5 พ.ย.62- ที่ห้องประชุม ประกอบ หุตะสังห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “คุกมีไว้ขังคนจน…จริงหรือ?” ใน งานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20
โดยนายไสลเกษ กล่าวปฐกถาดังกล่าวตอนหนึ่งว่า วันที่เข้ารับตำแหน่ง ตนได้หารือกับทีมงานว่า ควรจะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ จึงเซ็นหนังสือถึงศาล กระบวนการยุติธรรม และประชาชนทั่วประเทศ ว่าเขาอยากให้ศาลเป็นอย่างไร ขอให้ส่งความคิดเห็นมา เมื่อลองทำดูก็ได้ผลเกินคาด โดยพบว่า 60% เป็นความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม อีก 40% เป็นประชาชนส่งมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป ยังมองว่าศาลยุติธรรมยังมีปัญหาต้องแก้ไข และก็คิดว่า สิ่งเหล่าจะช่วยให้เรากำหนดนโยบาย และทำให้เลือกลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไขได้
"มีหลายคนบอกว่า ศาลปล่อยตัวคนน้อย ไม่ค่อยให้โอกาส เลยไปถึงคำที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจน จริงหรือไม่ ตรงนี้ผมไม่ทราบว่าประโยคดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่จากรายงานการวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ บอกว่าคนที่ติดคุกส่วนใหญ่คือคนจน แต่น้อยมากที่รายงานให้คำนิยามว่าคนจนคืออะไร หรืออะไรคือคนรวย มีความแตกต่างหรือไม่ว่าคนจนคนรวยทำความผิดแตกต่างกัน ซึ่งเราสันนิษฐานจากสามัญสำนึกว่า ถ้าคนที่มีความรู้มีการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะ มีโอกาสที่จะเล่าเรียนศึกษาได้ เมื่อเขามีโอกาสเรียนก็เรียนรู้เข้าใจอะไรมากขึ้น คำถามคือ การศึกษาช่วยให้คนทำผิดน้อยลงจริงหรือไม่ เป็นข้อน่าคิด"
นายไสลเกษ กล่าวต่อไปว่า ส่วนคนรวยกับคนจน ใครมีโอกาสผิดมากกว่ากัน คนจน คือคนที่ด้อยโอกาส และกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ง่ายๆ ลักวิ่งชิงปล้น รับของโจร กรรโชกทรัพย์ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนมีความต้องการทางเศรษฐกิจ ส่วนคนรวยเป็นคนที่มีความรู้ จึงมีวิธีการในการกระทำความผิดโดยใช้องค์ความรู้ มีความเนียนกว่า ซับซ้อนกว่า ดังนั้น กระบวนการทำความผิด ส่วนหนึ่งจึงเกิดจากโอกาสและการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง เลยเกิดคำถามว่า ในคุกมีคนจนคนรวยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากสถิติบอกว่า คนที่ต้องขังในปี 2561 มีคนต้องคำพิพากษาให้ลงโทษประมาณ 680,000 คน ในจำนวนนี้ ศาลจำคุกประมาณ 90,000 คน คิดเป็น 16.5% ที่เหลือศาลใช้วิธี เช่น รอการลงโทษจำคุก รอการกำหนดโทษ และปรับ กักขัง คุมความประพฤติ
คำถามต่อมาคือ แล้วในกลุ่มคนที่ติดคุกนั้น มีคนจนคนรวยกี่ % ซึ่งตัวเลขนี้ไม่เคยมีรายงานวิจัยที่ไหนโดยเฉพาะในประเทศไทยยืนยัน คือ 1.ไม่ได้นิยามว่าคนจนคนรวยแตกต่างกันตรงไหน 2.ในเมื่อแยกไม่ออกระหว่างคนจนคนรวย ตรงนี้ เราจะสรุปได้หรือไม่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะคนจนหรือคนรวย ก็ต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน คือ การบังคับคดีตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ทั้งนี้ ที่กล่าวแบบนี้ ไม่ได้ปฏิเสธหรือยืนยัน แต่อยากให้พูดกันด้วยตัวเลขและข้อมูลที่แท้จริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |