อยู่ไม่สุข!อนค.ซักฟอกคสช.ย้อนหลัง


เพิ่มเพื่อน    

 พปชร.ส่ง "สิระ-ปารีณา" เข้า กมธ.กฎหมายฯประกบ "เสรีพิศุทธ์" ส.ส.ราชบุรีลั่นจะอบรม ส.ส.สมัยแรกว่าอำนาจกรรมาธิการมีแค่ไหน ขณะที่ "อนค." ประกาศซักฟอก คสช.ย้อนหลัง เตรียมชงญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญ ศึกษาผลกระทบจากคำสั่ง-มาตรา 44 

    เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่พรรคพลังประชารัฐ มีการประชุม ส.ส.ประจำสัปดาห์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดประชุมสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 โดยมีการหารือเกี่ยวกับการกำหนดตัวบุคคลเข้าไปทำหน้าที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงหารือแนวทางการรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค. ก่อนการประชุมได้เปิดโอกาสให้ ส.ส.นำเรื่องหารือ โดยนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท เรียกร้องให้รัฐมนตรีที่สังกัดของพรรคสรุปมติหรือข้อหารือในคณะรัฐมนตรีมาแจ้งต่อที่ประชุม เพื่อให้ ส.ส.ได้ทราบความคืบหน้าการทำงานของรัฐบาล 
    ขณะที่ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอเสนอชื่อตัวเองเข้าไปทำหน้าที่ในกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แทนที่นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา ที่มีความอึดอัดและประสงค์จะลาออก พร้อมกันนี้ นายสิระยังได้เสนอชื่อ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ให้เข้าไปร่วมทำหน้าที่ใน กมธ.ชุดดังกล่าวด้วย โดยให้เข้าไปแทนที่นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี ที่ประชุมรับทราบและให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป 
    น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า  รู้สึกเห็นใจพี่นายพยม พรหมเพชร และนายธนะสิทธิ์ ที่รู้สึกสุดจะทนกับพฤติกรรม มีการใช้อำนาจกรรมาธิการแบบเกินขอบเขต จนต้องลาออก ตนเต็มใจจะทำหน้าที่แทนนายธนะสิทธิ์ จะพยายามสอนตักเตือนพวก ส.ส.สมัยแรกบางคนว่าอำนาจกรรมาธิการมีแค่ไหน และมั่นใจว่าจะสามารถอดทนกับคนเจ้าอารมณ์ บ้าอำนาจ ควบคุมสติไม่ได้ได้อย่างแน่นอน
    นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคพลังประชารัฐ เผยว่า เพิ่งตัดสินใจลาออกจาก กมธ. เพราะอยากให้นายสิระและน.ส.ปารีณาเข้าไปทำงานตรงนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธาน กมธ.ป.ป.ช. ถือว่าเป็นคนดี แต่รับเรื่องร้องเรียนเยอะเกินไป รับทุกเรื่องมาพิจารณาโดยไม่กลั่นกรอง ทำอย่างนี้ 4 ปีรถสิบล้อคว่ำก็ยังไม่จบ ส่วนกรณีที่ กมธ.ป.ป.ช.เรียกตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเข้าชี้แจงกรณีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบนั้น เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่าเป็นเรื่องระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐบาล จบไปแล้ว แต่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ยังไม่จบ
    วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สภาต้องเป็นตัวอย่างของการเคารพกฎหมาย และได้บอกสมาชิกสภาเสมอว่าต้องวางมาตรฐานของสภาให้เป็นที่ยอมรับให้ได้ และยังบอกกับนายกฯ เสมอว่าต้องมาสภาและมาตอบกระทู้ เว้นแต่ท่านจะมีเหตุผล หรือถ้าคณะกรรมาธิการฯ เรียกให้มาชี้แจง ก็ขอให้ท่านให้ความร่วมมือ และขอร้องไปยังคณะกรรมาธิการฯ ให้เข้าใจว่าคนมาชี้แจงไม่ได้เป็นจำเลยหรือเป็นผู้ต้องหา ต้องมีความพอดีถึงจะทำให้อยู่ด้วยกันได้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดีพอสมควร
    ทางด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ ว่าในวันการประชุมสภาวันที่ 6 พ.ย.นี้ มีญัตติสำคัญๆ ที่ต้องพิจารณา ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ได้เตรียมตัวเรื่องญัตติขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อศึกษาผลกระทบการใช้อำนาจและการออกประกาศ คำสั่ง และมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งตนเป็นคนเสนอญัตตินี้ขึ้นมา เราเตรียมผู้อภิปรายไว้ทั้งหมด 10 คน โดยจะอภิปรายภาพรวมทั้งหมด 
    "ผมจะเป็นคนเปิดประเด็นเองว่าคำสั่งของ คสช.ส่งผลกระทบอะไรบ้าง จากนั้นจะเป็นการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพของสื่อ เรื่องการทวงคืนผืนป่า เรื่องที่ดิน และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการออกคำสั่งเพื่อเอื้อกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ การแทรกแซงองค์กรอิสระและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น คิดว่าญัตตินี้มีความสำคัญ เพราะตลอด 5 ปีของการปกครองของ คสช. เราไม่มีสภาที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.ได้อย่างเต็มที่ ครั้งนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คสช. ย้อนหลังถึงผลงานในอดีต ที่ยังส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน นี่คือเหตุผลประการที่หนึ่ง" นายปิยบุตรกล่าว
    นายปิยบุตรกล่าวต่อว่า ส่วนเหตุผลประการที่สองคือ ศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ในวันนี้เป็นการเข้าสู่ระบบปกติ ส.ส.จึงมีอำนาจและความชอบธรรมอย่างเต็มที่ที่จะกลับมาพิจารณาทบทวนว่า การออกคำสั่งของ คสช.นั้นมีความชอบธรรมหรือไม่เพียงใด และต้องมีการแก้ไขยกเลิกหรือเยียวยาผู้ที่เสียหายอย่างไร คิดว่าอาจจะใช้เวลาพอสมควรสำหรับญัตตินี้ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายพรรคก็อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นนี้ เป็นไปได้ว่าอาจจะยาวไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ย.
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  โพสต์เฟซบุ๊กว่า ก่อนจะถึงญัตติขอให้สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระที่ต้องพิจารณาญัตติขอให้สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ในฐานะประชาชนตนขอเรียกร้องให้สภาเห็นชอบญัตตินี้ เพราะตลอดช่วงเวลาของการใช้มาตรา 44 นอกจากขัดหลักนิติธรรมแล้วยังส่งผลกระทบทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยปราศจากความรับผิดชอบของบุคคลหรือองค์กรใด 
    "สภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งจึงต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน ด้วยมติเอกฉันท์ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ เพราะหากไม่เห็นชอบเท่ากับยอมรับอำนาจนอกระบบ และจำนนต่อวงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่เป็นเชื้อร้ายเกาะกินพัฒนาการของสังคมไทย" นายณัฐวุฒิกล่าว
    นายณัฐวุฒิเชื่อว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะสนับสนุนญัตตินี้ ส่วนฝ่ายรัฐบาลสำคัญที่สุดคือพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ควรพิสูจน์ความจริงใจกับประชาชน ถ้าเห็นชอบเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีเหตุผลจะปฏิเสธญัตติศึกษาผลกระทบจากมาตรา 44 เพราะสาระจากการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่เช่นนั้นอาจถูกมองได้ว่าท่าทีตอบรับแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงฉากเข้าพระเข้านางที่ทั้ง 2 พรรคสวมบทบาทร่วมกัน พลังประชารัฐได้เรื่องทำตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ประชาธิปัตย์ได้เรื่องเดินตามเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ส่วนประชาชนไม่ได้อะไร เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ถ้าพลังประชารัฐยังเพิกเฉยประชาธิปัตย์ชิงธงนำก่อนได้ ประกาศให้ชัดว่าจะสนับสนุนญัตตินี้ ยืนยันหลักการประชาธิปไตย ปฏิเสธการใช้อำนาจเผด็จการ ยกเว้นจะสมประโยชน์หรือเป็นเด็กดีในโอวาทของ คสช.เท่านั้น.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"