ภาพนี้อาจบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับอาเซียน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจส่งระดับ "ที่ปรึกษา" มาประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
มือไม้ของผู้นำอาเซียนกับนาย Robert O’Brien ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ไขว้ไปมา สัมผัสกันไม่ค่อยจะสะดวก
นายกรัฐมนตรีของไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานอาเซียนคนปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหงียน ซวน ฟุก ในฐานะประธานอาเซียนคนต่อไป
และนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ทองลุน สีสุลิด ในฐานะเป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในปีนี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทยเราอธิบายว่า การประชุมระหว่างนายโอไบรอันกับอาเซียนที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นรูปแบบ "ประชุมสุดยอด" หรือ summit
แต่เป็นการประชุมที่เรียกว่า Troika หรือ "สามเส้า" โดยมีนายกฯ สามประเทศของอาเซียนเป็นหลัก
ส่วนอาเซียนอีก 7 ประเทศส่งแค่ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศก็พอ
คำชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศไทยก็พอจะ "กล้อมแกล้ม" รับฟังได้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการแสดงท่าทีเช่นนี้ย่อมถูกตีความได้ว่าอาเซียน "เอาคืน" ทรัมป์แล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อทรัมป์ตัดสินใจไม่มาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนและคู่เจรจาอีก 8 ประเทศ (ไม่รวมเลขาธิการสหประชาชาติและผู้อำนวยการ IMF) ก็เท่ากับเป็นการ "ตบหน้า" ผู้นำหลายสิบประเทศ
เป็นที่คาดหมายว่าถ้าทรัมป์ไม่มาเองจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อย่างน้อยก็ควรจะส่งรองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์มาเหมือนปีที่แล้วตอนที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ
แต่ครั้งนี้ไม่ส่งรองประธานาธิบดี ไม่ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมก์ ปอมเปโอ แต่ส่งระดับ "ที่ปรึกษา" มาเป็น "ทูตพิเศษ"
และส่งรัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอสส์ ไปร่วมประชุมอีกเวทีหนึ่งที่เรียกว่า Indo-Pacific Business Forum ร่วมกับผู้นำธุรกิจ
ตำแหน่ง "ที่ปรึกษา" ของทรัมป์นั้น หากจะเปรียบไปแล้วก็คงเทียบเท่าอธิบดีหรือไม่เกินปลัดกระทรวงของเรา
จะให้ระดับนายกฯ และประธานาธิบดีของอาเซียนมานั่งประชุม "สุดยอด" กับ "ที่ปรึกษา" ของทรัมป์คงจะเป็นเรื่องที่ผิดหลักผิดธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตอย่างแน่นอน
ดังนั้น อาเซียนจึงตัดสินใจ "ตอบโต้" ด้วยการให้รัฐมนตรีต่างประเทศไปนั่งคุยแทน
และเพื่อรักษามารยาทของเจ้าภาพ นายกฯ ไทยก็ยังให้เกียรติร่วมประชุม และนายกฯ ของเวียดนามและลาวก็ยังรักษาธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตเอาไว้บ้าง ด้วยการไปปรากฏตัวกับนายโอไบรอัน
ข่าววงในบอกว่าทางมะกันไม่พอใจท่าทีของอาเซียนอย่างนี้เช่นกัน มีการส่งสารถึงอาเซียนกล่าวหาว่าการกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการ "ตบหน้า" (snub) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลทางลบต่อการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนแน่นอน
ข้อความจากมะกันที่แสดงความไม่พอใจ "full or partial boycott" นั้น ย้ำว่านี่เป็นการพยายาม "embarrass" (สร้างความกระอักกระอ่วน) ให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เขามองว่าเป็นการ "บอยคอต-ที่อาจจะมองว่าเป็นการ "คว่ำบาตรมะกันเต็มรูปแบบ...หรือบางส่วน"
ผมถือว่านี่คือการเปิดศึกทางการทูตครั้งแรกระหว่างทรัมป์กับผู้นำอาเซียนแล้ว
ไม่แต่เท่านั้น นายโอไบรอันยังมากล่าวปราศรัยซัดจีนว่าพยายามใช้วิธีการข่มขู่ประเทศในอาเซียนไม่ให้เข้าไปพัฒนาแหล่งก๊าซและน้ำมันในทะเลจีนใต้
โอไบรอันยังมีหน้าประกาศสำทับว่า อเมริกาจะมาปกป้องอาเซียนไม่ให้จีนรังแกอีกต่างหาก
เขาอ่านสารจากทรัมป์ว่าขอเชิญผู้นำอาเซียนไปวอชิงตันในไตรมาสแรกของปีหน้า "เพื่อการประชุมสุดยอดครั้งพิเศษ"
คล้ายๆ กับจะบอกว่า "ฉันไม่มาหาคุณ คุณต้องมาหาฉัน"
ปรากฏการณ์ระหว่างทรัมป์กับผู้นำอาเซียนครั้งนี้ย่อมมีผลต่อความสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การที่ทรัมป์ส่งระดับที่ปรึกษามาร่วมประชุมทั้งๆ ที่คู่เจรจาอื่นอีก 6 ประเทศส่งระดับนายกฯ หรือประธานาธิบดีมากรุงเทพฯ นั้น ย่อมถูกตีความว่า "ไม่ให้เกียรติ" ต่อเจ้าภาพและผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
เมื่อทรัมป์แสดงท่าที "ลดความสำคัญ" หรือ downgrade ความสัมพันธ์กับอาเซียนและคู่เจรจาอื่น ก็ย่อมจะเปิดทางให้เกิดสุญญากาศให้จีนเข้ามาสวมบทบาทของมหาอำนาจแทนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯ บอกที่ประชุมอีกเวทีหนึ่งว่า อเมริกายังมีความผูกพันกับเอเชียอย่างเหนียวแน่นไม่จืดจาง
แต่คำรับรองอย่างนั้นคงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะกู้สถานการณ์ที่ย่ำแย่จากการตัดสินใจแบบ "ข้าใหญ่ ข้าไม่แคร์" ของทรัมป์ได้แม้แต่น้อย!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |