จะทำอะไรก็ตกเป็นกระแสไปหมดสำหรับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ที่ล่าสุดไอเดียบรรเจิดมีนโยบายต่อยอดการใช้ GPS กับรถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ จากที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการกับรถ 4 ประเภท ได้แก่ รถบรรทุก รถตู้โดยสาร รถรับจ้างสาธารณะ และรถโดยสารขนาดใหญ่ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และการก่ออาชญากรรมด้วย
โดยในเบื้องต้นได้มอบให้กรมขนส่งทางบก (ขบ.) ไปดำเนินการประเมินประโยชน์ รวมถึงราคาระบบการติดตั้ง GPS การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน กฎหมายสิทธิส่วนบุคคล พร้อมทั้งหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมภายในเดือนนี้ ถึงแนวทางการดำเนินการ และระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ
ในหลักการคาดว่าจะเห็นความชัดเจนและเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี และได้มอบหมายให้ ขบ.ไปหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมให้ติดตั้ง GPS กับรถใหม่ตั้งแต่ออกจากโรงงาน เนื่องจากจะต้องใช้กฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการบังคับใช้ด้วย รวมถึงดำเนินการศึกษาเรื่องของอุปกรณ์และบริการหลังติดตั้งให้มีราคาถูกลง ส่วนรถเก่าที่ยังไม่ได้ติดตั้งก็จะพยายามดำเนินการหามาตรการบังคับใช้ ต้องดำเนินการศึกษากฎหมายว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่
ไม่ทันไรพอข่าวนี้ออกไปไม่ทันข้ามคืนก็เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักว่าเป็นการโยนภาระให้ประชาชน โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคล ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จากค่าติดตั้ง GPS และค่าบริการรายเดือน อีกทั้งเป็นการเอื้อผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุด รมว.คมนาคมไม่ได้นิ่งเฉยแต่อย่างใด ได้ออกมาอธิบายให้สื่อมวลชนฟังว่า ในการติด GPS สามารถนำข้อมูลมาใช้ในด้านความปลอดภัย และการป้องกันการโจรกรรมด้วย โดยให้ ขบ.ไปพิจารณาว่า อุปกรณ์ GPS ในปัจจุบันที่มีราคาถูก รวมถึงรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีระบบ GPS อยู่แล้วนั้น หากต้องการเชื่อมข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก โดยมีการกำหนดรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่านสามารถดำเนินการได้หรือไม่
ขณะที่การดำเนินการนโยบายดังกล่าวนั้น ถือเป็นการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และไม่ได้มีการบังคับ แต่ในเบื้องต้นจะเริ่มจากภาคสมัครใจ ทั้งนี้ ยืนยันว่าข้อมูลจีพีเอสนั้น ไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะที่เปิดเผยทั่วไป และไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วย
สำหรับประโยชน์ของผู้ที่ติดตั้งระบบ GPS บนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ตอนนี้ระบบไปถึงขั้นที่จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ เพราะถ้า GPS เชื่อมต่อกันได้ สามารถเว้นระยะห่างของรถได้เลย รวมไปถึงขั้นไม่สามารถสตาร์ทรถได้ ถ้าไม่ได้ขับรถ ซึ่งจริงๆ แล้วมีอยู่ในรถรุ่นใหม่ในตอนนี้ และหากรถที่ยังไม่มีและจะติดตั้ง โดยเรากำลังดูถึงเทคโนโลยีที่มีราคาต่ำหรือมีราคาหลักร้อย ซึ่งทำแบบนี้ได้ด้วย เพียงแค่นำอุปกรณ์มาเชื่อมกับซอฟต์แวร์ที่เราพัฒนาขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมกับสัญญาณจราจรได้ด้วย ยืนยันว่าในเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้นมีราคาถูกมากๆ
ส่วนการติด GPS ในขณะนี้รูปแบบในส่วนที่ไม่มีค่าบริการรายเดือนนั้น ขบ.จะต้องติดต่อไปยังผู้ใช้บริการ ซึ่งจะไม่มีการรายงานในทันที (Real Time) ขณะเดียวกันหากต้องการใช้ข้อมูลหรือรายการในทันทีนั้น จะต้องใช้สัญญาณจากโทรศัพท์มือถือ โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับภาคโทรคมนาคม สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้ดำเนินการแล้ว
ในส่วนของข้อกังวลของประชาชน ทั้งการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้น และการใช้ประโยชน์นั้น ในปัจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา โดยยืนยันว่าจะดำเนินการเพื่อความปลอดภัย ทั้งยังไม่กระทบกับประชาชน และเป็นภาคสมัครใจ นอกจากนี้ยังสั่งการให้ ขบ.ไปหารือร่วมกับกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมมือกับบริษัทประกันต่างๆ ด้วย
กรณีที่มีกระแสต่อต้านนั้นอาจเป็นเพราะการอธิบายยังไม่ละเอียดเพียงพอ ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งเรื่องนี้หากทำ จะเป็นภาคสมัครใจ ไม่มีการบังคับ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะต้องศึกษารายละเอียด การพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีที่สุด และมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย รวมถึงระบบป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
ก็ต้องมาลุ้นกันว่านโยบายติด GPS กับรถส่วนบุคคล จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะนอกจากจะเกิดกระแสต่อต้าน จน รมว.คมนาคม นั่งไม่ติดต้องออกมาชี้แจงถึงข้อดีในการติด GPS เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการโจรกรรม รวมถึงไม่ได้มีการบังคับให้ติดแต่อย่างใด เรื่องนี้ก็ต้องดูยาวๆ กันไปว่าที่สุดแล้วผลศึกษาจะออกมาอย่างไร.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |