ทรัมป์เชิญผู้นำอาเซียน ถกนัดพิเศษที่สหรัฐต้นปี63ตลาดหุ้นขานรับพุ่ง30จุด!


เพิ่มเพื่อน    

 ปิดฉาก ”อาเซียนซัมมิต” ครั้งที่ 35 แล้ว “ประยุทธ์” ส่งค้อนต่อให้นายกฯ เวียดนาม  คิวแน่นทิ้งทวนตลอดวัน เช้าถก “อาเบะ” ก่อนประชุมอาเซียน+3 ตามด้วยสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา งานนี้ 7 ชาติหมั่นไส้มะกันส่ง รมว.กต.หารือแทน “ทรัมป์” องุ่นเปรี้ยวเตรียมเชิญ 10 ชาติไปถกนัดพิเศษไตรมาสแรกปีหน้า หมวดเจี๊ยบขย่มให้เกรดเอฟ เที่ยงนายกฯ ถกร่วมไอเอ็มเอฟ ตามด้วยเวทีสุดยอดเอเชียตะวันออก, “อาเซียน-ญี่ปุ่น” ตลาดหุ้นไทยขานรับพุ่งเกือบ 30 จุด

    เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายนยังคงมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยตั้งแต่เวลา 08.00 น. พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวต้อนรับและยินดีที่อาเซียนและญี่ปุ่นบรรลุการเจรจาถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่า  ด้วยความเชื่อมโยง หวังว่าอาเซียนจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นภายใต้ ASEAN Outlook on Indo-Pacific โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการขยะทะเล 
    ขณะที่นายอาเบะชื่นชมบทบาทการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยเฉพาะบทบาทผู้นำของนายกฯ ที่ผลักดันการประชุมที่สำคัญต่อการพัฒนาภูมิภาคประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นยืนยันจะเดินหน้าร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาประเด็นท้าทายสำคัญในภูมิภาค เช่น ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนและกรอบ G20 ซึ่งไทยและญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และกรอบลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยก่อนจบการหารือ พล.อ.ประยุทธ์ได้อวยพรให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 ด้วย 
    ต่อมาในเวลา 08.30 น. ที่ห้อง Sapphire 204 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 โดยภายหลังเสร็จสิ้นนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22  ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน, จีน, เกาหลี และญี่ปุ่น โดยเน้นแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในทั้ง 13 ประเทศ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3M ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน 
ชง 2 ข้ออาเซียนบวกสาม
“โอกาสนี้นายกฯ ได้เสนอแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม 2 ประการ ได้แก่  1.ความเชื่อมโยงในภูมิภาค และ 2.ความยั่งยืนในทุกมิติ โดยช่วงท้ายนายกฯ เชื่อมั่นว่าความร่วมมืออาเซียนบวกสามจะเป็นกลไกที่สำคัญนำไปสู่หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออก” นางนฤมลระบุ
ในเวลา 10.00 น. ที่ห้อง Sapphire 108 ชั้น 1 พล.อ.ประยุทธ์ได้พบหารือกับนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือนางนฤมลเผยว่า นายกฯ ย้ำว่าไทยพร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน และเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ พร้อมฝากความระลึกถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยา โดยหวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับที่ไทย ขณะที่นายโอไบรอันได้ขอบคุณการต้อนรับอย่างอบอุ่น และกล่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ฝากหนังสือถึงนายกฯ เพื่อย้ำว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับไทยในฐานะมิตรประเทศอันใกล้ชิด และยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการร่วมมือกับไทยและอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคต่อไป
    ต่อจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์และผู้แทนชาติต่างๆ รวมทั้งนายโอไบรอันได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 7 เพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-สหรัฐอเมริกาในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐอเมริกาในอนาคต และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ 
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในการประชุมครั้งนี้ผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ใช่ระดับประธานาธิบดี หรือรองประธานาธิบดี แต่กลับส่งนายโอไบรอันมาเป็นตัวแทน ซึ่งไม่มีสถานะในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลสหรัฐฯ  โดยนายโอไบรอันมีระดับเทียบเท่าอธิบดีเท่านั้น ทำให้ผู้นำชาติอาเซียน 7 ชาติส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (รมว.กต.) เข้าร่วมหารือแทน มีเพียง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเจ้าภาพ นายเหงียน ซวน ฟุก นายกฯ เวียดนาม ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า และนายทองลุน สีสุลิด นายกฯ สปป.ลาวเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง ในขณะที่กัมพูชา เมียนมา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์  และสิงคโปร์ต่างส่งเพียง รมว.กต.เข้าร่วม โดยตอนหนึ่งนายโอไบรอันกล่าวว่า  ประธานาธิบดีทรัมป์เชิญผู้นำอาเซียนร่วมประชุมเป็นกรณีพิเศษที่สหรัฐฯ ในปีหน้า พร้อมทั้งยืนยันรัฐบาลวอชิงตันไม่มีทางทอดทิ้งภูมิภาคแห่งนี้
ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเรื่องนี้ว่า ผู้นำ 7 ประเทศสมาชิกอาเซียนส่งเพียงรัฐมนตรีต่างประเทศมาร่วมการประชุมครั้งนี้ แสดงออกถึงความไม่ไยดีต่อสหรัฐฯ ที่ส่งเพียงแค่เจ้าหน้าที่ระดับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติมาเป็นตัวแทนของประธานาธิบดี ซึ่งก่อนหน้านี้ทรัมป์ถูกตำหนิว่าไม่นำพาต่อชาติพันธมิตรในภูมิภาคนี้ โดยส่งเพียงนายโอไบรอันซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ย. และนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ มาเป็นตัวแทนร่วมการประชุมที่ไทย โดยปีที่แล้วทรัมป์ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาแทน ส่วนปีก่อนหน้านั้นซึ่งจัดที่สิงคโปร์ ทรัมป์เดินทางมาด้วยตนเองแต่กลับก่อน
มะกันแก้เกี้ยวเชิญอาเซียน
 นักการทูตประจำกรุงเทพฯ รายหนึ่งกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่อาเซียนจะส่งผู้นำประเทศมาร่วมการประชุมนี้ เมื่อสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผู้แทนในระดับเดียวกันมาประชุม ส่วนนักการทูตอีกคนกล่าวว่า นี่ไม่ใช่การบอยคอต แต่เป็นเพราะผู้นำคนอื่นๆ ก็ต้องเข้าร่วมการประชุมอื่นๆ เช่นกัน
 รายงานกล่าวด้วยว่า เพื่อทดแทนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยตนเอง โอไบรอันได้อ่านจดหมายจากทรัมป์ ที่เชื้อเชิญผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนไปพบกับเขาที่สหรัฐฯ เพื่อประชุมสุดยอดนัดพิเศษในช่วงไตรมาสแรกในปี 2563
    น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวชี้แจงเรื่องนี้ว่า ในประวัติศาสตร์ 52 ปีของอาเซียนมีสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ทำให้เราต้องปรับรูปแบบการประชุมให้เหมาะสม ดังนั้นการใช้รูปแบบการประชุมลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องปกติ และการประชุมเหล่านั้นก็เป็นไปโดยราบรื่นและผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งครั้งนี้เป็นแนวทางที่อาเซียนทุกประเทศเห็นชอบและมีท่าทีร่วมกัน โดยคำนึงถึงหลักการทางการทูตของเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งมีระดับผู้นำเข้าร่วม 
ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวประเด็นนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธานอาเซียนล้มเหลว ผู้นำชาติมหาอำนาจกลุ่มอาเซียนพลัสที่ไม่ได้เป็นชาติสมาชิก แต่เป็นคู่ค้าสำคัญไม่ได้เดินทางมา โดยเฉพาะสหรัฐฯ ลดความสำคัญไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ส่งเพียงผู้แทนที่มีความสำคัญน้อย ส่อให้เห็นถึงนัยทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางการทูตที่พัฒนาไปในทางที่แย่ลง  สะท้อนถึงความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ไม่สามารถรักษาสัมพันธ์เหมือนในอดีต  เราได้สูญเสียสถานะทางการทูต 
“เมื่อย้อนไปในอดีต นายโดนัลป์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีเดินทางมาร่วมประชุมที่ฟิลิปปินส์ รัฐบาลนายบารัค โอบามา สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ยังเดินทางมาประชุมอาเซียนซัมมิต แต่การประชุมครั้งนี้ไม่ได้สร้างความประทับใจ สร้างความคุ้มค่า การเจรจาก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตั้งเป้า จะสร้างการเป็นหุ้นส่วนพัฒนาที่ยั่งยืนในชาติสมาชิกอาเซียน และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในอาเซียน โดยการประชุมเจรจาการค้า 3-4 วันที่ผ่านมาห่างไกลจากเป้าหมายที่  พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้ ถือว่าล้มเหลวและคงไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกแล้ว สิ่งนี้จะติดอยู่ในสมุดพก ถือว่าติด F ในการทำหน้าที่ประธานอาเซียน” ร.ท.หญิง สุณิสากล่าว
    ในเวลา 11.45 น. ที่ห้อง Grand Diamond Ballroom ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค  พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Special Lunch  on Sustainable Development) โดยมีชาติอาเซียนและกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เข้าร่วม 
ถกEAS/สุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น
    โดยนายกฯ ได้เสนอ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.อาเซียนควรเสริมสร้างแรงกระตุ้นในการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค และต่อยอดจากการดำเนินกิจกรรมของศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนดำเนินการตามโรดแมปความเกื้อกูล 2.สร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในระดับรากหญ้า และ 3.การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียนจะต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีภายนอก และเน้นย้ำว่าความร่วมมือและความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน และความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอกของอาเซียน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนประจักษ์ผลเป็นรูปธรรม
    ในช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ครั้งที่ 14 ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นางนฤมลเผยว่า การประชุมจัดขึ้นเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและทบทวนความร่วมมือและบทบาทของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีประเทศที่เข้าร่วมใน EAS จำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน  10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
    “เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ ที่พร้อมกับความเชื่อมโยงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พร้อมขอบคุณและขอความร่วมมือผู้นำทุกคนในการขับเคลื่อน  EAS เพื่อเพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์ และแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่าง EAS กับกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาค  เพื่อให้เกิดการสอดประสานระหว่างกันมากที่สุด” นางนฤมลกล่าวถึงคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ในที่ประชุม
    ต่อมาเวลา 17.00 น. ที่ห้อง Sapphire 203 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค พล.อ.ประยุทธ์พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายชินโซ อาเบะ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ภายหลังเสร็จสิ้นนางนฤมลกล่าวว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22  เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจ และเป็นความห่วงกังวลร่วมกัน โดยมีผู้นำจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและนายกฯ ญี่ปุ่นเข้าร่วม
“นายกฯ หวังว่าอาเซียนและญี่ปุ่นจะร่วมมือกันเสริมสร้างความเชื่อมโยงสีเขียว ทั้งกับอาเซียนและกับอนุภูมิภาค รวมถึงกรอบ ACMECS ด้วย และหวังว่าจะเห็นโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม  ได้แก่ ความเชื่อมโยงความร่วมมือทางทะเล และการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกลไกที่มีอาเซียนเป็นแกนนำ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของภูมิภาค”
ปิดฉากสุดยอดอาเซียน
    และเมื่อเวลา 19.30 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งมอบค้อนให้เวียดนามประธานอาเซียนครั้งต่อไป โดยนายกฯ ระบุว่า  ไทยได้เสนอแนวคิดหลักของประธานอาเซียนในปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยมุ่งหวังให้อาเซียนก้าวสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ซึ่งความร่วมมือได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม คือ ประการแรก  ประชาชนจะมีความมั่นคงที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่การแข่งขันเพิ่มเติม ประการที่สอง ความร่วมมือในอาเซียนในปีนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าและข้อพิพาททางเศรษฐกิจระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน 
“การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซปตามแถลงการณ์ร่วมของผู้นำอาร์เซป เป็นการผนึกกำลังของกลุ่มประเทศซึ่งมี GDP รวมกัน 32% ของโลก มีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 30% ของการค้าโลก โดยอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่มขึ้น”
ประการที่สาม อาเซียนได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือในประเด็นด้านสังคมและวัฒนธรรม  อาทิ การต่อต้านขยะทะเล การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการร่วมกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกหรือฟีฟ่าเวิลด์คัพในปี 2577 และและประการสุดท้าย ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการผนึกกำลังร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและกับภาคีภายนอกของอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในภูมิภาค โดยผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารวิสัยทัศน์ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการสานต่อความยั่งยืนในทุกมิติ  อีกทั้งเราได้จัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนงานในด้านนี้
“ผมมั่นใจว่าเวียดนามจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อสานต่อฝันของอาเซียนในการร่วมมือร่วมใจให้เกิดสันติภาพ เสรีภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้อาเซียนในปัจจุบัน และให้กับชนรุ่นหลังของเราสืบไป โดยขอฝากไว้ว่าการสร้างความยั่งยืนในอาเซียนต่อจากนี้จำเป็นต้องมี 3C คือ Continuity, Complementarity และ Creativity รวมทั้งขออวยพรให้เวียดนามและอาเซียนประสบความสำเร็จต่อไปในปีหน้า”
เมื่อเวลา 20.30 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงสรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นบทสรุปของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย ภายใต้แนวคิดหลัก "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" โดยเน้นเรื่องความเป็นหุ้นส่วน เพื่อสานต่อผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเชียน ครั้งที่ 34 เมื่อเดือน มิ.ย.ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง 
“ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ผู้นำจาก 18 ประเทศทั่วโลก พร้อมด้วยเลขาธิการสหประชาชาติและกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้มาร่วมประชุม ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมระดับผู้นำทั้ง 9 การประชุม ทั้งการประชุมระหว่างอาเซียนกันเองและกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสหประชาชาติ รวมทั้งมีการประชุมในกรอบอาเซียนบวกสาม การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรืออีเอเอส และการประชุมสุดยอด RCEP” 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณผู้นำอาเซียนและภาคีภายนอกของอาเซียนที่ได้สนับสนุนไทยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ขอบคุณพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนทุกฝายที่ช่วยสนับสนุนการจัดการประชุมและกิจกรรมภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย ขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ ติดตาม และเผยแพร่ข่าวสารการประชุมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนวาระของอาเซียนเหล่านี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ขอให้คนไทยทุกคนภูมิใจว่า ปีนี้เราได้ช่วยวางรากฐานเพื่อนำไปสู่อาเซียนที่ยั่งยืนในทุกมิติ และมั่นใจว่าเวียดนามจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากไทยได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าว นายกฯ เดินลงจากโพเดียมและชูมือทำสัญลักษณ์ไอเลิฟยู พร้อมกล่าวว่า "รักทุกคน"
    สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์ไทยเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวัน ก่อนปิดที่ระดับ 1,622.25 จุด เพิ่มขึ้น 29.73 จุด หรือบวก 1.87% มูลค่าการซื้อขาย 64,499.36 ล้านบาท ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงกว่าที่คาดกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างปรับตัวขึ้นกัน  โดยแรงซื้อมาจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีสัญญาณที่ดี รวมทั้งประเด็นบวกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปการเจรจาทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่อาจมีดีลการค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้น เนื่องจาก RCEP มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีโลก. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"