ประท้วงโดยไม่ได้นัดหมาย : ฮ่องกง, สเปน, เลบานอน, ชิลี!


เพิ่มเพื่อน    

                วันนี้การประท้วงระเบิดขึ้นในหลายเมืองพร้อมๆ กันในหลายมุมโลก...เจาะลึกแล้วมีสาเหตุไม่ต่างกันมาก นั่นคือความไม่เชื่อว่านักการเมืองและผู้นำประเทศในระบบเก่าจะแก้ปัญหาที่เรื้อรัง โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมได้เลย

                คนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางกำลังต้องการ "ความเปลี่ยนแปลง" ในสาระ มิใช่เพียงแค่รูปแบบ

                การประท้วงดุเดือดและรุนแรงเกิดขึ้นที่ฮ่องกง, บาร์เซโลนาของสเปน, เบรุตของเลบานอน และซานติอาโกของชิลี

                นั่นแปลว่าความไม่พอใจเกิดขึ้นทั้งในทวีปเอเชีย, ยุโรป, ตะวันออกกลางและอเมริกาใต้พร้อมๆ กัน...ด้วยรากของปัญหาที่ไม่แตกต่างกัน

                ปัญหาของฮ่องกงคือความระแวงของคนรุ่นใหม่ต่อจีนที่กำลังต้องการจะเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตที่กระทบต่อเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น...แต่ลึกๆ แล้วคือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ฝังลึกมายาวนาน

                พอมีเรื่องร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาเป็นตัวจุดประกาย การต่อต้านก็ขยายวงไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองจนลามไปถึงเรื่องสิทธิการเลือกตั้งอย่างเสรี

                แต่หัวใจของปัญหาอยู่ที่คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตตัวเอง หากระบบการเมืองและเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

                ที่บาร์เซโลนา การประท้วงเกิดขึ้นหลังจากศาลตัดสินจำคุกแกนนำการแยกดินแดน Catalonia ออกจากสเปน 9 คน

                สาเหตุจริงๆ ก็คือความรู้สึกไม่เท่าเทียมระหว่างชาว Catalan กับสเปนที่ถูกมองว่าใช้อำนาจทางการเมืองมาปล้นทรัพยากรธรรมชาติของเขา และคนรุ่นใหม่ต้องการชีวิตที่กำหนดชะตากรรมของตนเองมากกว่าที่จะรับคำสั่งจากรัฐบาลกลางที่มาดริด

                อีกจุดหนึ่งที่ประท้วงหนักหน่วงคือที่เลบานอน เริ่มด้วยรัฐบาลดำริจะเก็บภาษีคนใช้ app Whatsapp จนเกิดการชุมนุมใหญ่ที่ได้รับการกระตุ้นจากความไม่พอใจของประชาชนซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่แล้ว

                ความไม่พอใจของคนเลบานอนหลักคือ การที่นักการเมืองกลุ่มเก่าๆ ยังผูกขาดอำนาจการบริหารประเทศโดยไม่มีสัญญาณว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการเมืองที่จะเปิดกว้างสำหรับคนรุ่นใหม่เลย

                คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และประชาชนตกอยู่ในสภาพแร้นแค้น ขณะที่ผู้มีอำนาจเสวยสุขกับอำนาจที่ทำให้ความมั่งคั่งกระจุกอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

                คนที่นั่นเรียกการประท้วงครั้งนี้ว่า WhatsApp Revolution หรือ "การปฏิวัติ Whatsapp" ที่ชิลีมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และทหารถูกส่งไปรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วเมืองหลวงซานติอาโกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารออกัสโต พิโนเชที่ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1990

                ปัญหาใหญ่ของชิลีคือ ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา, การรักษาพยาบาลและสวัสดิการสังคม และเมื่อรัฐบาลประกาศจะขึ้นราคาโดยสารของขนส่งมวลชนก็เท่ากับเป็นการผลักให้ผู้คนที่มีความไม่พอใจอยู่แล้วลงถนนเป็นจำนวนมาก

                พอจะเห็นว่าปัญหาร่วมของผู้ประท้วงทั้ง 4 จุดรอบโลกขณะนี้คือ ความอึดอัดขัดข้องของชนชั้นกลางและชั้นล่างที่มองไม่เห็นโอกาสที่ตนจะสามารถหลุดจากกับดักความยากจน และความคับข้องใจอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำ, ขาดความเป็นธรรมในสังคม

                และความรู้สึกร่วมของผู้ออกมาชุมนุมทั้ง 4 เมืองที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ...คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง และไร้ความหวังว่าพวกตนจะสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้!

                ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการแก้ไขปัญหาที่หยั่งรากลึกมายาวนานของประเทศต่างๆ เหล่านี้ล้วนมาพร้อมกับความรุนแรงทั้งจากผู้ประท้วงและผู้รักษากฎหมาย

                การเรียกร้องใดๆ ควรจะต้องทำอย่างสันติและเคารพในกฎหมาย...ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"