ครั้งแรกนิทรรศการกวีนิพนธ์ “แปดทศวรรษ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์”


เพิ่มเพื่อน    

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับผลงานบทกวีอันทรงคุณค่า 

 

 

   บทกวีกว่า 40 บท ผลงานการประพันธ์ที่งดงามและส่องทางให้กับสังคมในแต่ละช่วงชีวิตกว่า 60 ปีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ได้รับการคัดสรรนำมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการศิลปะเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อนิทรรศการกวีนิพนธ์ “แปดทศวรรษ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” เพื่อเผยแพร่ สืบสาน และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่เข้าถึงกวีนิพนธ์และสนใจต่อยอดงานวรรณกรรมที่มีคุณค่า งานนี้จัดขึ้นในโอกาสก้าวเข้าสู่วัย 80 ปีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เสาหลักใหญ่ในทางวรรณกรรม โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดนิทรรศการและทอดพระเนตรการจัดแสดงผลงานด้วยความสนพระทัย ณ โถงเอเทรียม อาคารสินธร กรุงเทพฯ

      เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 ปีหน้า ตนจะมีอายุครบ 80 ปี มีกลุ่มองค์กรและพี่น้องในวงการวรรณกรรมเห็นว่าควรจะจัดนิทรรศการกวีนิพนธ์เพื่อแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่บทกวีมีต่อสังคมไทย และตนนึกถึงคำกล่าวของ ศ.เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ว่า “ศิลปะส่องทางให้แก่กัน” นำมาสู่การจัดนิทรรศการครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “บทกวี คือ พลังของสังคม” เพื่อสำแดงบทกวีที่เป็นพลังสังคมและสะท้อนการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัย ถือเป็นนิทรรศการกวีนิพนธ์ครั้งแรกของประเทศไทย เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่คนไม่เคยเห็น เป็นพลังให้คนสืบสานต่อ

 

นำเสนอบทกวีที่งดงามในรูปแบบนิทรรศการศิลปะ

 

      โดยผลงานแบ่งการทำงานเขียนเป็นไทม์ไลน์ ตั้งแต่ พ.ศ.2510 เป็นต้นมาก็เป็นช่วง 60 ปีที่ตนทำงานเขียน เริ่มต้นด้วยความรัก เมื่ออกหักผิดหวังก็สนใจธรรมะ ได้อ่านผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุ เหมือนทำให้เราได้เกิดใหม่ เมื่อเรียนจบก็ออกบวช อยู่กับท่านพุทธทาส ธรรมะทำให้เราสนใจธรรมชาติ จึงเขียนในเรื่องธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม จากนั้นได้ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา มีความเคลื่อนไหวจน 6 ตุลา วันฆ่านกพิราบ ก็เขียนงานการเมืองมาต่อเนื่อง เพราะมีผลกระทบต่อสังคมและมีผลสะเทือนต่อความรู้สึกตัวเอง เกิดบทกวีที่เป็นไปตามภาวะสังคม

      “ บทกวีในเรื่องการเมือง ชื่อ “เพียงความเคลื่อนไหว” สะท้อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ถือเป็นงานร้องกรองเรื่องการเมืองที่เก่าที่สุด ก็นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ถัดมางานเขียน “สมภารเซ้งโบสถ์” มาถึงยุคนี้ยุคปฏิรูปก็เสนอในเรื่องนี้ การเมืองเข้มข้นขึ้นตามวัยของเรา และมีคอลัมน์ประจำ “ข้างคลองคันนายาว” ในหนังสือพิมพ์” เนาวรัตน์ กล่าวถึงบทกวีการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักของสังคม

 

“บทกวี คือ พลังของสังคม” สื่อผ่านงานเขียนกว่า 40 ชิ้นของศิลปินแห่งชาติ

 

      หกทศวรรษในการทำงาน ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2536 และกวีซีไรต์ บอกว่า ความคิดในการทำงานกวี นอกจากเกิดจากความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเองแล้ว ยังได้แรงบันดาลใจจากข้อเขียนและงานแปลดีๆ ที่ได้อ่านได้ฟัง บันดาลใจให้เขียนบทกวี ตนชอบดูหนัง เจอประโยคดีๆ ก็จดบันทึกไว้แล้วนำมาเขียนขยายเป็นบทกวี เรื่องราวในสังคมไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นบทกวีทั้งหมด จะเขียนเป็นร้อยแก้ว บทความ เรื่องสั้นก็ได้ แต่บทกวีเราเลือกที่สะเทือนใจจริง อย่างเหตุการณ์ถ้ำหลวงเขียนออกมาแล้ว เหมือนได้ปลดปล่อย พอทำงานออกมาแล้วสบายใจ คนทำงานศิลปะมีของ มีอะไรอยู่ข้างในเยอะ พอปล่อยออกมาแล้วมันโล่ง ได้แสดงออก มีผลงานปรากฏสบายใจ

      เสาหลักวงการวรรณศิลป์ กล่าวต่อว่า ผลงานของตนจะเป็นที่นิยมของนักอ่านมาตลอด ปัจจุบันยังเผยแพร่งานบทกวีบนช่องทางออนไลน์เพื่อให้คนรุ่นใหม่สนใจงานกวีนิพนธ์ และสร้างนักอ่านข้ามยุคสมัย เป็นอีกช่องทางให้คนได้รับรู้กว้างขึ้น ทดแทนหนังสือ รวมถึงได้มองเห็นว่าบทกวีหรืองานศิลปะไม่ตาย มีคนสืบสาน อย่างเด็กอายุ 7 ปี เขียนกวีทุกวัน เพราะพ่อชอบอ่านบทกวีของตนให้ฟัง สอนให้เขียน ปัจจุบันเด็กคนนี้เขียนบทกวีเกือบ 300 บท

 

นาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินกวีผู้เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนเขียนกวีนิพนธ์

 

      หรืออีกคนเป็นผู้พิการทางสายตา ครูอ่านบทกวีให้ฟัง รู้สึกชอบ เหมือนได้เปิดตาในของเขา สัมผัสได้ถึงบทกวี จากนั้นเข้าค่ายอบรมวรรณศิลป์ เขียนทุกวัน วันละบท 10 ปี จากนั้นจบมหาวิทยาลัยมาร่วมค่ายอีก และผลงานร้อยกรองได้รับรางวัลเซเว่น บุ๊ค อวอร์ด และรางวัลอุชเชณี ตนได้อ่าน นึกไม่ถึงเขาเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็น นี่คือพลังของบทกวี ในนิทรรศการครั้งนี้ก็จัดแสดงผลงานของพวกเขาด้วย เพื่อสะท้อนความงามของบทกวี

      “ บทกวีเป็นงานศิลปะ นอกจากรู้จักตัวเองแล้ว ยังถ่ายทอดความสามารถของตัวเองให้คนอื่นได้รู้สึก วิชาศิลปะทั้งหมดถือว่าเป็นวิชาชีวิต ขณะที่สถาบันการศึกษาที่เล่าเรียน ผมถือเป็นวิชาชีพ เหมือนเราอ่านหนังสือ อ่านชีวิตคนอื่น เขียนหนังสือ เราเขียนหนังสือ เขียนชีวิตตัวเอง ทุกวันนี้สังคมเราให้โอกาสคนทำงานทางความคิดน้อยมาก มักจะทำตามความรู้สึกที่มันมีเสรีภาพ เป็นเสรีภาพตามอำนาจกิเลส ไม่ใช้เสรีภาพนำสู่การพ้นจากกิเลส หากเข้าใจจะมีเสรีภาพการแสดงออกทางความรู้สึกที่ดี และเกิดบทกวีที่เป็นพลังของสังคม อยากให้มาชมนิทรรศการและซึมซับ สืบสานต่อไป” เนาวรัตน์ กล่าว

 

นิทรรศการกวีนิพนธ์ในรูปแบบผลงานศิลปะ ออกแบบโดย ศุภชัย อารีรุ่งเรือง

 

      รูปแบบบทกวีที่เปลี่ยนแปลงในนิทรรศการนี้ไม่ใช่แค่พลิกหน้าหนังสืออ่าน แต่นำเสนอผ่านจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม เป็นความเร้าใจหวังดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้าหาบทกวี เป็นโจทย์ใหญ่ทางความคิดในการออกแบบนิทรรศการนี้ โดย ผศ.ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง รับหน้าที่ภัณฑารักษ์

      ผศ.ดร.ศุภชัยกล่าวว่า อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้กำหนดชื่องาน แปดทศวรรษ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ตนตีความ โดยนำชื่อของเนาวรัตน์ ประวัติ และตัวเลข 8 และตัวเลข 0 ที่สัมพันธ์กับบริบทต่างๆ มาออกแบบผังนิทรรศการ ตลอดจนรายละเอียดทั้งหมดของนิทรรศการด้วย

      “ ตั้งคำถามกับการออกแบบก่อนว่า งานกวีส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย และในช่วง 60-80 ปีมานี้ กวียังมีผลต่อคนปัจจุบันมากน้อยเพียงใด สิ่งที่พบ ยังมีเด็กเยาวชน แม้กระทั่งคนตาบอด มีอาจารย์เนาวรัตน์เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทกวี ส่วนการนำเสนอปรัชญาในการทำงานของอาจารย์แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ มากที่สุดคือ สังคม-การเมือง นับตั้งแต่ปี 2516 ขึ้นมา จนกระทั่งช่วงปัจจุบัน ธรรมะ ธรรมชาติ มาจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความรัก เป็นสมัยวัยรุ่นจนเข้าเรียนธรรมศาสตร์ มีไทม์ไลน์ อ่าน และเห็นภาพงาน ส่งผลต่อสังคมอย่างไร แล้วยังมีหมวดอื่นๆ เป็นเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ในสังคมไทย สึนามิ ถ้ำหลวง งานนี้ต้องการให้เห็นว่าศิลปะส่องทางให้แก่กัน นิทรรศการครั้งนี้จึงมีทั้งทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี และการออกแบบในการจัดแสดง” ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

 

บทกวีความรัก กวีนิพนธ์ในการทำงานช่วงหนึ่งของเนาวรัตน์ 

 

      ภัณฑารักษ์บอกว่า งานนี้ต้องการจุดประกายให้คนรุ่นปัจจุบันเข้าหาบทกวีและสร้างการรับรู้ใหม่ ถ้าแฟนคลับรู้จักเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ดี แต่ต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ให้คนยุคนี้ และบอกต่อ ใช้วิธีการแปลงตัวอักษรสู่งานศิลปะ และนำลายมืออาจารย์มาเป็นกุญแจสำคัญ เพราะมีความเป็นเอกลักษณ์ คัดเลือกงานที่มีลายมือเป็นอันดับแรก นอกเสียจากบางบทเป็นบทเก่าๆ ที่เป็นตัวพิมพ์ ก็นำมาแปลงเป็นงานศิลปะ โดยการให้บทกวีอยู่บนสื่อวัสดุต่างๆ จับใจคนได้ เช่น บทกวีบนหนังวัว แผ่นโลหะ แผ่นไม้ หรือแม้กระทั่งเซรามิก ไม่ใช่งานภาษาไทยธรรมดา

      รวมถึงให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับงาน โดยแปลงบทกวีมาไว้บนแผ่นหิน แล้วนำกระดาษมาลอกลาย ดูแล้วได้อรรถรส รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นิทรรศการไม่ได้จบแค่ครั้งนี้ แต่วางแผนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า เดือนเกิด จะหมุนเวียนไปตามสถาบันการศึกษาเพื่อให้เยาวชนซึบซัมกวีนิพนธ์ เกิดประโยชน์ด้านการศึกษา เชื่อว่าบทกวีอยู่ในสายเลือดคนไทย ทันทีที่ได้ยืนอ่านจะสร้างพลังในการต่อสู้ หรือทำให้น้ำตาไหลได้เมื่ออ่านบทที่สะเทือนใจ อย่างบทกวี “วันฆ่านกพิราบ” ตนอ่านแล้วเห็นภาพของเหตุการณ์ในครั้งนั้น มีการชุมนุมนักศึกษากว่า 40 บท คัดบทที่ให้การรับรู้ เข้าถึงง่าย เป็นบทเด่นๆ สะท้อนแนวคิดการทำงานของศิลปินแห่งชาติ ร่มเงาของวงการ

สร้างประสบการณ์เรียนรู้วรรณกรรมผ่านการลอกลายบทกวี

 

      นอกจากชื่มชมผลงานศิลปะกวีนิพนธ์สร้างแรงบันดาลใจและจรรโลงจิตใจ ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งจับจองผลงาน รายได้ส่วนหนึ่งจะสมทบทุนสร้างหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์เมือง “ภูมิเมืองกาญจน์” จ.กาญจนบุรี นิทรรศการจะจัดแสดงถึงวันที่ 6 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 09.00-19.30 น. ที่อาคารสินธร ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ เข้าชมฟรี แล้วจะรู้สึกได้ว่าศิลปะส่องทางให้แก่กัน.

 

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"