จับกระทงลิขสิทธิ์เด็กหญิงโคราชวัย 15 ปี "พ่อ" ข้องใจลูกรับออเดอร์ให้ติดภาพการ์ตูนดังนำไปส่งโดนจับไปโรงพักเรียกเงิน 5 หมื่น ก่อนไกล่เกลี่ยเหลือ 5 พัน "ผกก.เมืองนครราชสีมา" อ้างทำตามหน้าที่ ไม่จับโดนข้อหาละเว้น "ทนาย" ชี้เข้าข่ายล่อจับ แถมขู่เรียกเงินผิดฐานกรรโชกได้ "รมว.ยธ." ข้องใจสั่งตรวจสอบ "เจ้าของลิขสิทธิ์" แจงไม่เคยมอบผู้ใดจับลิขสิทธิ์ผิด กม. "อดีตปลัด ยธ." จี้ ตร.สอบคนแจ้งจับเด็ก เชื่อเป็นแก๊งมิจฉาชีพแน่
ความคืบหน้ากรณีมีการแชร์ภาพในโลกออนไลน์ เป็นภาพเด็กหญิงวัย 15 ปีคนหนึ่ง ถูกตัวแทนลิขสิทธิ์ดำเนินการล่อซื้อจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากเด็กหญิงคนดังกล่าวได้ประดิษฐ์กระทงขายโดยติดรูปตัวการ์ตูนดัง หลังจากมีคนโทร.มาสั่งให้ประดิษฐ์กระทง แต่เมื่อนำกระทงไปส่งให้ตามที่นัดเอาไว้กลับโดนตัวแทนลิขสิทธิ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม พร้อมเรียกเงินค่าปรับจำนวน 50,000 บาท ก่อนเจรจาไกล่เกลี่ยเหลือ 5,000 บาท จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องอย่างกว้างขวางนั้น
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบเรื่องราวดังกล่าวพบว่าเกิดขึ้นจริง โดยเด็กหญิงวัย 15 ปีที่ถูกจับกุมอยู่บ้านเลขที่ 166 บ้านบึงรี หมู่ที่ 2 ต.หนองไข่น้ำ อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา จึงเดินทางไปที่บ้านหลังดังกล่าว พบครอบครัวเด็กหญิงวัย 15 ปีที่ถูกจับละเมิดลิขสิทธิ์อยู่พร้อมหน้ากับคุณพ่อ คุณแม่ และคุณยาย โดยทั้งหมดยังอยู่ในการตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นายธวัชชัย พลแหง บิดาของน้องวัย 15 ปี เล่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงเมื่อช่วงเย็นวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งติดต่อสั่งให้ลูกสาวทำกระทงจำนวน 136 ชิ้น โดยให้กระทงแต่ละอันติดรูปภาพการ์ตูนดัง ซึ่งเมื่อถึงเวลานัดลูกสาวได้นำกระทงจำนวน 30 ชิ้น ไปส่งให้กับลูกค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในตัวเมืองนครราชสีมา และทราบว่าลูกค้าคนดังกล่าวเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของบริษัทการ์ตูน ลูกสาวของตนจึงถูกล่อซื้อจับกุม และถูกนำตัวมาดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ
"ตัวแทนลิขสิทธิ์ได้พูดข่มขู่ให้ลูกสาวของผมหาเงินมาเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ลูกสาวจึงแจ้งให้พ่อตาของผม ซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณตาและเป็นอดีตตำรวจเป็นผู้เจรจาให้ สุดท้ายจึงเจรจาค่าเสียหายจบลงเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท ซึ่งผมเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะถึงแม้ลูกจะทำผิดจริง แต่ก็ควรดูที่เจตนา เพราะเด็กเพียงแค่ต้องการหารายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น และตัวแทนลิขสิทธิ์ก็ไม่ควรหากินกับเด็กแบบนี้" นายธวัชชัยกล่าว
น้องอ้อม (นามสมมติ) เด็กหญิงวัย 15 ปีที่ถูกจับละเมิดลิขสิทธิ์ เล่าว่า ตนเองมีความตั้งใจมากที่จะหารายได้พิเศษด้วยตัวเอง เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน เพราะขณะนี้เรียนอยู่ชั้น ปวช.ปี 1 สาขาการบัญชี ในวิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ต้องรบกวนเงินของพ่อแม่ เพราะพ่อก็ทำงานโรงงาน มีรายได้ไม่มาก ช่วงนี้ใกล้ถึงเทศกาลลอยกระทงจึงมีไอเดียที่จะนำขนมปังมาทำกระทงไปขาย และได้โพสต์รูปลงในเฟซบุ๊กเพื่อขายกระทง ปรากฏว่ามีลูกค้าติดต่อสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยลูกค้าจะเน้นสั่งลวดลายดอกไม้
"ต่อมามีลูกค้าคนหนึ่งติดต่อสั่งซื้อกระทง โดยเน้นเจาะจงให้ประดิษฐ์กระทงทำเป็นลวดลายการ์ตูนที่มีลิขสิทธิ์ เช่น คุมะและแมวการ์ฟิลด์ ซึ่งตัวเองก็ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย จึงได้ทำให้ตามออเดอร์ของลูกค้า โดยก่อนถึงวันนัดส่งของได้เร่งทำกระทงตั้งแต่เช้า เวลา 08.00 น. จนถึงเวลา 01.30 น.ของอีกวัน เพื่อให้ทันส่งให้ลูกค้า แต่ก็กลับมาถูกกลั่นแกล้งด้วยการถูกล่อซื้อจับลิขสิทธิ์" น้องอ้อมกล่าว
น้องอ้อมกล่าวด้วยว่า ปกติตนเองก็ไม่ได้ประดิษฐ์กระทงลวดลายลิขสิทธิ์อยู่แล้ว เพียงแต่ลูกค้ารายนี้เจาะจงให้ทำกระทงลวดลายลิขสิทธิ์เพื่อที่จะล่อซื้อ และจับตนเพื่อเรียกค่าลิขสิทธิ์ราคาแพง ซึ่งหลังจากที่ถูกจับแล้ว ได้กลับบ้านมาก็ร้องไห้ตลอดทั้งคืน เพราะไม่เคยโดนคดีอะไรที่ร้ายแรงแบบนี้มาก่อน และอยากจะถามกลับตัวแทนลิขสิทธิ์ว่าทำไมถึงทำกับตนแบบนี้
ตำรวจอ้างทำตามหน้าที่
ด้าน พ.ต.อ.คเชนท์ เสตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า ในส่วนของคดีนี้ถือว่าจบไปแล้ว เพราะฝ่ายผู้เสียหาย และฝ่ายผู้ต้องหาสามารถเจรจายอมความกันได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย หากตำรวจไม่ดำเนินการก็จะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว
"มีผู้รับมอบอำนาจจากเอกชนแห่งหนึ่งเข้าแจ้งความร้องทุกข์ พร้อมขอกำลังตำรวจให้ช่วยติดตามจับกุมผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางเฟซบุ๊ก จนติดตามจับกุมพร้อมของกลาง ซึ่งพบผู้กระทำผิดเป็นเด็กสาวอายุ 15 ปี ศึกษาอยู่วิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่ง ทำกระทงขายเพื่อหารายได้พิเศษ จากนั้นได้นำตัวมาไกล่เกลี่ยกันที่โรงพัก ซึ่งคดีลิขสิทธิ์สามารถยอมความกันได้ จากนั้นตำรวจจึงต้องช่วยไกล่เกลี่ยทั้ง 2 ฝ่าย จนสรุปค่าเสียหายที่ 5,000 บาท จากเดิม 50,000 บาท ก่อนที่ตัวแทนลิขสิทธิ์ได้ถอนแจ้งความไป" ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมากล่าว
ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก ทนายคลายทุกข์ ซึ่งเป็นเพจของทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความชื่อดัง ได้โพสต์ชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า การล่อซื้อเด็กเพื่อจับลิขสิทธิ์ถือเป็นวิธีการที่สกปรกที่สุด เด็กอายุ 15 ปี ถือว่าอายุน้อยมาก ยังแยกไม่ออกระหว่างการทำมาหากิน กับการกระทำความผิดกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์ไม่ใช่เอามาเป็นเครื่องมือในการตบทรัพย์ การล่อซื้อคือการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เด็กไม่ได้กระทำความผิดแต่ตัวแทนลิขสิทธิ์ไปล่อซื้อไปคะยั้นคะยอเพื่อให้เด็กกระทำความผิด ถือเป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยศาลฎีกาเคยตัดสินคดีประเภทนี้มาแล้ว
"การที่จะจับกุมเด็กได้นั้นโดยหลักแล้วคดีลิขสิทธิ์เป็นคดีส่วนตัวต้องแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนก่อน หลังจากนั้นจึงจะจับกุมได้ ไม่ใช่ว่าเจอการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไหนก็เดินเข้าไปจับ ส่วนการข่มขู่เรียกเงิน 50,000 บาท อาจมีความผิดฐานกรรโชกได้ เพราะการจับลิขสิทธิ์จะต้องส่งดำเนินคดีไม่ใช่ตบทรัพย์" ทนายเดชาระบุ
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ได้มอบหมายให้ยุติธรรมจังหวัดเดินทางไปพบกับเด็กหญิงรายนี้ เพื่อสอบถามสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เนื่องจากกรณีดังกล่าวมีการไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบปรับไปแล้ว
"เราต้องได้ข้อเท็จจริงว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเด็กได้ผลิตกระทง หรือทำผิดในลักษณะละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์เป็นประจำหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำหรือไม่เคยทำเลย แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนไปจ้างให้ผลิต ต่อมาก็ไปแจ้งจับว่ากระทำผิดแบบนี้คงไม่ถูกต้อง อาจเข้าข่ายการได้มาซึ่งหลักฐานที่ไม่บริสุทธิ์ย่อมมีผลทางคดีแน่" รมว.ยุติธรรมกล่าว
ส่วนนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.นครราชสีมา กล่าวว่า ต้องตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ซึ่งตนมองว่าเด็กในวัย 15 ปี น่าจะอยู่ในข่ายที่ตำรวจต้องพิจารณาตามกฎหมายเยาวชน โดยได้สั่งให้เลขาฯ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่เป็นอดีตผู้ว่าฯนครราชสีมาเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง
ลิขสิทธิ์ยันไม่มอบใครจับ
ด้านนายโกศล ปัทมะ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า แม้ตำรวจจะออกมาอ้างว่าเป็นการทำตามหน้าที่ ถ้าไม่ทำตามที่มีการร้องเข้ามาจะกลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องยึดหลักรัฐศาสตร์ประกอบกับหลักนิติศาสตร์ มองว่าผู้ที่มาแจ้งความให้ตำรวจดำเนินการดังกล่าวมีความไม่บริสุทธิ์ใจและมีนัยบางอย่าง ถือเป็นการตบทรัพย์มากกว่าการปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์
"ขอให้ผู้บังคับการตำรวจนครราชสีมาเข้าไปตรวจสอบและให้ความเป็นธรรม พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน ไม่ใช่ตกเป็นเครื่องมือของนักตบทรัพย์ ที่สำคัญสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรลงไปตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับเด็ก และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้ด้วย" ส.ส.นครราชสีมา พรรค พท.รายนี้ระบุ
อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายเฟซบุ๊ก TACConsumer ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ทางบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2560 โดยครอบคลุมประเทศต่างๆ ดังนี้ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม ซึ่งบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ขอชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกันว่า ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใดตามข่าวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทฯ ได้ทำการปรึกษาฝ่ายกฎหมายและมอบหมายให้ทนายความดำเนินการสืบหาความจริงในกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ต่อมาบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ยังแถลงฉบับ 2 ระบุว่า ขอบคุณและน้อมรับในทุกความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ผ่านทุกช่องทางของบริษัทฯ ได้มีการปรึกษากับฝ่ายกฎหมายและทนายความ และอยู่ระหว่างขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดและเป็นธรรม หากมีความคืบหน้าอย่างไร บริษัทฯ จะแจ้งข้อมูลให้ทราบโดยทั่วกันผ่านช่องทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์
จากนั้น นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊กหลังจากที่ตัวแทนลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนรีลัคคุมะ ชี้แจงว่า ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ว่า "ดีเลยครับ พนักงานสอบสวนตามหมายเลขโทรศัพท์ที่โทร.มาสั่งของล่อซื้อจัดการจับให้ดูเป็นตัวอย่างเลยครับ ฝ่ายสื่อสารองค์กรบริษัทฯ ตัวแทนลิขสิทธิ์ ของบริษัท San-x ทำหนังสือชี้แจง “....ให้ทราบโดยทั่วกันว่าไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใดตามข่าวที่ให้เกิดความเข้าใจผิด..” แสดงว่าไอ้คนโทร.มาสั่งและล่อซื้อเป็นมิจฉาชีพ? อย่าช้านะครับ เดี๋ยวกว่าถั่วจะสุกงาจะไหม้เสียก่อน มันจะสวิงกลับมายังเจ้าหน้าที่ถ้าไม่เร่งดำเนินการ"
เช่นเดียวกับ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นประเด็นร้อนกระทงละเมิดลิขสิทธิ์หรือจะเป็นกระทงหลงทาง ข้อแตกต่างระหว่างการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด ตอนหนึ่งว่า คดีนี้มีความจำเป็นต้องแยกข้อแตกต่างระหว่างการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด ซึ่งกรณีนี้หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่น้องอ้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตนเองเพิ่งมาทำกระทงขายช่วงนี้เพราะใกล้เทศการลอยกระทง และไม่เคยทำกระทงลายการ์ตูนที่เป็นลายลิขสิทธิ์ขายมาก่อน เพิ่งมาทำเป็นครั้งแรกหลังจากมีผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนสั่งซื้อและสั่งให้ทำเฉพาะเจาะจงลายการ์ตูนที่มีลิขสิทธิ์ ก็ย่อมถือว่าน้องอ้อมไม่ได้มีพฤติการณ์และเจตนาในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนนี้มาตั้งแต่แรก แต่เป็นการทำกระทงลายการ์ตูนลิขสิทธิ์ตามที่มีผู้สั่งซื้อและจ้างให้ทำ และจึงถือว่ากรณีนี้เป็นการสั่งซื้อที่เป็นการล่อให้กระทำความผิด โดยน้องอ้อมไม่ได้มีเจตนาในการกระทำความผิดมาแต่แรก
"จึงเป็นการสั่งซื้อที่เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด เป็นกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับน้องอ้อมได้ และพยานหลักฐานที่ได้มาในคดีนี้จึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ได้" ดร.ธนกฤตระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |