ราคายาในโรงพยาบาลเอกชนแพงเพราะมีต้นทุนสูงหรือเพราะมีกำไรเกินปกติ


เพิ่มเพื่อน    

ประเด็นที่ค้างคาใจสังคมและผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชนก็คือเรื่อง ราคาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่มีการเรียกเก็บในอัตราสูง จนภาครัฐเองในบางครั้งก็ต้องยื่นมือเข้ามาทำอะไรบ้างบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อกระแสสังคม ตัวอย่างล่าสุดก็คือ กรณีที่ทางอธิบดีกรมการค้าภายในได้นำเสนอแนวทางการจัดแบ่งกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามเกณฑ์การคิดราคาค่ายาที่ไม่เท่ากัน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกใช้บริการจากโรงพยาบาลให้ตรงกับความสามารถและความยินดีในการจ่ายของแต่ละคน โดยกลุ่มที่หนึ่งคือกลุ่มสีเขียว หมายถึงกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่คิดค่ายาไม่แพง (ราคายาคิดถูกกว่าราคาเฉลี่ยของยาประเภทเดียวกันของแต่ละโรงพยาบาลรวมกันจากจำนวนยาทั้งหมด 3,000 รายการ) ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีโรงพยาบาลเอกชนอยู่ประมาณ 214 แห่ง ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มสีเหลือง ได้แก่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่คิดราคายาในระดับกลาง ซึ่งมีจำนวนโรงพยาบาลอยู่ 64 ราย และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มสีแดง ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่คิดราคายาแพงและมีอยู่ประมาณ 73 ราย เป็นต้น แม้ว่ามาตรการใหม่นี้จะมีข้อดีตรงที่ว่า มันเป็นวิธีการแก้ปัญหาในลักษณะที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงด้านราคาค่ายาที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการใช้มาตรการเชิงบังคับเพื่อควบคุมราคาค่ายาโดยตรง เพราะหากทำเช่นนั้นแล้ว ก็เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย อย่างไรก็ตาม มาตรการใหม่นี้ก็ยังมีจุดอ่อนตรงที่ว่า มันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดตรงประเด็นที่จะมีผลเชิงลบโดยตรงกับโรงพยาบาลเอกชนที่ยังคงคิดราคาค่ายาในระดับที่แพงเกินระดับความเหมาะสม 

สิ่งที่โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่น่าจะได้อธิบายชี้แจงต่อสังคมให้มากขึ้นก็คือเรื่อง สาเหตุที่ทำให้ “ราคาที่เป็นตัวเงิน” ของยาแพงกว่าของโรงพยาบาลรัฐเป็นเพราะว่า โรงพยาบาลเอกชนมี “ต้นทุนที่สูงกว่า” แทนที่จะเป็นเรื่องของการมี “กำไรเกินปกติ” ตามที่เข้าใจกัน เพราะหากพิจารณาจากงบการเงินของโรงพยาบาลจำนวนมากที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ก็พบว่าโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว ต่างก็จะมีผลกำไรเฉลี่ยอยู่ที่ราวร้อยละ 5-15 ซึ่งเป็นอัตราผลกำไรที่ไม่ได้สูงไปกว่าการประกอบกิจการของธุรกิจประเภทอื่น ดังนั้น การที่โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่คิดราคาค่ายาแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐจึงมีสาเหตุหลักมาจากเรื่องการมีต้นทุนที่สูงกว่าอันสืบเนื่องจาก ประการแรก โรงพยาบาลรัฐได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทำให้ไม่ต้องรับภาระบางส่วนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ทั้งค่าบุคลากร ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และต้นทุนการจัดซื้อราคายา

และประการที่สอง โรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่ต้องถูกควบคุมคุณภาพตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งมีผลทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นยาในสถานพยาบาลจึงไม่ใช่สินค้า แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา โดยที่เภสัชกรในโรงพยาบาลเอกชนจะต้องจ่ายยาให้คนไข้ตามคำสั่งแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อรวมต้นทุนยา ต้นทุนค่าจ้างบุคลากร และต้นทุนการบริหารจัดการ จึงทำให้โครงสร้างต้นทุนราคายาของโรงพยาบาลเอกชนนั้นสูงกว่าของโรงพยาบาลรัฐมาก นอกจากนี้ การถูกควบคุมคุณภาพตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ยังมีผลทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องมีภาระการลงทุนด้านอาคารสถานที่ที่สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ ตัวอย่างเช่น ต้องวางเตียงห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร

ในขณะที่สถานพยาบาลภาครัฐหลายแห่งต้องเอาเตียงมาเรียงชิดกันเพราะมีคนไข้จำนวนมาก เป็นต้น ดังนั้นการที่โรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนที่สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ ส่วนหนึ่งจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการต้องลงทุนและว่าจ้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในราคาที่แพงมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีประสิทธิภาพของการบริการที่รวดเร็วและมีคุณภาพการให้บริการที่ดีเป็นกันเองมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ (ทั้งๆ ที่คุณภาพทางคลินิกทั้งโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐต่างก็มีมาตรฐานด้วยกันทั้งคู่) ดังจะเห็นได้จากการที่มีข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่มีสิทธิ์สามารถเข้าใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชนได้โดยการจ่ายเพิ่มบางส่วนนั้น มักจะยินดีเลือกมาใช้บริการกับโรงพยาบาลเอกชนแทนการไปใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐ เป็นต้น โดยสรุปแล้ว ประเด็นสำคัญที่โรงพยาบาลเอกชนจะต้องสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจอย่างถูกต้องก็คือ เรื่องความแตกต่างของ “ราคาที่เป็นตัวเงิน” กับ “ราคาที่แท้จริง” ของยาที่ผู้ป่วยต้องจ่ายไปเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรามีคำเตือนใจสำหรับการเปรียบเทียบสินค้าหรือสิ่งของที่ต่างประเภทกันว่า “อย่าเผลอไปเปรียบเทียบแอปเปิ้ลกับส้ม หากทั้งสองสิ่งนี้ยังไม่ถูกปรับให้อยู่ในสภาพที่จะนำมาเปรียบเทียบกันด้วยเกณฑ์ที่เป็นฐานเดียวกันได้” ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากก็ไม่ได้คิดราคายาที่แพงเกินปกติเมื่อดูจากข้อมูลในการจัดกลุ่มสีเขียวของโรงพยาบาลเอกชนจากกรมการค้าภายในตามที่ได้กล่าวไปแล้ว    

หากใครจะทดสอบสมมติฐานที่ว่า “โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดราคายาที่แท้จริง (เทียบต่อประสิทธิภาพและคุณภาพในการให้บริการ) สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ” ผู้เขียนเห็นว่าสามารถทำได้ด้วยวิธีการทดลองแบบสุ่ม ที่เริ่มจากการสุ่มเลือกตัวอย่างของโรงพยาบาลรัฐเพื่อใช้ในการทดลองที่จำเป็นจะต้องกำจัดความลำเอียงโดยการคัดเลือก (selection bias) ออกไปตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ กลุ่มตัวอย่างโรงพยาบาลรัฐเหล่านี้ควรต้องสามารถเป็นตัวแทนของประชากรทางสถิติของโรงพยาบาลรัฐทั้งประเทศได้ โดยที่ตัวอย่างโรงพยาบาลรัฐจะได้รับการจัดแบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยวิธีการสุ่ม หลังจากนั้นก็จะมีการปฏิบัติต่อโรงพยาบาลรัฐผู้ร่วมการทดลองในสองกลุ่มนี้เหมือนกันทุกประการ ยกเว้นเรื่องที่โรงพยาบาลรัฐบางแห่งได้รับความช่วยเหลือด้านการลงทุนและอื่น ๆ จากภาครัฐที่มากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เรื่องการสนับสนุนเรื่องการลงทุนของโรงพยาบาลรัฐในการยกระดับการบริหารจัดการเรื่องยาให้ได้ในเกณฑ์มาตรฐานที่สูงกว่า และอื่น ๆ     เป็นต้น

ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ดูว่าเงินที่ภาครัฐได้ใส่เพิ่มในการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดนี้คิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ที่ทำให้โรงพยาบาลรัฐในกลุ่มนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและคุณภาพการบริการที่ดีกว่าของโรงพยาบาลรัฐที่เป็นตัวอย่างในอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้จำนวนเงินที่ภาครัฐได้ลงทุนเพิ่มสำหรับโรงพยาบาลรัฐในกลุ่มนี้ก็สามารถนำไปคำนวณหา “ราคาที่แท้จริง” ของยาที่โรงพยาบาลรัฐในกลุ่มนี้ได้เรียกเก็บจากคนไข้ของตน ซึ่งก็จะสามารถนำไปใช้เปรียบเทียบกับ “ราคาที่แท้จริง” ของยาที่โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บจากผู้ป่วยของตนได้ในที่สุด ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของโรงพยาบาลรัฐดังกล่าวข้างต้นที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันก็คือ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งโรงพยาบาลบ้านแพ้วได้ทำการว่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยอัตราค่าจ้างที่สูง โดยโรงพยาบาลได้รับเงินสนับสนุนทั้งจากรัฐและจากเงินบริจาคช่วยเหลืออื่น ๆ เป็นจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่เราจะทำการศึกษาหา “ราคาที่แท้จริง” ของยาที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วเรียกเก็บจากคนไข้ของตนเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับ “ราคาที่แท้จริง” ของยาที่โรงพยาบาลเอกชนในแต่ละกลุ่มได้เรียกเก็บจากคนไข้ของตนตามที่ได้กล่าวไปแล้ว

ดังนั้น การศึกษาทดลองตามแนวคิดนี้ ก็จะช่วยให้สังคมได้คำตอบที่ชัดเจน เป็นวิทยาศาสตร์ และตรวจสอบได้ว่า โรงพยาบาลเอกชนนั้นมีการตั้งราคาที่แท้จริงของยาในระดับที่แพงกว่าราคาที่แท้จริงของยาในโรงพยาบาลรัฐจริงหรือไม่ ซึ่งก็น่าจะเป็นที่ยอมรับของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมได้ในที่สุด   

กนิษฐา หลิน
อารยะ  ปรีชาเมตตา
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"