CAT นับถอยหลัง 'ดิจิทัลพาร์ค'


เพิ่มเพื่อน    

"ในส่วนของดิจิทัลพาร์คเอง ผมคิดว่ามันเป็นโครงการที่ไม่ใหญ่มาก แล้วก็ไม่ได้ยากมากด้วย แต่ว่าเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนก็ต้องมั่นใจว่า การเข้ามาลงทุนในพื้นที่นั้น มันมีโครงการอื่นๆ เข้ามารองรับดีหรือยังมากกว่า”

CAT นับถอยหลัง 'ดิจิทัลพาร์ค'         

        เริ่มต้นนับหนึ่งกันแล้วสำหรับ 'อภิมหาโปรเจ็กต์' ที่จะเกิดขึ้นในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ ‘อีอีซี’ หลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด  และพันธมิตร หรือกลุ่ม CPH ได้ร่วมลงนามในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วย  สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา

        ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นหนึ่งใน 6 โครงการยักษ์ที่ภาครัฐยกขึ้นมาเป็นโครงการพิเศษที่จะเปลี่ยนโฉมประเทศ ซึ่งก็ยังมีอีกหลายโครงการที่รอต่อคิวออกมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis), โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด (เฟส 3) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (เฟส 3) โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และที่จับตาเป็นพิเศษของ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ซึ่งเจ้าภาพหลักของโครงการนี้คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT

ดิจิทัลพาร์ครอวันนับหนึ่ง

        สำหรับเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) หรือ “ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์” (Digital Park Thailand) ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ซึ่ง บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นเจ้าของพื้นที่และถือเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการดูแล ซึ่งจะพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัลที่ทันสมัยของภูมิภาคอาเซียน บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

(พ.อ.ดร.สรรพชัย หุวะนันทน์)

        โดย .อ.ดร.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ได้เล่าถึงบทบาทเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า CAT มีภารกิจในอีอีซี 2 ประการ คือ 1 การวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการสื่อสาร เพื่อให้มั่นใจว่าอีอีซีจะมีความพร้อมสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นเรื่องของการเชื่อมต่อการสื่อสาร จึงเป็นหน้าที่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก,  การสร้างจุดกระจายไวไฟ และการก่อสร้างเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ผ่านเส้นทางซับมารีนเคเบิล ที่จะต้องทำให้ศรีราชาเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญที่สุด

        ส่วนเรื่องที่ 2 คือ การพัฒนา ’ดิจิทัลพาร์ค บนพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ที่ศรีราชา ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำร่างข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR) เพื่อให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งในโครงการนี้ CAT จะทำหน้าที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และจัดสถานที่ ส่วนเอกชนก็จะมีหน้าที่ในการหาแหล่งเงินทุน ออกแบบ แล้วก็ก่อสร้าง รวมถึงหาลูกค้าเข้ามาใช้งานในพื้นที่ ทั้งนี้ CAT ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ดิจิทัลพาร์คจะเป็นจุดเริ่มต้นของสมาร์ทซิตีที่จะมีระบบจัดการอัจฉริยะในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการติดต่อสื่อสาร การประหยัดพลังงาน เรื่องของการบริหารจัดการ เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็จะมีครบทุกๆ ด้าน รวมถึงด้านความปลอดภัยด้วย

        “โฉมหน้าของดิจิทัลพาร์คจะขึ้นอยู่กับการออกแบบของเอกชนที่มาร่วมลงทุน โดย CAT เพียงวางเป้าไว้ว่า พาร์คนี้จะให้บริการแบบดิจิทัลเซอร์วิสโซลูชั่นที่ครบวงจร และมีบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภายในพาร์ค นอกจากจะมีตึกสถานที่ทำงานแล้ว ก็จะต้องมีโซนที่พักอาศัย สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่วิจัย และมีห้องแล็บในการทดลองต่างๆ เช่น 5G หรือแล็บทดลองสำหรับสตาร์ทอัพ ซึ่งทั้งหมดจัดเตรียมไว้ให้นักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่” พ.อ.ดร.สรรพชัยกล่าว

เมกะโปรเจ็กต์เลื่อนทำโครงการสะดุด

        เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา CAT ได้ทำ TOR ของดิจิทัลพาร์คและเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะถึง 3 รอบ และก็มีการเปิดขายซอง ซึ่งในตอนนั้นมีเอกชนที่สนใจมาซื้อซองเข้าร่วมประมูลถึง 14 ราย แต่อุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ หลายๆ โครงการใหญ่ในอีอีซีเกิดความล่าช้า ส่งผลให้ยังไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้ามายื่นประมูลอย่างจริงจัง และอีกเหตุผลที่ทำให้ไม่มีเอกชนสนใจเข้ามายื่นข้อเสนอ ก็คือเหตุผลเรื่อง TOR ที่ทำออกมาค่อนข้างจะตึงเกินไป ไม่ค่อยยืดหยุ่นเท่าไหร่ เพราะรายละเอียดมันไปเกี่ยวพันกับโครงการต่างๆ ในอีอีซี พอโครงการต่างๆ เกิดความล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟเชื่อมต่อ 3 สนามบิน   หรือการพัฒนาเมืองการบินล่าช้า ขณะที่ใน TOR มีระบุชัดเจนว่า เอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนจะต้องขึ้นเฟสที่ 1 ภายในกี่เดือน และจะมีอะไรบ้าง

        “CAT คุยกับคณะกรรมการอีอีซีมาโดยตลอด ซึ่งก็พอทราบว่า มีอะไรบ้าง และไทม์ไลน์เป็นอย่างไร เพียงแต่ว่ามันมีปัจจัยหลายอย่าง แต่ละโครงการค่อนข้างจะมีปัจจัยเกี่ยวข้องเยอะ อย่างเช่นรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่ผมได้ยิน ในเรื่องของปัญหาการเวนคืนที่  หรืออย่างเรื่องของท่าเรือ ตอนนี้ก็มีการล่าช้าในเรื่องของการถมที่ดิน  เป็นต้น แต่ละโครงการก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ในส่วนของดิจิทัลพาร์คเอง ผมคิดว่ามันเป็นโครงการที่ไม่ใหญ่มาก แล้วก็ไม่ได้ยากมากด้วย แต่ว่าเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนก็ต้องมั่นใจว่า การเข้ามาลงทุนในพื้นที่นั้น มันมีโครงการอื่นๆ เข้ามารองรับดีหรือยังมากกว่า”

      แน่นอน โครงการดิจิทัลพาร์คมันไม่สามารถขึ้นมาแบบโดดๆ ได้ มันต้องมองถึงภาพใหญ่ของอีอีซีด้วย ซึ่งถ้าลงทุนเดี่ยวๆ มันอาจจะได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มทุน ดังนั้นทางภาคเอกชนก็ขอให้ CAT มาปรับปรุง TOR ใหม่ ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งทางเราก็โอเค และรับข้อเสนอกลับมาทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นใหม่อีกครั้ง ซึ่งตอนนี้กระบวนการได้เสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงให้คณะกรรมการของ CAT พิจารณาอีกครั้ง

        .อ.ดร.สรรพชัย กล่าวว่า TOR ที่ปรับใหม่ มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิมมาก คือ ไม่ได้บังคับในเรื่องส่วนแบ่งรายได้ และไม่มีการบังคับเรื่องเงื่อนไขเวลา ซึ่งคาดว่าเดือนนี้ทีโออาร์น่าจะเสร็จและเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นใหม่ได้

        “TOR ที่ปรับปรุงใหม่จะยืดหยุ่นมากขึ้นก็คือ ไม่ได้บังคับรายได้ที่เป็นส่วนแบ่งตายตัว และ 2 เรื่องของระยะเวลาการขึ้นของแต่ละเฟส ก็จะทำให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ได้ระบุเรื่องเงื่อนไขของช่วงเวลา ก็คาดว่าภายในเดือนนี้ทีโออาร์น่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้เอกชนมายื่นประมูลใหม่ได้”

