แบนสารพิษทำต้นทุนเพิ่ม กษ.เร่งเยียวยาเกษตรกร


เพิ่มเพื่อน    

 เกษตรฯ เผยแบน 3 สารเคมีทำต้นทุนเกษตรกรเพิ่ม 5-10 เท่า พบยังเหลือคงค้างในสต๊อกกว่า 2.5 หมื่นตัน เตือนประชาชนเร่งแจ้งก่อน 1 ธ.ค. งดเว้นเจอโทษหนักคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้าน  "เฉลิมชัย" ระบุต้องใช้งบในการทำลายที่สูงถึงลิตรละ 1 แสนบาท "พรศิลป์" อ้างอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เจ๊งแน่

    เมื่อวันพุธ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรหลังปรากฏการณ์ 1 ธ.ค.62 ที่จะต้องยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี พาราควอต, ไกลโฟเซต, คลอร์ไพริฟอส ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติไว้ โดยมอบให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้แต่ละกระทรวงสรุปผลกระทบและแนวทางการแก้ไขมายังกระทรวงเกษตรฯ โดยเร็วที่สุด เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี
     ทั้งนี้ ในส่วนของ 1.กระทรวงพาณิชย์ ให้ติดตามในเรื่องของราคาสารเคมีเกษตร ที่อาจมีการฉวยโอกาสขึ้นราคา การหลอกลวงทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ 2.กระทรวงอุตฯ กรณีผลกระทบต่อวัตถุดิบอาหารสัตว์ และสำหรับคนที่มีการใช้ 3 สาร จะมีผลกระทบหรือไม่ เช่น การนำเข้าถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ที่นำเข้ามาผลิตเพื่อวางมาตรการต่อการนำเข้า และต้องเตรียมด้วยว่าหากมีการร้องต่อองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) ว่าใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจะมีการดำเนินการอย่างไร 3.กระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องมาช่วยเหลือในการตรวจร่างกายเกษตรกร ประชาชนในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ และ 4.กระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องมีการออกมาตรการควบคุมการลักลอบนำเข้าเพื่อสรุปแนวทางการช่วยเหลือทั้งหมดจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี
     "ทั้งนี้ การยกเลิก 3 สารและขึ้นเป็นบัญชี 4 นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ทำต้นทุนการผลิตทางการเกษตรฯ พบว่าเมื่อเลิกใช้ 3 สาร ต้นทุนของขบวนการผลิตสินค้าทางการเกษตรทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10 เท่า ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ลด โดยเป็นราคาค่าสารทางเลือกตามที่ขึ้นบัญชีกับกรมวิชาการเกษตร และค่าเครื่องจักรกล ค่าแรง ซึ่งแนวทางที่กระทรวงเกษตรฯ จะใช้คือการส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ และการใช้สารอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ เพื่อใช้แนวทางการเกษตรปลอดภัยและการเป็นครัวของโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ สศก.กลับไปทำตัวเลขเปรียบเทียบ ทั้งก่อน  1 ธ.ค.62 และตัวเลขที่คาดการณ์หลัง 1 ธ.ค.62“ นายอลงกรณ์กล่าว
     ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ กล่าวด้วยว่า สศก.ได้ทำรายละเอียดมานั้น พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการกำจัดวัชพืชนั้น แยกเป็น 1.ค่าแรงดายหญ้า (4 คนต่อไร่) อัตรา 1,200 บาทต่อไร่ต่อครั้ง 2. ใช้สารกำจัดวัชพืชก่อนงอก 300 บาทต่อไร่ต่อครั้ง 3.ใช้พาราควอต หรือไกลโฟเซต หลังวัชพืชงอก 150 บาทต่อไร่ต่อครั้ง 4. ใช้กลูโฟสิเนตหลังวัชพืชงอก 550 บาทต่อไร่ต่อครั้ง 5.จอบหมุนพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ หรือรถไถพ่วงท้ายคราดสปริง 350 บาทต่อไร่ต่อครั้ง
     ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เตรียม 1.ยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่..) พ.ศ.... และประกาศในเว็บไซต์ของกรมเพื่อรับฟังความเห็น (24 ต.ค.-8 พ.ย.) และรวบรวมเสนอต่อกรรมการวัตถุอันตราย 2.ยกร่างคำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่... เรื่องการดำเนินการกับวัตถุอันตราย ชนิดที่  4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง แจ้งปริมาณวัตถุอันตราย (พาราควอต, ไกลโฟเซต,  คลอร์ไพรฟอส) และส่งมอบภายในเวลาที่กำหนด เพื่อรวบรวมและทำลายต่อไป ซึ่งหากไม่แจ้งครอบครองมีโทษจำคุกไม่เกิน  10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นทั้งหมดได้ให้กรมวิชาการเกษตรเตรียมดำเนินการ
     นายอลงกรณ์กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 23 ต.ค.2562 พบว่ามี 3 สาร คงเหลือประมาณ 23,000 ตัน และอยู่ในการครอบครองของสหกรณ์การเกษตร 518 แห่ง ประมาณ 500 ตัน ซึ่งในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ คาดว่าเมื่อถึง  1 ธ.ค.62 จะเหลือประมาณกว่า 200 ตัน รวมแล้วประมาณกว่า 2 หมื่นตันที่ทั้ง 3 สารเป็นปริมาณกว่าครึ่งของสารเคมีที่นำเข้ามาในไทย ทั้งนี้ ค่าทำลายสารประมาณตันละ 1 แสนบาท ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะใช้วิธีการใด ทั้งการรีเอ็กซ์พอร์ตหรือรัฐทำลาย เพราะมีทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและเอกชน เนื่องจากก่อนหน้าเคยมีการแบนสารเคมีมาแล้วเมื่อประมาณปี 2557 แต่เพียงแค่ 1 ตัว 
    นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ให้กรมวิชาการเกษตรสำรวจสต๊อกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ว่ามีอยู่ในประเทศเท่าใด ก่อนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม สามารถอนุญาตให้ส่งออกไปประเทศที่ยังใช้สารเหล่านี้อยู่ได้หรือไม่ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้นำเข้าและผู้ค้า รวมถึงงบประมาณในการทำลายที่สูงถึงลิตรละ 100,000 บาท พร้อมกันนี้ให้เร่งศึกษาวิจัยสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ หากทดสอบประสิทธิภาพใช้ได้ผลจริง เปิดกว้างขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร
    นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยนำเข้าถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลีปีละกว่า 7 ล้านตัน จากสต๊อกวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศจะรองรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และกุ้งได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น หากรัฐบาลไม่มีแผนรับมือ ธุรกิจเหล่านี้จะล่มสลาย ตลอดจนเกิดปัญหาการเลิกจ้างงานและปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาแน่นอน
    “ทันทีที่การยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดมีผลบังคับใช้ ต้องห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ใช้ 3 สารนี้แน่นอน ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรไทย อีกทั้งผู้บริโภคจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร หากยังนำเข้าสินค้าที่ใช้สารเคมีที่ไทยยกเลิก เห็นชัดเจนว่าการตัดสินใจด้านนโยบายยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนี้ รัฐไม่ได้มองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาให้รอบด้าน หากผู้บริหารประเทศรับข้อมูลที่ผิด ไม่มีทางที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง” นายพรศิลป์กล่าว
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยว่า เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งก็ต้องไปทำความเข้าใจกับประชาชนและเกษตรกรที่ยังสงสัยและเห็นต่างกันอยู่ และต้องดูแลเรื่องผลกระทบให้ชัดเจน รวมถึงจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอน
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า คนทั้ง 27 คนลงมติอย่างชัดเจนว่าแบน 3 สารพิษแล้ว จะไปแก้ไขตรงนั้น ตนก็ไม่รู้ เพราะมันเป็นมติไปแล้ว ส่วนในวันที่ 1 ธ.ค. จะเป็นวันที่ให้ยกเลิก 3 สารพิษเหมือนเดิมหรือไม่นั้น ไม่ทราบ ยืนยันกระทรวงสาธารณสุขเราจะยกเลิกทุกสารพิษที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตประชาชนที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งเราสนับสนุนไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนผลกระทบในมิติอื่นกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ว่ากันไป
    ขณะที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การนำเข้าสารเคมีเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ ต้องไปพิจารณา แต่ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติสั่งแบน ถือว่าหมดหน้าที่แล้ว และไม่ทราบเรื่องจริงๆ ที่นายเฉลิมชัยตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรและหาสารทดแทน 3 สารเคมี.

    
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"