านมาจึงต้องนำไปขังรวมกันเวลาที่รอขึ้นศาล 
“ซึ่งหากศาลทั่วประเทศทำได้ในการแยกประเภทผู้ต้องขัง ก็จะตรงกับงานที่พระองค์ภาฯ ได้ปักธงในการดูแลผู้ต้องขังที่เป็นหญิง จนสหประชาชาติยอมรับ ซึ่งแนวปฏิบัติเช่นนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือกันทำทั่วกันทั้งประเทศ โดยผมได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมดูแลเป็นเรื่องเร่งด่วน รวมทั้งให้ดูแลการออกแบบอาคารศาลต่างๆ ในอนาคตที่ต้องคำนึงถึงห้องที่จะต้องจัดแยกผู้ต้องขัง แยกพยาน แยกเพศ แยกวัย รวมถึงกลุ่มผู้พิการที่มีโอกาสมาขึ้นศาลเช่นกัน”
นายไสลเกษกล่าวอีกว่า ในเรื่องประกันตัวสมควรที่จะต้องประกาศมูลค่าทรัพย์ในการวางประกันตัวประเภทคดีต่างๆ ทั้งบนบอร์ดที่ศาล และลงเว็บไซต์ศาล ให้ชาวบ้านได้รับรู้กรณีหากต้องมาขึ้นศาลด้วย เพื่อให้เขารู้ว่าจะต้องเตรียมหลักทรัพย์เท่าใด เป็นลักษณะให้ข้อมูลเชิงรุก และอยากเชิญชวนศาลทั่วประเทศให้ทำต่อไป คือการทำแบบประเมินความเสี่ยงการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลย ที่จะเป็นการลดภาระให้ประชาชน โดยที่ยังไม่ต้องพิจารณาถึงหลักทรัพย์ ทั้งนี้ หากไม่มีความเสี่ยงเลยก็สามารถปล่อยตัวได้โดยไม่ต้องทำสัญญาประกัน เพียงแต่แค่ปฏิญาณตนว่าจะมาศาลตามนัดก็ทำได้ โดยระดับความเสี่ยงจะเป็นตัวกำหนดว่าจะให้ประกันหรือไม่ และจะต้องกำหนดเงื่อนไขอย่างไรอีกหรือไม่ ที่ผ่านมาแม้ในการทดลองใช้ 13 ศาล จะมีผู้ที่หนีบ้าง แต่ก็จำนวนน้อยประมาณกว่า 200 ราย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ 
ประธานศาลฎีกากล่าวถึงการบริหารงานบุคคลว่า จะต้องสร้างสมดุลระหว่างระบบอาวุโส จริยธรรมและความรู้ความสามารถ และให้การทำงานเป็นไปด้วยความมีสติและสันติวิธี ต่อไปนี้ทุก 5 ปี เราจะต้องมีการตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งขณะนี้ก็มีการยกร่างระเบียบเกี่ยวกับการสำรวจตัวเองทั้งสุขภาพกายและสภาวะจิตใจ โดยอย่ารู้สึกไม่ดีกับการจะต้องทำแบบประเมิน เราสะสมความเครียดต่างๆ ไว้มาก ถึงเวลาที่เราจะต้องสำรวจและปลดปล่อยความเครียดเหล่านี้ทุก 5 ปี
ทั้งนี้ นายไสลเกษกล่าวอีกว่า ปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่อยู่ใต้จิตสำนึกของคน เราเผชิญกับวิกฤติภัยธรรมชาติมากมาย และเราเคยเจอวิกฤติด้วยองค์กรเราเองที่ จ.เชียงใหม่ (กรณีการสร้างบ้านพักตุลาการ) จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วย ดังนั้นภายใต้นโยบายของตนจะผลักดันให้ศาลเป็นสีเขียว GREEN COURT ด้วยหลักการถ้าไม่ปลูกแล้วอย่าตัดสำคัญมาก ถ้าปลูกยิ่งดี โดยกรีนคอร์ต คือมีความบริสุทธิ์ สะอาด หมายความว่าซื่อสัตย์สุจริตด้วย ต่อไปจะขอให้สำนักงานศาลยุติธรรม ประกาศให้ประเทศไทยรู้ว่า ต่อไปนี้ในการก่อสร้างทุกโครงการของศาลยุติธรรมจะกำหนด TOR ว่าจะต้องคำนึงดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย และจะถือได้ว่าเป็นที่แรกที่มีการระบุ TOR สิ่งแวดล้อมในสัญญาการก่อสร้าง 
“เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมนี้ ศาลได้รับที่ดินเนื้อที่ 250 ไร่ บริเวณ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ให้มาใช้ ซึ่งเราก็จะสร้างสถาบันฝึกอบรมเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง จากที่ขณะนี้มีอยู่แล้วแห่งเดียวบน ถ.รัชดาภิเษก รวมทั้งสร้างศาลเพิ่มในที่ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างแล้ว 70 ล้านบาท โดยเรายังจะใช้พื้นที่นี้เป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมด้วยในการปลูกป่า ผมสนับสนุนว่าหากศาลใดมีโครงการ ไม่ว่าจะจิตอาสาหรือโครงการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้เอาสีเขียวมาลงที่นี่ โดยอยู่ในวิสัยที่เราจะรักษาได้ ซึ่งตนเชื่อว่าไม่เกิน 10 ปี ตรงนี้จะเป็นป่าอีกแห่งหนึ่งที่ปากช่องด้วยฝีมือของเรา” นายไสลเกษกล่าว 
ภายหลังนายไสลเกษให้สัมภาษณ์ด้วยว่า การตั้งศาลสิ่งแวดล้อมก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม เรื่องนี้ยังคุยกันไม่ลงตัว ในส่วนของศาลยุติธรรมได้มีการยกร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมไว้แล้วส่วนหนึ่ง แต่รัฐบาลเองก็ยังไม่มีข้อยุติในเชิงนโยบาย 
นอกจากนี้ ประธานศาลฎีกาให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการสอบข้อเท็จจริงกรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ที่ยิงตัวเองในศาลว่า เรื่องนี้เรารับรู้ได้ว่าเป็นปัญหา เราควรหาสาเหตุว่าปัญหาเกิดจากอะไร คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ทำถูกแล้ว ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่าสาเหตุเกิดจากอะไร กรรมการชุดดังกล่าวก็จะประมวลสาเหตุและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา ตอนนี้ตนรอข้อสรุปจากคณะกรรมการฯ จะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ที่ว่ากันว่ามีการแทรกแซงคำพิพากษานั้นมีจริงหรือไม่ ตอนนี้ตนยังตอบไม่ได้
“แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้สังคมเข้าใจด้วยคือว่าการตรวจสอบคำพิพากษาให้ถูกต้องกับการแทรกแซงเป็นคนละเรื่อง คำพิพากษากว่าจะออกมาอ่านได้นั้น สมควรหรือไม่ที่จะถูกตรวจข้อกฎหมายทุกข้อ และสมควรหรือไม่ที่จะถูกตรวจว่าเขียนบนพื้นฐานของพยานหลักฐานในสำนวนที่ครบถ้วน ผมมองว่าสมควรอย่างยิ่ง ถ้ากระบวนการในการทำคำพิพากษาของศาลมีระบบในการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ผมยืนยันว่าชาวบ้านได้ประโยชน์แน่นอน คำพิพากษาจะผิดพลาดน้อย แต่ขณะเดียวกันในหลักการเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาก็ต้องรักษาเอาไว้ ขั้นตอนในการทำคำพิพากษามีความชัดเจนในตัวของมันอยู่ แต่เราไม่รู้ว่ากรณีนี้เบี่ยงเบนตรงไหน ยืนยันว่ากระบวนการในการตรวจสอบและความเป็นอิสระชัดเจนทั้งข้อกฎหมายและระเบียบ” นายไสลเกษกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"