เป้าหมายดึงดูดบริษัทไฮเทคข้ามชาติ

        ในโครงการมีพื้นที่ 700 ไร่ แต่เราใช้จริงๆ น่าจะอยู่ซักประมาณ 400 ไร่ ส่วนอื่นๆ จะเป็นของหน่วยราชการอยู่บางส่วน ปัจจุบันก็มีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA มาใช้พื้นที่อยู่แล้ว  และมีหน่วยงานกระทรวงพลังงานบางส่วน รวมถึงยังมีพื้นที่ที่เรามอบให้กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ให้ไปจัดตั้งสถาบันไอโอทีในนั้น (IoT Institute) ขณะที่ทาง CAT ก็มีแผนที่จะสร้าง DATA Center อีกแห่งหนึ่ง ส่วนเรื่องของดีไซน์ของดิจิทัลพาร์คนั้น หลักๆ เป็นแค่คอนเซ็ปต์ดีไซน์ ที่เราตั้งเป้าให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แต่ดีไซน์ที่เป็นรายละเอียดจะต้องดูจากแบบของเอกชนที่ชนะประมูลอีกที แต่หลักๆ มันจะต้องเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่มีการจัดการเรื่องพลังงาน, จัดการมลภาวะ เป็นต้น ขณะที่ CAT นั้นเป็นเพียงเจ้าของที่ดิน และวางโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเท่านั้น

        ทั้งนี้ เราเชื่อว่าหากโครงการดิจิทัลพาร์คเกิดขึ้น จะต้องมีเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก ก็คือ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติหรือบริษัทข้ามชาติ บริษัทที่จะเข้ามาวิจัย พัฒนาเรื่องดิจิทัล หรือสตาร์ทอัพ คือ กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้

        "ถามว่าศรีราชามีความเป็นไปได้แค่ไหน ที่จะเป็นเมืองดิจิทัล หรือสมาร์ทซิตี้ หรือเป็นฮับด้านดิจิทัลของภูมิภาค  ต้องบอกก่อนว่า ที่ศรีราชาจะเป็นจุดที่อินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดในประเทศ เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อกับซับมารีนเคเบิล ซึ่งนี่คือจุดขาย ถ้าอยากจะให้ไทยเป็นฮับดิจิทัล พื้นที่ศรีราชามีความเหมาะสมที่สุด ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะชวนพวกเจ้าของแพลตฟอร์ม และผู้ให้บริการคอนเทนต์ต่างๆ เข้ามาตั้งศูนย์อยู่ที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ไปดึงบริษัทเหล่านี้ให้เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานให้ได้" .อ.ดร.สรรพชัยกล่าว

CAT กับบทบาทสนับสนุนรัฐบาลดิจิทัล

      นอกจากการที่ต้องผลักดันโครงการดิจิทัลพาร์คแล้ว CAT ยังต้องทำหน้าที่ในการให้บริการดิจิทัลของภาครัฐ ซึ่ง CAT ก็มีแผนที่ลงทุนสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ในศรีราชา ซึ่งได้มีการเตรียมพื้นที่ไว้แล้วราวๆ 50 ไร่ โดยที่ศูนย์นี้จะต้องอำนวยความสะดวกในการให้บริการภาครัฐ โดยเฉพาะการทำดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์เซอร์วิสของภาครัฐ ซึ่งระบบจะต้องดีเพียงพอที่จะไม่ทำให้บริการล่มหรือสะดุด สำหรับแผนการลงทุนจะเริ่มทำเมื่อไหร่นั้น น่าจะเริ่มได้ในปี 2563 เพราะได้กันงบในช่วง ปี 63-65 ไว้แล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"
Thailand Web Stat