7 พ.ย 62 - น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า แนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม อย่ามัวปลื้มกับข้อมูลด้านเดียวที่ได้รับถึงขั้นออกมากล่าวเมื่อวานนี้ 6 พ.ย. 2562 ว่า มาตรการทางการเงินหลายอย่างเดินมาถูกทางแล้ว สถานะการเงินไทยจะเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ อย่ามัวฟังแต่ข่าวด้านเดียว แล้วคิดว่าเศรษฐกิจของประเทศดีประดุจเดินท่องในทุ่งลาเวนเดอร์ ช่วยหันมามองความจริงหลายๆ ด้าน เช่น ข่าวการจบชีวิตหนีหนี้ของประชาชนที่มีมาตลอด 2-3 เดือนนี้ และการปิดโรงงานเพราะยอดสั่งซื้อลดลงรายวันที่ยังมีข่าวทุกสัปดาห์บ้าง โดยในสัปดาห์นี้มีการปิดโรงงาน 2 แห่ง คือ ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะลอยแพคนงาน 200 คน และโรงงานที่ศรีราชาปลดคนงานออก 1,000 คน
น.ส.เกศปรียา กล่าวต่อไปว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาปลื้มกับข้อมูลสถานะการเงินของประเทศข้างต้นแล้วนำมาขยายต่อ แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจว่าเศรษฐกิจดีตามข้อมูลที่ได้รับ เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าไม่มีวิสัยทัศน์ที่รอบด้าน ไม่เหมาะที่จะมาเป็นผู้บริหารประเทศ เพราะจะทำให้คนไทยอดตายกันเกือบหมดประเทศ อีกทั้งตอกย้ำให้สังคมมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลล้มละลายทางคำพูดเพิ่มขึ้น เพราะสิ่งที่พูดออกไปไม่ใช่เรื่องจริง สัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนก็คือสัญญาที่ว่างเปล่า ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้สร้างภาพลักษณ์ด้านนี้ไว้ตลอดห้าปีที่ผ่านมา และในปีที่ 6 ก็ยังออกมาย้ำภาพลักษณ์นี้
การแก้ปัญหาใดๆ ต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหาโดยมองปัญหาให้รอบด้าน ว่าปัจจัยกดดัน เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมีอะไรบ้าง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ด้านการบริโภคของครัวเรือนระดับล่างอ่อนแอ ส่วนสำคัญมาจากรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต้องแก้ไขจุดนี้ แต่เวลา 5 ปีพิสูจน์แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถแก้ไขได้
- เงินบาทไทยแข็ง ทำให้ผู้ส่งออกเสียความสามารถในการแข่งขัน สินค้าค้างสต๊อกระบายไม่หมด จึงต้องลดการจ้างงาน ปิดโรงงานตามข่าว เมื่อวาน 6 พ.ย. 2562 แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ย สู่จุดต่ำสุดที่ 1.25% ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกที่หดตัวลงทำให้กระทบกับการจ้างงาน ดอกเบี้ยลดครั้งนี้เท่ากับตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจซับไพรม์ในช่วงปี 2008 เท่ากับว่าตอนนี้แบงก์ชาติส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจที่ระดับขีดสุดเท่าที่เคยปรากฏมาในประวัติศาสตร์แล้ว แต่มาตรการลดดอกเบี้ยจะเกิดผลต้องใช้เวลานานราว 4-6 ไตรมาส รัฐบาลควรแจ้งให้ประชาชนรับมือ ไม่ใช่มาโวว่าเศรษฐกิจดี
- การก่อสร้างยังอ่อนแอ ตามความต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่โตช้าตามภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง และผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์เองก็ชะลอโครงการใหม่เรื่องจากอุปทานส่วนเกินที่มีมาก
- ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ในช่วงที่ภาคเอกชนอ่อนแอ ทางภาครัฐก็ยังไม่สามารถเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก การลงทุนภาครัฐชะลอตัว
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังทำได้จำกัด และไม่ได้ผลตามเป้าหมาย แม้ภาครัฐได้มีการออกมาตรการบัตรสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แต่ก็ทำได้เพียงประคองกำลังซื้อไว้ไม่ให้ทรุดตัวมากไปกว่านี้ หรือโครงการชิมช๊อปใช้ที่เป้าหมายต้องการให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มในกระเป๋าสองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งข้อมูลล่าสุด (3 พ.ย.) มียอดการใช้จ่ายเพิ่มในกระเป๋า 2 เพียง 1,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 60,000 ล้านบาทที่รัฐบาลตั้งไว้มากการที่รัฐบาลทุ่มงบ 13,000 ล้านบาทแจกประชาชน 13 ล้านคนไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดังเป้าหมาย
"นี่เพียงตัวอย่างปัญหาที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขให้ได้ การจะเป็นผู้บริหารประเทศต้องศึกษาและแก้ปัญหาให้รอบด้านไม่ใช่บริหารประเทศโดยให้ผู้สนับสนุนมาสร้างกระแสข่าวว่าเศรษฐกิจดี หรือสร้างภาพโฆษณาชวนเชื่อแบบยุคสงครามเย็นรุ่นคุณประยุทธ์ จนโลกโซเชี่ยลต้องออกมาตอบโต้ด้วยแฮชแท็กว่า #อย่ามาเถียงว่าเศรษฐกิจดีเจอมากับตัว ใครก็ตามถ้ารู้ตัวว่าไม่มีความสามารถก็ควรหลีกทางให้ผู้ที่มีความสามารถเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่ยึดประเทศไว้เป็นตัวประกันเพื่อสนองความต้องการส่วนตน โดยสร้างความลำบากให้ประชาชนส่วนใหญ่" น.ส.เกศปรียา กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |