7 พรรคฝ่ายค้านมีมติเอกฉันท์จองกฐินไม่ไว้วางใจแล้ว วางไทม์ไลน์ไว้ 18-20 ธ.ค. แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำอภิปรายทั้งคณะหรือรายบุคคล อึ้ง! สุทินปูดซักฟอกแนวใหม่ ไม่เน้นเรื่องโกง-ทุจริต แต่เน้นเรื่องความผิดพลาดบริหารงานพร้อมลากย้อนอดีตในช่วง 5 ปีที่ยึดอำนาจ “ชวน” เตือนแก้รัฐธรรมนูญไม่ควรหักด้ามพร้าด้วยเข่า ไม่อย่างนั้นจะพังกันหมด ปชป.เคาะแล้วเสนอชื่อ “อภิสิทธิ์” นั่งประธาน กมธ. “ปิยบุตร” เริ่มเขย่าเวทีชำเรา รธน. ระบุรัฐบาลห้ามนั่ง กมธ. เล็งชงชื่อตัวเองเป็น 1 ใน 49 คน กรธ.แนะไม่ควรรื้อทั้งฉบับ
เมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปร่วมฝ่ายค้าน) 7 พรรค ร่วมประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการ พท. ในฐานะที่ปรึกษาวิปฝ่ายค้าน แถลงผลการประชุมว่า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าควรยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ส่วนจะยื่นเมื่อไหร่ จะอภิปรายคณะรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคลจะประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยึดกรอบความพร้อมในเรื่องของข้อหาและหลักฐานการอภิปราย ซึ่งจะเป็นการอภิปรายที่มาตรฐานอาจเปลี่ยนไป จากเดิมที่ผ่านมาเน้นเรื่องการทุจริตเป็นหลัก แต่ครั้งนี้จะมองไปถึงความผิดพลาด ความสามารถในการบริหารประเทศที่ทำลายเครดิตของประเทศให้ตกต่ำ โดยยึดฐานความผิดมาจากระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศมา โดยความผิดในอดีตส่งผลต่อปัจจุบัน และเป็นความกังวลไปสู่อนาคต ซึ่งกรอบเวลาคร่าวๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมในยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจคือวันที่ 18-19-20 ธ.ค.
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านล็อกเป้ารัฐมนตรีคนใดหรือกระทรวงใดบ้าง น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้ง 35 คณะในสภาได้ตรวจสอบทุกกระทรวงและทุกคน พรรคฝ่ายค้านทุกพรรคมองความสำคัญของข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ โดยข้อมูลที่จะอภิปรายต้องหนักแน่นพอ
นายสุทินกล่าวเสริมว่า จะอภิปรายผสมผสานกันไป รัฐบาลที่ผ่านมาและรัฐบาลปัจจุบัน คนเก่าสร้างความผิด และคนใหม่มาต่อยอดความผิด ดังนั้นต้องอภิปรายทั้งคนเก่าและคนใหม่ควบคู่กันไป อาจแตกต่างที่ประเด็นความผิด บางกรณีความผิดทำกันหลายคน ยึดโยงกันหลายกระทรวง บางเรื่องโยงไปถึงหัวหน้ารัฐบาล ที่ดึงลูกน้องมาทำความผิด แต่บางเรื่องก็เป็นความผิดส่วนบุคคล
เมื่อถามว่าตั้งเป้าว่าจะล้มรัฐบาลได้หรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า โดยเจตนาเราไม่ได้ต้องการล้มรัฐบาล แต่ถ้าเขาชี้แจงไม่ได้ แล้วทำความผิดจริงจะล้มด้วยตัวของเขาเอง เพราะโอกาสในการล้มรัฐบาลโดยการยกมือในสภาเป็นไปได้น้อยอยู่แล้ว แต่หากหลักฐานเราดี ก็เป็นไปได้ที่พรรคฟากรัฐบาลจะยกมือสนับสนุนเรา ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนล้มด้วยการยกมือในสภา แต่จะเพลี่ยงพล้ำจากสภาแล้วไปล้มข้างนอก เสมือนเราเป็นการเปิดแผลในสภาแล้วไปเน่าข้างนอก
“เชื่อว่าปัจจุบันพลังของโซเชียลฯ จะเป็นม็อบที่สำคัญ และเป็นม็อบที่ใหญ่ที่สุด ที่จะทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งเรามีหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตแน่นอน เพราะถ้าไม่มีเราไม่กล้าเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยพรรคฝ่ายค้านจะมาคุยกันว่าหลักฐานที่มีจะผลักให้เซหรือผลักให้ล้ม แต่วันนี้เราสรุปกันได้แล้วว่ามีผลักให้หัวคะมำ” นายสุทินกล่าว
ยื่นญัตติก่อน 6 ธ.ค.
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. ระบุว่า หากวางกรอบอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 18-20 ธ.ค. สิ้นเดือน พ.ย. ญัตติต้องเสร็จเพื่อยื่นให้ประธานสภาบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม โดยอย่างช้าที่สุดต้องไม่เกินวันที่ 6 ธ.ค. ที่ต้องยื่นญัตติให้ประธานสภา
ขณะที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวเรื่องนี้ว่า ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานได้ในช่วงหนึ่งเท่านั้น แต่การขอยื่นญัตติอภิปรายก็เป็นสิทธิที่ฝ่ายค้านทำได้ โดยจะนำเรื่องนี้หารือกับประธานวิปรัฐบาลด้วย เพื่อนำรายงานต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป
วันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20 โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ความหวังสภาผู้แทนฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560" ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญใดที่ออกมาหลังจากการยึดอำนาจ จะมีบทเฉพาะกาลตอนหนึ่งที่เขียนไว้ในลักษณะให้ผู้ที่กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกฯ มีเสียง ส.ส.สนับสนุนจำนวนหนึ่ง แต่มีเสียง ส.ว.สนับสนุนจำนวนมาก เช่นเดียวกับสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และเป็นแบบนั้นตลอด แต่บทเฉพาะกาลยุคนั้นจะมีเวลาใช้ไม่นาน จะใช้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามกระบวนการปกติ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐธรรมนูญบางฉบับที่เริ่มต้นไม่ค่อยสวยนัก เช่น รัฐธรรมนูญ 2521 แต่สามารถใช้ได้มาถึงปี 2534 ที่ยึดอำนาจ และก็มีรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นที่ใช้มาถึงปี 2540 จนมีรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยมากที่สุด แต่สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีอายุนานเท่าไหร่ไม่มีทางรู้
"เมื่อครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ท่านสุพจน์ ไขมุกด์ รองประธานคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ได้เชิญผมไปพบเป็นส่วนตัวเพื่อขอความคิดเห็น ซึ่งได้บอกท่านไปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และไม่ยึดหลักนิติธรรม ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญและการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาไปควบคู่กัน พูดง่ายๆ คือ ปราชญ์โบราณที่คิดว่าบ้านเมืองจะปกครองได้ดีต้องปกครองด้วยราชาแห่งปราชญ์ กำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก ซึ่งในชีวิตจริงมันหายาก เพราะการปกครองที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์จริงๆ จะต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ออกนอกหลักนิติธรรม จะไม่เกิดเหตุการณ์ปี 2549 และ 2557" ประธานสภาฯ กล่าว
ประธานสภาฯ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประกาศว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้คอร์รัปชัน แต่จริงๆ มันไม่ใช่ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างและเงื่อนไข แต่หากผู้ปฏิบัติละเมิดและไม่ปฏิบัติ ผลที่อยากให้เกิดขึ้นมันก็จะไม่เกิด รัฐธรรมนูญของไทยรับมาจากต่างประเทศมาก แต่เจ้าของเมื่อมาเห็นก็บอกว่าปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เช่น ทูตเยอรมนีมาพบและบอกว่าเคยมีประสบการณ์ มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย มีเสียงไม่กี่เสียงก็ได้เป็น ส.ส. แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนของเราที่มีพรรครัฐบาล 15-16 พรรค และฝ่ายค้าน 7 พรรค ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่ได้เห็นมากนัก
อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า
"ผมเป็นหนึ่งในคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่สิ่งแรกที่ควรทำคือ อย่าเพิ่งไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ล้มให้หมด พังให้หมด มันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เราต้องมาคุยกันว่าประชาธิปไตยในความปรารถนาของเราคืออะไร เราควรมีสภากี่สภา มีวุฒิสภาไหม หรือวุฒิสภาควรมีบทบาทอะไร ควรมาจากระบบแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอย่างไร เพราะหน้าที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน" นายชวนกล่าว
สำหรับประเด็นการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายเทวัญกล่าวว่า ในวันที่ 6 พ.ย. ที่จะประชุมวิปรัฐบาลจะส่งตัวแทนไปคุยกับนายวิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ก่อนการประชุม ครม. เพื่อจะได้รับทราบว่ามีเรื่องไหนบ้าง เพื่อนำเข้ารายงานต่อที่ประชุม ส่วนในสัดส่วน กมธ.นั้น ขณะนี้ ครม.ยังไม่ได้วางตัวบุคคลไว้ เพราะต้องรอความชัดเจนตัวเลขสัดส่วนที่ชัดเจน และเมื่อทราบข้อมูลแล้วจะได้นำรายงานต่อ ครม. เพื่อให้พิจารณาและมีมติมอบหมายบุคคลไปทำหน้าที่ดังกล่าว
เมื่อถามถึงกระแสข่าวการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ให้เป็นประธาน กมธ.ชุดนี้ นายเทวัญกล่าวว่า ยังไม่ทราบ และยังไม่เห็นว่านายอภิสิทธิ์ออกมาพูดถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด ส่วนผู้จะเป็นประธาน กมธ.ต้องมาจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลหรือไม่นั้น ต้องรอให้วิปรัฐบาลประชุมกันก่อน และต้องให้เป็นเรื่องหารือกันระหว่างในที่ประชุมสภา โดยยังไม่แน่ใจว่าจะตั้ง กมธ.ชุดนี้ได้เมื่อใด แต่ก็มีกระแสข่าวว่าอาจเป็นในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ต้องรอดูที่ประชุมรัฐสภาและวิปรัฐบาลต่อไป
รายงานข่าวจาก พปชร.เผยว่า ในส่วนของการตั้ง กมธ. เบื้องต้นจะแบ่งตามสัดส่วนพรรคการเมือง โดยคาดว่าพรรค พปชร.ได้ 8-9 ที่นั่ง โดยจะทาบทามบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมประมาณ 4-5 คน ร่วมกับ ส.ส.ระดับแกนนำพรรคที่อาวุโส และมีประสบการณ์ทางการเมือง อาทิ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ เป็นต้น สำหรับบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ประธาน กมธ.นั้น ตามมารยาทนั้นต้องเป็นคนของพรรคแกนนำรัฐบาล ทั้งนี้ กมธ.ชุดนี้เป็นเพียงแต่ศึกษาว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าต้องแก้จะแก้ในมาตราใด ก่อนส่งผลรายการงานการศึกษาเสนอต่อที่ประชุมสภาต่อไป
นายชวนกล่าวถึงกระแสข่าวการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นประธาน กมธ.วิสามัญฯ ว่าเป็นเรื่องของสภา ไม่ขอแสดงความเห็นเรื่องนี้ แม้ล่าสุดได้เจอกับนายอภิสิทธิ์ในวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ บิดาของนายอภิสิทธิ์ ก็ไม่ได้พูดคุยกันเรื่องดังกล่าว และหลังจากวันนั้นก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้อีก
ขณะที่พรรค ปชป.มีการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าญัตติการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ที่ประชุมจึงมีมติ ดังนี้ 1.สนับสนุนให้ตั้ง กมธ.ดังกล่าว 2.ที่ประชุมมีมติพร้อมสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นประธาน กมธ.วิสามัญชุดนี้ และยังมอบหมายให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานวิปพรรค ปชป. ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับวิปรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย
“สัดส่วน กมธ.ชุดนี้ ปชป.ได้รับโควตา 4 คน ดังนั้นหลังกรณีนายอภิสิทธิ์ ก็เหลืออีก 3 คน ซึ่งพรรคจะพิจารณาคัดสรรต่อไป เพราะคาดว่าที่ประชุมสภาจะมีมติตั้ง กมธ.ได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนที่พรรค พปชร.คัดค้านนายอภิสิทธิ์เป็นประธานนั้น ที่ประชุมไม่ได้หารือกัน เพราะถือเป็นสิทธิ์ของเขา ซึ่งเราไม่ก้าวล่วงพรรคอื่น” นายราเมศระบุ
รายงานข่าวจากคนใกล้ชิดของนายอภิสิทธิ์ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ได้รับข้อเสนอนี้แล้ว ส่วนรายชื่อของผู้ที่จะเป็น กมธ.อีก 3 คนยังไม่ชัดเจน เพราะส่วนหนึ่งต้องการให้นายอภิสิทธิ์คัดเลือกเอง แต่ที่ประชุมได้วางหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เช่น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรค, นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค เป็นต้น โดยไม่พิจารณาแบ่งตามรายภาค
ส่วนความเห็นของพรรคฝ่ายค้านนั้น นพ.ชลน่านระบุว่า ยังไม่ได้รับแจ้งมาว่าจำนวนของ กมธ.เป็นเท่าไหร่ แต่เราเห็นว่าสัดส่วนของ กมธ. 49 คนนั้นเหมาะสม มาจากรัฐมนตรี 12 คน ฝ่ายค้าน 19 คน และรัฐบาล 18 คน
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวเช่นกันว่า 49 คนเป็นจำนวนที่เหมาะสม แต่หากรัฐบาลเห็นว่าควรเพิ่มก็ต้องมาพูดคุยกัน โดยเมื่อรวมจำนวนกัน ฝ่ายค้านจะมีจำนวนน้อยกว่ารัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจะเป็นตัวตั้งสำคัญในการเสนอใครขึ้นมาเป็นประธาน กมธ.ชุดนี้
เมื่อถามว่าดูเหมือนพรรค พปชร.ไม่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นประธาน น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของพรรคการเมืองแต่ละพรรค เมื่อมีการตั้ง กมธ.แล้ว การออกสิทธิ์ลงมติเลือกประธาน กมธ.จะไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองแล้ว แต่จะเป็นเรื่องของ กมธ. ซึ่งส่วนของพรรค พท.นั้นก็มีบุคลากรที่เหมาะสม อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายโภคิน พลกุล และนายชัยเกษม นิติสิริ ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้าไปทำหน้าที่เป็น กมธ.ได้
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. มองว่า พปชร.ตั้งใจตีรวนตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้ง กมธ. ซึ่งไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะชนชั้นใดร่างรัฐธรรมนูญก็เพื่อชนชั้นนั้น เพราะถึงขั้นเปิดปากรับสารภาพว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อให้พรรค พปชร.เป็นรัฐบาลเท่านั้น ถ้าไม่ได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ โอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลคงไม่มี ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากรัฐธรรมนูญก็ต้องพิทักษ์หวงแหนอย่างถึงที่สุด จนเริ่มมีปฏิบัติการไอโอในลักษณะว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ ความขัดแย้งรอบใหม่จะกลับมา ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง
ส้มหวานห้ามรัฐบาลนั่ง กมธ.
“ตอนร่างโฆษณาเกินจริงว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่พอใช้จริงเป็นแค่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเก๊ คือปราบโกงได้ไม่จริง หรือปราบโกงแบบเลือกปฏิบัติหรือไม่ หากปล่อยให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ต่อไป นอกจากความขัดแย้งจะไม่ลดลง กลับจะเพิ่มขึ้น ทุกฝ่ายควรลดเงื่อนไข เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" นายอนุสรณ์กล่าว
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า หากเสียงข้างมากของสภาโหวตให้ตั้ง กมธ.ชุดนี้ คงแบ่งตามสัดส่วนเดิม อนค.ได้ประมาณ 6 ที่นั่ง แต่ทั้งนี้ต้องดูที่ประชุมว่าจะเสนออย่างไร แต่ ครม.ไม่ควรมีส่วนเสนอชื่อคนที่จะเข้ามาใน กมธ.ชุดนี้ เพราะมีความแตกต่างจาก กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพราะรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ แต่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ดังนั้น ส.ส.ควรเป็นผู้เสนอชื่อแทน ซึ่งพรรค อนค.จะได้ 6 ที่นั่ง ซึ่งจะมีทั้ง ส.ส.และบุคคลภายนอก เช่น อดีตนักการเมือง นักวิชาการ และนักรณรงค์ที่เคลื่อนไหวในประเด็นนี้ และยืนยันว่าบุคคลทั้งหมดจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับคนที่ร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร เบื้องต้นยังไม่ได้ตกลงกันอย่างชัดเจน
"ต้องยอมรับว่าที่ผมมาเป็น ส.ส.ก็เพื่อเข้ามาผลักดันเรื่องกฎหมายและการแก้รัฐธรรมนูญ คิดว่าจะเสนอตัวเองเข้าไปนั่งใน กมธ.ชุดนี้ด้วย" นายปิยบุตรกล่าว และว่า ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคนั้น เบื้องต้นได้พูดคุยกัน แต่นายธนาธรเองติดภารกิจในฐานะที่ปรึกษา กมธ.งบอยู่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรค พปชร.อยากให้ตำแหน่งประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญมาจาก ส.ส.ของพรรค พปชร.นั้น นายปิยบุตรกล่าวว่า ในท้ายที่สุดการตัดสินว่าใครจะได้เป็นประธานก็จะอยู่ที่ กมธ.ทั้งหมดลงมติเลือก ตามที่ผ่านมาก็มักตกลงกันได้ก่อน แต่หากตกลงกันไม่ได้ก็คงต้องลงมติ ไม่มีกติกาบอกว่าตำแหน่งประธานจะต้องมาจากพรรคการเมืองซีกรัฐบาล เพราะพรรครัฐบาลมีหลายพรรค และพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับหนึ่งในสภาคือพรรค พท.
ต่อข้อถามว่า ช่วงที่ผ่านมามีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์มานั่งตำแหน่งประธาน กมธ. นายปิยบุตรตอบว่า สิ่งสำคัญในตอนนี้คือการตั้ง กมธ.ให้ได้ก่อน ถ้าประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนไปโฟกัสว่าใครเป็นประธาน สังคมก็อาจคลางแคลงใจว่าไม่มุ่งเน้นประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไปถกเถียงตีกันว่าใครจะเป็นประธาน เราควรทำให้ กมธ.ชุดนี้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อผลักดันในนามของสภาต่อไป ที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หากเราหาฉันทามติร่วมกันได้ก็จะเป็นผลงานร่วมกัน ที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะแก้ในประเด็นใดบ้าง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็จะถูกแรงกดดันว่าต้องเอาด้วย
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงกรณี ส.ส.พยายามเร่งผลักดันให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ส.ว.ยังไม่มีความพร้อมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก 1.ข้อเสนอที่จะขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขประเด็นใด 2.ยังไม่เห็นปัญหาของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3.ส.ว.ยังมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลความเรียบร้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ 5 ปีให้ดำเนินไปด้วยดี ดังนั้นจะต้องรอดูความชัดเจนจากฝ่ายการเมืองก่อน
“ส.ว.ยังไม่ผลีผลามไปเข้าร่วมหรือเสนอความเห็นใดๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องมีความรอบคอบ เนื่องจากต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ร่วมออกเสียงในการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1 และ 3 ซึ่งขณะนี้ กมธ.การเมืองของวุฒิสภาก็เฝ้าติดตามประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญต่างๆ ของฝ่าย ส.ส.อยู่ แต่เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขในขณะนี้ และที่สำคัญประเด็นที่จะแก้ไขต้องเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องการลิดรอนอำนาจ ส.ว. ถ้าเสนอมาแบบนี้ ส.ว.ไม่ร่วมมือแน่นอน เพราะ ส.ว.มีหน้าที่รับผิดชอบบ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีให้ดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่เรื่องหวงอำนาจแต่อย่างใด” นายเสรีระบุ
นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ในสภาจะมีคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ซึ่งในทางปฏิบัติต้องดูว่าสิ่งที่ควรแก้ไขเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือไม่ เพราะเท่าที่ฟังดูหลายเรื่องเป็นเรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ เช่น ระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว หรือการโหวตเลือกนายกฯ ส่วนตัวเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งและบทเรียนในอดีต ดังนั้นต้องสร้างบรรทัดฐานในการทำงานบางเรื่อง เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วังวนเดิมๆ ในอดีตที่เสียงข้างมากใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง
“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นคนละเรื่องกัน เพราะขณะนี้กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งการแก้รายประเด็น และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งการแก้ไขทั้งฉบับอาจเป็นการถอยหลังไปนับหนึ่งใหม่ และอาจสร้างความขัดแย้งในสังคม จึงอยากให้ทุกฝ่ายให้เวลากับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อน เพราะอย่าลืมว่าในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เกิดขึ้นจากคน 21 คน แต่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น และใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ซึ่งหลายเรื่องอดีตผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดไปเอง แต่เป็นความเห็นจากประชาชนที่ไปรับฟังความคิดเห็นมาล่วงหน้า ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาจนทำให้มีผู้ไม่พอใจก็ต้องพูดคุยกัน แต่คงไม่จำเป็นต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” นายอุดมกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |