มาแล้วครับ ข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะมาสู้กับ One Belt One Road หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน
มาช้าดีกว่าไม่มา
ของมะกันชื่อ Blue Dot Network (BDN) หรือ "เครือข่ายจุดสีฟ้า" โดยมีเป้าหมายทางการว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน (sustainable infrastructure development)
คำประกาศนี้จงใจมาเปิดตัวที่งาน Indo-Pacific Business Forum ซึ่งจัดขึ้นเคียงคู่กับการประชุมสุดยอดอาเซียนและคู่เจรจา
คนออกข่าวนี้คือรัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯ วิลเบอร์ รอสส์ ประกบด้วยที่ปรึกษาความมั่นคงของทำเนียบขาว นายโรเบิร์ต โอไบรอัน
คนหลังบอกว่าแนวคิดใหม่ของสหรัฐฯ เรื่องนี้เหมือนเป็น Michelin Guide หรือคู่มือมิชลินเพื่อจัดลำดับความน่าเชื่อถือหรือ ratings ของการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน, ท่าเรือ หรือระบบพลังงาน
ก็คงเป็นการออกแบบมาประกบโครงการสร้างถนน, ทางรถไฟ, ท่าเรือต่างๆ ของจีนที่มาในนามของ BRI
แต่พอซักรายละเอียดเข้าจริงๆ ก็ยังไม่มีใครในวอชิงตันตอบได้ว่า เงินลงทุนจะมาจากไหน จะมีการถือหุ้นกันอย่างไร และจะเริ่มได้เมื่อไหร่ อย่างไร
อาจเป็นเพราะแผนนี้เพิ่งจะคิดได้ในนาทีสุดท้าย ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะตัดสินใจส่งที่ปรึกษาความมั่นคงและรัฐมนตรีพาณิชย์มาร่วมวงประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเทพฯ
ทรัมป์คงรู้ว่าการที่ตัวเองไม่มาปรากฏตัวที่เมืองไทย แต่จีนส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงมาเองนั้น ย่อมจะทำให้ภาพของสหรัฐฯ ลดความสำคัญลงไปไม่น้อย
จึงต้องคิดข้อเสนออะไรที่ฟังดูเหมือนจะสามารถประชันขันแข่งกับ BRI ของจีนได้
แต่พอประกาศออกมาเท่านั้น คนทั่วไปก็จับไต๋ได้ว่าอเมริกายังไม่ได้คิดให้ทะลุ เพียงแต่กลัวจะเสียฟอร์ม ปล่อยให้จีนเดินหน้าเรื่องนี้ไปเสียไกลแล้วจึงออกมาแสดงตนอย่างฉุกละหุก
รัฐมนตรีรอสส์ย้ำนักย้ำหนาว่า การที่ทรัมป์ไม่ได้มาประชุมเองนั้นไม่ได้แปลว่าอเมริกาลดความใส่ใจต่อเอเชียแต่อย่างใด
"เราไม่มีความตั้งใจใดๆ ที่จะทิ้งฐานะทางทหารและภูมิรัฐศาสตร์ของเราในภูมิภาคนี้ เราจะปักหลักอยู่ที่นี่อย่างถาวร และเราจะลงทุนต่อไปเรื่อยๆ และเราจะเพิ่มความสัมพันธ์ทางด้านทวิภาคีกับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง"
นั่นคือคำประกาศของรัฐมนตรีรอสส์เมื่อถูกนักข่าวซักหนักว่า อเมริกายอมถอยให้จีนในย่านนี้แล้วใช่หรือไม่
ชื่อของโครงการ Blue Dot Network มีที่มาที่ไปอย่างไร?
ได้รับคำชี้แจงว่าเป็นชื่อของรูปที่ถ่ายจากยานอวกาศ Voyager 1 ที่เห็นโลกจากระยะไกล ภาพนั้นแสดงให้เห็นถึงจุดสีฟ้าเป็นทาง เหมือนเป็น "เครือข่ายจุดสีฟ้า" บนท้องฟ้า
อีกทั้งนี่เป็นชื่อของนิยายวิทยาศาสตร์ที่เขียนโดยนักเขียนอเมริกันคนดัง Carl Sagan ว่าด้วยจินตนาการของเขาต่อการดำรงอยู่ของจักรวาลอันยิ่งใหญ่
พอถามต่อว่าโครงการนี้จะมีใครมาเกี่ยวข้องบ้าง รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ บอกว่าจะเป็นรูปแบบพันธมิตรที่รวมรัฐบาลต่างๆ กับบริษัทเอกชนและประชาสังคม ที่จะทำงานภายใต้ "มาตรฐานร่วมกัน"
ฟังแล้วก็ยังกว้างเกินกว่าที่จะเข้าใจได้ว่าสหรัฐฯ ต้องการจะทำอะไรกันแน่
รู้แต่เพียงว่านี่คือความพยายามของวอชิงตัน ที่จะส่งสัญญาณไปทั่วโลกว่าอเมริกาจะไม่ยอมปล่อยให้เกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับภูมิรัฐศาสตร์ ให้จีนฉวยเข้ามาถมช่องนี้เป็นรูปธรรม
ที่ปรึกษาโอไบรอันบอกว่า แนวทางของข้อเสนอใหม่นี้จะป้องกันไม่ให้ประเทศต่างๆ ต้องเป็นหนี้มากมาย เพราะการทำโครงการว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐาน...อีกทั้งยังจะต้องเป็นโครงการที่มี "คุณภาพสูง"
ทั้งสองประโยคนี้ไม่ต้องตีความให้ยากก็รู้ว่าเขาตีวัวกระทบคราดไปถึงจีน
เพราะสหรัฐฯ เคยออกมาวิพากษ์ว่าโครงการ BRI ของจีน ทำให้หลายประเทศที่เข้าไปร่วมมือต้องกู้เงินจากจีนจนหนี้ท่วมหัว ไม่ช้าไม่นานก็อาจจะถูกจีนยึดโครงการไปเพราะไม่สามารถจะจ่ายหนี้คืนได้
ปักกิ่งออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาหลายครั้งว่า อเมริกาบิดเบือนความจริง และพยายามจะใส่ร้ายป้ายสีประเทศจีนที่สร้าง BRI ขึ้นมาก็เพื่อร่วมมือกับทุกประเทศในการสร้างโครงข่ายคมนาคมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
จับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไปครับ ยิ่งมหาอำนาจแข่งกันเสนอความร่วมมือกับเรามากเท่าไหร่ยิ่งดี เราจะได้เอามาเปรียบเทียบและแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเราสูงสุด
คอยฟังอย่างตั้งใจและตั้งคำถามให้ตรงประเด็นนะครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |