ทำไมอินเดียกระโดด ออกจาก RCEP?


เพิ่มเพื่อน    

 

        ข้อตกลงก่อตั้งเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่มีชื่อ RCEP (Regional Comprehensive  Economic Partnership) เกิดหรือยังหลังการประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา?

                หากคุณเชื่อบางข่าวก็จะบอกว่าแนวความคิดนี้เดี้ยงแล้วเพราะอินเดียถอนตัว

                แต่ถ้าคุณเชื่ออีกกระแสหนึ่งก็จะมีความยินดีว่า หลังการเจรจากันมา 7 ปีบัดนี้มีข้อตกลงอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว...อย่างน้อย 15 ประเทศก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะเดินหน้าต่อไป...ยกเว้นอินเดียซึ่งมีปัญหาบางประการ ขอกลับไปทบทวนและจะกลับมาเจรจา หวังว่าต้นปีหน้าเมื่อเวียดนามเป็นประธานอาเซียนก็จะได้สรุปให้พร้อมหน้ากัน

                ผมมองว่าเราต้องมองทั้งสองภาพที่ทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งแปลว่าเราต้องสรุปว่า RCEP ได้ข้ามพ้นความกังวลของคนส่วนใหญ่แล้ว และกำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

                อย่างน้อยผมมองว่าท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่มีผลกระทบอย่างกว้างไกลต่อเศรษฐกิจโลกและไทย การที่ 10 ประเทศอาเซียนสามารถตกลงหลักการกับอีก 5  ประเทศได้นั้นย่อมเป็นก้าวย่างที่น่ายินดี

                อาเซียนบวกกับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากอยู่แล้ว

                หากรวมอินเดียเข้าด้วยแล้ว RCEP จะมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก

                สัดส่วนของจีดีพีหรือผลผลิตมวลรวมของทั้ง 16 ประเทศเท่ากับ 1 ใน 3 ของโลก

                มูลค่าการค้ารวมกันแล้วเกือบเท่ากับ 30% ของทั้งโลก

                ทำไมอินเดียจึงไม่ร่วมในตอนนี้?

                คำตอบง่ายๆ คืออินเดียกลัวจีนจะทุ่มสินค้าถูกๆ จนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินเดียเอง

                ฝ่ายค้านหลักในอินเดียคือพรรค Congress และสหภาพแรงงานใหญ่ๆ ได้ออกมารณรงค์ต่อต้าน  RCEP และนายกฯ นเรนทรา โมดีย่อมรู้ว่าหากขืนเดินหน้าเข้าร่วมเขตการค้าเสรีนี้ก็อาจจะเสียฐานเสียงได้ไม่น้อย

                ไปๆ มาๆ ทุกเรื่องในโลกนี้ล้วนโยงไปถึงการเมืองในประเทศทั้งสิ้น

                ไม่ว่าจะเป็นการที่อเมริกาตัดสินใจถอนตัวออกจาก Paris Agreement ความตกลงปารีสว่าด้วยโลกร้อน หรือยกเลิกการเข้าร่วม TPP (Trans-Pacific Partnership) ที่สหรัฐฯ สมัยบารัก โอบามาเป็นผู้นำเป็นคนริเริ่มเอง

                แต่ทรัมป์ต้องการเอาใจผู้สนับสนุนตัวเองที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มองว่านโยบายที่โยงกับ "เขตการค้าเสรี" และ "โลกาภิวัตน์" ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและรายได้ของชนชั้นกลางที่ปรับตัวไม่ได้ทั้งสิ้น

                จึงเป็นที่มาของนโยบาย America First และ Make America Great Again ของทรัมป์ แม้ว่านายกฯ โมดีของอินเดียจะพยายามผลักดันนโยบาย Look East และ Act East เพื่อขยายความร่วมมือไปทางตะวันออก นั่นคือกับเอเชียในด้านการค้าและลงทุน แต่พอเจอกับแรงต้านจากกลุ่มต่างๆ ในประเทศที่เห็นผลประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้นเป็นหลัก การก้าวเดินเพื่อให้เข้าสู่ทิศทางแห่งโลกยุคใหม่ก็ย่อมเผชิญกับอุปสรรคทันที

                นายกฯ โมดีบอกในการประชุมที่กรุงเทพฯ ว่า ข้อตกลง RCEP ตามที่ตกลงกันนั้นไม่ได้สะท้อนถึง  "สปิริตและหลักการใหญ่" ของแนวคิดที่นำเสนอตั้งแต่ต้น ดังนั้นอินเดียจึงขอไม่เข้าร่วมในขณะนี้

                อินเดียมุ่งเดินหน้าด้วยนโยบาย Make in India เพื่อตอกย้ำถึงแนวทางการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในอินเดีย และเชิญชวนนักลงทุนชาติอื่นมาลงทุนในอินเดีย แทนที่จะเปิดตลาดของตัวเองให้สินค้าที่ผลิตที่อื่น

                อีกประการหนึ่งอินเดียยังขาดดุลการค้ากับหลายประเทศในกลุ่ม RCEP

                ยอดรวมการขาดดุลการค้าของอินเดียกับชาติต่างๆ ใน RCEP สูงถึง 105,000 ล้านเหรียญ เฉพาะกับจีนเองก็ขาดดุลแล้ว 54,000 ล้านเหรียญ

                ความกลัวที่สำคัญที่สุดคือ หากเปิดประตูให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาโดยไม่มีภาษานำเข้าหรือเก็บภาษีต่ำ ชาวไร่ชาวนาและธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบ

                สำหรับไทยเรานั้น RCEP ย่อมจะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกประเทศที่เข้าร่วมย่อมจะต้องประเมินทั้งข้อดีและข้อเสีย

                เพราะไม่มีสูตรไหนที่ประเทศใดจะได้อย่างเดียว ต้องยอมสละผลประโยชน์บางอย่างเพื่อได้อะไรที่มากกว่า...และรัฐบาลที่กล้าตัดสินใจต้องหาทางเยียวยาช่วยเหลือส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพเท่านั้น! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"